English Version Click
ที่นี้ในเบื้องต้นนี้ ผมก็คงจะไปอย่างรวดเร็ว เพราะเรามีเวลาค่อนข้างจำกัดนะครับ เพราะว่าโดยปกติเวลาที่จะคุยเรื่องนี้พร้อมบุพพภาคหรือว่าขั้นตอนการเตรียมตัวที่จะปฏิบัติอานาปานสติเนี่ย ผมพูดอยู่น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน วันละ 5 ชั่วโมง ก็รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 15 ชั่วโมง ในที่นี้ก็จะขอแบบรวบรัดเพื่อให้เพื่อนๆ ที่อาจจะยังไม่เคยได้ยินได้ฟังเนี่ยอาจจะได้จุดประกายในการที่จะไปศึกษาต่อหรือว่าเจอหน้ากันก็พูดคุยซักถามกัน
อานาปานสติที่กำลังจะแสดงหรือว่าบรรยายวันนี้เนี่ย ท่านอาจจะไม่เคยได้ฟังมาก่อน แล้วก็งงว่าสิ่งที่ผมพูดคืออะไร ผมจะเริ่มด้วยจากที่ว่าความเป็นมาของอานาปานสติและความสำคัญของอานาปานสติในเบื้องต้น ผมเคยเกริ่นเมื่อสักครู่นี้หลายนาทีก่อนหน้านี้ตอนเปิดห้องนี้ ผมบอกว่าถ้าจะจัดหนังสือ ในความรู้สึกผมหนังสือในโลกนี้ถ้าจะจัดความสำคัญ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือที่สำคัญที่สุดในโลกก็คืออานาปานสติและก็เป็นพุทธพจน์ที่อธิบาย รวมทั้งในส่วนของอรรถกถา
การศึกษาอานาปานสติเนี่ยถ้าเราแบ่งแยกข้อมูลชั้นปฐมภูมิออกไปเนี่ย เราจะพบได้ว่าในโลกนี้เก่าที่สุดก็คือพุทธพจน์ อย่างที่กล่าวในภาษาบาลีเมื่อสักครู่ ชั้นรองลงมาก็เกิดในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีประชนม์ชีพอยู่ ชื่อว่าคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎกเล่ม 31 พูดถึงเรื่องอานาปานกถา แจกละเอียดเลยว่าอานาปานสติถ้าทำเนี่ยจะเกิดอะไรขึ้นเป็น 200 ข้อ เรียกว่า “อานาปานสติญาณ 200” นะครับ ปรากฏอยู่ใพระไตรปิฎกเล่มที่ 31 ดังกล่าว อันนี้คือข้อมูลปฐมภูมิ
หลังจากนั้นอานาปานสตินี้จะไปปรากฎอีก ก็คือในชั้นของคัมภีร์ชั้นรอง จะเรียกได้ว่าหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วโดยประมาณ 850 ปี ชื่อว่าคัมภีร์วิมุตติมรรค หลังจากนั้นอีก 100 ปีโดยประมาณ เพราะเราไม่สามารถสืบชัดได้แน่ว่าอันไหนเกิดก่อนระหว่างวิสุทธิมรรคกับวิมุตติมรรค วิสุทธิมรรคนี้เกิดในราวปี 950 หลังพุทธปรินิพพาน เพราะฉะนั้นข้อมูลเหล่านี้เราถือว่า เป็นชั้นต้นๆ ของการศึกษาอานาปานสติ
หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของอัตโนมัติแล้ว หรือความคิดของวีธีการของครูบาอาจารย์ยุคหลัง สิ่งที่เรากำลังจะกล่าวนี้เรากำลังจะกล่าวเน้นหนักไปที่สองเรื่องก็คือ
1.เรื่องของพุทธพจน์
2.เรื่องของสิ่งที่พระสารีบุตรท่านอธิบายไว้ตามพุทธพจน์แต่ละชั้น แต่ละข้อ แต่ละบทนั้นว่าพระองค์หมายถึงอะไร
ทีนี้ถามว่า ทำไมต้องอานาปานสติ? ทำไมต้องเน้นไปที่อานาปานสติ ?
ก็ต้องทราบนะครับว่าอานาปานสตินี้เป็นกองกรรมฐาน 1 ใน 40 กอง เป็นกองกรรมฐานที่อนุกูลกับลักษณะของคนหรือจริตนั้นที่เป็นลักษณะโมหะจริตกับวิตกจริต จริตมี 6 ก็มีราคะจริต แล้วก็เป็นพวกโมหะจริต มีพยาบาทจริต แล้วก็จะมีศรัทธากับพุทธะ แล้วก็วิตกกับโมหะ ทั้งหมดนี้กรรมฐานแต่ละกอง 1 ใน 40 นี้ ไม่ได้อนุกูลทุกกับจริต คำว่าอนุกูลก็หมายถึงว่าไปปฏิบัติแล้วเห็นผลได้ชัดเจน เหมาะควรกับลักษณะนิสัยของบุคคลเหล่านั้น
ทีนี้ถามว่าทำไมอานาปานสติถึงได้จำเป็นมาก ?
เพราะว่าอานาปานสตินี้ ท่านบอกไว้เรื่องของโมหะกับวิตก ยุคนี้เราศึกษาตามแนวของ หมายถึงทางโลกหนะนะครับเราศึกษากันมาตั้งแต่เด็กเนี่ย เราจะเห็นได้ว่าเราศึกษาให้คิดตลอดเพื่อที่จะให้เกิดผล เราไม่ได้ศึกษาเหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้วที่ให้ท่อง เพื่อจะให้จำแล้วก็เป็นหลักในการใช้ดำเนินชีวิต แต่ทุกวันนี้เราศึกษาไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็แล้วแต่ เราใช้พัฒนาสมองในส่วนที่ต้องตั้งสมมติฐานแล้วก็คิด คิดเพื่อให้หาคำตอบ เพราะฉะนั้นจริตของเรานี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันวิ่งเข้าไปหาความเป็นวิตกจริตโดยธรรมชาติ เพราะมันตรึกอยู่ตลอด มันฝึกการตรึกอยู่ตลอด ตั้งแต่ชั้นอนุบาลมา
เพราะฉะนั้นจากความคิดเห็นผมเนี่ยนะครับ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าอานาปานสตินี้จะช่วยโลกได้อย่างชัดเจนกับคนยุคนี้ แต่ต้องทำให้ถูกว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างไร วิธีการเป็นอย่างไร อันนี้ก็คือใจความสำคัญ ที่ผมยกว่าถ้าจะจัดหนังสือในโลก หนังสือที่มีคุณค่าที่สุดในโลก ก็คืออานาปานสตินี้แหละ ทีนี้เมื่อเราเห็นคุณค่าแบบนั้น ถ้าเห็นตามแบบนั้นหนะนะครับ ในที่นี้นี่ ด้วยระยะเวลาอันจำกัดผมคงจะกล่าวเป็นลักษณ 3 ลักษณะ
หนึ่งผมจะยกเรื่องหลักการก่อน หลักการก็คือพระพุทธเจ้าตรัสอะไร พระสารีบุตรพูดอะไร รจนาไว้อย่างไร แล้วก็ในส่วนที่ว่าประสบการณ์ ระดับสองก็คือประสบการณ์ตรงของผู้บรรยาย แล้วก็อันดับที่สามก็เป็นเรื่องของความคิดเห็นของผู้บรรยาย แล้วหลังจากนั้นผมก็จะเปิดโอกาสให้ถามนะครับ
ต่อไปผมจะกล่าวถึงเรื่องของประวัติอาปานสติว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้แต่ละท่านได้ฟังจะได้รู้คุณค่าของอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้หมู่มวลนุษยชาติ
ในพระไตรปิฎก 45 เล่มที่แปลเป็นพระบาลี หรือว่าถ้าจะเอาอรรถกถามารวมด้วยก็จะเป็น 90 กว่าเล่มก็แล้วแต่ ถ้าเราได้เสิร์ชข้อมูลคำว่าอานาปานสติออกมาทั้งหมด เราจะรู้ได้ว่ามีลักษณะแบ่งเป็นลักษณะอยู่แค่ 3 ชนิดเท่านั้นเอง 3 รูปแบบเท่านั้นเองที่พระพุทธเจ้าตรัส
3 รูปแบบนี้มีอยู่ประมาณ 50 พระสูตรนิดๆ ลักษณะแรกนี้มีอยู่ที่เดียว ผมจะไล่ทั้ง 3 แบบนะครับ ที่เดียวที่ว่านี้ก็คือกำเนิดอานาปานสติ ปรากฏอยู่ในวินัยปิฎกเล่ม 1 ในชั้นของปาราชิกข้อฆ่ามนุษย์ ท้ายปาราชิก เป็นต้นกำเนิดอานาปานสติ เดี๋ยวจะกล่าวลงในรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นพระพุทธเจ้าถึงประทานอานาปานติ
ทีนี้เราไปดูก่อนแบบที่ 2 ว่า 50 กว่าพระสูตรนี้ ปรากฏเกือบ 50 พระสูตรนี้เป็นแบบที่ 2 หมดเลย ก็คือแบบที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสกับบุคคลแต่ละบุคคล มีข้อสังเกตตรงที่ว่าในขณะที่ตรัสกับบุคคลแต่ละบุคคลนั้นหนะไม่ว่าจะเป็นท่านราหุล พระสารีบุตรเอง หรือว่าตรัสกับท่านพระอริฏฐะ ผมชอบจะยกพระอริฏฐะบ่อยๆ เพราะว่ามีนัยยะอันสำคัญเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังสักช่วงกลาง ๆ นะครับ ไม่ว่าจะตรัสกับใครก็แล้วแต่พระพุทธเจ้าจะตรัสอานา 16 ล้วนๆ
ข้อนี้ผมเคย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเคยเป็นนักปฏิบัติใหม่ๆ ก็ตั้งคำถามตัวเองว่า เราเองไม่รู้ว่าปิฎกเนี่ย ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เนี่ย พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นอานาปานสติที่เป็นสมถะกับอานาที่เป็นวิปัสสนาอย่างไร แล้ววิธีการปฏิบัติต่างกันอย่างไร แต่ให้ท่านรู้ไว้เลยนะครับว่าอานาปานสติทั้งหมดในปิฎกตรัสเป็นอานา 16 ล้วน ๆ ครับ
ทีนี้มาแบบที่ 3 ว่าพระองค์ตรัสไปที่ไหน ก็ตรัสอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็พูดถึงเรื่องของการสรุปหัวข้อการปฏิบัติที่เมืองกุรุ ว่าการปฏิบัติในกายคตานุสติหรือว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเนี่ย ท่านตรัสเป็นบรรพแรกก็คืออานาปานสติ แต่ตรัสเพียงแค่จตุกกะแรกหรือ 4 ข้อแรกในอานา 16 เพราะฉะนั้นพอได้ฟังตรงนี้ ผมก็สรุปให้ฟังอีกที่ว่าในพระไตรปิฎกนั้น 50 กว่าพระสูตรที่พูดถึงอานาปานสติที่พระองค์ตรัสไว้ก็กล่าวถึงอานา16 ล้วนๆ
ทีนี้พอมาถึงตรงนี้ เราได้ข้อคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ ถ้าพระพุทธเจ้าท่านตรัสอานา 16 ล้วนๆ เนี่ย แล้วสิ่งที่เราทำกันเนี่ยเป็นอานา16 หรือเปล่า ? แล้วคำถามตามมาว่าแล้วครูบาอาจารย์ที่สอนเราในสังฆมณฑลก็ดีหรือว่าในโลกก็ดีเนี่ย ท่านสอนอานา16 หรือเปล่า? อันนี้คำถามตามมา ถ้าเราได้ศึกษานะครับ เราได้ตั้งคำถามจากข้อมูลรู้ที่เรารู้ขึ้นมาว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไร จะสังเกตได้ว่าถ้าท่านเป็นผู้ที่คงแก่เรียนหรือว่าขวนขวายการปฏิบัติเนี่ย ท่านจะต้องศึกษาหรือว่าได้ยินได้ฟังว่าครูบาอาจารย์ท่านสอนการดูลมเนี่ย สอนอย่างไรบ้างในโลกหรือว่าในสังฆมณฑลนี้ จะสังเกตได้ว่ามีอยู่เพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นหนะที่สอนอานา 16 นะครับ มันเกิดอะไรขึ้นกับสังฆมณฑลครับ
ก็ถ้าเราได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ หรือมีการซักถาม ผมจะตอบแบบละเอียดลงไป ก็ไม่ได้แปลกหรอก เพราะว่าถ้าเราถอยหลังไป 150 ปีที่แล้วเนี่ย ลองนึกตามผมนะครับ คนที่จะอ่านภาษาไทยได้หนะมีกี่คน มีเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก แล้วถ้าถอยหลังไปสองร้อยปีเรารบกันมาตลอด ไอ้อาการที่เราจะได้มาขวนขวายเล่าเรียนพระไตรปิฎกเนี่ยหมดสิทธิ์ ทั้งในแง่ของภูมิรู้ ทั้งในแง่ของตัวพระไตรปิฎกเองก็หายาก ในประเทศมีไม่กี่ฉบับ แต่ละฉบับบันทึกด้วยภาษขอม คนที่จะอ่านได้ก็คือคนที่จะต้องรู้ 3 ภาษา ก็คือรู้ภาษาไทย บรรยายได้ก็ต้องรู้ภาษาไทย รู้ภาษาบาลี รู้ภาษาขอมถึงจะรู้เรื่องที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น ผมบอกได้เลยว่าทุกท่านถ้าเกิดก่อนหน้านี้สัก 300 ,400 ปี หรือ 150 ปีผ่านมาเนี่ย หมดสิทธิ์ที่จะได้ฟังเรื่องเหล่านี้ หมดสิทธิ์ครับ เราเกิดมาในยุคที่ประเสริฐมากๆ นะครับ ที่เราได้มาฟังวันนี้ เพราะผมกำลังจะพูดเรื่องสำคัญมากๆ ของทั้งไตรปิฎกที่เป็นแก่นของจุดศูนย์รวมทั้งหมดของพระสัทธรรม
ทีนี้เมื่อเรารู้อย่างนี้ว่าอานาปานสติ 16 นี่มีนัยยะอันละเอียดและก็มีความสำคัญขนาดนี้ เราลองมาดูว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในสมัยที่พระองค์ทรงตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วก็ตรัสเรื่องของอนัตตลักขณสูตร สองพระสูตรนี้จะพูดถึงเรื่องมรรคมีองค์แปดจะพูดถึงเรื่องทางสายกลาง จะพูดถึงการดำเนิน จะพูดถึงวิธีการปฏิบัติที่เข้าถึงพระสัทธรรมไม่ว่าจะเป็นสัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ หรือว่าจะเป็นหน้าที่ในอริยสัจแต่ละข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้ทุกข์ การปหานเหตุของทุกข์ แล้วก็เป็นการทำให้แจ้งซึ่งนิโรธหรือว่าความดับในอุปาทานนั้น แล้วก็เป็นเรื่องของการดำเนินในมรรคาปฏิปทาที่จะให้เข้าสู่ความเป็นนิโรธหรือว่าความดับอุปาทานนั้นหนะ พระสูตรแรกกล่าวอย่างนี้ พระสูตรที่สองพระองค์ตรัสอยู่ใช่มั้ยครับตั้งแต่เรื่องของอนัตตลักขณสูตรก็คือเพื่อให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาความไม่เที่ยงของตัวตน พระองค์ตรัสอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าเทศน์เรื่องนี้นะครับ คนก็บรรลุๆ ในตอนนั้นพวกอนุพุทธะหรือว่าอสีติอะไรต่างๆ ก็บรรลุตามไป
แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งถึงจุดๆ นึงเนี่ย มีพระจำนวนมากเนี่ยเมื่อวางอัตตาวางตัวตนไปเรื่อยๆ เพราะว่าจี้ไปที่ตัวละใช่มั้ยครับ ทิ้งอัตตา ทิ้งในเรื่องของตัณหา จี้ไปที่ตัวตัณหา แล้วก็มองอสุภะเพื่อละตัณหาเพราะว่าตัณหาเป็นสมุทัยใช่มั้ยครับ ละตัณหาเนี่ยเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สุดของคำสอนพระพุทธเจ้าในอริยสัจ 4 ละตัณหา ละตัณหาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีการอสุภสัญญาหรือว่ามรณสัญญาเนี่ย ปรากฏว่าพระจำนวนหนึ่งเกิดความเบื่อในชีวิตแล้วก็ใช้วิธีการจ้างให้คนอื่นฆ่าตัวเองโดยใช้บาตรนี่แหละ จีวรนี่แหละเป็นสินจ้าง เกิดการล้มตายจำนวนมาก ล้มตายเยอะนะ ฆ่ากันเยอะมาก เค้าเรียกว่าลอยเกลื่อนในน้ำเยอะมาก
พระพุทธเจ้าตอนนั้นหนะท่านหลีกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียว แล้วท่านก็ทรงทราบอยู่แล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์ด้วยบุพกรรมของพระเหล่านั้นท่านก็เลยไม่ได้ออกมาจากที่หลีกเร้น หลังจากที่ออกมาจากี่หลีกเร้นเนี่ย อุปัฏฐากหรือพระผู้ใหญ่ที่เป็นอสีติเนี่ยก็ไปทูลพระองค์ว่ามีพระฆ่าตัวตายด้วยการพิจารณาอสุภสัญญาหรือพิจารณาความไม่สวยไม่งามหรือว่าความตายเนี่ยเพื่อจะละอัตตา อัตตวาทุปาทานต่าง ๆ เพื่อเป็นการละตัณหาเพื่อจะสำเร็จในอริยสัจจสี่ข้อแรกที่ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรด้วยวิธีการรวบยอดก็คืออนัตตลักขณสูตรหรือความวางอัตตานั่นเอง
ปรากฏว่าพระองค์บอกว่าถ้าจะออกจากอาการนี้สำหรับคนที่วิปลาส ก็คือวิปลาสหมายถึงฆ่าตัวตายเนี่ยหรือจ้างคนอื่นฆ่าเนี่ย ก็จงมาเจริญอานาปานสติ พระองค์บัญญัติสิกขาบทก่อนว่าห้ามพระภิกษุฆ่าสัตว์กับฆ่ามนุษย์ แล้วก็ห้ามฆ่าตัวตายด้วยเพราะจะเป็นอาบัติตามลำดับกันไป ทีนี้พระองค์ก็ประทานอานาปานสติ โดยประทานอานา 16 อย่างที่ผมกล่าวพระบาลีหรือว่าหรือว่าเสียงที่เป็นพุทธพจน์แล้วก็เป็นมคธให้ฟังในเบื้องต้นของการบรรยายในวันนี้หนะนะครับ พระองค์ตรัสอย่างนั้นแล้วก็บอกว่า แปลเป็นไทยคร่าวๆ ว่าอานาปานสติเนี่ยทำให้มาก ทำให้บ่อยมากๆ เนี่ยจะได้อานิสงค์มาก แล้วพระองค์ก็ถามต่อว่าแล้วทำอย่างไร ทำให้มากเนี่ยแล้วมันจะเกิดอะไรครับ จะเกิดสติปัฏฐานใช่มั้ยครับ สติปัฏฐานเนี่ยทำให้มากก็จะเกิดโพชฌงค์ เมื่อทำให้มากนะครับ ทำอานานี่แหละ จี้ไปที่จุดเดียวนี่แหละ ก็จะทำให้บรรลุผลนั่นเองหรือวิชาและวิมุตติ
พระองค์ถามว่าแล้วทำอย่างไรหละอานาปานสติถึงทำให้ได้ผลมากอย่างนี้ แล้วพระองค์ก็ตอบเองว่า เธอจงไปที่ป่า โคนไม้หรือเรือนว่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือจะเอาที่ผสมกันก็ได้ถ้ามันเป็นเรือนว่างอยู่ในป่าหรืออะไรก็แล้วแต่ เธอจงตั้งปณิธานให้แน่วแน่ ในการตั้งกายให้ตรง ผมจะพูดบ่อย ๆนะครับว่าตั้งกายให้ตรงก็คือเรื่องของการที่ต้องดูว่ากระดูกสันหลังเนี่ยมันต้องตั้งฉากกับพื้น แล้วก็คนส่วนใหญ่เนี่ยจะไปจดจ่ออยู่ที่กระดูกสันหลัง แต่จริงๆ แล้วต้นเหตุของมันอยู่ที่กระดูกเชิงกราน ก็คือตัวรับกระดูกสันหลังนั่นเอง base ของกระดูกเชิงกรานจะอยู่ที่แก้มท้าย
เพราะฉะนั้นผมจึงบอกกับคนที่มาปฏิบัติกับผมว่านั่งสมาธิเนี่ย นั่งขัดสมาธิเสร็จแล้วเนี่ย ให้ก้มกายลงไปให้ศีรษะประหนึ่งว่าจรดพื้นข้างหน้า เพื่อให้แก้มบั้นท้ายเปิดให้มากที่สุดเพื่อจะรองรับน้ำหนักตัว แล้วก็ทำให้กระดูกเชิงกรานนั้นหนะตั้งฉากกับพื้น เมื่อกระดูกเชิงกรานตั้งฉากกับพื้นเนี่ยเดี๋ยวกระดูกสันหลังมันตรงเอง แล้วถ้าวางเป็น ยุคลธรรมหกคู่ประกอบเนี่ย เดี๋ยวลมที่เป็นสรรพกายเนี่ยจะเข้าไปดันกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของเราบางอย่างเนี่ย มันวิ่งขึ้นไปที่แกนสมอง ก็จะทำให้กระดูกตั้งตรงแล้วคนที่จะเข้าถึงระดับนี้ได้เนี่ย กายจะเบา จิตจะเบาแล้วก็กายตั้งตรงแบบที่ไม่เกร็ง นั่งไปเรื่อยๆ ก็จะเหมือนมประดุจว่าเหมือนจะลอยขึ้นไปจากอาสนะลอยขึ้นไป นั่งแล้วยิ่งเบา เบา เบา การที่จะเจ็บปวดเมื่อยไม่มีนะครับ ไม่เหลือ ถ้าทำถูก สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยนะครับ ยืนยันนี่เป็นพุทธพจน์ ตรัสว่า อานาปานสติถ้าทำให้ถูกต้องทำให้เหมาะถูกต้องแล้วเนี่ยจะสงบตั้งแต่เริ่มกระทำเลย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเรากำลังจะไปพูดถึงว่าอานา 16 แต่ละข้อท่านพูดถึงเรื่องอะไร ใช่มั้ยครับ
เพราะฉะนั้นเบสิคอันแรก จัดกายให้ตรงก่อน ตั้งปณิธาน ตั้งกายตรง ล้อมขาเข้ามา ตั้งปณิธานตั้งกายตรง แล้วท่านให้ทำอะไรอีกครับ ท่านให้จรดสติไว้ที่ปลายจมูก จะสังเกตได้ว่าแค่บรรทัดนี้ที่พระองค์ทรงตรัสว่า ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา เนี่ยศัพท์นี้ที่พระองค์ตรัสเนี่ยมันมีนัยยะมากนะครับ มีนัยยะอย่างไร ก็มีนัยยะตรงที่ว่า พระไตรปิฎกไทยเนี่ยเวลาแปลเนี่ย ท่านแปลแบบที่อธิบายตามศัพท์ที่มีขมวดไว้ในชั้นที่เรียกว่าอรรถกถา เพราะฉะนั้นเราจึงได้ยินประโยคนี้แปลว่า “ดำรงสติเฉพาะหน้า” ดำรงสติเฉพาะหน้า คุ้นแล้วใช่มั้ยครับว่าดำรงสติเฉพาะหน้า เดี๋ยวถามว่ามันหน้าไหน หน้าตรงไหนกันแน่ ตรงไหนของหน้า หรือว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้ากันแน่ ดำรงสติเฉพาะหน้า ไม่รู้หน้าไหน หน้าทั้งศีรษะมั้ย หรือเฉพาะใบหน้าหรือเฉพาะหน้าผาก หรือเฉพาะจมูกหรือเฉพาะตรงไหนก็ไม่รู้ หรือจะเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าดังกล่าว
เพราะฉะนั้นตรงนี้สร้างปัญหา แต่ถ้าเราได้มีการศึกษามาก เรียนรู้มาก เราจะรู้ได้ว่าพระสารีบุตรท่านพูดไว้ ท่านพูดอย่างไร ท่านพูดว่า “นาสิกคฺเค วา มุขนิมิตฺเต วา” หมายถึงอะไรครับ พระสารีบุตรท่านกล่าวคำนี้ เพื่อยืนยันชี้จุดว่า ว่า ปริมุขํ สตํ เนี่ย หรือว่า มุข ในที่นี้เนี่ย มุข แปลว่า “หน้า” ก็ได้ แปลว่า “ทาง” ก็ได้ แต่พระสารีบุตรเหมือนมีนัยยะชี้ว่าตัวนี้ไม่ได้แปลว่าหน้านะ แต่ให้แปลว่า “ทาง” “ทางออกแห่งลมหายใจ” ก็คือนาสิกนั่นเอง นาสิกในที่นี้ก็คือจมูก ปลายจมูกเป็นที่ตั้งสติไว้ ถูกตั้งสติไว้ดีแล้วที่ปลายจมูก อันนี้พูดถึง tense ของเปตฺวา ที่เป็นหลักบาลีนะ ก็คือเป็น Perfect tense ที่เป็น Passive Voice เข้าไปถูกตั้งไว้ดีแล้ว
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติถ้าแปลเป็นไทยง่าย ๆ จริงๆ แล้วผมต้องหลีกเลี่ยงภาษาอังกฤษนะครับแต่จำเป็นต้องใช้เพราะว่าพูดเป็นไทยก็หาคนเข้าใจยาก เป็นไทยจะพูดว่าอะไรครับ กัตตุวาจก นะ ไม่ใช่ กัมมวาจก มีท่านใดทราบมั้ยครับ ผมต้องพูดภาษาอีกประเทศนึงเพื่อที่จะให้เข้าใจได้บางท่านหนะนะครับ เพราะมันเป็น Passive Voice และก็เป็น Perfect tense เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ประโยคสมบูรณ์กาล คือหมายถึงพระองค์ตรัสบ่งชี้ว่าการรู้สติที่ปลายจมูกนี้ เมื่อทำการถูกตั้งแล้วก็จะดำเนินต่อไปจนสิ้นกระบวนการคือรู้ต่อเนื่องไปไม่หยุดอยู่ที่จุดๆเดียว นี้เรียกว่าประโยคสมบูรณ์กาล แล้วก็เป็นกรรมเป็นผู้ถูกกระทำ ก็คือจมูกนั้นถูกเข้าไปตั้งสติไว้แล้ว แล้วให้เธอทำไงครับ ให้เธอเป็นผู้รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวเนี่ย ผมทวนนะครับ เตรียมตัวก็คือ หนึ่ง ตั้งกายตรง ล้อมขาเข้ามา แล้วก็ให้ ถูกตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก ไม่ใช่ที่อื่นนะครับ ไม่ใช่ที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่ใช่ที่หน้า หรือว่าอื่น ๆ อาจจะแปลว่า บ่ายหน้าต่อพระกรรมฐาน นี่บางสำนักแปลอย่างนี้ นะครับ ก็คือบ่ายหน้าต่อพระกรรมฐานก็คือจดจ่ออยู่ที่ลมที่เป็นอานาปานสติ ซึ่งมันไม่ชี้ชัด
สมัยที่ผมทำผมสับสนเรื่องนี้มาก ผมสับสนอย่างรุนแรงนะครับเนื่องจากเป็นวิตกจริตอย่างรุนแรง โมหะจริตอย่างรุนแรง เพราะนั้นเราก็ตามหาว่า เอ๊ ตรงนี้มันตรงไหนกันแน่ มันคงไม่ใช่ทั้งหน้าแน่ แล้วก็อาจจะใช้ประสบการร์ตรงนิดนึงนะครับที่จะกล่าวว่าหลังจากที่ทำไปจนถึงจุดจุดนึง นิมิตเข้ามาก็จะมีครูบาอาจารย์บอกละ บอกว่าตรงนี้ตรงนั้น จี้ไปเลยที่จุดจุดเดียวที่ปลายจมูก อันนี้ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์อุตริเล็กน้อย แต่ก็อยากจะกล่าวไว้ว่ามันมีเรื่องนี้อยู่จริง และไม่ใช่อุปทานที่เราคิดขึ้นเอง เพราะผมเป็นคนเชื่ออะไรยากมากๆ การที่จะพิสูจน์ว่านิมิตนี้แท้หรือเปล่านะครับ ครูบาอาจารย์ที่พูดมาเนี่ยเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าเนี่ย ผมพิสูจน์ไม่รู้จะพิสูจน์ยังไง เพราะไม่เชื่อ นะ ฟังไปแล้วอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องงมงายหรือว่าอะไรก็ลองทำดู ถ้าทำถูกเนี่ยเดี๋ยวได้เรื่องนะ ไม่เกินกี่บัลลังก์ ถ้าทำถูกกายจะต้องตั้งตรงอย่างไม่เกร็ง ยุคลธรรม 6 คู่ 12 อาการต้องปรากฏ ประกอบไปด้วยกายเบาจิตเบานะครับ จิตควรแก่การงาน กายควรแก่การงาน จิตตรง กายตรง แล้วก็นุ่มนวลควรแก่การงานทั้งกายทั้งจิต เพราะฉะนั้นถ้าทำถูก ต้องเจอครับ นี่หมดเวลาซะแล้วครับ เราก็ไปได้ประมาณสัก 30-40 % แต่ว่ผมก็จะใช้โอกาสนี้พูดต่อ ท่านใดที่สะดวกพูดคุยหรือว่ารับฟังก็รับฟังต่อไปเลยครับ
ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสอะไรอีกครับ นี่ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ก็คือถอยไปเล็กน้อยนะครับ ผมถอยหลังไปเรื่องของ ปริมุขํ สตึ หรือบริเวณที่ให้รู้ ให้ตั้งสติไว้ ก็คือบริเวณปลายจมูก เอาแค่นี้ แค่ปลายปลายจมูกนี้ เราก็ถกเถียงกันไม่รู้เท่าไรแล้ว เพราะว่าแต่ละสำนักพูดไม่เหมือนกันในประเทศ หรือในโลกนี้ ทีนี้ดูข้อต่อไปยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เลย แต่ผมอยากจะเรียนเพื่อเป็นกำลังใจนิดนึงมันมีแค่สองข้อเท่านั้นเองที่ตีปนกัน แล้วก็ติดกระดุมเม็ดแรกผิดกันหมดทั้งโลก ข้อที่สองพระองค์ตรัสต่อไปว่า ทีฆัง วา อัสสะสันโต, ทีฆัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ, ทีฆัง วา ปัสสะสันโต, ทีฆัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ, รัสสัง วา อัสสะสันโต, รัสสัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ, รัสสัง วา ปัสสะสันโต, รัสสัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ…….. หมายถึงอะไรครับ แปลเป็นไทยง่าย ๆ นะครับแต่ไม่ตรงความหมาย แปลเป็นไทยว่าอะไรครับ พระองค์ตรัสว่าให้รู้ความยาวหายใจออก ให้รู้ความยาวหายใจเข้า เอาละสิทีนี้ ยาวนี้ยาว อะไรยาว ยาวอย่างไร ถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่ได้เรียนเราก็ไม่ได้รู้ เราก็รู้ว่าอ๋อ คือความยาวก็คือจุด A ไปจุด B สิ ถึงจะเรียกว่าความยาว เพราะฉะนั้นเวลาลมเข้า เราก็ต้องรู้ว่า อ๋อจากปลายจมูกไปถึงท้อง ถูกมั้ยฮะถ้าจุด A ไปถึงจุด B เพื่อจะให้รู้ความยาว ถูกมั้ยครับ ทำอย่างนี้ผิดถนัดเลย เพราอะไรครับ
พระสารีบุตรท่านแจกเลยว่าความยาวในที่นี้หมายเอาความยาวตามกาลเวลา ไม่ได้หมายเอาความยาวตามระยะทาง อันนี้มีอ้างอิงนะครับที่ปรากฏอยู่ในปฏิสัมภิทามรรคก็ดี ปรากฏอยู่ในวิสุทธิมรรคก็ดี และปรากฏอยู่ในวิมุตติมรรคก็ดีนะ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ภาษาบาลีเรียกว่า “อทฺธานสงฺขาเต” การนับว่ายาวของลมหายใจตามกาลเวลา มาถึงตรงบรรทัดนี้หลาย ๆท่านที่ยังไม่เคยได้ฟังมาก่อนก็จะเป็นที่อัศจรรย์นะว่า เฮ้ย ผมพูดอะไร
ในสมัยปี 43 เนี่ย ผมเป็นพระป่าอยู่ในป่า แถวด่านช้าง ผมปฏิบัติอุกฤษฏ์มาก ในโลกนี้ถ้าจะบอกว่าใครนับลมเนี่ย คงจะหาตัวจับได้ยากที่จะนับได้เท่าผม ผมนับ ที่ปรากฏอยู่ในวิสุทธิมรรคนะครับ 1-5 /1-6,/1-7 /1-8/1-9/1-10 แล้วก็มา 1-5 ใหม่เนี่ย นับอยู่เป็นปีตลอดเวลา แทบจะตลอดเวลาที่มีสติสมประดี นั่นหมายถึงผมไม่นับก็คือตอนหลับเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นผมจึงใช้ประสบการณ์ตรงฟันธงว่าผมเข้าสู่ความสงบระงับในขณะที่ผมบริกรรมอย่างที่ทุกคนเข้าใจว่าอานาปานสติต้องบริกรรมหรือท่องบ่น ผมเข้าได้ เข้าได้จนกระทั่งถึงอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตของอานาปานสติ นั่นหมายถึงภาวะเฉี่ยวฌานหรือภาวะทรงฌานนั่นเอง แต่ผมเป็นที่อัศจรรย์มากว่าอานาปานติทำแล้วทำไมเห็นดวงอาทิตย์แกะก็แกะไม่ออก ภาพปรากฏอยู่ในมโนทวารอยู่อย่างนั้นเป็นรูปพระอาทิตย์
ก็ไปถามพระรูปนึง ซึ่งผมเชื่อว่าท่านมีพรรษามากในป่านั้นเท่าที่จะหาได้ ก็ไปถามท่าน ท่านไม่พูดอะไร ท่านพูดน้อยมากองค์นี้ ท่านพูดน้อยมาก แล้วท่านเปิดหนังสือ จำได้แค่นั้นเองว่าท่านเปิดว่า อทฺธานสงฺขาเต ให้รู้ความยาวตามกาลเวลา ท่านชี้ให้ดู ท่านแทบจะไม่พูดนะ จังหวะนั้นหนะ เนื่องจากผมเป็นคนคงแก่เรียนมาก คงแก่เรียนและอ่านหนังสือเร็วมากด้วยวิชาทางโลกสอนให้เราอ่านหนังสือเยอะ เพราะฉะนั้นผมอยากจะเรียนบอกว่า ณ ชั่วโมงนั้นเนี่ยผมอ่านหนังสือที่เป็นข้อธรรมเนี่ยแทบจะหมดประเทศแล้ว ในปี 43 นะครับ แทบจะหมดครูบาอาจารย์ รู้หมดแล้ว ผมเลยฟันธงเลยว่าพระองค์นี้เนี่ยเพ้อเจ้อ พูดไม่รู้เรื่อง เป็นไปได้ยังไง ถ้าพูดเรื่องอานาปานสติแล้วต้องกำหนดความยาวตามกาลเวลาเนี่ย ครูบาอาจารย์ในประเทศ ณ วันนั้นต้องมีพูดไว้แล้ว นี่เราศึกษามาทั่วแล้ว เป็นไปไม่ได้ ณ วันนั้นผมเดินหนีท่าน แล้วไม่เข้าไปหาท่านอีกเลย จนหลังจากนั้น 7 ปี ผมจึงถึงบางอ้อว่า อ๋อ ท่านพูดถูก ท่านชี้ถูกแล้ว
ทีนี้มาดูว่าวิธีการทำที่จะรู้ความยาวรู้อย่างไร จริง ๆ แล้วมันเป็นสภาวะที่จุด ๆ เดียว ถ้าเราจับจุดได้เนี่ย มันสงบตามนั้นเลย และผมอยากจะบอกว่าถ้ารู้อย่างนี้ได้เนี่ยมันคือประตูสุญญตา มันคือประตูนิพพานทันทีเลย สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าอานาปานสติเนี่ยทำให้ถูกเนี่ยมันสงบทันทีนะครับ เปรียบดั่งเสมือนฝนที่ตกมาในฤดูแล้ง ยังดินที่แห้งผาดเป็นฝุ่นละอองให้ชุ่มชื้นโดยพลัน อานาปานสติเนี่ยถ้าทำถูกจะต้องสงบทันที
ยกตัวอย่างประกอบที่ปรากฏอยู่ในปฏิสัมภิทามรรค พระสารีบุตรท่านมีสำนักใช่มั้ยครับ แล้วท่านก็ผลิตอานาปานกถา รจนาขึ้นมาที่ปรากฏอยู่ในปฏิสัมภิทามรรคนั้นหนะ รจนาเพื่อที่จะสอนลูกศิษย์ในสำนัก อย่าลืมนะครับพระสารีบุตรท่านอยู่ในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์ เพราะฉะนั้นตำรานี้หรือคัมภีร์นี้ย่อมต้องผ่านพระเนตรพระกรรณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะครับ เพราะฉะนั้นตอบข้อคำถามเมื่อสักครู่ มีลูกศิษย์ไปถามพระสารีบุตรว่า ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ข้าพระองค์ทำอานาปานสติ พอนั่งปุ๊บเริ่มกระทำปีติก็มาเลย
ปีติในที่นี้หมายถึงผรณาปีตินะครับ ก็มีลักษณะหมายถึงความชุ่มเย็นไปทั่วสรรพางค์กายเหมือนน้ำเต็มเขื่อน ไม่ได้หมายเอาปีติสี่ข้อต้นนะครับ หมายเอาปีติข้อที่ห้า ก็คือ “ผรณาปีติ” เหมือนน้ำเต็มเขื่อนแผ่ซ่านชุ่มเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย ไม่มีส่วนใดของร่างกายสรรพางค์กายนั้นไม่สัมผัสผรณาปีติ นี่คือลักษณะของผรณาปีติ ทีนี้พระรูปนี้นั่งปุ๊บก็เจอผรณาปีติเลย อย่าลืมนะครับ ถ้าท่านท่องอานาปานสติสิบหกได้ จะทราบได้ว่าข้อที่ 5 ท่านให้ดูปีติ พระรูปนี้ไปถามพระสารีบุตร คำถามคือ จะให้ข้าพเจ้าเนี่ยทำรู้ปีติ รู้ที่จุดจุดเดียวที่ปลายจมูกรู้ปีติ หรือจะให้ไปรู้ความยาวในเริ่มกระทำ พระสารีบุตรท่านตอบว่า ให้เริ่มทำตามลำดับที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว นะครับ ตรงนี้ข้อเหล่านี้ที่พระสารีบุตรท่านมีปัญญามากแล้วท่านรจนาเรียบเรียงไว้เรียกว่าญาณ 200 หรือข้อบ่งชี้อะไรต่างๆ เนี่ย จะเรียกว่าเป็นจุดบ่งชี้สำคัญเนี่ยปรากฏอยู่ทุกขั้นตอนของปฏิสัมภิทามรรค
เพราะฉะนั้น เราเองก็ตาม ผู้ที่จะเป็นอนุพุทธะในอนาคตหรือว่าเดินตามอนุพุทธะ หรือว่าเดินตามรอยพระองค์ในอานาปานสติกถาเนี่ย เราควรที่จะมาสำเหนียกให้มากเลยว่าจุดจุดเดียวที่ปลายจมูก สำเหนียกในที่นี้ไม่ใช่แค่รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นพยัญชนะนะ แต่ต้องเป็นแบบรับข้อมูลแล้วต้องไปลองกระทำด้วยว่าจุดจุดเดียวที่ปลายจมูกนั้น แล้วรู้เข้าออกแล้วก็รู้ความยาวในทีเดียวกันนั้นแหละมันทำอย่างไรกันแน่ ฝึกจนกระทั่งเป็นความชำนาญนะครับมันจะไม่ได้ยากเลย จากประสบการณ์ตรงที่ผมได้บรรยายเรื่องอานาปานสติ แล้วก็บอกคนให้ทำเรื่องนี้ สมมติว่าร้อยคนจะมีคนที่เข้าใจเรื่องที่ผมพูดจุดนี้จุดเดียวเนี่ย ผมไม่ได้เอาเยอะนะครับ แค่รู้ที่ปลายจมูก รู้เข้าออก แล้วก็รู้ความยาวตามกาลเวลาเนี่ย มีอยู่แค่ประมาณซักสิบเปอร์เซนต์เท่านั้นที่จะเข้าใจ ในสิบเปอร์เซนต์นั้นจะมีคนที่เชื่อและเอาไปปฏิบัติเพียงแค่สามเปอร์เซ็นต์ จากประสบการณ์ตรงในการบรรยาย
ผมถามว่ามันเกิดจากอะไร เพื่อที่อะไรครับ เพื่อที่จะนำไปหาเหตุว่า เอ๊ะ แล้วเราจะอธิบายคนยุคใหม่ถ้าเรามีโอกาสอธิบายเพิ่มขึ้นเนี่ย เราจะทำอย่างไรให้เค้าเข้าใจ เพราะว่าผมปรึกษาพระที่คุยภาษาเดียวกับผม ที่รู้อัทธานะก็ดี รู้ความยาวตามกาลเวลาก็ดี ซึ่งมีอยู่น้อยในโลกแล้ว ปรึกษาท่านท่านบอกว่าอะไรรู้มั้ยครับ ท่านบอกว่าท่านไม่แสดง เวลาที่จะแสดงอานาปานสติท่านอ้อมไปเลยไม่อยากคุยเรื่องนี้ เพราะคุยไปทีไรก็ขัดแย้ง ขัดแย้งนำไปสู่ความแตกแยก ท่านไม่พูด ยกเว้นคนที่รู้คราวๆ ราว ๆ ว๊อบๆ แวมๆ แล้วเข้าไปถามท่าน ท่านจึงอธิบาย
เพราะอะไรครับ เพราะเราต้องผ่านองค์ความรู้ที่บิดเบือนที่ไม่ตรง ผมไม่ได้ปรามาสนะครับ แล้วผมก็ไม่ได้ไปพูดในเชิงลบกับองค์ความรู้เหล่านั้น แต่เวลาที่ท่านแสดงหรือเวลาที่ท่านรับเอาองค์ความรู้เหล่านั้นเนี่ย สิ่งแวดล้อมของสังคมพุทธะหรือว่าสังฆมณฑลรู้ได้แค่นั้นจริงๆ มันเป็นข้อจำกัดในองค์ความรู้จริง ๆ อย่างที่ผมกล่าวคนที่จะกล่าวแบบที่เจอ อทฺธานสงฺขาเต ต้องรู้บาลี แล้วอ่านภาษาไทยไม่ได้ ต้องอ่านภาษาบาลีเทียบภาษาไทยถึงจะเจอสิ่งที่ผมบอก อย่างนี้เป็นต้นนะครับ เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกเลยที่สังฆมณฑลจะไม่มีใครพูดเรื่องนี้
ในประเทศนี้มีคนพูดถึงอานาปานสติ 16 อยู่แค่สองสามท่าน หนึ่งในนั้นก็จะมีท่าน ป.ปยุตโต อีกท่านนึงก็ล่วงไปแล้วก็คือท่านพุทธทาส อีกท่านนึงที่ชัดเจนมากแล้วก็ตรงสุดๆ ก็คือสมเด็จญาณสังวร ผมเจอแค่สามรูป ในช่วงเวลาศึกษาตั้งแต่ปี 36 ถึงราวๆ ปี 51 นะครับ พอหลังจากนั้นผมประกาศเรื่องนี้ในราวปี 51 ในพันทิป หลายๆ คนก็ตระหนักละ ตระหนักแล้วก็เข้าศึกษาแล้วก็รู้ รู้ตาม และวันนี้ในประเทศผมเชื่อว่าคนที่รู้เรื่องนี้มีจำนวนมากขึ้นและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ๆ ทีนี้เรามาดูว่าเราจะทำอย่างไรกับคนหมู่มากที่ได้ฟังแล้วก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อ อย่างเดียวไม่พอแล้วก็ปรามาสด้วย บางคนปรามาสด้วย ถ้าปรามาสเนี่ยผมบอกเลยว่าคุณกำลังปรามาสพระบริสุทธิธรรม แล้วก็ปรามาสเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลกด้วยอย่างที่ผมกล่าวเบื้องต้น
ทีนี้มาดูว่าเราจะทำยังไง ก็ต้องอธิบาย แล้วก็ชี้ให้เห็น อ้างอิงให้ได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไร แล้วก็พระสารีบุตรอธิบายอะไร วิสุทธิมรรคบอกยังไง วิมุตติมรรคบอกอย่างไร ถึงจะเอาอัตโนมัติหรือหนังสือยุคใหม่เข้ามาเทียบเคียง อย่างที่กล่าวมาเบื้องต้นผมไม่ได้ปรามาสแล้วก็ไม่ได้สบประมาทองค์ความรู้เหล่านั้น อย่างที่บอกแล้วนะครับถอยหลังร้อยห้าสิบปี เราไม่มีทางได้พูดคุยเรื่องนี้นะครับ เพราะว่าคนที่พูดเรื่องนี้จะต้องเป็นคนระดับประเทศเท่านั้น จะต้องรู้สามภาษาเป็นอย่างน้อย บาลี ไทย แล้วก็ขอม ถึงจะรู้เรื่องเหล่านี้ แล้วถ้าถอยไปถึงสองร้อยปีก็ไม่ต้องคุยเลยเพราะเรารบกันมาตั้งแต่อยุธยาตอนๆกลางหรือตอนต้นก็ตาม รบกันมาตลอดหนังสือได้เรียนที่ไหนนะครับ พระไตรปิฎกมีกี่ฉบับในประเทศ เพราะฉะนั้นเราถอยหลังไปเรื่อย ๆ เราจะรู้ได้เลยว่าเราไม่มีทางเลยถ้าเราจะเกิดในยุคที่ผ่านมาแล้วเราจะได้ยินได้ฟังเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่ผมพูดนี้ผมบอกได้เลยว่าบิดเบือนมาตั้งแต่พันปีหลังพุทธปรินิพพาน
เพราะฉะนั้น ถามว่าทำไมผมถึงพูดเหล่านั้นได้ พูดคำนี้ได้ ก็เพราะว่าปรากฏอยู่ในวิสุทธิมรรคในปี 950 นั้นหนะ ท่านให้นับลม ซึ่งนับลมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะอานาปานสติถ้าจะตั้งกรรมฐานกองนี้จะปราศจากการนับหรือวจีสังขารในจิต วิธีการคืออะไรครับ วิธีการก็รู้จุดเดียวที่ปลายจมูก รู้ว่าขณะนั้นมันออกหรือมันเข้า รู้ว่าขณะที่ออกที่เข้านั้นหนะมันยาวเท่าไรตามกาลเวลา ท่านยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ปรากฏในวิสุทธิมรรคท่านบอกอย่างนี้ครับ เป็นอุปมาเพื่อให้เห็นภาพชัดในวิธีการนะครับ ท่านบอกว่า เปรียบเหมือนกับยามเฝ้าประตู ยามเฝ้าประตูนี้ไม่มีหน้าที่เดินตามคนเข้าไปในเมือง ไม่มีหน้าที่ในการเดินตามคนออกจากเมือง แต่นายทวารนั้นเฝ้าประตูอยู่ตรงนั้นนะครับ ใครก็ตามเข้าไปนานแค่ไหน ออกมารู้ได้ว่าไปนานขนาดไหน ออกไปจากประตูเมืองไปกลับเข้ามารู้ได้ว่าไปนานขนาดไหน อารมณ์นานตรงนี้นี่คือบริกรรมของอานาปานสติ ไม่มีพยัญชนะอย่างนี้เป็นต้น และจะสังเกตได้ว่าถ้าท่านใดทำแล้วนะครับจะรู้ได้ว่าสิ่งที่ผมพูดสามลักษณะนี้ ก็คือ รู้จุดเดียว รู้เข้าออก แล้วก็รู้ยาวเนี่ย มันรู้ได้ขณะเดียว
ทำไม ถามว่าทำไม ก็หลังจากที่เราไปตั้งสติไว้ที่ปลายจมูกแล้ว เข้าออกนี่มันก็คือมีแค่หนึ่งใช่มั้ยครับ ไม่เข้าก็ออก มันไม่มีเข้าออกพร้อมกันหรอก เพราะฉะนั้นมันเหลือหนึ่ง หนึ่งก็คือไม่เข้าก็ออก ถูกมั้ยครับ คำว่าเข้าว่าออกไม่ใช่เป็นพยัญชนะแต่ให้รู้ความเป็นมันโดยสภาวะ เข้าหรือออกแค่นั้น รู้ความเป็นมัน ไม่ใช่รู้พยัญชนะว่าสระเอ ขอไข่ ไม้โท สระอา เข้า ไม่ใช่ ในขณะนั้นที่มันยาวเท่าไหรก็รู้ในบัดเดียวนั้นเอง ในคาบเวลานั้นเอง เรารู้เลย ตรงนี้แหละเรียกว่าการตั้งกรรมฐานอานาปานสติ ใครทำได้สงบตอนนั้น นี้แก่นอานาปานสติที่เป็นก้าวแรกและเป็นกระดุมเม็ดแรกๆ ที่เราจะต้องเรียนรู้แล้วไปลองทำ ถ้าทำได้สงบตอนนั้นเลย
ผมยกตัวอย่างคนที่ไม่เคยสงบมาก่อนนะ มีสุภาพสตรีท่านนึง ท่านมาสนิทกันนะครับ ก็มาสนใจแล้วก็มาเข้ากรรมฐาน เธอเป็นสุภาพสตรีที่ผ่านโลกมาพอสมควรนะ อายุน้อยแต่ทำธุรกิจแล้วก็มีหนี้มหาศาลแล้วก็เข้ามาศึกษาพระธรรม อายุตอนนั้นแค่ยี่สิบสี่เองมั้ง มีหนี้หลายล้านเป็นสิบล้าน แล้วก็ผ่านช่วงอารมณ์ของความทุกข์ลำเค็ญใจด้วยพระธรรมแล้วก็เลยสนใจพระธรรมมาก แล้วก็เอาจริงนะครับเพราะเห็นคุณค่าพระธรรม แต่เธอบอกว่าเธอไปปฏิบัติมาเนี่ย เธอนั่งไม่ได้ความสงบเลยสักที่นึง จนกระทั่งเธอต้องหันไปสวดมนต์ไปหาความสงบจากการสวดมนต์ ผมก็บอกว่ามามาลองทำแล้วก็เข้าคอร์สดู เธอทำวันแรกเธอรู้ความสงบทันทีและยิ่งนั่งยิ่งเบา ยิ่งนั่งยิ่งเบา ยิ่งนั่งยิ่งเบา เธอนั่งไปวันแรกชั่วโมงครึ่ง เธอไม่เคยคิดมาก่อนว่าเธอจะสามารถที่จะนั่งได้นานขนาดนั้นเพราะนั่งแค่สิบห้านาทีก็ทุกข์ทรมานปางตาย สิบห้านาทียี่สิบนาทีมันเจ็บปวดเมื่อยไปหมด
ก็ปรากฏว่าทุกวันนี้เธอเป็นคนหนึ่งในไม่กี่คนที่เข้าใจความยาวตามกาลเวลา และทุกวันนี้หน้าตาผ่องใสมาก สวยอยู่แล้วก็ยิ่งสวยขึ้นไปอีก ถามว่าทำไมถึงผ่องใส ก็เพราะว่ายุคลธรรมประกอบในจิต ผรณาปีติเข้าไปทุกอณู นะครับ และอีกข้อสำคัญก็คือออกซิเจนที่เข้าไปในกาย มันเป็นออกซิเจนที่ประกอบไปด้วยกุศลแล้วก็เลือดที่เป็นเลือดพิษไม่ได้ขึ้นหน้า ความเป็นสิวเป็นฝ้าอะไรต่างๆ ก็ไม่มี มันก็มีแต่ความสดใสด้วยการศึกษาเพียงไม่กี่ชั่วโมงนะครับ แล้วก็ไปปฏิบัติ
ทีนี้ ถามว่าตอนนี้เราคุยกันเรื่องอะไร เราคุยกันแค่สองข้อของอานาปานสติจาก 16 ข้อ เพราะฉะนั้นถามว่าแล้วข้อที่เหลือหละ ครูบาอาจารย์ท่านอื่นเนี่ยหละท่านพูดถึงมั้ย ก็มีนะครับ ก็มีท่านพูดถึง แต่ก็อาจจะไม่ตรงจุดซักเท่าไหร แต่ผมอยากจะเรียนบอกในเบื้องต้นอย่างนี้นะครับว่าเอาสองข้อให้ได้ก่อน ความยาวเนี่ย ลมหายใจปกติที่จุดจุดเดียวเนี่ยมันคือความยาว ลมหายใจปกติเป็นความยาวนะครับ ท่านพุทธทาสสอนยังไงครับ ผมไม่ได้ปรามาสนะ ผมก็ชื่นชมงานท่านหลายเรื่องมาก แต่ถ้าเรื่องอานาปานสติตอนนี้เรากำลังจะมาฟันธงว่าอะไรตรงอะไรไม่ตรงนะ พ้นความปรามาส พ้นจากการ negative หรือว่าพ้นจากการตีในเรื่องลบนะครับ แง่ลบเราไม่ได้คุยนะ เราคุยว่าอะไรคือความเป็นจริง
ท่านพุทธทาสสอนยังไงครับ ก็คือท่านสอนว่าให้หายใจให้ยาวแล้วก็เรียนรู้ศึกษา ถ้าสั้นหละทำยังไง ถ้าสั้นมันเกิดจากความโกรธก็สังเกตมันแล้วก็ทำให้มันสั้น แล้วก็สังเกตมันศึกษามัน
มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ท่านทั้งหลายถ้าจะไปทำลองทำตามนี้นะครับ ลมหายใจปกติไม่มีผู้หายใจ นี้คือแยกรูปนามปริจเฉทญาณ แยกรูปนามตั้งแต่เบื้องกระทำเบื้องต้น ไม่มีผู้หายใจ ลมหายใจแปลกมาก ระบบหายใจของร่างกายเราเนี่ยมันประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อที่เป็นกล้ามเนื้ออิสระ มันสามารถทำเองได้โดยตัวมันเอง อย่าไปกระทำการหายใจหรือการเข่นหายใจที่มีผู้คอยหายใจ ลมหายใจปกติ แล้วรู้ความยาวของมัน จะยาวเท่าไหรก็เท่านั้นโดยปกติธรรมชาติของมัน ไม่มีการเข่น ไม่มีผู้ที่ไปหายใจนะครับ ทำตามนี้ เมื่อทำและรู้ได้ด้วยความยาว ไปเรื่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ ลมมันจะสั้น จำคำผมไว้นะครับ อีกไม่กี่บัลลังก์ท่านไปทำ ถ้าทำตามนี้ได้ลมหายใจสั้นจะปรากฏ และเมื่อลมหายใจสั้นปรากฏ ท่านจะไม่เคยเจอลมหายใจสั้นเท่านี้มาก่อนในชีวิต ลมหายใจสั้นเป็นเสี้ยววินาที ผมบอกอย่างนี้คนจะงงว่าเป็นไปได้ยังไง ท้าให้พิสูจน์ครับ ลมหายใจสั้นไม่ได้ขวนขวายให้สั้น มันสั้นเอง จากความสงบระงับของจิต
เมื่อมันสั้นแล้วทำอย่างไรหละทีนี้ ก็ให้ดูความยาวของความสั้นนั้นแหละ จิตที่สงบระงับประกอบไปด้วยสมาธิที่มีกำลัง ต้องอาศัยสติและสัมปชัญญะ แปลเป็นไทยนะครับ สติระลึก สัมปปชัญญะคือรู้ตัวทั่วพร้อมเนี่ย ที่มีกำลังนะ ที่จะไปเข้าเห็นความละเอียดอ่อนของความสั้นและเบาตรงนั้นได้ ความสั้นและเบาตรงนั้นเนี่ยพระบาลีต้องอิงพระสารีบุตรอีกแล้ว พระสารีบุตรท่านบอกอย่างนี้ครับ เปรียบเหมือนการชุนผ้าเนื้อละเอียด นึกถึงผ้าเนื้อละเอียดที่มันบางๆ และมีคุณค่าสูง อย่างผ้ากาสีหรือผ้าอะไรที่มันเป็นผ้าที่…ผ้าไหมทอละเอียดหรือผ้าดิ้นทองละเอียด ถามว่าเราจะชุนผ้าอย่างนี้ คำว่าชุนหมายถึงผ้าถ้ามันเป็นรูเราจะทำผ้าให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด เค้าเรียกชุน ต้องอาศัยเข็มที่เล็กและด้ายที่เล็กเข้าไปชุนผ้าเนื้อละเอียด นี่พระสารีบุตรท่านอุปมาแบบนี้ กำลังหมายถึงอะไรครับ หมายถึงขณะที่รู้ลมสั้นนั้นหนะ โดยประสบการณ์นะ คนที่รู้ลมสั้นส่วนใหญ่ออกนอกลมสั้นหมดไม่รู้ความยาวของลมสั้นนั้น ก็คือไม่รู้ระยะเวลาของลมสั้นเลย มันหลุดเพราะอัศจรรย์ว่ามันสั้นขนาดนั้นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นผมเรียนบอกท่านที่จะไปทำนะครับ ขณะที่เจอลมสั้น กลับมาหน้าที่หลักครับ รู้ความยาวตามกาลเวลาของความสั้นนั้น เมื่อกระทำอย่างนี้ได้นี่ สัมปชัญญะที่เรา เป้าประสงค์เนี่ยวิ่งเข้าไปที่สัมปชัญญะคือตัวปัญญา สติเป็นผู้ประคองเป็นผู้อุปการะ สัมปชัญญะแปลว่ารู้ตัวทั่วพร้อมใช่มั้ยครับ คำว่ารู้ตัวทั่วพร้อมเนี่ย รู้ตัวทั่วพร้อมเนี่ย มีนัยยะนะครับ สัมปชัญญะคือปัญญา คือตัวรู้ คือตัวที่เป็นเป้าประสงค์นะครับ คำว่ารู้ทั่วพร้อมเนี่ย ลองดูข้อที่สามของอานาปานสติ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอะไรครับ รู้ตัวทั่วสรรพกาย สัพพะกายะปะฏิสังเวที รู้เฉพาะทั่วกองลมหายใจออก รู้พร้อมเฉพาะทั่วกายหายใจเข้า ตัวนี้และด้วยอำนาจของสัมปชัญญะในการรู้ลมสั้นที่มีกำลังนั้นจะสามารถรู้ได้ทั้งกายนั่นเอง อยู่ที่ปลายจมูกแต่รู้ได้ทั้งกายนะ อันนี้ฟังไว้ก่อนถ้าท่านใดยังไม่ถึงก็ลองทำดูไปเรื่อย ๆ แล้วก็ถึงตรงนี้ถ้ามีโอกาสซักถามกันก็พูดคุยหรือสอบถามเข้ามา เพราะว่าถ้าจะเดินทางนี้ คนที่จะตอบ จริงๆ แล้วนี่หาได้ยากมากในโลก
ครูบาอาจารย์ที่ยังอยู่ในโลกนี้ ผมก็เห็นมีท่านพะอ๊อก, ท่านพะอ๊อก สยาดอ ซึ่งเป็นอัครกรรมฐานจริยกาจารย์ในพม่าในรัฐมอญองค์หนึ่ง ท่านที่พึ่งล่วงไปก็องค์สมเด็จญาณสังวร ซึ่งท่านไม่อยู่แล้ว ในเมืองไทยไม่เห็นอีกนะครับ อีกท่านนึงก็ท่านปิด ท่านไม่เปิดนะครับ อย่างที่กล่าวในเบื้องต้นว่าจะไปให้ท่านแสดงท่านไม่แสดง ก็ไม่รู้จะหาที่ไหนนะครับ ผมก็ถือโอกาสนะครับได้เจริญกุศล ถ้าท่านใดสงสัยหรือมีข้อคำถามก็ถาม เจอกันก็ถามหรือว่าทักไลน์มาถามได้
ทั่วกาย สัพพะกายัง ปฏิสังเวที รู้ทั่วกายเมื่อจดจ่อลมที่รู้ทั่วกาย ลมตอนนั้นมันสั้นมากแล้วก็เป็นอุเบกขารมณ์ในจิตนั้นมีสภาพเป็นอุเบกขาที่เป็นกำลัง เมื่อเข้าไปรู้เจือด้วยอุเบกขาแล้ววางกายเนี่ย มันคืออริยสัจข้อแรกที่เห็นทุกข์ แล้วก็ข้อที่สองที่วางตัณหาและความติดข้องและความฉันทะ ก็คือความยึดความเพลิดเพลินในลมนั้น เพลิดเพลินในสภาวะนั้นๆ ถูกตัดด้วยลมอุเบกขาหรือลมที่มีความละเอียดหรือลมที่มีสภาพของผรณาปีติเจือปนแล้ว
ทีนี้มาดูแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นครับ พอรู้เข้าไปปั๊บมันเกิดสภาพที่เรียกว่า ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง หรือกายเนี่ยมันสงบระงับ ลองคิดดูนะครับว่าถ้าโผฏฐัพพารมณ์หรือว่ากายเรามันไม่มีประสาทในการรับรู้เรื่องการสัมผัส มันเกิดอะไรขึ้นครับ ลองทายในใจดูนะครับ เดี๋ยวผมจะตอบนะครับ สิ่งที่เกิดขึ้นคือลมหายครับ เราไม่สามารถจับลมได้ แล้วเราก็ไม่มีกายด้วย เอาละสิทีนี้ กายมันบางมาก แทบจะจับไม่ได้ว่ามีกาย ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งนะครับว่าในห้องนี้มีหลายท่านเคยนั่งสมาธิแล้วก็อาจจะเจอเรื่องของ เฮ้ย กายมันหายไปไหนไม่เห็นมีเลย ความรู้สึกมันจับกาย ท่านไปที่กายปัสสัมภะยังแล้ว แต่ปัญหาคือท่านกลับไปอีกไม่ได้ ท่านไม่รู้ว่าท่านไปอย่างไร คือมันไปด้วยความฟลุ๊ค มันไปด้วยจังหวะบังเอิญ
แต่ถ้าท่านทำตามลำดับที่กล่าวมาในเบื้องต้นนี้ ตามลำดับอานา 16 ท่านจะเข้าได้อย่างตามใจนึก และตัวนี้คือต้นทางที่จะเข้าไปเห็นจิต คือต้นทางที่จะไปเห็นรูปนามปริจเฉทญาณ หรือเป็นต้นทางที่จะเข้าไปสู่จูฬโสดาบัน หรือเป็นต้นทางที่จะประกันว่าท่านจะไม่ลงอบายในชาติต่อไปนะครับ เพราะอะไรครับ เพราะท่านไปรู้เหตุของรูปนาม ท่านไปรู้ชัดว่ารูปนามมันแยกจากกันนะครับ รู้ได้อย่างไร ก็รู้ได้ด้วยกายสงบระงับ เมื่อกายสงบระงับ มันเหลืออะไรหละครับ มันก็เหมือนเวทนากับเหลือจิต และก็เหลือธรรมในอนาคตนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ลำดับทางที่จะเดินไปเนี่ย มันก็คือการศึกษาขันธ์ห้านั้นแหละ ด้วยวิธีการอริยสัจสี่โดยใช้ลมเป็นอุปกรณ์เป็นเครื่องพาไป อริยสัจสี่อย่างไรครับ อริยสัจสี่ตรงที่ว่าเราเห็นกายเป็นทุกข์ถูกมั้ยครับ ลมหายใจก็เป็นทุกข์ ในกายนี้มันเป็นทุกข์ถูกมั้ยครับ ท่านให้ทำอย่างไร ท่านให้รู้ทุกข์ เรากำลังรู้อยู่ รู้ลมอยู่ ท่านให้วางตัณหา ตัณหาคืออะไรครับ ตัณหามันแยกเป็นสองก็คือฉันทะกับราคะ ก็คือความเพลินเพลินและก็ความติดข้อง ลมเมื่อมีอุเบกขามันไปชะล้างความเพลิดเพลินและความติดข้อง ซึ่งคือฉันทะและราคะซึ่งมันก็คือตัวย่อของตัณหานั่นเอง ตรงนี้แหละลมไปฆ่าตัวต้นของสมุหทัยก็คือตัวตัณหา เรากำลังทำหน้าที่ในอริยสัจข้อสองอยู่ด้วยใช้ลมเป็นเครื่องนำทางไป เห็นมั้ยครับว่าลมคืออริยสัจสี่ อานาปานสติก็คืออริยสัจสี่ภาคปฏิบัตินั่นเอง
เพราะนั้นที่กล่าวมานี้ก็คือขั้นที่สี่ของอานาปานสติ เมื่อเราพ้นขั้นที่สี่กายมันเบาบางแล้ว สิ่งที่เหลือคืออะไรครับ มันก็จะไปเจอเวทนาก็คือปีติ คือกำหนดรู้ด้วยลมละเอียดแล้วไม่ติดข้องมันไม่เพลิดเพลินกับมันด้วยอำนาของลมอุเบกขาที่มีอยู่ในจิตอยู่แล้ว เพราะมันเข้าไปสงบระงับนิวรณ์ จิตตอนนั้นมีสภาพความเป็นกลาง ก็คือมีองค์ของอุเบกขาเข้ามาเจือแล้วจะมากเท่าไหรก็แล้วแต่ แต่ใช้ชะล้างได้ ชะล้างสภาพที่เป็นตัณหาหรือติดข้องหรือเพลิดเพลิน คือความอยากนั่นเอง ชะล้างไปเรื่อยๆ นะครับ ปีติ สุข จนกระทั่งเข้าถึงสภาพที่เรียกว่าจิตมันตกตะกอน ก็จะเกิดจิตตสังขารหรือว่ามันลอยขึ้นมาในมโนทวาร
เรื่องราวอาจจจะเป็นเรื่องราวที่เราจำไม่ได้แต่มีความสำคัญในชีวิต หรือว่าเรื่องราวที่ประทับใจรุนแรงที่มันเป็นขีดอยู่ในใต้บาดาลจิตมันโผล่ขึ้นมา รู้มันครับ รู้มันอย่างไร ก็รู้มันเฉยๆ ไม่ต้องไปรู้เรื่องราวไม่สนใจเรื่องราวนะครับ ไม่สนใจเรื่องราว เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างนั้นก็จะวิ่งเข้าไปที่เรื่องราวแล้วก็ไปปรุงต่อ ไปแต่งต่อ ว่าทำไม เอ๊ย ทำไมชั่วโมงนั้นชั้นไม่ทำอย่างนั้น ทำไมชั้นควรจะแก้ปัญหานั้นอย่างนี้ โอ้โหเสียดายจังเลย อยากเข้าไปในอรรถรสแบบนั้นอีกเพลิดเพลินอะไรอย่างนี้ อันนี้คือเข้าไปติดข้องแล้วก็ใส่อุปาทานเข้าไปอีก
แต่วิธีที่ปรากฏอยู่ในอรรถกถาหรือพระสารีบุตรท่านบอกว่ายังไง ให้รู้สัณฐานของมันไม่ให้รู้เรื่องราว แล้วรู้ลม ถูกมั้ย ตัวนี้เป็นเหตุ เมื่อกำหนดรู้เป็นเหตุนี่คือตัวปัญญา สัมปชัญญะที่เราฝึกไว้ตั้งแต่ลมสั้นนั้นรู้ทั่วพร้อม มันไม่ใช่กายแล้วนะมันกลายเป็นรู้จิตทั่วพร้อม และมันรู้ทั้งก้อนนะ มันไม่ได้ไปรู้เรื่องราวนะ มันรู้ฟึ่บทั้งก้อน รู้ด้วยลม วาง วางอีกใช่มั้ยครับ เพราะลมเป็นลมละเอียด วางอะไร ก็คือวางความติดข้อง วางความเพลิดเพลินหรือวางความอยากนั่นเองโดยอัตโนมัติ เพราะลมมันเป็นอุเบกขา ไม่ได้เจือนิวรณ์ หรือนิวรณ์มันเบาบางหรือไม่มีนิวรณ์นะครับ พอไปดูลมปุ๊บ โอ้ สภาวะตรงนั้นจิตตสังขารที่ลอยขึ้นมาเรารู้สัณฐานของมันมันจะสงบระงับครับ มันก็เหมือนกายสงบระงับ นี่เรากำลังถอดเปลือกขันธ์ห้า เราเรียนรู้ขันธ์ เรียนรู้อริยสัจสี่ เราเรียนรู้อานาปานสติ เราเรียนรู้ปฏิจจสมุปบาทที่ลมอยู่นั่นแหละ เห็นความอัศจรรย์ของอานาปานสติมั้ยครับ
ทีนี้พอเรารู้ลมเนี่ยนะครับ แล้วก็รู้ลมละเอียด รู้ลมสั้นนั้น เมื่อกายมันสงบระงับเนี่ย เพราะสารีบุตรท่านเปรียบไว้อย่างหนึ่งครับ ว่าขณะที่กายหาย เมื่อกี้เราพูดถึงกายหาย ถูกมั้ยครับ แล้วเราจะไปรู้ลมได้อย่างไร มีลูกศิษย์มาถามพระสารีบุตร อันนี้ผมใกล้จะจบแล้วนะครับ อันนี้เข้าถึงค่อนข้างจะเป็นของแก่นมากๆ สิ่งที่ผมกำลังจะพูดมีคีย์เวิร์ดหรือว่าใจความสำคัญในการสืบค้น เรียกว่า “ลมกังสดาล”
ลมกังสดาลเป็นอย่างไร?
พระสารีบุตรแจกไว้ มีพระไปถามพระสารีบุตรว่า ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ข้าฯ ทำอานาปานสติ ลมไม่มี จะทำอย่างไร ลมมันหาย ก็เมื่อกี้บอกแล้วใช่มั้ยครับว่ากายมันหายมันจะไปรู้ลมได้ยังไง ก็ลมเป็นกาย แล้วการจะรู้ลมก็คือต้องรู้ว่ามันสัมผัสโพรงจมูกมันถึงจะรู้ใช่มั้ยครับ ทีนี้กายมันไม่มี กายมันหายหรือว่าโผฏฐัพพารมณ์สัมผัสทางกายมันหาย เราจะรู้ลมได้ยังไง พระสารีบุตรบอกว่าให้อยู่ตรงนั้นแหละที่จุดจุดเดียวนั้น เดี๋ยวลมจะปรากฏเอง แต่จะปรากฏถ้าจิตละเอียดมากเนี่ยจะปรากฏเป็นลักษณะของกังสดาล
คำว่ากังสดาลคือ กังสดาลคล้ายๆ ระฆังนะครับ กังสดาลเนี่ย เค้าเรียก ‘Burmese bell’ หรือระฆังพม่านั่นเอง เป็นสภาพเหล็กแผ่นหนึ่งแล้วก็เอาเหล็กแท่งมาตี ตีมันก็ดัง เต๊ง เก๊ง เง๊งง …เง๊ง ๆๆๆ มีกังวานตามมาของการตีกังสดาลนั้น ท่านเปรียบอย่างไรครับ ท่านเปรียบเหมือนดังว่าลมหายใจเนี่ย ถึงแม้ไม่มีลมหายใจเนี่ยมันยังคงมีสัญญาของลมหายใจ หรือแปลเป็นไทยก็คือมันยังมีความจำได้หมายรู้ของลมหายใจอยู่ที่จุดนั้นแหละให้สังเกตดี ๆ พระองค์นั้นสงสัยต่อว่า เป็นไปได้อย่างไร ก็ต่อเมื่อพระที่เข้าสมาบัติ พระที่เข้าฌานสี่ พระที่เข้านิโรธสมาบัติ ทรงสมาบัติเหล่านั้นเนี่ย ไม่มีลมเนี่ย จะเข้าไปได้อย่างไรด้วยอานาปานสติ พระสารีบุตรก็ตอบอย่างนี้นะครับว่า อาศัยลมกังสดาลนั้นหนะเป็นเครื่องพาไป
ผมจะบอกอย่างนี้ครับ ขณะที่เห็นนิพพานก็มีลมกังสดาลเป็นเครื่องพาไป เพราะฉะนั้นคำสำคัญนี้ คำว่าลมกังสดาลหรือสภาพกังสดาลที่เป็นรอยต่อกับที่กายโผฏฐัพพารมณ์มันกำลังจะหายเนี่ยแล้วเราไม่รู้ลมเนี่ย สัญญาที่รู้ว่าเป็นลมเนี่ย ถ้าเรารู้ได้ด้วยสติและสัมปชัญญะอันมีกำลังเนี่ย ท่านไม่ได้ห่างนิพพานเลยครับ ท่านไม่ได้ห่างอริยสัจสี่ในภาคปฏิบัติเลย ท่านไม่ได้ห่างปฏิจสมุปบาทในภาคปฏิบัติเลย ท่านไม่ได้ห่างพระสัทธรรม ท่านไม่ได้ห่างพระองค์เลย พระองค์อยู่ใกล้ท่านมาก
ผมกำลังจะบอกอะไรครับ ทำได้ตรงนั้นก็คือเห็นอริยสัจนั่นเอง ทำได้ตรงนั้นก็คือเห็นพระองค์นั้นเอง ทำได้ตรงนั้นก็คือเห็นธรรมนั่นเอง เพราะอะไรครับ เพราะตรงนั้นคือก้าวแรกของการแยกกายกับจิตอย่างชัดเจนนี้ปรากฏในปฏิสัมภิทามรรค เรียกว่า “เอโกทิภาวะ” หรือ สภาวะที่มีธรรมเอกผุดขึ้น เปรียบเสมือนกับนายช่างทำทอง ลูกสูบก็สูบไป ก็คือระบบลมหายใจก็สูบไป คนเป่าทองก็เป่าที่ชิ้นงานไป แยกจากกันอย่างชัดเจนอย่างนี้เป็นต้น ไม่มีผู้ไปกระทำเป็นแต่เพียงสภาพที่เกิดขึ้นตามกรรม เป็นเพียงแต่สภาพธาตุที่เกิดขึ้น เป็นเพียงแต่สภาพธาตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา เข้าถึงแก่นของสติปัฏฐาน เข้าถึงแก่นของวิปัสสนาในอนาคตอันใกล้ เพราะจะนำไปสู่การเห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ห้านั้นแหละ
ต่อจากนั้นเมื่อเราเห็นจิตตสังขาร แล้วเรารู้สัณฐานของมันด้วยลมละเอียดนั้นหนะ จิตสงบระงับ จิตตสังขารมันสงบระงับ แปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือเรื่องราวฟุ้งซ่านถูกสงบระงับด้วยอาการกำหนดรู้ กำหนดรู้อะไร ก็กำหนดรู้สัณฐานของมัน มันก็สงบระงับ เมื่อมันสงบระงับทำไงครับ ก็รู้ความสงบระงับนั้น จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ; จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ…… แต่ในขณะที่รู้นั้นเป็นปชานาติ อันนี้ผมกล่าวถึงสำรับท่านที่รู้บาลี สิกขติเป็นธาตุอนาคต ปชานาติเป็นธาตุปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม เมื่อถึงก็ถึง เมื่อยังไม่ถึงก็จะถึงในอนาคตอันใกล้ เป็น Going to ในภาษาอังกฤษ ต่างกับ Will นะครับ
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าไปถึงตรงนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้นครับ ก็จิตตสังขารสงบระงับ เกิดอะไรขึ้นครับ สิ่งที่เหลืออยู่คืออะไรครับ เราถอดกายมาใช่มั้ยครับ กายหายใช่มั้ยครับ เวทนาก็หาย ก็กำหนดรู้ ถูกมั้ยครับ กำหนดรู้ด้วยลมละเอียดลมที่เป็นอุเบกขาก็สงบระงับ สงบระงับไปเรื่อยๆ จิตตสังขารถูกกำหนดรู้ก็สงบระงับ ความสงบระงับนั้นถูกกำหนดรู้ มันเหลือะไรหละครับ สิ่งที่เหลืออยู่คือจิตครับ นั่นแหละผู้เห็นจิต นั่นแหละผู้ที่มีธรรมเอกผุดขึ้น นั่นแหละผู้ที่เข้าถึงนามรูปปริจเฉทญาณอย่างชัดเจน นั่นแหละคือผู้ที่เข้าไปเห็นรูปนามอย่างชัดเจน นั่นแหละอีกก้าวเดียวท่านพ้นอบายชาติหน้า เพราะเมื่อใดก็ตามท่านรู้เหตุรู้ปัจจัยของรูปนามนั้นๆ นะครับ เห็นเหตุและเห็นปัจจัยของรูปนามปริจเฉทญาณนั้น ประกันได้ว่าชาติหน้าท่านไม่ลงอบาย
เพราะฉะนั้น เห็นคุณมั้ยครับของอานาปานสติ มาถึงตรงนี้ มันไม่ได้ไกลเกินเอื้อมนะครับ แต่เพียงแต่ว่าทำตรงหรือเปล่า ทำถูกหรือเปล่า ทำต่อเนื่องหรือเปล่า แล้วก็ลงทุนด้วยชีวิตหรือเปล่า ลงทุนด้วยชีวิตนี่มันต้องอัตตาด้วยนะน้อยด้วยนะ ฟังแล้วก็ต้องอย่าพึ่งเชื่ออย่าพึ่งไม่เชื่อ ลองดูก่อนว่า เฮ๊ย อีตาคนนี้มาพูดอะไรเนี่ย แล้วก็มีโอกาสก็ลองทำดู แต่ผมก็บอกในที่นี้ว่าจะไปหาคนถามเรื่องนี้ มีคนหลายคนมากในขณะที่ผมกล่าวในปี 50,51 พอพูดไปแล้วเนี่ยเค้าชอบไปถามพระ แล้วพระก็อึนกลับมาว่ามันเรื่องอะไรเนี่ย เรื่องอะไร ไม่เคยได้ยิน ไม่มี ไม่ว่าจะมหาเถระที่ไหนในโลกจำนวนมากไม่รู้เรื่องนี้ครับ มากต่อมากไม่รู้เรื่องนี้
ผมเจอแค่สามรูปในโลกนี้นะ 1. สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นผู้ให้กรรมฐานผมตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 36 แล้วผมก็หูตาสว่าง ณ ตั้งแต่วันนั้น ตาเบิกโล่เพราะท่านสอนอริยสัจแบบละเอียด นั่นรูปหนึ่ง ท่านรู้จริง และท่านก็นิพนธ์หนังสือมาเล่มหนึ่งด้วย ชื่อว่าวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งผมก็แจกอยู่เป็นประจำ อีกท่านนึงก็ท่านพะอ๊อก สยาดอ ท่านอยู่ในพม่า ก็เป็นที่แปลกใจมาก วันนี้ไหนๆ ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้แล้วก็จะกล่าวสักนิดนึงไหน ๆ ก็เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ฟังว่ามันเข้าใจยากเยี่ยงนี้นี่เอง
ท่านพะอ๊อกนี่ ท่านชื่อว่าท่านอู อะจินะ อู แปลว่าพระ นะ อจินะ แปลว่าชื่อท่าน ท่านเป็นจริยกากรรมฐาน ใหญ่ที่สุดในพม่าในสายพระป่า ท่านเป็นพระในนิกายมอญ ซึ่งคงวินัยมากนะ ผมเข้าไปหาท่านที่พม่าเนี่ยตอนนั้นยังไม่คิดว่าจะได้เจอท่านในเมืองไทย ช่วงหลังท่านมาเมืองไทย ไปก็ยากเย็นมากสมัยนั้น ยากเย็นมาก ก็ไปหาท่านเนี่ยเพื่อจะดูว่าวินัยของท่านที่รักษาไว้เนี่ยตรงตามพุทธพจน์มั้ย ตรงตามพระไตรปิฎกมั้ย ซึ่งในโลกนี้พระที่รักษาวินัยเนี่ยมีแค่ ผมเชื่อว่ามีเพียงแค่หนึ่งถึงสองเปอร์เซ็นเท่านั้น ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่าผมจบวินัยปิฎกมาสองรอบ แล้วก็แสวงหาครูบาอาจารย์ที่ทรงวินัยก่อนที่จะปฏิบัติกรรมฐานด้วยนะครับ หรือในขณะที่ปฏิบัติกรรมฐานเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเนี่ย เรารู้ได้เลยว่าอลัชชีเต็มเมืองไปหมด ลัชชีจริง ๆ น้อยมาก และองค์ท่านเป็นลัชชีบุคคล ซึ่งสร้างความประหลาดใจมาก เพราะผมรู้มาตลอดว่าพม่าวินัยอ่อนกว่าเรา หรือว่าพม่ารักษาวินัยน้อยกว่าเถรวาทในบ้านเรา แต่พอไปสัมผัสแล้ว สำนักนี้ชัดเจนมากในวินัย และเป็นที่น่าอัศจรรย์ในคำรบที่สองก็คือแนวการสอนอานาปานสติของท่านอูชินนะเนี่ย ท่านสอน สอนอัทธานะสอนความยาวตามกาลเวลา
แต่ปรากฏว่าอะไรรู้มั้ยครับ ผมฟังธรรมในชั้นลูกศิษย์ ทุกวันนี้ท่านอูจินนะอายุประมาณแปดสิบห้าสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนะครับ ฟังธรรมจากลูกศิษย์ท่านที่เป็นภาคภาษาอังกฤษก็ดี หลายๆ ภาคภาคอะไรก็ดีที่แปลออกมาภาษาอังกฤษนี่ท่านใช้คำว่า Duration ในเรื่องของความยาวตามกาลเวลาที่ปลายจมูกนั้น แต่ลูกศิษย์ท่านเนี่ยจำนวนหนึ่งซึ่งถูกยกให้เป็นอาจารย์ใหญ่ในสำนักใหญ่ ๆในพม่าไม่ได้สอนแบบนั้น แต่มีแม่ชีบางแม่ชีที่ไปอยู่ในจีนนะครับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเนี่ย แม่ชีรูปนั้นพูดเหมือนท่านพูดเลยปฏิบัติเหมือนท่านบอกเลย ก็ผมกำลังจะตั้ง question mark หนะนะครับว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
อาจารย์ใหญ่ที่ได้รับหน้าที่ต่อจากอาจาร์อูจินนะให้มาดูแลกรรมฐานที่มีศิษย์สามพันคนในป่าในรัฐมอญ สอนไม่ตรง สอนให้ดูความยาวอย่างไรรู้มั้ยครับ ท่านสอนให้ดูความยาวที่จมูกซ้ายยาว จมูกขวาสั้น ซึ่งมันผิดหลักอย่างรุนแรง อันนี้เล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์ว่าหลังจากที่ท่านทำไปแล้ว และผมเชื่อว่าในที่นี้นะมีบางท่านลองไปแล้ว แล้วก็บางท่านเนี่ยท่านเข้าถึงสภาวะแล้วด้วย เพราะว่าเราคุยเรื่องนี้มาสองปีแล้วใน Line Application นะครับ แล้วก็เข้าถึงสภาวะแบบชัดเจนแล้วก็เป็นผู้คงแก่เรียนทั้งในส่วนของปริยัติและพระบาลี รู้ชัดในสิ่งที่ผมพูด และจะเป็นกำลังสำคัญในพระศาสนาแน่นอน แล้วก็แตกฉานภาษาอังกฤษอย่างมาก ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะแปลอานาปานสติปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถาเป็นภาคภาษาอังกฤษครับ อนุโมทนาล่วงหน้า
ทีนี้ในส่วนลำดับที่เราเห็นจิตแล้วเราทำอย่างไร เราเห็นใช่มั้ยครับว่าเราถอดกาย กายเบาบางนะครับ เข้าไปเห็นเวทนา รู้กำหนดรู้เวทนาด้วยลมละเอียดนั้น ด้วยลมอุเบกขานั้นจนกระทั่งจิตตสังขารถูกค้นพบ แล้วก็สงบระงับจิตตสังขารเป็นผู้เห็นจิต เมื่อเห็นจิต รู้จิตด้วยลมละเอียดนั้นนะครับ มันจะเกิดเรื่องราวอะไรไม่สนใจ มันจะกลับไปกลับมานะครับ กลับไปหยาบอีก ก็คือกลับไปเห็นจิตตสังขารอีกเพราะมันไม่เที่ยง ก็กำหนดรู้มัน พอมันนิ่งแล้วก็กำหนดรู้มันก็เหลือจิต พอเหลือจิตไปเรื่อย ๆ ๆ เราสัมผัสจิตไปเรื่อยๆ นะครับด้วยลมละเอียด อะไรเกิดขึ้นครับ อภิปฺปโมทย์ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามี ติ สิกฺขติ, ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ก็คือลมหายใจนั้นเข้าเป็นเครื่องพาไปให้ไปเห็นความปราโมทย์อันยิ่ง
ความปราโมทย์อันยิ่งเป็นอย่างไรครับ ต่างกับปีติอย่างไร ต่างกับสุขอย่างไร สุขกับปีติเนี่ยที่เราเห็นในเบื้องต้นนั้นหนะมันติดกับกายอยู่ จะสังเกตได้ว่าปีติแต่ละข้อเห็นมั้ยครับ หนึ่งสองสามสี่ห้า มาถึงห้าเหมือนน้ำเต็มเขื่อนก็คือยังอิงกับกายอยู่ มันยังมีน้ำเต็มเขื่อนหนะ เรารู้ได้ด้วยโผฏฐัพพารมณ์ว่ามันเต็มกายทั่วสรรพางค์กาย มันยังมีกายอยู่ ยังมีหยาบอยู่ แต่ถ้าเป็นอะภิปปะโมทะยัง จิตตัง ตัวนี้จิตรู้ปุ๊บนะ มันเกิดขึ้นในจิตล้วนๆ ปราโมทย์อันยิ่ง อันนี้มันจะเข้าสู่โพชฌงค์นั่นเองครับ มันเป็นเรื่องของการปัสสัทธิ มันเป็นเรื่องของธรรมที่เกิดขึ้นในจิตล้วน อะภิปปะโมทะยังอันยิ่งถูกกำหนดรู้ด้วยลมละเอียดนั้น ลมที่มีสภาพเป็นกังสดาลนั้น เพราะมันเป็นสัญญาแห่งลม ไม่มีกาย กายหยาบไม่มี กายที่เป็นรูปกายไม่มี มันจิต รู้ลมนั้นก็จะเข้าไปสู่สะมาทะหัง สะมาทะหัง บาลีท่านหมายเอาความสงบระงับ ธรรมชาติของจิตครับ เมื่อมีความสุขมันจะเข้าสู่ความสงบระงับ ก็คือสมาธิชั้นอนิมิตตเจโตสมาธิ ก็คือสมาธิขั้นสูงในพระศาสนาจะปรากฏขึ้น
สมัยนั้นนะครับเรื่องของตัวรู้อะไรต่าง ๆ มันจะวิ่งเข้ามาละครับ ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนูปกิเลส เป็นตัวรู้อันยิ่งวิ่งเข้ามาในตัวรู้นั้นหนะ ผมบอกแล้วใช่มั้ยครับว่าในขณะที่สัมปชัญญะมีกำลังนั้นหนะ นอกจากรู้กายทั่วพร้อมมันยังไปรู้จิตตสังขารทั่วพร้อม สัมปชัญญะตัวนั้นหนะมันรู้จิตทั่วพร้อมด้วยแล้วมันก็รู้ญาณทั่วพร้อมด้วยในขณะเดียว องค์ความรู้ที่มามันมาทั่วสากลจักรวาล ถ้าท่านศีลไม่ดีพอช่วงนี้ท่านจะวิปลาส วิปลาสด้วยกิเลสละเอียด วิปลาสด้วยความเป็นกุศล แล้วก็หลงออกนอกทางไปเลย แต่ถ้าท่านนั้นมีปัญญาและเชื่อในพระบริสุทธิคุณ ดำเนินอยู่ในมรรคาปฏิปทาหรือศีลอันยิ่งที่เป็นศีลที่พระอริยเจ้าพึงพอใจที่เรียกว่าอริยกันตศีล มีอินทรียภาวนาที่ดีทั้งสี่ข้อ มีจตุปาริสุทธิศีลที่ดี สิ่งเหล่านั้นจะปกปักรักษาท่าน ให้ท่านก้าวผ่านวิปัสสนูปกิเลสอันยิ่งนั้น ท่านอาจจะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านจะเจออะไรที่วิจิตรพิสดารอย่างที่ท่านไม่เคยเจอมาก่อนด้วยอารมณ์นั้น ทำอย่างไร ติดมั้ย ติดกุศลมั้ย ถ้าไม่ติด ปัญญาทำงาน ปัญญาอันยิ่งทำงาน กำหนดรู้ด้วยลมละเอียด วาง ไม่มีอาการติดข้อง ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีความอยาก ท่านวางครับ ด้วยลมละเอียดนั้น หน้าที่เราคือรู้ อย่าไปติด รู้แล้ววางด้วยลม รู้แล้ววางด้วยลมที่เป็นสภาพอุเบกขาอันยิ่งนั้น ตรงนี้เรียกว่าขั้นต่อไปถูกกำหนดรู้ ถูกยกขั้นขึ้นมาที่เรียกว่า วิโมจะยัง จิตตัง คือ อาการเปลื้องจิตนั่นเอง
เปลื้องออกไปว่ามันไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา มันไม่ใช่อารมณ์คิดนะครับ แต่มันเป็นอารมณ์รู้ตรงนั้น ว่าหลงมั้ยติดมั้ย กลับมาที่ลมนั่นแหละเป็นตัวชะล้าง ติดมั้ย อารมณ์ดีวิจิตรขนาดนั้นหนะ คุณไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว คุณเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ คุณติดมั้ย นะครับ ถ้าคุณบอกว่าคุณไม่ใช่คนธรรมดาคุณเป็นผู้วิเศษคุณก็เรียบร้อย แล้วก็ออกตามทางไปกลายเป็นผู้วิเศษไป แต่ถ้าคุณสงบระงับกลับมาที่ลมวางตัวตัณหา รู้เหตุสมุทัย รู้ทุกข์ที่เป็นกระบวนการของอริยสัจสี่อย่างเท่าทัน กลับมาที่ลม วิปัสสนูปกิเลสนั้นทำอันตรายคุณไม่ได้ คุณก็เข้าสู่อาการของการเปลื้องจิตนั่นเอง
เปลื้องจิต ไม่ได้ไปยึดจิต มันคืออะไรครับ มันก็คือคลายอุปาทานในสิ่งวิเศษพิสดารนั้น ถูกกำหนดรู้เข้าไปอีกชั้นหนึ่งว่าวาง หายใจออก เปลื้องจิตหายใจออก ไม่ใช่มีพยัญชนะนะครับ แต่เป็นตัวรู้ ณ เวลานั้นหนะคิดก็คิดไม่ออกครับ จะคิดเป็นพยัญชนะยังคิดไม่ออกเลยเพราะว่า G ขามันหลุดไปแล้วมันดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพูดเนี่ยคือแทนสภาพที่มันเกิดมา เมื่อรู้อย่างนี้เรื่อย ๆ สภาพธรรมก็จะปรากฏครับ ธรรมแท้จะปรากฏอยู่ในมโนทวารนั่นแหละ เรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือการเห็นความไม่เที่ยง อะนิจจานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ,อะนิจจานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ…….
พระองค์ตรัสหมายถึงอะไรครับ หมายถึงการเห็นสภาพความไม่เที่ยงตั้งแต่ขันธ์ห้าของเรามา เราประสบเห็นใช่มั้ยครับ ขันธ์ห้าของกายมันก็ไม่เที่ยง มันก็ดับ เวทนาก็ดับ แล้วจิตเองก็เปลื้องอีก มันยึดอะไรก็ทุกข์หมดเลย แม้กระทั่งยึดลมยึดอริยสัจเป็นทุกข์หมดเลย ยึดแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็เป็นทุกข์ ยึดอะไรทุกข์หมดเลยเพราะฉะนั้นเห็นความไม่เที่ยงแล้วนะครับ ถ้ามีกำลังมากนะครับ ในอรรถกถาท่านแจกไว้ ถ้ามีกำลังมาก อุเบกขาที่อยู่ในลมหรือว่าลมกังสดาลนั้นจะช่วยให้สภาพการรู้อนิจจานั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผมรีมาร์ค ขีดเส้นใต้ตรงนี้นิดนึงนะครับว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนิจจานุปัสสี หรือว่าอนุปัสสนานั้นหนะ อนุปัสสีหมายถึงผู้มีอนุปัสสนา อนุปัสสีผู้มีอนุปัสสนาก็ก็คือผู้มีอนุปัสสนา หมายถึงอะไร ก็หมายถึงมีสภาพรู้อย่างต่อเนื่อง ภาษาไทยแปลว่าตามรู้ ตามรู้อนิจจังอย่างนี้
แต่ถ้าเราไปอ่านภาษาไทย คำว่าตามเนี่ยมันหมายถึงอะไร ตามมีสองมีนัยยะ ก็คือตามแบบเดินตาม หรือตาม คือต่อเนื่อง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็บอกว่า following หรือ continuing ความหมายไหน ตามในที่นี้ อนุปัสสีหมายถึงการรู้อย่างต่อเนื่องนะไม่ใช่ไปเดินตาม เพราะขณะที่ไปเดินตามเมื่อไหร หรือว่า follow เมื่อไหร นั่นหมายถึงเป็นอารมณ์ไม่อดีตก็อนาคต คุณไม่ใช่อยู่ในปัจจุบันธรรมเลย เพราะฉะนั้น อนุปัสสีถ้ากำหนดรู้ ก็จะรู้ความต่อเนื่องนั้น ความต่อเนื่องของอนิจจา เมื่ออนิจจาถูกกำหนดรู้ที่ลมละเอียดที่สภาพอุเบกขาที่เป็นสภาพของกังสดาลนั้นหนะ พระบาลีชั้นอรรถกถาท่านบอกว่าถ้าลมมันกลับไปหยาบอีก ให้เปรียบเสมือนการเข้าฐานทัพ ก็คือกลับไปที่ฐานทัพก่อน อย่าพึ่งรบ พักเรื่องรบเลย ถ้าลมมันหยาบนะ ก็คือมันไปเห็นลมมันไปเห็นกายอีก แบบมันถอยหลังหนะ มันถอยไปทีละขั้นนะ มันไม่ใช่วูบไปทันทีเลยนะ ถ้าวูบไปถึงทันทีเลยแสดงว่าความชำนาญยังไม่มี มันจะวูบไปทีละขั้น จิตตสังขารหนะก่อน ถ้าจิตตสังขารมาให้กำหนดรู้เลยว่าเรากำลังลมมันเริ่มหยาบแล้ว ไม่ใช่ลมละเอียดหรือว่าลมเป็นรูปกังสดาลที่ชัดเจนหรือมีสัมปปชัญญะมันคลาย
เพราะฉะนั้นให้กลับไปรู้ลมยาวใหม่ รู้ความยาวของมันหรือรู้ความสั้นของมันนั้น ๆใหม่ จนกระทั่งมีกำลัง นั่นเหมือนกับว่าพักรบก็คือ เอาม้าไปกินหญ้าไปอาบน้ำ แล้วค่อยกลับออกมานอกค่ายใหม่ มารบใหม่ ตรงอนิจจานุปัสสีเมื่อถูกกำหนดรู้ด้วยลมละเอียดที่เป็นสภาพลมกังสดาลที่มีการปล่อยวางเจืออยู่ตรงนั้นมีกำลังมาก ก็จะทำให้เกิดสภาพที่คลายราคะ หรือคลายความติดข้องเพราะเห็นมันไร้สาระ มันคลายเอง ไม่ใช่ตรึกวิเคราะห์ มันไม่ใช่บทพยัญชนะ มันไม่ใช่วจีสังขารแต่มันเป็นสภาพธรรม ธัมมารมณ์ล้วน ๆ กำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ตรงนั้นหนะครับความจางคลายปรากฏ
เมื่อความจางคลายปรากฏ รู้ความจางคลายปรากฏนั้น ก็ดับอุปทาน นิโรธานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ ,นิโรธานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ …เพราะองค์บอกว่าเมื่อรู้เรื่องของการปล่อยหรือดับอุปาทานก็ให้กำหนดรู้ดับอุปาทาน พอดับอุปาทานแล้วมันเหลืออะไร มันไม่เหลือครับ ไม่เหลือมันเกิดอะไรขึ้นครับ จิตที่เราฝึกมากายที่เราฝึกมาทั้งหมดนั้นมันก็รวมเป็นธรรมนั้น ธรรมนั้นหนะ ตัวธรรมนั้นหนะก็เข้าสู่ความเป็นอิสรภาพต่อธรรมชาติทั้งมวล โอ้โห คำพูดเหมือนสวยงามมากผมแปลเป็นไทยให้ว่าในอรรถกาท่านแปลว่าอะไร ท่านแปลว่าแล่นไปสู่นิพพาน ท่านแปลว่า สลัดคืน สลัดคืนคืออะไร สลัดคืนก็คืออาการที่ธรรมแท้ปรากฏนะครับ จิตนี้มันเกิดดับมานานมาก ไม่รู้กี่อสงไขยกัป อยู่ ๆ มันดับหนะ มันคืออะไรครับ มันก็คือลักษณะของการดับทั้งกาย เวทนา จิต และธรรม ดับอุปธิทั้งหมดตรงนั้น เรียกว่าการหลอมเข้าสู่ธรรมชาติเดิมแท้หรือเป็นสันติบทนั่นเอง หรือจะเรียกว่านิพพานก็นั่นแหละ หมายถึงการที่ถึงตรงนั้นเค้าก็ต้องวางเรือ ไม่มีใครแบกเรือไปด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นการสลัดคืนก็คือสลัดคืนองค์ความรู้สลัดคืนทั้งมวล สลัดหมดไม่เหลือ
ก็สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้นะครับ ปะฏินิสสัคคานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ,ปะฏินิสสัคคานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ… สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นลำดับแบบนี้
แล้วก็ในที่สุดนี้ผมก็อยากจะเรียนบอกนะครับว่า ย้ำว่าอาปานสติที่พระองค์ตรัสนั้นหนะตรัสเป็นแบบเดียวคืออานา 16 ล้วน ๆ ไม่มีแบบอื่นเจือปนครับ เพราะฉะนั้นผมก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท้ายสุดนี้เราจะไปสู่ช่วงเวลาของคำถามนะครับ ผมโอเพ่นทุกๆ คำถามนะ แล้วผมก็ไม่มีวิสัยที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งนะครับ แต่ผมไม่หนีความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลาสิบปีสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมจึงไม่หลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะผมถือว่านี่คืองานทั้งชีวิตของผมนะครับ นี่คืองานที่จะบอกชาวโลกว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรในวิธีการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรุปอานาปานสติดังนี้นะครับว่า
เอวัง ภาวิตา โข ภิกขะเว อานาปานะสะติ, เอวัง พะหุลีกะตา มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา อิติ
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้นะครับ เชิญเข้าสู่ช่วงคำถามครับ
ถอดเสียงจาก
อานาปานสติ 16 ที่คุณไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน