อนุปุพพิกถา ๕
คำสอนที่แสดงไปตามลำดับ
๑.ทานกถา
โดย สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
คำนำ
คำสอนในพระพุทธศาสนา มุ่งสอนยกระดับจิตของผู้ปฏิบัติให้สูงขึ้น ตามลำดับ จนถึงความสิ้นทุกข์ในที่สุด โดยสอนจากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยาก จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม คำสอนเช่นนี้ท่านเรียกว่า “อนุปุพพิกถา คือ คำ สอนที่แสดงไปตามลำดับ” ไม่ข้ามขั้น ไม่ตัดลัดให้ขาดความ คำสอนเช่นนี้ ย่อมฟอกจิตของผู้ฟังให้สูงขึ้นตามลำดับ ดังที่ทรงแสดงแก่ยสกุลบุตรและ อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ทำให้ท่านผู้ฟังสำเร็จมรรคผลทั้งสิ้น อนุปุพพิกถา พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ฆราวาส คือผู้ที่ยังอยู่ครองเรือน แล้วจบลงด้วย อริยสัจจ์ ๔
หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในอนุปุพพิกถา ได้ทรงแสดงไป
ตามลำดับ มี ๕ ประการ คือ
๑. ทานกถา กล่าวถึงเรื่องการให้ทาน
๒. สีลกถา กล่าวถึงเรื่องการรักษาศีล
๓. สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์
๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษของกาม
๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์การออกบวช
เมื่อทรงแสดงอนุปุพพิกถาจบแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ เพื่อให้ผู้ฟังได้บรรลุมรรคผลในที่สุด
อนุปุพพิกถา ที่ปรากฏในบาลีพระไตรปิฎกนั้น พระธรรมสังคหกาจารย์ คือ อาจารย์ผู้สังคายนาพระธรรมวินัย ท่านอธิบายความหมายของแต่ละ ข้อไว้สั้นมาก ทั้งไม่ได้ยกตัวอย่างหรือนิทานมาประกอบไว้ด้วย เพราะท่าน คงเห็นว่า ความหมายของหลักธรรมทั้ง ๕ ประการนี้เข้าใจไม่ยากในสมัย ของท่าน ซ้ำแต่ละข้อล้วนแต่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ เป็นอันมากแล้ว
ผู้เขียนเห็นว่า อนุปุพพิกถานี้ เป็นหลักธรรมที่ให้คุณค่าแก่การศึกษา ปฏิบัติมาก เพราะเริ่มต้นด้วยหลักธรรมขั้นพื้นฐานของชีวิตจนถึงการออก บวช โดยฟอกจิตของผู้ฟังหรือผู้อ่านให้สูงขึ้นตามลำดับ พุทธศาสนิกชนทั่ว ไปหรือผู้ที่ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ควรทราบเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ใช้เวลา เป็นอันมากในการค้นคว้าจากพระไตรปิฎกและปกรณ์วิเศษ รวมทั้งหนังสือ อื่นๆ ทางพระพุทธศาสนาเป็นอันมากเขียนหนังสือนี้ออกมา เพื่อให้หนังสือ ชุดนี้บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในครั้งแรก ได้บรรยายหรือแสดงแก่ อุบาสกอุบาสิกา ที่สำนักชีวัดโสมนัสวิหาร ทุกคืนวันธรรมสวนะในช่วงเข้า พรรษา ปีละ ๑ เรื่อง (กถา) แต่จัดทำออกมาเป็นเทปคาสเซ็ทก่อน ซึ่งได้ แสดงติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๗ แล้วทยอยจัด พิมพ์ออกเผยแพร่เป็นรูปเล่ม
อนุปุพพิกถาทีปนี มีทั้งหมด ๕ ภาค ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาคละ ๑ เล่ม ดังนี้
ภาคที่ ๑ การสั่งสมบุญด้วยการให้ทาน
ภาคที่ ๒ การสั่งสมบุญด้วยการรักษาศีล
ภาคที่ ๓ พรรณนาสวรรค์
ภาคที่ ๔ โทษของกาม
ภาคที่ ๕ อานิสงส์การออกบวช
เฉพาะในภาคแรกนี้ ได้กล่าวถึง ทานกถา คือ การสั่งสมบุญด้วยการให้ทาน หากท่านผู้ใฝ่ธรรมได้อ่านและปฏิบัติตามหนังสือนี้ด้วยความตั้งใจในการเพิ่มความรู้และหลักการปฏิบัติ ก็จะได้เพิ่มพูนความรู้ทาง พระพุทธศาสนา และเพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่ตนได้มากขึ้น ไม่หลงเข้าใจผิด หรือปฏิบัติผิดในเรื่องการให้ทาน ทั้งจะได้มีส่วนในการแนะนำผู้อื่นได้ผลดียิ่งขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งในการนำความสงบสุขมาแก่ตนและส่วนรวม ทั้งจะ เป็นไปเพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนาในชาติของเรา
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือชุดนี้จะอำนวยประโยชน์ให้ท่านผู้สนใจเป็นอย่างดี
ส่วนดีอันใดของหนังสือนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้ท่านผู้มีพระคุณและผู้ที่ ช่วยขวนขวายให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นอยู่ในโลกมนุษย์ทุกท่าน เพื่อ ประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายสิ้นกาลนาน
พระธรรมวิสุทธิกวี
(พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
*สารบัญ*
[บทนำ]
การสั่งสมบุญ
ลักษณะของบุญ
คุณค่าของบุญ
บุญกิริยาวัตถุ
บุญแต่ละอย่างมีผลไม่เท่ากัน
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ขยายความบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ทานกับจาคะ
วิรัติ ๓
อานิสงส์ของศีล
อานิสงส์ของการฟังธรรม
หลักการแสดงธรรม
สัมมาทิฏฐิ๑๐
ตอนที่ ๑ ปาฏิบุคลิกทาน
ทานประเภทต่างๆ
เอกลักษณ์ของคนไทย
คนไทยใจดี
แกงหม้อเดียวกินได้เป็นปี
ตอนที่ ๒ ทานควรเลือกให้
สัปปุริสบัญญัติ ๓
ทานสูตร
ผลทานในปัจจุบัน
คนในโลก ๔ ประเภท
อสัปปุริสทานสูตร
สัปปุริสทานสูตร
ตอนที่ ๓ สังฆทาน
ทาน ๒ ชนิด
เสนาสนทานมีผลเลิศ
คาถาอนุโมทนาวิหารทาน
กาลทาน ๕ ชนิด
ตอนที่ ๔ ทักขิณาวิภังคสูตร
ทักขิณาวิภังคสูตร
อธิบายข้อธรรมในทักขิณาวิภังคสูตร
หลักฐานทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา
อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร
ทักขิณาวิสุทธิ์ ๔ ประการ
ตอนที่ ๕ เหตุที่คนเกิดมาไม่เหมือนกัน
จูฬกัมมวิภังคสูตร
อานนท์เศรษฐี
ตอนที่ ๖ การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า
บารมี ๑๐ ประการ
พระเจ้า ๑๐ ชาติ
ทานบารมีของพระเวสสันดร
ตอนที่ ๗ บัณฑิตสามเณร
ตอนที่ ๘ ทานเป็นตัวกำจัดมัจฉริยะ
ศรัทธาหนุนการบริจาค
มัจฉริยะ ๕ ประการ
พราหมณ์จูเฬกสาฎก
ตอนที่ ๙ บุญต้อนรับผู้ทําบุญไว้
เรื่องนายนันทิยะ
นายนันทิยะสร้างวิหารถวายสงฆ์
พระมหาโมคคัลลานะเยือนสวรรค์
ทิพยสมบัติเกิดรอผู้ทําบุญไว้
พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ตายแล้วฟื้น
ตอนที่ ๑๐ การให้ทานประเภทต่างๆ
ทานสูตรที่ ๑
ทานวัตถุสูตร
เขตตสูตร
ปุญญาภิสันทสูตร
ตอนที่ ๑๑ อานิสงส์ของทาน
ทานานิสังสสูตร
สีหสูตร
โภชนทานสูตร
อาทิตตสูตร
อานิสงส์ของทานประเภทต่างๆ
ตอนที่ ๑๒ ทานที่มีผลมาก
สัมปทา ๔
ปุณณเศรษฐี
ทานให้ผลในวันนั้น
ทานของผู้มีศรัทธามีผลมาก
ธรรมทาน
คนทั่วไปก็สามารถให้ธรรมทานได้
อภัยทาน
ลำดับคุณค่าของบุญในเวลามสูตร
[ภาค ๑]
การพรรณนาทาน
บทนำ
การสั่งสมบุญ
หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในอนุปุพพิกถานั้น เริ่มด้วยการทานกถา พรรณนาถึงการให้ทาน อันเป็นหลัก ที่สอนให้เสียสละ เพื่อความไม่เห็นแก่ตัว และเพื่อความสงบสุข ในสังคมมนุษย์
ในการศึกษาเรื่องการให้ทานนั้น ผู้ศึกษาจะต้องทำความ เข้าใจเรื่องการสั่งสมบุญเสียก่อน เพราะการสั่งสมบุญเป็นเหตุ ให้มนุษย์ดำรงชีพอยู่อย่างสงบสุขในสังสารวัฏ
การเวียนว่ายตายเกิดหรือการท่องเที่ยวของสัตว์โลกใน สังสารวัฏนั้น เป็นการเดินทางไกลที่นานแสนนานอย่างไม่มีที่ สิ้นสุดหากว่ายังมีกิเลสอยู่ เพราะยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ในภพน้อยภพใหญ่ หรือภพชาติต่างๆ ตามพลังแห่งบุญบาปที่ ได้สั่งสมไว้ นี้คือกฎธรรมชาติ” สำหรับทุกชีวิต
คนเดินทางไกลจำเป็นต้องเตรียมเสบียงเดินทางไปด้วย ยิ่งทางไกลมากก็ยิ่งเตรียมมากฉันใด คนที่รู้ตัวว่าตนเองจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน สังสารวัฏ ก็จำต้องเตรียมเสบียงสำหรับเดินทางไกลไว้ฉันนั้น มิฉะนั้นก็จะ ลำบากมากในหนทาง และเสบียงที่จะต้องเตรียมติดตัวไปนี้ก็คือบุญนั้นเอง อันเป็นสิ่งที่จะนำติดตัวไปได้ในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ด้วยความไม่ประมาท และสามารถนำไปถึงฝั่งคือนิพพานอันเป็นที่สิ้นทุกข์ได้ในที่สุด เสบียงคือบุญนี้จะต้องเตรียมสะสมเอาไว้ให้ได้มากพอ
การสั่งสมบุญ เป็นการสร้างคุณภาพให้แก่จิตของตน จึงเป็นการสร้างที่พึ่งให้แก่ตน แต่ในการสร้าคุณภาพให้เกิดแก่จิตนี้ คนอื่นไม่สามารถทำให้ได้ เราเองเท่านั้นจะต้องสร้างให้ตัวเราเอง จะให้คนอื่นทำ แทนให้ไม่ได้เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารหรือการเรียนรู้จะให้คนอื่นทำแทนไม่ได้
เมื่อปรารถนาจะสั่งสมบุญเป็นเสบียงสำหรับการเดินทางหรือสร้างคุณภาพให้แก่จิต เราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องบุญตามหลักพระพุทธ ศาสนาเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วจะทำบุญไม่ถูกทาง หรืออาจจะได้บุญน้อยเพราะทำบุญไม่เป็น ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน ที่จะต้องศึกษาเรื่องบุญและบาปให้เข้าใจ เพราะการที่คนเราแต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน มีสุขบ้างทุกข์บ้างไม่เท่ากันก็เนื่องมาจากว่าเราได้สั่งสม บุญและบาปไว้ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นกรรมดีบ้าง เป็นกรรมชั่วบ้าง ทำให้บางคนมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย บางคนมีโรคภัยไข้เจ็บมาก บางคนอายุสั้น บางคน อายุยืน บางคนมีฐานะดี บางคนมีฐานะปานกลาง แต่บางคนลำบากมาก บางคนรูปสวย บางคนรูปไม่สวย บางคนเกิดในสกุลสูง บางคนเกิดในสกุล ต่ำ บางคนมียศตำแหน่งดี บางคนไม่มี บางคนฉลาด แต่บางคนโง่เขลา การที่คนเราเกิดมาไม่เหมือนกันเช่นนี้ ก็เกิดจากบุญและบาป หรือกรรมดีกรรมชั่วที่ตนเคยสั่งสมไว้ทั้งสิ้น ฉะนั้น คนเราจึงเกิดมาไม่เหมือนกัน
การแข่งเรือแข่งพายหรือการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ คนอาจจะเอาชนะกันได้ด้วยกำลังและความสามารถ แต่การแข่งบุญแข่งวาสนานั้น แข่งกันไม่ได้ เพราะบุญวาสนาเป็นสิ่งที่ได้สั่งสมเอาไว้ดังภาษิตไทยที่ว่า “แข่ง เรือแข่งพายแข่งกันได้ แต่แข่งวาสนานั้นแข่งกันไม่ได้” เพราะบุญวาสนานั้น เป็นกรรมดีที่เคยสะสมเอาไว้
บุญวาสนานี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ ดังนั้น ในที่นี้จึงขอแยกให้ชัดเจนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ภาษาชาวบ้านทั่วไป เรียกบุญว่า วาสนา แท้ที่จริงคำว่า “วาสนา” ตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ ได้หมายถึงด้านดีอย่างเดียว แต่หมายถึงด้านเสียก็มี แต่ภาษาชาวบ้าน เรียกวาสนาว่าดีหมด แท้จริงวาสนาหมายถึง “นิสัยหรือความประพฤติที่ เคยชินอันติดตัวมาจากชาติปางก่อน” เช่น พระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยพุทธ กาลชอบเรียกพระรูปอื่นว่า “วสละคนถ่อย” ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ไม่ น่าจะเรียกเพื่อนพระด้วยกันว่าคนถ่อย แต่ใจของท่านไม่ได้มุ่งร้ายเลย เป็น เพียงคำพูดติดปากที่ท่านชอบเรียกจนเคยชิน ภิกษุทั้งหลายสงสัยเรื่องนี้จึง เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุใด พระรูปนี้จึงเป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า เพราะชาติปางก่อนท่านเคยเกิดในตระกูลที่ชอบเรียก คนอื่นว่าคนถ่อยอยู่ ๕๐๐ ชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดในชาตินี้ แม้เป็น พระอรหันต์แล้วจึงยังละวาสนาไม่ได้
ผู้ที่ละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้หมดคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายละกิเลสได้ แต่ละวาสนาไม่ได้ ดังนั้นวาสนาจึงมี ทั้งดีและไม่ดีดังกล่าวแล้ว แต่ภาษาชาวบ้านไทยเรา ถ้าเป็นวาสนาก็ถือว่าดีหมด เช่น เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “คนนั้นมีวาสนาดีเพราะเขาได้ ครอบครัวดี ได้สามีหรือได้ภรรยาดี” หรือบางครั้งก็พูดรวมกับบุญว่า “เขา เป็นคนมีบุญวาสนาจึงได้เป็นใหญ่เป็นโต” แท้ที่จริงวาสนาในความหมายนี้ก็คือบุญนั่นเอง
เพราะฉะนั้น จึงอยากชักชวนให้ผู้หวังความเจริญแก่ตนและผู้อื่นทุก คนว่า “มาสร้างบุญวาสนากันเถิด” การที่เราให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี บำเพ็ญภาวนาก็ดี ทั้งหมดนี้ก็คือเรามาสร้างบุญวาสนาให้ตัวเองนั่นเอง
บุญวาสนาที่เราได้สั่งสมไว้นั้น ใครเป็นคนเก็บไว้ และเก็บไว้ที่ไหน? ข้อนี้ตอบว่า จิตของเราเป็นผู้เก็บบุญวาสนาเอาไว้ และจิตก็อยู่ในร่างกาย ของเรานี้เอง ซึ่งเป็นธรรมชาติพิเศษที่สามารถเก็บบุญบาปเป็นตัวเก็บกรรม กิเลสเอาไว้ เช่นเดียวกับเมล็ดพืชที่เก็บกิ่ง ใบ ดอก ลำต้น และผลของ ต้นไม้เอาไว้ในตัวของมัน จิตนี้เป็นตัวเก็บบุญบาปหรือเก็บพฤติกรรมต่างๆ ที่มนุษย์ทำไว้ทั้งสิ้น ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ก็คือจิตเป็นตัวเก็บบุญเอาไว้ เหมือนกระดาษซับน้ำ ในเมื่อน้ำหกลงพื้น เราเอากระดาษซับน้ำไว้ น้ำก็ เข้าไปในกระดาษหมด หรือเมื่อน้ำหมึกหกราดลง เราใช้กระดาษซับหมึก หมึกก็ติดอยู่ในกระดาษหมด หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่จิตเก็บบุญ บาปเปรียบเหมือนเทปเก็บเสียงเอาไว้ ไม่ว่าเสียงชนิดไหน เทปชนิดดีก็ สามารถเก็บไว้หมด หรือเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้กัน มาก เป็นเครื่องใช้จำเป็นสำหรับครอบครัวไปแล้ว เช่นเดียวกับตู้เย็นและ พัดลม เครื่องคอมพิวเตอร์ยิ่งชนิดดีก็ยิ่งมีคุณภาพสูง สามารถเก็บข้อมูล ต่างๆ ที่มนุษย์ป้อนเข้าไปได้หมด และเก็บไว้ได้ดีมาก แม้แต่เครื่องเล็กๆ ก็ เก็บข้อมูลต่างๆ ได้ดี แต่จิตนี้เปรียบเหมือนฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) ในเครื่อง คอมพิวเตอร์ สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่านั้น และสามารถเก็บข้ามภพ ข้ามชาติด้วย ทั้งไม่มีการรวน (Hang) ไม่มีไวรัสตัวใดทำลายข้อมูลคือบุญบาปได้ แม้ใส่บุญและบาปไว้มากสักเท่าไรก็ไม่มีเต็ม ไม่เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตออกมาจากบริษัทธรรมชาติโดยไม่มีการซื้อขายกัน แต่ธรรมชาติมอบไว้ให้เราแล้วคนละเครื่อง เมื่อถ่ายข้อมูลออกมาเป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นความเจริญ ความเสื่อม เป็นคนอายุยืน อายุสั้น เป็น คนรูปสวย รูปไม่สวย เป็นคนรวย คนจน เป็นคนโง่ เป็นคนฉลาด อันเป็น ผลของบุญและบาปที่คนเราทำเก็บไว้ในจิตของเรา
เพราะฉะนั้น ผู้รักสุขเกลียดทุกข์และหวังความสุขความเจริญแก่ตน ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป ไม่พึงป้อนหรือใส่ข้อมูลที่ไม่ดีลงไป จิตจะเก็บ ข้อมูลที่ไม่ดีนั้นไว้ เช่นเดียวกับร่างกายของเรา ถ้าเราใส่อาหารหรือสิ่งที่ไม่ดีลงไป ร่างกายของเราจะเจ็บป่วยเพราะได้รับของไม่ดีเข้าไป จิตของเราก็ เช่นเดียวกัน ถ้าใส่ข้อมูลหรือสิ่งไม่ดีลงไปจะเกิดเป็นพิษขึ้น เราก็จะพบแต่ ความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าเราใส่ข้อมูลที่ดีคือบุญกุศลลงไปมากเท่าไร
เราก็จะพบความสุขความเจริญเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
ฉะนั้น จงป้อนข้อมูลที่ดีลงไปในจิตของเราด้วยการทำดีคือ การสั่งสมบุญ
/ ลักษณะของบุญ
บุญ คืออะไร? บุญคือสภาพที่ทำจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายแรกนี้ จึงหมายถึงสภาพของจิตหรือคุณภาพของจิตที่ผ่องใส
อีกอย่างหนึ่ง บุญ หมายถึง ความสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของ ความสุข” ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายที่สองนี้จึงหมายถึง ความสุขความเจริญ
อีกอย่างหนึ่ง บุญหมายถึงการทำความดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงสั่งสมบุญทั้งหลายอันจะนำความสุขมาให้” ฉะนั้น ลักษณะของบุญใน นี้หมายถึงการทำความดี เช่น การให้ทาน การรักษาศีล เป็นต้น
ดังนั้น บุญจึงมีลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑.เมื่อว่าถึงเหตุของบุญ บุญได้แก่การทำความดี
๒. เมื่อว่าถึงผลของบุญ บุญได้แก่ความสุขความเจริญ
๓.เมื่อว่าถึงสภาพของจิต บุญได้แก่จิตใจที่ผ่องใสสะอาด
แม้ลักษณะของบาปก็มีนัยตรงกันข้ามกับลักษณะของบุญ การเข้าใจ เรื่องบุญจะต้องเข้าใจลักษณะของบุญทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าเข้าใจเพียง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ชื่อว่ายังเข้าใจเรื่องบุญไม่ตลอด บางคนเข้าใจบุญ เพียงแต่เหตุของบุญ เช่นพูดว่า “คนนี้ทำบุญด้วยการให้ทาน ส่วนคนโน้น ทำบุญด้วยการรักษาศีล” เป็นต้น
นี้เข้าใจเพียงแต่เหตุของบุญเท่านั้น
บางคนเข้าใจบุญเพียงแต่ผลของบุญ เช่นพูดว่า “คนนั้นมีความสุข เพราะเขามีบุญ” นี้เข้าใจเพียงผลของบุญเท่านั้น
บางคนเข้าใจบุญเพียงตัวของบุญ เช่นพูดว่า “คนนั้นจิตใจของเขา สะอาดดี มีเมตตากรุณา เพราะเขาเป็นคนใจบุญ” นี้ก็เข้าใจเพียงสภาพจิต ที่สะอาดผ่องใสเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจเรื่องบุญในพระพุทธศาสนาเราจะ ต้องเข้าใจถึงลักษณะของบุญทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้ว จึงจะชื่อว่าเข้าใจ บุญได้หมดและถูกต้อง ดังคำจำกัดความของบุญที่ว่า “บุญก็คือการ
ทำความดี ที่ทำจิตของตนให้สะอาด แล้วส่งผลเป็นความสุข ความเจริญ ทั้ง ร่างกายและจิตใจ ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป”
/คุณค่าของบุญ
เมื่อกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วถือว่า ความสุขและความ
ทุกข์ หรือเคราะห์ดีและเคราะห์ร้ายของมนุษย์ทุกคนขึ้นอยู่กับกรรมดีและ กรรมชั่ว หรือบุญและบาปที่เขาทำไว้ทั้งสิ้น ไม่ใช่เกิดจากเหตุภายนอก ไม่ใช่เกิดโดยเหตุบังเอิญ ไม่ใช่อำนาจพระเจ้าหรืออำนาจภายนอกอันศักดิ์สิทธิ์ มาดลบันดาล โดยเฉพาะในด้านความสุขความเจริญนั้น เกิดจากกรรมดีคือ บุญที่เราทำไว้เองทั้งสิ้น ผู้ที่สั่งสมบุญคือความดีไว้มาก ย่อมมีบารมีมาก เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้มีบุญคุณต่อโลกมาก เพราะ
นอกจากจะทำพระองค์หรือตัวท่านเองให้หมดกิเลสพ้นจากความเดือดร้อน ได้แล้ว ก็ยังทรงสั่งสอนหรือสอนให้คนอื่นสั่งสมบุญ พัฒนาตนเองให้พ้น จากความทุกข์ความเดือดร้อนได้เป็นอันมากอีกด้วย
เพราะฉะนั้น คุณค่าหรืออานิสงส์ของบุญ อันเป็นผลจากการ พัฒนาจิตตามหลักพระพุทธศาสนาจึงมีมาก ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน นิธิภัณฑสูตร” คือสูตรว่าด้วยการสั่งสมบุญ ว่า
“บุญนิธินี้ ให้สมบัติที่น่าพอใจทุกอย่างแก่ทวยเทพ และ มนุษย์ทั้งหลาย ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ปรารถนาผลใดๆ ผลนั้นๆ ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นผู้มีวรรณะงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ความเป็นผู้มีรูปทรงสมส่วน ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็น ใหญ่ และความมีบริวาร ผลทั้งปวงนี้จะได้ก็ด้วยบุญนิธินี้
ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ ความสุข ของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก ความเป็นพระราชาในสวรรค์ เป็นทิพย์ ผลทั้งปวงนี้จะได้รับก็ด้วยบุญนิธินี้
บุญสัมปทา คือความถึงพร้อมแห่งบุญ มีประโยชน์มาก อย่างนี้ ฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความ เป็นผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้ว”
ที่ยกมากล่าวข้างต้นนี้ คือข้อความส่วนหนึ่งในนิธิกัณฑสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญคุณค่าหรืออานิสงส์ของการสั่งสมบุญ
จากพุทธภาษิตในพระสูตรข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า บุญนี้เป็นบ่อ เกิดแห่งสมบัติ และความสุขทั้งปวงที่ทุกคนปรารถนา
คำว่า “บุญนิธิ” ในพระสูตรนี้ หมายถึงการสั่งสมบุญด้วยการให้ ทาน รักษาศีลและการเจริญภาวนา หรือทำบุญเก็บไว้ในจิตนั่นเอง
คนที่ฉลาดย่อมหาเงินเก็บไว้เป็นนิธิ เช่น ตั้งเป็นมูลนิธิเป็นต้น เพื่อ นำเอาดอกผลไปใช้สำหรับจุดประสงค์นั้นๆ เพราะเก็บไว้ได้นานฉันใด ผู้หวังความสุขหรือผู้พัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน
ย่อมสั่งสมบุญเก็บไว้เป็นนิธิ เพื่อก่อให้เกิดความสุขความเจริญตามที่ตนปรารถนา แต่เงินทองหรือสมบัติด้านวัตถุอย่างที่มนุษย์เรามีอยู่ในโลกนี้ เป็นของ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย คือ อาจถูกขโมยหรือถูกไฟไหม้เสียก็ได้ อาจจะจมหาย ไปในน้ำเสียก็ได้ หรืออาจจะถูกลมพัดให้พังพินาศไปเสียก็ได้ หรืออาจจะ สูญหายไปเพราะภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งอาจจะใช้ไปหมดได้ด้วย ทั้งเมื่อ ตายแล้วก็ไม่อาจนำติดตัวไปได้ ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้หมดสิ้น แม้แต่ร่างกายก็ ต้องทิ้งไว้ให้คนอื่นนำไปฝังหรือนำไปเผา ฉะนั้น คนที่ฉลาดจึงไม่มุ่งเก็บ ทรัพย์สินเหล่านี้อันจะสูญหายไปได้ง่าย แต่มุ่งสั่งสมบุญไว้เป็นบุญนิธิ ที่ โจรหรือใครๆ จะแย่งชิงไม่ได้ ทั้งยังสามารถติดตามตนเองไปในชาติต่อไป อีกด้วย เพราะเป็นสมบัติที่เก็บไว้มิดชิดในจิตใจของตน
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตรเช่นกันว่า
อสาธารณมญฺเญสํ อโจรหรโณ นิธิ
กยิราถ ธีโร ปุญญานิ โย นิธิ อนุคมิโก
แปลว่า “ขุมทรัพย์ที่ไม่ทั่วไปแก่คนอื่นๆ โจรจะลักไปก็ไม่ได้ ผู้มีปัญญาจึงควรสั่งสมบุญทั้งหลายไว้อันจะติดตามตนไปได้”
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า การอบรมจิตตามหลักพระพุทธศาสนาก็คือ การสั่งสมบุญหรือบำเพ็ญบุญนั้นเอง และจัดเป็นการสั่งสมทรัพย์ที่ประเสริฐ ปลอดภัย ที่จะติดตามตนไปทุกแห่ง ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป
บุคคลที่สั่งสมบุญอยู่เสมอแม้ทีละน้อยๆ ก็ย่อมเต็มไปด้วยบุญได้ เหมือนภาชนะน้ำที่เปิดไว้ เมื่อฝนตกลงทีละหยาดๆ ในที่สุดก็ย่อมเต็มด้วย น้ำได้ สมดังพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า บุญเล็กน้อยจะไม่มาถึง แม้หม้อน้ำ ย่อมเต็มด้วยน้ำที่ตกทีละหยาดได้ฉันใด ปัญญาสั่งสมบุญอยู่ แม้ทีละน้อยๆ ก็ย่อมเต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าบุญหรือบาปที่บุคคลได้ทำไว้แล้ว แม้จะนิดหน่อยก็ ไม่ควรดูหมิ่นว่าตนจะ
ไม่ได้รับ เพราะแม้ทำทีละน้อย แต่เมื่อทำนานเข้า บุญ หรือบาปก็จะต้องเพิ่มมากขึ้น และผู้กระทำก็ต้องได้รับผลของบุญหรือบาปนั้น อย่างแน่นอน พระพุทธองค์จึงตรัสสอนไม่ให้ดูหมิ่นบุญหรือบาปว่าเล็กน้อยจะไม่มาถึงตน
/ บุญกิริยาวัตถุ
การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “บุญ กิริยาวัตถุ” แปลว่า ที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือ หลักแห่งการบำเพ็ญบุญ วิธีบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมีเพียง ๓ อย่าง
เท่านั้น คือ
๑. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
ในบุญทั้ง ๓ ประเภทนี้ บางท่านทำหนักในด้านทาน บางท่านก็หนัก ในด้านศีล แต่บางท่านก็หนักในด้านภาวนา ใครจะทำหนักไปในด้านใด ผล ก็เกิดมากในด้านนั้น แต่ทั้ง ทาน ศีล ภาวนา จัดว่าเป็นคำสอนหลักใน พระพุทธศาสนา
/ บุญแต่ละอย่างมีผลไม่เท่ากัน
ทานมีผลน้อยกว่าศีล ศีลมีผลน้อยกว่าภาวนา และภาวนานั้นท่านก็ แยกเป็น ๒ คือ สมถภาวนา การอบรมใจให้สงบ เป็นขั้นสมาธิและวิปัสสนาภาวนา การอบรมใจให้รู้แจ้งเห็นจริงถึงขั้นตัดกิเลสได้ เป็นขั้น ปัญญา ขั้นสมาธิมีผลน้อยกว่าวิปัสสนา ขั้นวิปัสสนามีผลสูงสุด
ทำไม ทานจึงมีผลน้อยกว่าศีล ทำไม ศีลจึงมีผลน้อยกว่าสมาธิ และ ทำไม สมาธิจึงมีผลน้อยกว่าปัญญา
ในเรื่องนี้ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องทำความเข้าใจให้ชัด มิฉะนั้นแล้วอาจจะเกิดความสับสน บางคนอาจจะบำเพ็ญทานอย่างเดียว ไม่สนใจสมาธิและปัญญา บางคนอาจจะรักษาศีลอย่างเดียว แต่ไม่สนใจ สมาธิและปัญญา บางคนอาจจะมุ่งแต่การบำเพ็ญปัญญาอย่างเดียว โดย ไม่คำนึงถึงทาน ศีล และสมาธิ หรือบางคนอาจจะเห็นว่าสมาธิดีกว่าศีล แล้ว ก็ไม่คำนึงถึงศีล หรือบางคนอาจจะเห็นว่าศีลนี้ดีกว่าทานแล้วไม่ยอมให้ทาน
คนที่ไม่ให้ทาน ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น เกิดชาติใดชาติหนึ่งอาจจะ ค่อนข้างยากจน ค่อนข้างจะอยู่ด้วยความลำบาก แม้ผู้นั้นจะมีศีลแต่ถ้า หากมีทานน้อย ผลซึ่งเกิดจากศีลก็ทำให้มีทรัพย์สมบัติได้ แต่ทรัพย์สมบัติที่ เกิดมากโดยตรงนั้นเกิดจากทาน หาใช่เกิดจากศีลไม่ ศีลนั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดทรัพย์สมบัติมากโดยตรง หากแต่ศีลเป็นเหตุให้เกิดความสงบสุขในชีวิตในโลกโดยทั่วไป เช่นเป็นผู้มีอายุยืน เป็นผู้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้ไม่มี ความเดือดร้อนในสังคม แต่เพียงศีลนั้นรักษาจิตได้ไม่มาก คือสร้างความดี ให้แก่ชีวิตเพียงขั้นกายกับขั้นวาจา ไม่ได้กินถึงใจ แม้ผู้มีศีลจะตั้งใจรักษาศีลก็จริง แต่ศีลนั้นคุมไม่ได้ถึงใจ เว้นไว้แต่ศีลกรรมบถ ๑๐ ซึ่งกินถึงมโนกรรมด้วย
ทำไม ทานจึงมีผลน้อยกว่าศีล ทั้งนี้ก็เพราะว่าทานนั้นจำกัดอยู่ที่จุด หนึ่งเท่านั้น คือในการทำลายตัวตระหนี่ แต่โลภ โกรธ หลง ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หายไป คนให้ทานอาจจะฆ่าสัตว์ อาจจะลักทรัพย์ อาจจะประพฤติผิดในกาม อาจจะพูดเท็จ อาจจะดื่มน้ำเมา แต่ก็ให้ทานได้ เพราะฉะนั้น ทาน จึงมีผลน้อยกว่าศีล
ส่วนศีลมีผลน้อยกว่าสมาธิ ทั้งนี้ก็เพราะศีลทำลายกิเลสอย่างหยาบ ที่ออกมาทางกายและวาจาได้เท่านั้น ไม่อาจจะทำลายกิเลสอย่างกลาง ประเภทนิวรณ์ และกิเลสอย่างละเอียดประเภทอนุสัยได้ เพราะศีลกินไม่ถึงใจ เพียงแต่รักษาควบคุมแต่กายและวาจาเท่านั้น ไม่อาจควบคุมไปถึงใจ ได้ เช่น คนรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ แต่อาจจะมีจิตใจฟุ้งซ่านนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายหรือโกรธคนอื่นมาก หรือจิตใจท้อแท้หงอยเหงา ทั้งๆ ที่มีศีลอยู่ แต่ใจก็ไม่ได้สงบ เพราะเหตุว่าไม่มีสมาธิ เพราะฉะนั้น สมาธิจึงมีความสำคัญมากกว่าศีล
ส่วนสมาธิ ที่เหนือกว่าศีลก็เพราะเข้าสู่ใจโดยตรง สามารถปราบ นิวรณ์ คือ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ให้ ออกไปจากใจได้ ทำให้ใจโปร่ง สงบเยือกเย็น แม้จะไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่มี
ยศตำแหน่ง แม้จะตาบอดหูหนวก ร่างกายไม่สมประกอบ แต่ถ้าจิตใจเป็นสุขก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะความสุขเป็นสภาพของจิต หาใช่เป็นสภาพ ของเงินทอง เกียรติยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงและลาภสักการะไม่ เมื่อใจเรามีความสุข
ก็คือจุดมุ่งหมายที่เราต้องการ บางคนมีเงินทองมาก หรือมียศ ตำแหน่งสูง แต่ใจหาความสุขไม่ได้ อย่างที่เราได้เคยพบเคยเห็นคนเป็น จำนวนมากที่หาความสุขจากทรัพย์สินและยศตำแหน่งที่ตนมีไม่ได้ เพราะ ขาดสมาธิ เพราะฉะนั้น สมาธิจึงมีผลมากกว่าศีล เพราะเป็นการดับกิเลส ขันกลางโดยตรง แม้จะดับได้ชั่วคราวก็ตาม
แต่สมาธิมีผลน้อยกว่าปัญญา ทั้งนี้ก็เพราะว่า สมาธิข่มกิเลสไว้ เท่านั้นเอง คือทำลายกิเลสอย่างกลางได้เท่านั้น ไม่อาจจะทำลายอนุสัย กิเลส อันเป็นกิเลสอย่างละเอียด คือ โลภ โกรธ หลง ให้สิ้นเชิงได้ เหมือนกับเราใช้ยาบางชนิดรักษาโรค เป็นเพียงป้องกันไม่ให้โรคกำเริบขึ้นเท่านั้น เอง แต่ทำลายโรคนั้นไม่ได้ ส่วนปัญญานั้นเป็น
ตัวทำลายโรคร้ายคือกิเลส ทุกชนิดโดยตรง เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีผลเหนือทาน ศีล และสมาธิ เพราะสามารถทำลายกิเลสได้อย่างหมดเชื้อ ถ้าทำได้อย่างสูงก็สามารถเข้า สู่นิพพานถึงความสิ้นทุกข์ได้
จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาก็คือความสิ้นทุกข์ เพราะคำสอน ของพระพุทธเจ้าแม้จะมีมาก แต่ถ้าย่อแล้วมี ๒ อย่างเท่านั้นคือ ทุกข์กับสิ้นทุกข์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นทุกข์ ไม่เที่ยงและเป็นอนัตตา ศึกษาให้ทั่ว ศึกษาให้ดี จะเห็นว่าสภาพทั้งปวงในโลกตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ ทั้งสิ้น การที่ศึกษาพระไตรลักษณ์ให้เห็นชัดก็เพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ศึกษา เพื่อไว้อวดคนโน้นคนนี้ ว่าตนจบพระไตรปิฎก ตนมีความรู้ดี เข้าใจพระ ธรรมดีกว่าคนทั้งหลาย ถ้าเพียงเท่านั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ เพราะ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ การจะพ้นทุกข์จะต้องแทงทะลุสภาวธรรมทั้ง ปวงด้วยอำนาจปัญญา อันได้แก่วิปัสสนาปัญญา
ผู้ใดรู้จักพระพุทธศาสนา แม้จะไม่มาก แต่ถ้านำมาทำลายกิเลสได้ นำมาปฏิบัติก็ประเสริฐแท้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ใดรู้พระพุทธพจน์ แม้เล็กน้อย แต่ทำตามพระพุทธพจน์นั้น ผู้นั้นย่อมมีส่วนแห่งสามัญญผล เหมือนคนที่เป็นเจ้าของโค ย่อมมีส่วนแห่งปัญจโครส คือ เนยใส เนยขึ้น เปรียง นมสด นมส้ม ซึ่งเกิดจากโคได้เพราะเป็นเจ้าของโค คนที่รู้พระพุทธพจน์แม้ไม่มาก แต่ปฏิบัติตามพุทธพจน์นั้น ก็ย่อมได้สามัญญผล คือได้ผลจากการปฏิบัติ
ในตอนนี้ได้ย้ำให้เห็นว่า ทำไมทานจึงมีผลน้อยกว่าศีล ศีลมีผลน้อย กว่าสมาธิ และสมาธิมีผลน้อยกว่าปัญญา บางคนหนักไปทางปัญญามาก แต่ก็ไม่สนใจในเรื่องสมาธิ ปัญญาก็เกิดยาก เพราะสมาธิเป็นตัวหนุน
ปัญญา หรือใครที่เจริญสมาธิ ไม่สนใจศีล สมาธิก็เกิดยาก เพราะศีลเป็น ตัวหนุนให้เกิดสมาธิ หรือบางคนมุ่งแต่ศีล สมาธิและปัญญา แต่ไม่สนใจ เรื่องทาน ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บริจาคทาน ก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวไป
/ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า หลักแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือ ที่ตั้งแห่งการ ทำบุญ บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ
๑. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
หมายความว่า วิธีหรือหลักแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนา เมื่อ พูดโดยย่อแล้วก็มีเพียง ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา
แต่ถ้าขยายความให้กว้างออกไป บุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ คือ
๑. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ
๖. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐชุกรรม บุญเกิดจากการทำความเห็นให้ตรง
(ที. อ. ๓/๒๔๖, อภิธัมมัตถสังคหะ ๒๙)
การทำบุญในพระพุทธศาสนามิ ๑๐ อย่างนี้เท่านั้น ไม่ได้มากไปกว่านี้ ถ้านอกไปจากนี้ก็ไม่ใช่บุญในพระพุทธศาสนา บุญกิริยาวัตถุ ๓ ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ปรากฏในคัมภีร์รุ่นหลังๆ คือ อรรถกถาทีฆนิกาย และอภิธัมมัตถสังคหะ การที่ท่านขยายบุญกิริยาวัตถุออกเป็น ๑๐ ก็เพื่อเข้าใจหลักการทำบุญ ในพระพุทธศาสนาชัดเจนยิ่งขึ้น
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อลงในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ดังนี้
บุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๔ กับข้อ กับข้อที่ ๕ คือ อปจายนมัยและ เวยยาวัจจมัย จัดเข้าในศีล เพราะเข้าในลักษณะของความเรียบร้อย
บุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๖ และข้อที่ ๗ คือ ปัตติทานมัยและ ปัตตานุโมทนามัย จัดเข้าในทาน เพราะเข้าในลักษณะการให้
บุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๘ และข้อที่ ๙ คือ ธัมมัสสวนมัยและธัมมเทสนามัย จัดเข้าในภาวนา เพราะเข้าในลักษณะของการอบรมจิต
ส่วนทิฏฐธุกรรม จัดเป็นภาวนา เพราะเป็นลักษณะของปัญญา เป็นสัมมาทิฏฐิ อันตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ แต่บางอาจารย์จัดให้ทิฏฐิชุกรรม เป็นได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพราะการที่คนจะให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาได้ก็ต่อเมื่อมีความเห็นชอบเห็นตรง มิฉะนั้นแล้วเขาจะไม่ทำบุญไม่ว่าอย่างไหน
คำว่า “มัย” ที่ต่อท้ายบุญกิริยาวัตถุทุกข้อนั้น มาจากคำบาลี “มยะ” แปลว่า “สำเร็จหรือเกิด” เช่น ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ทาน หรือบุญเกิดจากการให้ทาน
/ขยายความบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ในการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บางคนก็ทำถูกเพราะ เข้าใจการทำบุญและทำด้วยความมั่นใจ เพราะเห็นว่าเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความดี หรือเป็นกรรมดีจึงทำ แม้จะสิ้นเปลือง เหน็ดเหนื่อยลำบาก และใช้เวลานานเพียงไรก็ยินดีทำ เพราะเห็นชัดว่าการทำบุญนี้ ก่อให้เกิด ประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเป็นอันมาก
แต่บางคนไม่เข้าใจเรื่องบุญ หรือหลักการทำบุญ หรือเข้าใจเพียง บางส่วน เพราะไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ เมื่อผู้อื่นบอกให้ทราบหรือบอกให้ทำ อย่างใดก็ทำไปอย่างนั้น หรือเห็นเขาทำก็ทำบ้าง แต่ไม่เข้าใจในเรื่องของบุญ หรือเข้าใจเพียงบางส่วน อาจจะผิดหรือถูกก็ไม่รู้แน่ บางคนก็ทำด้วยความงมงายและถูกหลอกลวง เพราะไม่รู้หลักการทำบุญที่ถูกต้อง พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะเข้าใจใน เรื่องการให้ทานมากกว่าการทำบุญอย่างอื่น แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ถูกหลอกลวง หรือให้ทานอย่างผิดหลักและได้ผลน้อย
ฉะนั้น จึงควรศึกษาให้เข้าใจถูกต้องในเรื่องการทำบุญในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักการทำบุญ ๑๐ อย่าง ที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ เพราะถ้าเข้าใจหลักการทำบุญ ๑๐ อย่างนี้แล้ว ก็จะได้ทำบุญหรือสร้าง ความดีอย่างถูกต้อง ไม่งมงายและได้ผลมาก ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็น มนุษย์นับถือพระพุทธศาสนา
ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน
การให้ทาน คือการให้วัตถุสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น เป็นบุญชนิดหนึ่ง เรียกว่าบุญเกิดจากการให้จุดมุ่งหมายของการให้ทานของคนเรามีหลายอย่าง เช่น
๑.ให้เพื่อบูชาคุณ เช่น ให้แก่พระสงฆ์ พ่อแม่ หรือครูอาจารย์ ผู้มี คุณแก่ตนหรือแก่สังคมโดยส่วนรวม
๒. ให้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น มอบเงินมอบทองหรือสิ่งของให้แก่ พระศาสนา หรือเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประเทศชาติ
๓. ให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ให้แก่ญาติพี่น้อง ลูกหลาน ผู้น้อย เพื่อช่วยเหลือ หรือให้ด้วยความรักความเอ็นดู
๔. ให้เพื่อสงเคราะห์ เช่น ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก คนประสบภัย พิบัติ หรือแก่สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น
๕. ให้เพื่อชำระกิเลสเพื่อสร้างความดี เช่น ให้ทานเพื่อมุ่งสำเร็จมรรคผล หรือการบำเพ็ญทานบารมีของพระโพธิสัตว์เพื่อสำเร็จพระโพธิญาณ
แต่การให้ดังต่อไปนี้ ไม่จัดเป็นทาน คือ ให้ยาพิษ ให้น้ำเมา ให้ของเสพติดให้โทษ ให้สินบน ให้ค่าจ้าง ให้อาวุธเพื่อฆ่าผู้อื่น สัตว์อื่น เพราะไม่ใช่ให้ด้วยกุศลจิต
การให้ทานทุกชนิดย่อมมีผลทั้งสิ้น แม้แต่บุคคลเทน้ำลงในหลุมหรือ บ่อเล็กๆ ด้วยหวังว่าจะให้สัตว์ตัวเล็กๆ ได้อาศัยน้ำนี้เป็นอยู่ พระพุทธองค์ ยังตรัสว่าเป็นบุญ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงทานที่ให้แก่มนุษย์ แต่ทานจะมีผลมากได้นั้น ก็ต้องเป็นทานที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. ของที่ให้เป็นทานนั้น เป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของ ที่โกงหรือลักจากผู้อื่นมา
๒. ของที่ให้นั้นเป็นของดี ของบริสุทธิ์ หรือของมีค่ามาก
๓. ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีกิเลสเบาบาง ปฏิบัติ เพื่อทำลายกิเลสหรือปราศจากกิเลส
๔. ให้แก่สงฆ์ คือเป็นสังฆทาน
๕. ทายกผู้ให้มีเจตนาดี ในกาลทั้ง ๓ คือ
๑. ปุพพเจตน ก่อนให้มีใจยินดี
๒. มุญจนเจตนา กำลังให้มีใจเลื่อมใส
๓. อปราปรเจตนา ให้เสร็จแล้วมีใจเบิกบาน
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ปุพฺเพว ทานา สุมโน ททํ จิตตํ ปสาทเย
ทตฺวา อตฺตมโน โหติ เอสา ยญฺญสฺส สมฺปทา
แปลว่า ทายกผู้ให้ทาน ก่อนให้ก็มีใจยินดี กำลังให้ก็ทำใจ ให้เลื่อมใส ให้เสร็จแล้วก็มีใจเบิกบาน ข้อนี้ คือความสมบูรณ์ของยัญ (ทาน)
/ ทานกับจาคะ
การให้ทานในพระพุทธศาสนา บางครั้งเรียกว่า การบริจาค แต่บางที ก็พูดรวมกันว่า บริจาคทาน
แท้ที่จริง ทานก็คือการบริจาคหรือจาคะนั่นเอง เป็นเพียงแต่ว่าถ้าพูดแยกกัน ทานก็มีความหมายอย่างหนึ่ง จาคะก็มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ทาน หมายถึงการให้ โดยหวังผลตอบแทน เช่น หวังให้ร่ำรวย หวัง ให้รูปสวย หรือหวังให้เกิดในสวรรค์ เป็นต้น
ส่วน จาคะ หรือ การบริจาค หมายถึง การสละ คือ สละกิเลส สละ ความตระหนี่ถี่เหนียวของตน สละความเห็นแก่ตัว สละความสุขส่วนตัว เพื่อส่วนรวม เช่นพระพุทธเจ้าทรงบริจาคทาน เพื่อมุ่งสำเร็จพระโพธิญาณ เพื่อตรัสรู้ มุ่งรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์
แต่ถ้าพูดถึงทานอย่างเดียว ไม่พูดถึงการบริจาค จาคะหรือการ บริจาคก็รวมลงในทานอย่างเดียว คือ ทานหมายถึงการบริจาคด้วย แต่ถ้าพูดแยกกัน อย่างในทศพิธราชธรรม” พูดถึงเรื่องทานด้วย พูดถึงการบริจาค
ด้วย ทานก็มีความหมายอย่างหนึ่ง บริจาคก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ดัง กล่าวแล้วข้างต้น
ผลของทานมีมาก ให้มนุษย์สมบัติก็ได้ ให้สวรรค์สมบัติก็ได้ นิพพานสมบัติก็ได้ แต่โดยเฉพาะทำให้เป็นคนไม่ยากจน มีทรัพย์สมบัติ ทำให้มีบริวารมาก และเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล
ศีล หมายถึง การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ศีลแปลได้ ๓ อย่าง คือ
๑. ศีล แปลว่า “ปกติ” คือทำกายและวาจาให้เป็นปกติ ให้ เรียบร้อย ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด
๒. ศีล แปลว่า “เย็น” คือทำให้เป็นคนเยือกเย็น ทำให้เย็นกาย เย็นใจ ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะขาดศีล
๓. ศีล แปลว่า “เกษม” คือปลอดภัย ทำให้เบากายเบาใจ ศีลมี หลายประเภท คือ
๑.ศีล ๕ หรือศีลกรรมบถ สำหรับคนทั่วไป
๒. ศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา
๓.ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร
๔. ศีล ๒๒๗ หรือปาริสุทธิศีล ๔ สำหรับพระภิกษุ
การรักษาศีลต้องมีเจตนาจึงจะเป็นศีลได้ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้น หรือจะรักษาศีลแล้ว แม้ผู้นั้นไม่ทำความชั่ว เช่นไม่ฆ่าสัตว์หรือไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่มีศีล เหมือนเด็กที่นอนแบเบาะ แม้ไม่ทำความชั่วก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น หรือเหมือนอย่างวัวควาย แม้มันจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น
/ วิรัติ ๓
การที่จะมีศีลได้ต้องมีวิรัติ คือมีเจตนาที่จะงดเว้นจากโทษนั้นๆ
วิรัติ แปลว่า การงดเว้น มี ๓ อย่าง คือ
๑. สมาทานวิรัติ งดเว้นด้วยการสมาทาน เป็นวิรัติของปุถุชนทั่วไป เช่น สมาทานศีล ๕ สมาทานศีล ๘ เป็นต้น
๒. สัมปัตตวิรัติ งดเว้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า เป็นวิรัติ ของผู้ที่ไม่ตั้งใจจะรักษาศีลมาก่อน คือ บางคนไม่ตั้งใจว่าจะรักษาศีล แต่มี เหตุการณ์เกิดขึ้นจำเพาะหน้า อันอาจจะให้ล่วงศีลได้ แต่ไม่ยอมล่วงศีล เกิดงดเว้นขึ้นมาในขณะนั้น เช่น มีโอกาสจะฆ่าสัตว์ หรือฆ่าคนได้ แต่ไม่ฆ่า หรือมีโอกาสจะลักของของคนอื่นได้แต่ไม่ลัก หรือมีโอกาสจะ ประพฤติผิดในกามได้ แต่ไม่ยอมประพฤติผิดในกาม โดยมาคำนึงว่า การ กระทำเช่นนี้ไม่เหมาะไม่ควรแก่ฐานะและสกุลของคนอย่างตนเอง จึงงดเว้น เสียในขณะนั้น การงดเว้นอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สัมปัตตวิรัติ
๓.สมุจเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยบุคคลตั้งแต่ พระโสดาบันขึ้นไป คือพระอริยบุคคลทุกจำพวกมีศีล ๕ บริบูรณ์ที่สุด ท่าน งดเว้นจากเวร ๕ ได้เด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทานหรือคอยพะวงรักษา เพราะท่านเห็นโทษของการประพฤติล่วงศีลอย่างแท้จริง แม้ใครจะมาบังคับให้ท่านประพฤติผิดศีล ๕ ท่านยอมตายดีกว่าที่จะประพฤติล่วง การละ ความชั่วในขั้นนี้ของท่านจึงเป็นสมุจเฉทปหาน คือละได้เด็ดขาด หรือเป็น สมุจเฉทวิรัติ คืองดเว้นได้เด็ดขาด
/ อานิสงส์ของศีล
ศีลมีอานิสงส์เป็นอันมาก เช่น ทำให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของคนทั้ง หลาย อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข ไม่ก่อเวรก่อภัยต่อผู้ใด ทำให้เป็นคนสง่า งาม มีผิวพรรณผ่องใส แต่กล่าวโดยสรุป อานิสงส์ของศีลมี ๓ อย่าง ดังคำบาลีอานิสงส์ของศีลว่า
๑. สีเลน สุคติ ยนฺติ บุคคลจะไปสุคติได้ก็เพราะศีล
๒. สีเลน โภคสมปทา บุคคลจะได้โภคทรัพย์สมบัติได้ก็เพราะศีล
๓. สีเลน นิพพุติ ยนฺติ บุคคลจะดับทุกข์ความเดือดร้อนจนเข้าสู่ พระนิพพานได้ก็เพราะศีล
เพราะฉะนั้น ทุกคนควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไว้เถิด ก็จะรับอานิสงส์ ดังกล่าวแล้วในที่สุดได้
ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา
ภาวนา เป็นหลักธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา หมายถึงการอบรม จิต หรือการพัฒนาจิต คือ ทำจิตให้มีค่าสูงขึ้น ได้แก่ ทำจิตให้สะอาด สงบ สว่าง
ภาวนา มี ๒ อย่าง คือ
๑. สมถภาวนา การทำใจให้สงบ เป็นหลักธรรมขั้นสมาธิ
๒. วิปัสสนาภาวนา การทำใจให้รู้แจ้งเห็นจริงจนตัดกิเลสได้หมด เป็น หลักธรรมขั้นปัญญา
ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ได้เจริญหรือบำเพ็ญภาวนาจนจิต ของตนเกิดความสงบเยือกเย็น เห็นคุณค่าของพระศาสนาในด้านนี้แล้ว ชื่อ ว่ายังไม่รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เพราะธรรมะขั้นทานและศีลนั้น
แม้ในศาสนาอื่นก็มี ถึงจะไม่เหมือนกันก็ตาม
ในสมัยพุทธกาล เรียกการฝึกจิตว่า ภาวนา แต่ในสมัยต่อมาศัพท์ ทางพระพุทธศาสนาเปลี่ยนไป พุทธศาสนิกชนจึงเรียกการฝึกจิตว่า “กรรมฐาน” แทนที่จะเรียกว่า “ภาวนา” คำว่า “กรรมฐาน” ไม่ปรากฏในพระไตร ปิฎก แต่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา หรือคัมภีร์รุ่นหลัง คำว่า “กรรมฐาน” จึงมักคุ้นหูมากกว่าคำว่า “ภาวนา” แต่ในปัจจุบันคำว่า “ภาวนา” เริ่มนำมา ใช้กันมากขึ้น เช่นมีการชักชวนให้มีการเจริญภาวนาพุทโธ ในวันเฉลิม พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
กรรมฐาน แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการงาน” คือ จิตต้องมีงานทำจึงมี คุณค่าสูงขึ้นได้ และงานนั้นจะต้องมีฐานที่ตั้ง จึงเรียกงานฝึกจิตว่า “กรรม ฐาน” คือ งานที่ประเสริฐของจิต กรรมฐานก็คือภาวนานั่นเอง และมี ๒
อย่างเช่นกัน คือ
๑. สมถกรรมฐาน กรรมฐานขั้นทำใจให้สงบ
๒. วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานขั้นทำใจให้รู้แจ้งเห็นจริง
การเจริญภาวนาหรือการทำกรรมฐานนี้ ให้บุญกุศลมากกว่าการให้ทานและการรักษาศีล คือ ทาน มีผลน้อยกว่าศีล ศีลมีผลน้อยกว่าสมาธิ สมาธิมีผลน้อยกว่า ปัญญา ปัญญามีผลมากที่สุด เพราะสามารถนำไปสู่การตัดกิเลสได้ เข้าสู่ พระนิพพาน เข้าถึงความสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงได้
อปจายนมัย
บุญเกิดจากการอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่
การอ่อนน้อมถ่อมตน จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เพราะจิตใจไม่แข็งกระด้าง แต่การอ่อนน้อมนั้นต้องอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ถ้าไป อ่อนน้อมหรือบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ก็จะเกิดโทษแทนที่จะเกิดคุณ คนที่ควรอ่อนน้อม ท่านเรียกว่า วุฑฒบุคคล ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภท คือ
๑.วัยวุฑฒะ คือ คนที่แก่กว่าเรา อายุมากกว่าเรา เช่น พี่ ป้า น้า อา ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า
๒. ชาติวุฑฒะ คือ คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา คือ พระมหา กษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา แม้จะมีอายุน้อยกว่าเรา แต่ ชาติตระกูลสูงก็ควรแสดงความเคารพ เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญ
๓. คุณวุฑฒะ คือ คนที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรา เช่น พระภิกษุ สามเณร แม้จะมีอายุน้อยกว่าเรา ก็ควรนอบน้อมถ่อมตนต่อท่าน เพราะ ท่านมีคุณธรรม คือศีลสูงกว่าเรา หรือคนที่มีบุญคุณต่อเรา เช่น พ่อแม่ หรือครูอาจารย์ เพราะท่านมีคุณต่อเรา หรือต่อสังคม
การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อวุฑฒิบุคคล ๓ ประเภท ดังกล่าว มาแล้ว ด้วยการกราบไหว้ ลุกรับ หรือพูดจาแสดงสัมมาคารวะหรือให้ เกียรติต่อท่าน เป็นต้น จัดเป็นการทำบุญประการหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ย่อมได้รับความสุขความเจริญในชีวิตได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฒาปจายิโน
จตุตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พล.
แปลว่า พร ๔ ประการ คือ อายุยืน ๑ ผิวพรรณผ่องใส ๑
การมีความสุขกายสุขใจ ๑ การมีกำลังกายกำลังใจ ๑
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการกราบไหว้เป็นประจำ
ประพฤตินอบน้อมต่อวุฑฒบุคคล (ผู้ใหญ่) อยู่เป็นนิตย์
เวยยาวัจจมัย
บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ
การช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ คือ การช่วยทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เช่น ช่วยเขาสร้างสะพาน สร้างถนน ขุดคลอง ขุดสระ ขุดบ่อน้ำ สร้างศาลา สร้างวัด สร้าง โรงพยาบาล ปลูกต้นไม้ ทำถนนหนทางให้สะอาด ช่วยกวาดวัด หรือ ช่วยงานบวชนาค งานกฐิน หรือช่วยงานทำบุญเลี้ยงพระ ช่วยนิมนต์พระ หรือช่วยขับรถส่งพระหรือคนที่มาช่วยในงาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้จัดเป็นบุญทั้งสิ้น
แม้การช่วยเหลือคนเจ็บป่วย คนตกน้ำ คนถูกรถชน หรือคนประสบ อุบัติเหตุต่างๆ ก็เป็นบุญ แม้แต่ช่วยนำคนแก่ข้ามถนนให้ปลอดภัย และ ทางให้แก่คนหลงทาง ก็จัดเป็นเวยยาวัจจมัย อันจัดเป็นบุญทั้งสิ้น
ผลของบุญข้อนี้มีมาก เช่น ไปที่ใดก็จะได้รับความสะดวก ได้รับความช่วยเหลือ ไม่ขัดข้องเดือดร้อน ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์มฆมาณพ พร้อมด้วยเพื่อน ๓๒ คน ที่สร้างศาลา เพื่อสาธารณประโยชน์แก่คนทั้ง หลาย แล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท เป็นตัวอย่างของคนทำบุญข้อนี้
ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ
พุทธศาสนิกชน เมื่อทำบุญอย่างใดแล้ว ก็มักจะอุทิศส่วนบุญนั้นแก่ ท่านผู้มีพระคุณหรือแก่คนอื่นสัตว์อื่นเป็นอันมาก เพราะทำให้ได้รับผลบุญ เพิ่มขึ้น เป็นการแสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ขี้เหนียว มีใจกว้างหวัง ประโยชน์สุขต่อคนอื่นสัตว์อื่น เมื่อตนได้รับบุญแล้วก็หวังจะให้คนอื่นสัตว์ อื่นได้รับบุญนั้นด้วย เหมือนคนมีความรู้แล้วก็ถ่ายทอดให้แก่คนอื่น ด้วยหวังให้เขาได้มีความรู้ความสามารถด้วย
บางคนทำบุญ เช่น ให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาแล้ว ก็ไม่ยอมอุทิศบุญที่ได้รับนั้นให้แก่ผู้ใด ก็ได้บุญแต่ผู้เดียว และได้บุญเฉพาะใน เรื่องของทาน ศีล หรือภาวนาที่ตนได้ทำเท่านั้น แต่ไม่ได้บุญข้อปัตติทานมัย แต่ถ้าหากว่าผู้นั้นอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เขาก็จะได้บุญเพิ่มขึ้นอีก อย่างหนึ่ง คือ ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ
การให้ส่วนบุญนั้น สามารถให้ได้ทั้งแก่คนเป็นและคนที่ตายไปแล้ว
บางคนเข้าใจผิดว่าการให้ส่วนบุญหรืออุทิศส่วนกุศลให้ได้เฉพาะคนตายเท่านั้น ข้อนี้เข้าใจผิด แท้ที่จริงการให้ส่วนบุญนั้นสามารถให้ได้ทั้งแก่คนที่ ยังมีชีวิตและแก่ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว
การให้ส่วนบุญแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะให้ต่อหน้าก็ได้ให้ลับหลังก็ได้ การให้ต่อหน้า เช่น เราทำบุญมาสักอย่างหนึ่ง จะเกิดจากทานก็ตาม จากศีลก็ตาม หรือจากภาวนาก็ตาม เมื่อเราพบพ่อแม่หรือญาติมิตร ก็บอกว่า “วันนี้กระผม (หรือดิฉัน) ได้บวชลูกหรือบวชหลานมา ขอให้คุณ พ่อ…จงได้รับส่วนกุศลนั้นด้วย ขอให้อนุโมทนาในส่วนกุศลครั้งนี้ด้วย” ผู้รับ จะอนุโมทนาหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ให้ย่อมได้ส่วนบุญแล้ว ถ้าเขาอนุโมทนา เขาก็ได้รับบุญข้อปัตตานุโมทนามัย
การให้ลับหลัง เช่น ในปัจจุบัน ชาวไทยจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็มักจะบำเพ็ญบุญกุศลพิเศษ โดยเสด็จพระราชกุศล มีการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา แล้วถวาย พระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน อย่างนี้ก็เรียกว่า ปัตติทานมัย เช่นกัน
การให้ส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เขาจะตายไปแล้วนานเท่าไรก็ได้ จะอุทิศเป็นภาษาไทยก็ได้ เป็นภาษาบาลี หรือภาษาอื่นๆ ใดก็ได้ มีน้ำ กรวดก็ได้ ไม่มีก็ได้ มีกระดูกและชื่อของผู้นั้นก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้ง สิ้น อย่างในกรณีเปรตผู้เป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ก็ทรง จำชื่อพระญาติเหล่านั้นไม่ได้แม้แต่คนเดียว พระองค์ทรงอ้างในคำอุทิศว่า เป็นญาติเท่านั้นก็ถึงได้ เพราะเปรตผู้เป็นพระญาติเหล่านั้นกำลังรอรับส่วน บุญอยู่แล้ว ดังคำบาลีที่พระองค์ทรงอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติของพระองค์ หลังจากที่พระองค์ทรงบริจาคทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขว่า
“อิท เม ญาตีน โหตุ ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของ ข้าพเจ้า สุขิตา โหนตุ ญาตโย ขอญาติทั้งหลายจงถึงความสุข”
เพียงเท่านี้ก็สำเร็จ โดยพระองค์ไม่ได้ทรงบ่งชื่อพระญาติเหล่านั้น เลยแม้แต่คนเดียว และในการกรวดน้ำครั้งนั้นไม่ต้องใช้น้ำเลย
การอุทิศส่วนบุญโดยมีน้ำกรวดเพิ่งนำมาใช้ในยุคหลังนี้เอง คือ หลังจากครั้งพุทธกาล แต่จะเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่เท่าไร ยังหาหลักฐานไม่พบ
กล่าวกันว่า พุทธศาสนิกชนในประเทศอินเดียเห็นพวกพราหมณ์ลง ไปในแม่น้ำคงคา เอามือวักน้ำแล้วหยอดลงไปในแม่น้ำตามเดิม พร้อมกับ กล่าวอุทิศว่า “ขอให้น้ำนี้จงถึงแก่พ่อแม่ของข้าพเจ้า”
พุทธศาสนิกชนเห็นพวกพราหมณ์กรวดน้ำเช่นนี้ จึงเห็นว่าเข้าทีดี จึงได้นำน้ำมาประกอบในการอุทิศส่วนกุศล เรียกกันในปัจจุบันว่า “การกรวดน้ำ” พระสงฆ์ก็เห็นว่าไม่ผิดหลักพระพุทธศาสนาอันใด จึงอนุโลมให้ ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
แท้ที่จริง การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ไปเกิดเป็นเปรตนั้น บุญนั้นจะ ต้องเกิดจากทานเท่านั้น และเปรตที่จะได้รับส่วนบุญนี้ก็เฉพาะปรทัตตูปชีวิเปรต คือ เปรตที่อาศัยทานที่คนอื่นให้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อย่างนี้
การที่พวกเปรตจะได้รับส่วนบุญนั้น ต้องประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการ คือ
๑.การอุทิศของผู้ให้
๒. การอนุโมทนาของเปรต
๓. ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) เป็นผู้ทรงศีล
ต้องพร้อมทั้ง ๓ ประการนี้ จึงจะสำเร็จผล ถ้าขาดแม้ข้อเดียว เช่น ปฏิคาหกไม่มีศีล บุญก็ไม่ถึง อันปฏิคาหกผู้รับทานนั้นไม่จำเป็นต้องได้ภิกษุ สามเณรผู้ทรงศีลเท่านั้นเสมอไป ในคัมภีร์ท่านกล่าวไว้ว่า แม้อุบาสก อุบาสิกาผู้ทรงศีล ก็สามารถทำให้ทานสำเร็จแก่พวกเปรตได้เช่นกัน ดังมี
ตัวอย่างปรากฏอยู่ในเรื่องนางเวมานิกเปรต ในอรรถกถาเปตวัตถุ
ปัตตานุโมทนามัย
บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ
การอนุโมทนาหรือการยินดีส่วนบุญที่คนอื่นให้ หรือส่วนบุญที่คนอื่นทำ ก็เป็นบุญเช่นกัน
ปกติพุทธศาสนิกชนเมื่อทำบุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ การให้ทาน ก็มักจะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น ทั้งผู้ที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว
ผู้ที่ต้องการบุญและเข้าใจเรื่องนี้ ก็อนุโมทนาหรือพลอยยินดีในส่วน บุญนั้น เช่น เปรตพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารอนุโมทนาส่วนบุญที่ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุทิศให้ ก็พ้นจากภาวะเปรต อันตนได้รับทุกข์ทรมาน อยู่เป็นเวลานาน ได้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา หลังจากที่ได้อนุโมทนาส่วน บุญนั้นแล้ว
แม้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อนุโมทนาส่วนบุญที่คนอื่นให้ได้เช่นกัน ดังที่คนไทยสมัยก่อนนิยมปฏิบัติกัน คือ เมื่อ ปู่ ย่า ตา หรือยายกลับมาจาก ทำบุญที่วัดมาถึงบ้าน เดินขึ้นบันได ลูกหลานก็ต้อนรับด้วยการช่วยรับ ปิ่นโต หรือกระเช้าใส่หมากพลู พร้อมกับจูงมือท่านขึ้นบนบ้าน ท่านเมื่อ เห็นลูกหลานมาต้อนรับเช่นนั้น ก็ให้ศีลให้พรลูกหลาน พร้อมกับกล่าวว่า “วันนี้ย่า (ยาย ปู่ หรือตา) ได้ไปทำบุญที่วัด ขอให้ลูกหลานทุกคนได้รับ ส่วนกุศลโดยทั่วกัน”
ลูกหลานก็จะรับด้วยการกล่าวอนุโมทนาว่า “สาธุ” อย่างนี้ก็ชื่อว่า ได้รับส่วนบุญนั้นแล้ว
การอนุโมทนาส่วนบุญนั้น แม้ไม่มีใครบอกให้ แต่เมื่อเราทราบว่าคน โน้นคนนี้ทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น สร้างโบสถ์ ๑,๐๐๐ บาท สร้างโรงพยาบาล ๑ ล้านบาท หรือได้ยินเขาประกาศทางวิทยุหรือเครื่องขยายเสียง ว่า คนนั้นคนนี้ทำบุญเท่านั้นเท่านี้ ก็พลอยยินดีอนุโมทนาต่อส่วนบุญของ เขา เราก็ได้บุญทุกครั้งที่อนุโมทนา เป็นการทำบุญที่ไม่ต้องลงทุนลงแรง มากอันใดเลย แต่ถ้าเราไปริษยาเขา ก็จะไม่ได้บุญ แต่กลับได้บาป
ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม
การฟังธรรมจัดเป็นบุญประการหนึ่ง เนื่องจากทำให้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เพราะผู้ที่เป็นสาวกนั้นจำเป็นจะต้องฟังธรรม (สาวก แปลว่า ผู้ฟัง) มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าและ บรรลุมรรคผลได้ เพราะไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้เอาเองได้
ในสมัยพุทธกาล การเข้าใจพระพุทธศาสนาและการบรรลุมรรคผล ส่วนใหญ่แล้ว เนื่องมาจากการฟังธรรมเกือบทั้งสิ้น เพราะไม่มีสื่อการฟังอย่างอื่น หนังสือก็มีใช้กันน้อยมาก
แต่ความเป็นจริงแล้ว การได้ความรู้จากผู้อื่นมาก็จัดเข้าในการฟังทั้ง สิ้น เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเทป การดูทางโทรทัศน์ ถ้าเกี่ยวกับเรื่อง ธรรมะแล้วก็เกิดบุญทั้งสิ้น และบุญประเภทนี้รวมแล้วเรียกว่า ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากฟัง ในปัจจุบัน หนังสือทางพระพุทธศาสนาประเภทต่างๆ มี มากขึ้น จึงทำให้เกิดความสะดวกในการทำบุญประเภทนี้ คือบุญเกิดจาก การฟังธรรม และบางคนก็ได้รับบุญนี้ทุกวัน เพราะชอบอ่านหนังสือธรรมะ หรือชอบฟังรายการธรรมะ หรือรายการสวดมนต์ทางวิทยุ หรือจากเทป ธรรมะ
การฟังธรรม ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ได้แต่ความเลื่อมใสอย่างเดียว เช่น ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี ฟังเสียงสวดมนต์หรือฟังพระสวดอภิธรรมในงานศพไม่รู้ไม่เข้าใจ ได้แต่ความเลื่อมใสอย่างเดียว อย่างนี้ท่านกล่าวว่าได้แต่บุญ ไม่ ได้กุศล แต่ถ้าฟังแล้วได้ความรู้ความเข้าใจ ท่านกล่าวว่าได้บุญด้วยได้กุศลด้วย เพราะกุศลแปลว่า “ความฉลาด” ฉะนั้น บางคนฟังธรรม ได้แต่บุญ อย่างเดียวไม่ได้กุศล แต่บางคนได้ทั้งบุญได้ทั้งกุศล แต่โดยทั่วไปแล้ว การฟังธรรมได้ทั้งบุญทั้งกุศล จึงมักพูดรวมกันว่า “ได้บุญ” คือ บุญอันเกิด จากการฟังธรรม
การฟังธรรม ถ้าให้ได้ประโยชน์มาก ผู้ฟังจะต้องตั้งใจฟังจริงๆ มุ่งพึ่ง เอาเนื้อหาสาระเพื่อนำไปปฏิบัติและสั่งสอนผู้อื่น จึงจะเกิดปัญญา ความรู้ ความเข้าใจได้มาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
สสสสํ ลภเต ปญญํ ผู้ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
ฉะนั้น การฟังธรรมจะมีอานิสงส์มากก็ต่อเมื่อผู้ฟังตั้งใจฟัง
/ อานิสงส์ของการฟังธรรม
การฟังธรรมมีประโยชน์มาก เพราะพระพุทธศาสนาได้ดำรงมาได้ จนถึงปัจจุบันก็เนื่องจากการฟังธรรม พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า การฟังธรรมมีประโยชน์หรืออานิสงส์ ๕ อย่าง คือ
๑. ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒. สิ่งใดที่เคยฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้
๕.จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม
การแสดงธรรมเป็นบุญประการหนึ่ง และทำให้พระศาสนาดำรงมั่น มาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะมีการแนะนำสั่งสอนสืบต่อกันมา แม้เราทุกคน ที่เข้าใจพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะได้อาศัยครูบาอาจารย์ หรือพ่อ แม่แนะนำสั่งสอน หรืออ่านหนังสือธรรมะที่ท่านผู้รู้ธรรมได้แต่งหรือเขียน หรือรวบรวมไว้
การแสดงธรรม จัดเป็นทานอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ธรรมทาน” เป็น ทานที่มีผลมากกว่าทานทั้งปวง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “สพฺพทาน ธมฺมทานํ ชินาติ การให้พระธรรมชนะการให้ทั้งปวง”
ทั้งนี้ก็เพราะว่า คนจะให้ทานก็ดี จะรักษาศีลก็ดี จะเจริญภาวนาก็ดี ก็ต้องอาศัยได้ฟังธรรมมาก่อน เขาจึงได้ทำบุญประเภทอื่นๆ ถ้าไม่ได้ฟัง ธรรมมาก่อนแล้ว คนจะไม่ทำบุญอันใด แม้ใครจะทำบุญบ้างตามอัธยาศัย ของตน แต่บุญนั้นก็มีผลน้อย เพราะทำไม่ถูกวิธี เนื่องจากขาดผู้แนะนำสั่งสอน
การแสดงธรรมที่จัดว่าเป็นบุญนั้น ไม่ใช่พระภิกษุสามเณรเท่านั้นที่แสดงได้ แม้คฤหัสถ์ก็ย่อมแสดงได้ หรือทำบุญข้อนี้ได้ทั้งสิ้น
การแสดงธรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องแสดงบนธรรมาสน์เสมอไปที่ใดก็แสดงหรือแนะนำสั่งสอนได้ เช่น ในบ้าน ในป่า ตามถนนหนทาง ในรถ ในเรือ แม้ในเครื่องบิน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง หรือทางสถานีโทรทัศน์ และการสอนในชั้นเรียน เป็นต้น
บุญอันเกิดจากการแสดงธรรมนั้น ไม่ใช่เกิดจากการพูดอย่างเดียว แม้การเขียนหนังสือธรรมะ การพิมพ์หนังสือธรรมะ หรือการให้ทุนในการ พิมพ์หนังสือธรรมะออกเผยแพร่ ก็จัดเข้าในบุญข้อนี้ทั้งสิ้น แม้การบริจาคทุนทรัพย์ในการพิมพ์หนังสือธรรมะ หรือซื้อหนังสือธรรมะหรือพระไตรปิฎก ถวายพระถวายไว้ประจำวัด หรือแจกคนทั่วไป ก็จัดเป็นธรรมทาน คือบุญ อันเกิดจากการให้ธรรมะเป็นทานได้เช่นกัน
แม้การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ลูกหลาน หรือญาติมิตร ให้เข้าถึงธรรม ให้ประพฤติธรรม ให้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ก็จัดเป็นบุญในข้อแสดงธรรม
การที่พ่อแม่แนะนำสั่งสอนลูกหลานให้
ประพฤติดี หรือพี่แนะนำน้องให้ละชั่วประพฤติดี ก็จัดเป็นบุญข้อนี้ทั้งสิ้น
/ หลักการแสดงธรรม
การแสดงธรรมจะมีประโยชน์มากก็ต่อเมื่อผู้สอนผู้แสดงมีจิตเมตตา หวังประโยชน์ต่อผู้ฟังจริงๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นักเทศน์หรือผู้แสดง ธรรม จะต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ
๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ
๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือ ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น
หากผู้สอนธรรม แสดงธรรมหรือเขียนหนังสือธรรมะท่านใด มีคุณสมบัติหรือใช้หลักการแสดงธรรม ๕ ประการนี้แล้ว ผลแห่งการแสดงธรรม และบุญอันเกิดจากการแสดงธรรมย่อมมีมาก
ทิฏฐชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง
การทำความเห็นให้ตรง คือ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือเห็นตรงตามทำ นองคลองธรรม จัดเป็นบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ส่วนการเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว บาปบุญไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี ตายแล้วสูญ เป็นต้น เป็น มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศลกรรมบถ จัดเป็นบาป แม้ไม่ได้ทำชั่วด้วยกายหรือวาจา แต่ถ้ามีความคิดเห็นเช่นนี้ก็จัดเป็นบาป และบาปมากถึงขั้นห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานทีเดียว เพราะจิตตั้งไว้ผิดหลงทางเสียแล้ว จึงไม่ยอม ทำความดี มีแต่จะทำความชั่วถ่ายเดียว
ส่วนการทำความเห็นให้ตรง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แม้ผู้นั้นยังไม่ทำดีด้วยกายหรือวาจา เป็นเพียงแต่เห็นถูกเห็นตรง เท่านั้นก็จัดเป็นบุญ และเป็นบุญที่ครอบคลุมบุญอื่นทั้งหมด เพราะเมื่อคน เราเห็นถูกเห็นตรงเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ย่อมทำบุญประเภทอื่นๆ ด้วยความ สนิทใจและตั้งใจทำ
/สัมมาทิฏฐิ ๑๐
ทิฏฐิชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นี่หมาย ถึง สัมมาทิฏฐิ ๑๐ คือ มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงใน ๑๐ เรื่อง โดยเห็นว่า
๑. การให้ทานมีผล
๒. การบูชามีผล
๓. การต้อนรับแขกด้วยของต้อนรับมีผล
๔. ผลของกรรมดีกรรมชั่วมี
๕. โลกนี้มี (คือสัตว์จากโลกอื่นมาเกิดในโลกนี้มี)
๖. โลกอื่นมี (คือสัตว์จากโลกนี้ไปเกิดในโลกอื่นมี)
๗. มารดามีคุณ
๘. บิดามีคุณ
๙. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ (เช่น เทวดาและเปรต) มี
๑๐. สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ ทราบชัดถึงโลกนี้และโลกอื่นด้วย ปัญญาได้เอง และสามารถให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วยมี (คือพระอรหันต์มี)
ผู้ใดมีความเห็นชอบ เห็นตรง ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ชื่อว่าทำความเห็นให้ ตรง เป็นทิฏฐชุกรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเห็นตรงกันข้ามก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ
จิตที่ตั้งไว้ถูกทางนั้น ย่อมน่าความสุขความเจริญมาให้แก่เจ้าของได้ มาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์ธรรมบทว่า
น ตํ มาตา ปิตา กยิรา อญฺเญ วาปิจ ญาตกา
สมฺมาปณิหิต จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร.
แปลว่า จิตที่ตั้งไว้ชอบ (เป็นสัมมาทิฏฐิ) ย่อมทำบุคคลนั้นให้
ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งที่พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องอื่นทำให้เสียอีก
การทำบุญในพระพุทธศาสนามีเพียง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมา ไม่ได้ นอกเหนือไปกว่านี้เลย ใครจะเลือกทำอย่างไหนก็สามารถทำได้ตามกำลัง และความสามารถของตน แม้คนไม่มีเงินทองเลย เป็นคนยากจนก็สามารถทำบุญได้ และสามารถทำได้มากด้วย ถ้าหากว่าผู้นั้นประสงค์จะบำเพ็ญ บุญจริงๆ เพราะบุญไม่ใช่เพียงให้ทานอย่างเดียว ยังมีอีกถึง ๙ อย่างที่ไม่ต้องใช้เงินทอง และมีอยู่หลายอย่างที่มีผลมากกว่าทาน
บุญทุกประเภทเป็นตัวนำความสุขมาให้ ทั้งโจรจะลักไปก็ไม่ได้ ทั้ง สามารถนำติดตัวไปได้ด้วย เมื่อตายไปแล้ว ไม่เหมือนทรัพย์สมบัติอย่าง อื่น เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้หมดสิ้น แม้แต่รูปร่างกาย ดังคำกลอนที่ว่า
“ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ต้นทุนบุญกุศล
ทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้ปวงชน แม้ร่างตนเขาก็เอาไปเผาไฟ
เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามามือเปล่าเจ้าจะเอาอะไร เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา”
เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกคนสั่งสมแต่ความดีคือบุญ เพราะการ สั่งสมบุญนำความสุขมาให้
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ.
บุคคลพึงทำบุญทั้งหลายไว้เถิด ซึ่งจะนำความสุขมาให้
*ตอนที่ ๑*
…ปาฏิบุคลิกทาน…
ในบทนำได้กล่าวถึงการสั่งสมบุญในพระพุทธศาสนา ว่ามีลักษณะอย่างไร มีกี่อย่าง และให้คุณค่าแก่ผู้บำเพ็ญได้ อย่างไร นับแต่ตอนนี้ไปจะได้พรรณนาเรื่องทานโดยเฉพาะ อันเป็นการสั่งสมบุญข้อแรกในพระพุทธศาสนา
ในตอนที่ ๑ นี้ จะชี้ให้เห็นว่า การให้ทานนั้นมีกี่ประเภท ให้เพื่ออะไรบ้าง และลักษณะของคนไทยมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
/ ทานประเภทต่างๆ
การให้ทานในพระพุทธศาสนานี้ ท่านแยกออกเป็น ๓ ชนิด คือ
๑. อามิสทาน หรือวัตถุทาน การให้วัตถุสิ่งของ
๒. ธรรมทาน การให้พระธรรมคำสั่งสอน
๓. อภัยทาน การให้อภัยแก่คนอื่นหรือสัตว์อื่น
ลักษณะของทานที่ให้นั้น ท่านแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. สามีทาน ให้ของดีกว่าที่ตนเองบริโภคใช้สอย คือของเหล่าใดที่ ตนเองไม่ค่อยได้ใช้หรือไม่ค่อยได้กิน ก็ให้ของเหล่านั้นไป ทานเช่นนี้มีผลมาก
๒. สหายทาน ให้ของที่เหมือนๆ กับที่ตนบริโภคใช้สอย ทานเช่นนี้มีผลปานกลาง
๓. ทาสทาน ให้ของที่เลวๆ หรือของที่ตนเองไม่ใช้หรือไม่บริโภคแล้ว เช่น ทานที่ให้แก่คนใช้หรือแก่ทาส หรือแก่สัตว์เดรัจฉาน ทานเช่นนี้มีผลน้อย อีกประการหนึ่ง อามิสทานในพระพุทธศาสนา มี ๒ ประการ คือ
๑. ปาฏิบุคลิกทาน การให้เจาะจงบุคคล
๒. สังฆทาน การให้เป็นสังฆทาน
ในตอนที่ ๑ นี้ จะพูดถึง ทานที่ให้เฉพาะเจาะจง คือ ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ที่เรียกว่า ปาฏิบุคลิกทาน
ทานในพระพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมเบื้องต้นของชาวพุทธ ผู้ใดให้ ทานผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของผู้อื่น ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ การบริจาคเป็นการ สร้างความสงบสุขในสังคม ผู้ที่บริจาคคือผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง มีจิตใจที่ เสียสละ บางคนที่ไม่เข้าใจเรื่องทาน ก็อาจจะติดไปว่า “คนโง่ให้ทาน คน ฉลาดรับทาน” นี้คือพวกมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งไม่เข้าใจเรื่องผลของทาน
แท้จริงการให้คือการได้ เหมือนกับการออกกำลังกายก็คือ การได้ กำลัง ไม่ได้เสียกำลังกาย เราให้ทานก็คือการได้ ได้อะไร ? ได้ผลของทาน ได้น้ำใจ ได้จิตที่ผ่องใส ได้บุญกุศล ได้น้ำใจนั้น คือได้อย่างไร น้ำใจของคน บริจาคทานเป็นน้ำใจที่สูง เป็นลักษณะของนักเสียสละ ผู้ให้ทานจึงเป็น นักเสียสละ
คนเราได้รับทานครั้งแรกก็คือได้จากพ่อแม่ อันนี้ก็จัดว่าเป็นทาน เหมือนกัน เพราะการให้มาจากผู้อื่น เราจึงดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าพ่อแม่ไม่ให้ชีวิตแก่เรา ไม่ให้น้ำนม ไม่ให้ข้าว ไม่ให้น้ำ เราก็เกิดมาไม่ได้ แม้ถ้าเกิดมาแล้ว เราก็ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ ผู้ใดเป็นนักให้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีจิตใจ สูง การให้ทานมีจุดประสงค์อยู่ ๕ ประการ คือ
๑.เพื่อบูชาคุณ
๒. เพื่ออนุเคราะห์
๓.เพื่อสงเคราะห์
๔. เพื่อสาธารณประโยชน์
๕. เพื่อสร้างบารมี
การให้เพื่อบูชาคุณ คือ เพื่อบูชาผู้มีคุณงามความดี ให้ตอบแทนแก่ เขาที่เคยให้แก่เรา เพราะเขามีคุณแก่เราหรือแม้ไม่มีคุณแก่เรา แต่มีคุณธรรม สูงกว่าเรา เช่น ให้ทานแก่พระสงฆ์ หรือให้แก่คนผู้ที่มีคุณธรรมสูงให้แก่พ่อแม่ เป็นต้น
การให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ให้แก่พี่น้อง ให้แก่ลูกหลาน ให้แก่ญาติมิตร คือ การให้เพื่อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เรียกว่า การให้เพื่อ อนุเคราะห์
การให้เพื่อสงเคราะห์ คือ ให้แก่คนยากจน คนขอทาน คนตกระกำ ลำบาก เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้บ้าน ไม่มีที่พึ่ง หรือให้แก่สัตว์เดรัจฉาน การให้ เช่นนี้จัดเป็นลักษณะของทานที่ให้เพื่อสงเคราะห์ ไม่ใช่อนุเคราะห์
การให้เพื่อสาธารณประโยชน์ การให้ประเภทนี้ จะเป็นการให้ที่อนุโลมเข้าในสังฆทาน แม้มิใช่ให้ในหมู่สงฆ์ หากแต่ให้แก่ส่วนรวม พออนุโลมเป็นสังฆทานได้ เพราะมีผลประโยชน์กว้างขวางมากกว่าให้ทั่วไปมากกว่าการให้เฉพาะ เพราะฉะนั้นการให้ทาน เช่น บริจาคที่ดินให้แก่ รัฐบาลเพื่อสร้างสวนสาธารณะ สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หรือบริจาคเงินสร้างถนนหนทาง อย่างนี้ชื่อว่าให้เป็นสาธารณะ การให้ประเภทนี้มีผลมาก คล้ายกับสังฆทาน แต่ไม่เหมือนสังฆทาน เพราะสังฆทานนั้นต้องให้แก่สงฆ์
การให้เพื่อสร้างบารมี คือให้เพื่อสร้างบุญกุศล เพื่อสละความตระหนี่ของตน เพื่อหวังผลสูงสุดคือพระนิพพาน อย่างเช่นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมีเพื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ หรือให้เพื่ออบรมจิตใจ คือให้เพราะ เห็นว่าการให้เป็นความดี มีคุณค่าต่อชีวิตและผู้อื่น ทำความดีเพื่อความดี ก็จัดเข้าในการให้ประเภทนี้เช่นเดียวกัน
/ เอกลักษณ์ของคนไทย
เอกลักษณ์ของคนไทยมีหลายอย่าง เช่น ความกตัญญู ความมีใจ กว้าง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรักอิสระ ความกล้าหาญ ความรักพวกรัก หมู่ และความยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นต้น เอกลักษณ์ของคนไทยที่เด่นมากมี อยู่ข้อหนึ่ง คือ เป็นผู้มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี
ดังนั้น คนไทยโดยทั่วไปจึงชอบให้ทาน เราจะพบว่าคนบางชาติเขา ไม่ให้ทานอย่างคนไทย เช่น เมื่อไปทานอาหารด้วยกันก็มักเป็นแบบอเมริกัน แชร์ คือ ต้องจ่ายกันทุกคน แต่ถ้าคนไทยโดยทั่วไป บางทีขึ้นรถเมล์ ก็มัก จ่ายคนเดียวโดยจ่ายให้เพื่อนๆ ด้วย แม้รับประทานอาหาร ก็มักจ่ายคนเดียว แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจรัดตัว จ่ายคนเดียวไม่ไหวก็ต้องแชร์เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วคนไทยยังมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอยู่ แต่คนต่างชาติ บางชาติ (ที่เป็นนักเสียสละก็มีบ้าง) เห็นได้ชัดว่าขี้เหนียวมาก ไม่ค่อยให้ จะให้บ้างก็น้อยที่สุด แต่เขาอยากได้ ดังที่คนมักชอบพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า ชอบ Take แต่ไม่ชอบ Give คือเวลาจะรับก็ชอบแต่พอให้ก็ไม่ค่อยให้ แต่คนไทยเรานั้นส่วนใหญ่อยากจะให้ คนที่มีลักษณะอยากให้นั้น มีไม่กี่ชาติในโลก คนที่มีลักษณะเหมือนคนไทย ก็เห็นมีคนลาวซึ่งมีนิสัยใจคอ เหมือนกัน เพราะว่าเชื้อชาติเดียวกัน แม้แต่คนพม่า คนศรีลังกา ซึ่งนับถือ พระพุทธศาสนาเหมือนกันกับเรา แต่ว่าที่มีจิตใจอยากจะให้เหมือนคนไทยมีน้อย แม้เขานับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
ผู้เขียนได้เดินทางไปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พบชาวศรีลังกาทำบุญ ทำทานเหมือนกัน แต่ก็ทำแต่น้อย เขาเป็นแพทย์ร่ำรวย แต่ไม่ค่อยให้ เขา เก็บไว้เป็นของเขาเอง คนไทยเรานั้นถ้ารวยอย่างนั้นก็สร้างวัดบ้าง ทำบุญ อย่างอื่นบ้างและทำมาก แต่ชาวศรีลังกาคนนั้น บ้านเขาเท่าที่ไปดูเป็นบ้านใหญ่โต แสดงถึงความร่ำรวย เช่นภายในบ้านมีบ่อน้ำร้อนแต่ขี้เหนียว จะบำรุงพระพุทธศาสนาบ้างก็น้อยมาก เพราะนิสัยของเขาเป็นอย่างนั้นเอง แม้แต่ชาวพม่าซึ่งอยู่ใกล้กับไทย ก็มีนิสัยไม่เหมือนคนไทย แต่คนไทยมักมีลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ผู้เขียนได้พบเห็นชนชาติหนึ่งซึ่งไม่ใช่เชื้อสายเดียวกับไทย แต่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คล้ายกับไทย คือ ชนชาติชวา ในชวาภาคตะวันออกและชาวชวาภาค กลาง ในประเทศอินโดนีเซีย ถ้าเราให้อะไรเขาสักอย่างหนึ่ง เขาจะคิดถึง บุญคุณของเราอยู่เสมอ อยากจะให้ตอบแทน ต้องการให้อะไรสักอย่างหนึ่ง เขาคิดว่าเขาเป็นหนี้บุญคุณเรา จะต้องตอบแทนให้ได้ มีลักษณะอุปนิสัยใจคอ ความยิ้มแย้ม กิริยาท่าทาง เช่นการเดิน การหัวเราะของผู้หญิง มองดูแล้วเหมือนคนไทย
ผู้เขียนเมื่อพบเข้าเช่นนี้ จึงสันนิษฐานว่าคนชาติชวากับคนชาติไทย น่าจะมียุคใดยุคหนึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าชายหรือเจ้าหญิงในราชสำนัก หรือการอพยพของกลุ่มชนแน่นอน เพราะลักษณะอย่างนี้ไม่ค่อยพบเห็นในโลก ข้อนี้จะเห็นได้ชัดว่าคนไทยเรานั้นมีลักษณะเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า Generosity การมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ทำไมคนไทยจึงมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นี้เป็นนิสัยของชาวไทยเอง จะว่าเกิดจากพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ทีเดียว เพราะพม่าศรีลังกา เขาก็นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ทำไมไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบบเรา สิ่งนี้มันติดอยู่ที่จิตใจ หรือเป็นอุปนิสัยของคนไทยโดยสายเลือด จึงเป็นคนเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ นิยมสร้างความรักใคร่กันด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะฉะนั้น คนไทยไปที่ไหนมักจะชอบบริจาค เก่งในด้านนี้ แม้คนไทยในต่างประเทศก็ชอบบริจาค หรือให้ทานอย่างใดอย่างหนึ่ง มักชอบทำทาน แต่ถ้ารักษาศีลเดี๋ยวก่อนยังไม่เอา พอให้ทำสมาธิก็บอกว่าขอกลับบ้านก่อนติดธุระ พอให้ทานเสร็จหรือพอพระฉันเสร็จก็รีบกลับบ้านกันไปเลย หรือพอพระให้รับศีลก็ไม่ค่อยตั้งใจรับ พอให้เจริญภาวนาก็ไม่ค่อยเอา ส่วนพวกฝรั่งนั้นทาน ไม่ค่อยให้ ศีลก็ไม่อยากรับ แต่ชอบสมาธิและวิปัสสนา คนในโลกนี้ส่วน มากมีนิสัยแตกต่างกัน
การที่ชนชาติไทยมีลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นี้ เป็นอยู่ในสายเลือดโดย ทั่วไป คนไทยนั้น ถ้าอยู่บ้านนอกในต่างจังหวัดสมัยก่อนนั้น เวลาเจอกัน เขามักจะถามว่า “กินข้าวหรือยัง?” ถ้าไม่อย่างนั้นก็ถามว่า “ไปไหนมา เขาไม่ได้ทักว่า “สวัสดี” เดี๋ยวนี้ก็เกิดมีคำว่า “สวัสดี” เวลาเจอหน้ากัน แต่ คนไทยสมัยก่อนหรือแม้แต่ในต่างจังหวัดในปัจจุบัน เมื่อพบกันก็มักถาม ว่า “ไปไหนมา” “กินข้าวแล้วหรือยัง” ใครก็ตามที่เดินทางไปตามชนบทไป ต่างจังหวัดไม่ค่อยอด แม้ไม่มีอาหารไม่มีสตางค์ ไปวัดเขาก็ให้กิน ไปไหน
เขาก็ถือว่าเป็นแขกของเขา คนไทยเป็นอย่างนี้ แต่ในสมัยปัจจุบัน ลักษณะ เช่นนี้ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอยู่ แม้ไม่มากเหมือนสมัยก่อนก็ตาม
เป็นที่น่าสังเกตว่า ชนชาติไทยนั้นชอบเรื่องทานมาก บรรดาชาดกที่พระนำมาเทศน์กันในประเทศไทยนั้น คนไทยชอบเวสสันดรชาดกมากที่สุด ทำไมจึงชอบ เพราะพระเวสสันดรเป็นนักบริจาค เมื่อพระเวสสันดรเป็นนักบริจาค คนไทยก็ชอบใจ แล้วทำไมชาดกอื่นๆ มีเป็นจำนวนมากไม่เอามาเทศน์ ไม่แต่งเป็นมหาชาติคำหลวง ไม่แต่งขยายให้ยาว ชอบนิยมเทศน์ แต่เรื่องพระเวสสันดร มหาชาติเรื่องอื่นๆ คนไทยไม่ค่อยเทศน์กัน ถ้าพระเวสสันดรแล้วก็นิยมกันเต็มที่ ต่างจังหวัดต้องเทศน์ให้ครบทั้ง นั่งฟังไปร้องไห้ไปเพราะสงสารพระนางมัทรี หรือสงสารสองกุมารกุมารี ฟัง กันตั้งแต่ไม่รู้จักว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร เนื่องจากพระเวสสันดรนั้นคน ไทยชอบใจ เพราะถูกกับอุปนิสัยของคนไทย ในข้อที่ว่าพระเวสสันดรเป็น พระโพธิสัตว์นักเสียสละ คนไทยเราชอบความเป็นนักเสียสละ
เพราะฉะนั้น ชาติไทยเป็นชาติที่อยู่รอดได้ เพราะว่าเราเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ชอบเสียสละ เช่นเมื่อเกิดไฟไหม้ เกิดน้ำท่วม ที่เห็นชัดก็คือเมื่อเกิด พายุวาตภัยจากพายุเกย์ ที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือ เกิดภัยพิบัติในส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศไทยก็ตาม เงินทองของช่วยเหลือ หลั่งไหลกันไป ทั้งๆ ที่ผู้ที่ได้รับภัยพิบัตินั้นไม่ใช่พี่น้องของเขาเลย แต่พอทราบว่าเชื้อชาติไทยด้วยกัน ไม่ว่าอยู่ภาคไหน เราก็ช่วยเหลือกัน ลักษณะ ของคนไทยโดยทั่วไปเป็นอย่างนี้
/ คนไทยใจดี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ ท่านเล่าในหนังสือของท่าน นับว่าน่าคิด คือ เมื่อคนอินเดียเห็นคนไทยเข้า เขาก็เหมือนกับอุทานว่า “คนไทยใจดี”
มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งพันเอกปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ในสมัยนั้น ไปไหว้พระในอินเดียและก็ไปถึงแคว้นแคชเมียร์ พอไปถึงที่นั่นก็ มีชาวอินเดียคนหนึ่ง พอเห็นกลุ่มคนไทยเข้าก็มาทักทายและถามว่า “ท่าน เป็นคนไทยใช่ไหม?” เขาพูดภาษาไทยได้ พันเอกปิ่นก็ตอบว่า “ใช่” เขาก็พูดว่า “ท่านเป็นคนไทย เชิญไปทานข้าวที่บ้าน คนไทยใจดี จะตอบแทนคุณสักครั้ง”
กล่าวกันว่า ท่านผู้นี้เคยเข้ามาอาศัยข้าวแดงแกงร้อนของคนไทย รอดชีวิตจากความตายมาได้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาเป็นคนอินเดีย ซึ่งไปทำมาหากินอยู่ที่ชุมพร ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมัยนั้นญี่ปุ่นบุกไทยเพื่อขอผ่านไปตีพม่าก็จับพวกอังกฤษ พวกฝรั่งชาติอื่นๆ เป็น เชลย คนอินเดียเขาถือว่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ญี่ปุ่นก็จับด้วย ชาว อินเดียคนนี้ก็หนีจากชุมพรกลับประเทศอินเดีย ตอนหนีนั้นก็เดินทางหนีไป ตามพรมแดนอันเป็นรอยตะเข็บระหว่างพม่ากับไทย คือต้องหนีอยู่ระหว่าง รอยต่อนั้น ออกไปข้างนอกไม่ได้ เพราะอาจถูกจับ เขาเล่าว่าถ้ายังอยู่ในเขตหมู่บ้านคนไทย ไม่เคยอดเลย เขาเดินเลาะไปเรื่อย เลาะไปจนถึงแม่ฮ่องสอนก็ออกจากเขตไทยเข้าสู่เขตพม่า แต่พอเลยเขตแดนไทยเข้าเขต พม่า เขาบอกว่าอดเกือบตาย อาหารการกินแทบจะไม่ได้พบเลย กว่าจะถึงอินเดียเกือบตาย ตอนอยู่ในเขตแดนไทย แม้จะลดเลี้ยวอยู่ตามรอยตะเข็บ เขาก็ไม่ลำบาก เพราะคนไทยใจดี ให้เขากินได้ตลอดทาง เพราะฉะนั้นเมื่อ เขาเห็นพันเอกปิ่น จึงเชิญไปเลี้ยงอาหาร ในฐานะที่เป็นตัวแทนของคนไทย ที่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูเขา เขาบอกว่าคนไทยใจดี และความจริง คนไทยก็เป็นอย่างนี้จริงๆ
เพราะฉะนั้น เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชนชาติไทย ซึ่งทางสภา วัฒนธรรมแห่งชาติต้องการยกย่องก็คือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นี้มีอยู่ในจิตใจของคนไทยเหมือนอย่างบรรพบุรุษของไทยเราที่มีอยู่ มากเป็นทุนอยู่แล้ว เป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรง ยกย่องมากข้อหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความรักความสามัคคี
บางคนต้องการความรัก ต้องการความสามัคคี แต่มิได้สร้างเหตุแห่งความรักความสามัคคีขึ้น ความรัก ความสามัคคีและความเป็นมิตรไมตรีต่อกันก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อมีการให้ความรักก็เกิดขึ้น ความสามัคคีและความเห็นอกเห็นใจก็เกิดขึ้นในทันที เพราะความเสียสละ ความเสียสละนี้จัดเป็นทาน โดยเฉพาะการเสียสละวัตถุสิ่งของช่วยเหลือ เกื้อกูลต่อผู้อื่น
/ แกงหม้อเดียวกินได้เป็นปี
ในการทำเพ็ญทานด้วยการให้วัตถุสิ่งของนั้น ผลที่ปรากฏออกมาก็ คือทำบุคคลนั้นให้มีที่พึ่ง นักปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า แกงหม้อเดียวกิน ได้เป็นปี แกงยังไง แกงหม้อเดียวกินได้เป็นปี? คือคนไทยในบางถิ่น สมมติ ว่าเขาไปต่างจังหวัดได้อาหารแปลกๆ มา เช่น ได้เนื้อมาก็แกงเสียหม้อหนึ่ง แล้วเอาไปแจกเพื่อนบ้านทุกบ้านในละแวกบ้านของเขา เพื่อนบ้านก็ได้กิน ของพิเศษ ดังนั้น เมื่อเพื่อนบ้านของเขาได้ของอะไรมาบ้าง เขาก็มาแจกคืน บ้าง หลายๆ บ้านเข้าก็กินได้ทั้งปี แต่บางคนแกงหม้อหนึ่งกินเพียงครั้ง เดียวก็หมดแล้ว วันต่อไปก็ไม่ได้กินแล้ว แต่แกงของผู้ให้นั้นไม่บูดด้วยและ กินได้เป็นปี กินเข้าไปในใจด้วย มันซึ้งเข้าไปว่า “การให้อย่างนี้เหมือน เขาเป็นญาติเป็นมิตรเรา แม้เขาจะไม่เป็นพี่น้องเรา ก็ถือว่าเป็นมิตรของเรา ทีเดียว” และก็เป็นการรักษาน้ำใจเขาไว้ด้วย สมมติว่าเราไม่อยู่บ้าน เขาอยู่ บ้านใกล้เรือนเคียงเรา เขาก็ช่วยดูแลบ้าน ป้องกันขโมยให้ด้วย แต่บางแห่ง เดี๋ยวนี้แม้อยู่บ้านใกล้ๆ กัน ก็ไม่ค่อยรู้จักกันหรือไม่รู้จักกันเลย แล้วจะเอา แกงไปแจกได้อย่างไร บางทีก็ขึ้นทางหน้าต่างแล้วขโมยของเสียอีก เพราะ ว่าไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่สร้างความรักให้แก่กัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็จะช่วยกันดูแลให้กัน บางหมู่บ้าน พอเจ้าของไม่อยู่บ้าน ก็ถูกขโมยโทรทัศน์ออกไปเสียก็มีบ่อย หรือสิ่งของใดที่จะเอาไปได้เขาก็เอาไปเสีย แต่ถ้าเรามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ขโมยก็เอาของไปไม่ได้ หรือเอา ไปได้ยาก เพราะว่าเรามีมิตรพวกพ้อง ซึ่งเกิดจากทานของเรา ผู้เปรียบ เสมือนญาติอยู่ละแวกบ้านของเรา
เพราะฉะนั้น การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นทานนี้ จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ภัยให้แก่เรา ก่อให้เกิดความสุขใจในปัจจุบัน ทั้งคนที่ให้ทานนั้น เมื่อไปเกิด ในชาติใดชาติหนึ่ง ก็จะไม่มีความยากจน จะไม่ตกระกำลำบาก แต่คนที่ เกิดมายากจนก็เพราะชาติก่อนขี้เหนียว ส่วนคนที่เกิดมาร่ำรวย ก็เพราะเคย บริจาคทานหรือให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
เพราะฉะนั้น ผู้บำเพ็ญความดีในพระพุทธศาสนานั้น ถึงแม้จะ บำเพ็ญความดีขั้นอื่นๆ ยังไม่ได้หรือได้ไม่มาก แต่ขั้นทานก็ไม่ควรทอดทิ้ง ควรทำไว้เสมอ เพราะก่อให้เกิดความสงบสุข ทั้งแก่คนเองและสังคมโดย ส่วนรวม ทั้งเป็นไปเพื่อความมีทรัพย์ และความสงบสุขแก่ตน ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป
*ตอนที่ ๒*
…..ทานควรเลือกให้…..
/ สัปปุริสบัญญัติ ๓
ในสมัยพุทธกาล คือ สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ อยู่ หรือแม้แต่ก่อนสมัยพุทธกาล นักปราชญ์สมัยนั้นได้ บัญญัติคุณธรรมสำหรับมนุษย์ที่เรียกว่า สัปปุริสบัญญัติไว้ ๓ อย่างคือ
๑. ทาน การให้ทาน
๒. บรรพชา การบวช
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน การเลี้ยงดูพ่อแม่
(องฺ.ติก.๒๐/๑๙๑)
การให้ทาน ตามหลักพระพุทธศาสนา มนุษย์จะต้องมีธรรม ๓ นี้ ข้อใดข้อหนึ่ง หรือถ้ามีได้ทุกข้อก็ยิ่งดี ข้อแรกคือ ทาน ในการให้ทานนั้น ต้องเลือกให้ ถ้าไม่เลือกให้ก็เป็นทาน ของสัปบุรุษไม่ได้ จะเป็นทานของคนโง่และเป็นทานที่มีผลน้อย
การบรรพชา คือ การบวช การบวชนั้น หมายถึงการงดเว้น คือ เว้น สิ่งที่ทำใจของเราให้ต่ำลง เว้นสิ่งที่กั้นจิตของเราไม่ให้ขึ้นสู่ระดับสูง แม้จะไม่บวชกายครองเพศบรรพชิต ถ้าบวชใจก็ถือว่าได้บวชเช่นกันแต่นักปราชญ์หรือบัณฑิตนั้น นิยมบรรพชาโดยบวชทั้งกายและใจ เช่น กษัตริย์ อินเดียในสมัยโบราณ เมื่อครองราชย์จนอายุเข้าสู่วัยชราแล้วจะเสด็จออก บรรพชา เพื่อหาที่พึ่งในปรโลกหรือหาความสุขในบั้นปลายชีวิต ดังนั้น
บรรพชาจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
มาตาปิตุอุปัฏฐาน การบำรุงเลี้ยงพ่อแม่ เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้เกิด มาเป็นมนุษย์ที่จะต้องบำเพ็ญ ผู้ใดทำสิ่งเหล่านี้ถือว่าทำตามหลักของสัตบุรุษ
ในที่นี้ จะได้อธิบายถึงสัปปุริสบัญญัติข้อที่ ๑ เท่านั้น คือ การให้ ทาน ทานนั้นต้องให้แก่คนที่ควรให้จึงเป็นสัปปุริสทาน คือ ทานของสัปบุรุษ ถ้าให้ไม่เลือกโดยให้แก่คนที่ไม่ควรให้ ทานนั้นแม้จะมีผล แต่ก็มีผลน้อย เช่นให้แก่คนที่เกียจคร้าน ชอบตั้งตัวเป็นคนขอทาน เป็นคนงอมืองอเท้า บางคนทั้งที่ร่างกายก็ยังสมบูรณ์อยู่ แต่แกล้งทำเป็นคนพิการ เป็นคนง่อย เปลี้ยเสียขาแล้วก็มาขอทาน คนอย่างนี้ไม่ควรให้ หรือบางแห่งก็ปิดถนน เรี่ยไรกันเลย แล้วเอาเงินไปกินเหล้า หรือเอาไปแบ่งกันเอง บางส่วนเท่านั้น ที่เข้าวัด แต่ว่าบางส่วนหรือส่วนใหญ่เอาไปกินกันเสียเอง ถ้าเราให้ทานแก่ คนประเภทนี้ ก็เป็นการส่งเสริมคนมิจฉาชีพ เป็นการส่งเสริมให้คนในชาติ ขี้เกียจ ไม่ให้เขาตั้งตัวได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะมาขอของเรา แม้เราจะให้ ก็ควรเลือก ถ้าไม่เลือกให้ไป ทานก็มีผลน้อย เราจะต้องเลือกให้แก่คนที่ควร ให้ และคนที่ควรให้นั้นก็มีหลายประเภท ดังกล่าวแล้วในตอนต้นว่า ให้เพื่อ บูชาคุณ เช่น ให้แก่พระสงฆ์ผู้มีคุณธรรม พ่อแม่ผู้ที่มีอุปการคุณแก่เรา หรือ ให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้อง ลูกหลาน และให้เพื่อสงเคราะห์ เช่น สงเคราะห์แก่คนยากจน หรือแม้แต่สัตว์เดรัจฉานซึ่งขาดที่พึ่ง
การให้ทานอย่างนี้ถือว่าให้ถูกต้อง แต่ถ้าให้ไม่เป็น ไปบำรุงคนที่ไม่ควร บำรุง ให้แก่คนที่ไม่ควรให้ แทนที่เขาจะตั้งตัวได้ แต่กลับเป็นอันตรายแก่ตัว เขาเอง และสร้างคนที่ถ่วงความเจริญของประเทศชาติ และโดยเฉพาะไป ให้แก่พระสงฆ์หรือบุคคลบางคนที่มาทำลายพระพุทธศาสนา ก็เท่ากับว่าเราสนับสนุนให้คนมาทำลายศาสนาให้เขาได้อิ่มหมีพีมันแล้วทำลายชาติ และศาสนาของเราได้สะดวก การให้ที่ถูกต้องนั้นจะต้องเลือกให้จึงจะมีผลมาก
มีคำถามว่า “การให้ทานแก่คนที่ไม่มีคุณธรรม หรือแก่คนนอกศาสนา ทานนั้นจะมีผลไหม ?”
ตอบว่า “มี” เพราะทานนั้นเมื่อให้ไปแล้วก็ย่อมมีผลทั้งสิ้น เพียงแต่ ผลไม่เท่ากันเท่านั้นเอง ในปัญหาเช่นนี้ มีผู้ถามพระพุทธเจ้าเช่นกัน ดังข้อ ความในชัปปสูตร” ซึ่งถอดใจความมากล่าวไว้ในที่นี่ว่า
ปริพาชกวันโคตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว
กราบทูลว่า เขาได้ยินว่า พระโคดมตรัสว่า คนทั้งหลายควรถวายแก่ พระองค์และสาวกของพระองค์เท่านั้น ไม่ควรให้แก่คนอื่นและสาวกของผู้อื่น ทานที่ให้แก่พระองค์และสาวกของพระองค์เท่านั้นมีผลมาก ให้แก่คนอื่นและสาวกของคนอื่นหามีผลมากไม่ คำพูดเช่นนี้พระองค์ได้ตรัสจริงหรือ หรือว่าคนเหล่านั้นพูดใส่ความพระองค์เปล่าๆ
พระพุทธองค์ตรัสว่า คนที่ว่าอย่างนั้น ใส่ความพระองค์เปล่าๆ ผู้ใด ห้ามคนที่ให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่คน ๓ คนคือ ทำอันตรายต่อบุญ ของทายก ทำอันตรายต่อลาภของปฏิคาหก และทำอันตรายต่อตนเอง (ให้ เสียคนไป)
ความจริง พระองค์ตรัสอย่างนี้ต่างหากว่า แม้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในบ่อน้ำคร่ำหรือในหลุมโสโครก ผู้ใดเทน้ำล้างหม้อหรือน้ำล้างชามลงไป (ถาลิโธวนํ วา สราวุโธวนํ วา ฉฑฺเทติ) ในบ่อน้ำคร่ำหรือหลุมโสโครกนั้น ด้วยเจตนาให้สัตว์เหล่านั้นได้เลี้ยงชีพ อย่างนี้พระองค์ตรัสว่าได้บุญ ไม่ จำเป็นต้องพูดถึงทานที่ให้ในหมู่มนุษย์ (คือย่อมมีผลอย่างแน่นอน)
แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ตรัสว่า ทานที่ให้ในหมู่ชนผู้มีศีล มีคุณธรรม ย่อมมีผลมาก แต่ทานที่ให้แก่คนไม่มีศีล ไม่มีคุณธรรมหามีผลมากไม่
อีกครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่งมาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ทานนี้ ควรให้ในที่เช่นไร” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ทานควรให้ในที่ที่เราเลื่อมใส” ถ้าเราเลื่อมใสแล้วก็ควรให้ไปในผู้นั้น หมายความว่าถ้าเราให้ด้วยจิตใจที่เลื่อมใส จิตที่เบิกบานนั้นก็ควรให้ในที่นั้น พราหมณ์นั้นได้ทูลถามต่อไปว่า “ให้ ทานแก่คนเช่นไรจึงมีผลมาก” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ปัญหานี้กับข้อแรกเป็น คนละข้อกัน” ข้อแรกนั้นว่าควรให้ในที่เช่นไร ก็ตอบว่าควรให้ในที่ที่เราเลื่อมใส แต่ถ้าถามว่าให้แก่คนเช่นไรจึงมีผลมาก ก็ตอบว่า “ให้แก่ทักขิไณยบุคคลจึงจะมีผลมาก” ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ทานต้องเลือก ให้แก่ผู้ไม่มีกิเลสหรือมีกิเลสเบาบาง จึงจะมีผลมาก
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การทำบุญในพระพุทธศาสนา เมื่อว่าโดยย่อ ก็มีเพียง ๓ ประการเท่านั้น คือ
การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญ ภาวนา ในการบำเพ็ญแต่ละอย่างใน ๓ อย่างนี้ จะมีผลมากได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บำเพ็ญเข้าใจหลักการบำเพ็ญและบำเพ็ญได้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วแม้ บำเพ็ญไปก็หามีผลมากไม่ แต่ในบทนี้จะได้ย้ำการให้ทานที่มีผลมาก โดยที่พระพุทธองค์ตรัสลักษณะของทานที่มีผลมากไว้ว่า
“ทายกผู้ให้ทาน ก่อนแต่การให้ เป็นผู้มีจิตใจดีกำลังให้ อยู่ ย่อมทำใจให้เลื่อมใส ครั้นให้แล้ว ย่อมปลื้มใจการให้เช่นนี้ คือ ความสมบูรณ์แห่งยัญ…”
พระพุทธพจน์ข้างต้นนี้ปรากฏในทานสูตร พระสุตตันตปิฎกฉักกนิบาต อังคุตตรนิกายซึ่งกล่าวถึงทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์คุณ ๖ ประการ ว่ามีผลมาก ดังใจความโดยย่อแห่งพระสูตรนี้ว่า
/ ทานสูตร
ในสมัยหนึ่ง อุบาสิกาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะ ชื่อว่า นันทมารดา ได้ถวายทักษิณาทานประกอบด้วยองค์คุณ ๖ ประการ แก่ภิกษุสงฆ์ มี พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ในสมัยนั้นเอง พระพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล พระองค์ได้ทรง เห็นการถวายทานนั้นด้วยทิพยจักษุ อันมีอำนาจเหนือกว่าตาของมนุษย์ สามัญ แล้วได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นันทมารดาอุบาสิกาได้ถวายทักษิณาทานอัน ประกอบด้วยองค์คุณ ๖ ประการ ได้แก่
องค์คุณของฝ่ายทายกผู้ให้ ๓ ประการ คือ
๑. ก่อนให้ทาน เป็นผู้มีใจดี
๒. กำลังให้อยู่ ย่อมทำใจให้เลื่อมใส
๓. ครั้นให้แล้ว ย่อมปลื้มใจ
ส่วนปฏิคาหกผู้รับทาน ก็มีองค์คุณ ๓ ประการเช่นกัน คือ
๑. เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติตนเพื่อกำจัดราคะ
๒. เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติตนเพื่อกำจัดโทสะ
๓. เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติตนเพื่อกำจัดโมหะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์คุณทั้ง 5 ประการเช่นนี้ ห้วงบุญห้วงกุศลเช่นนี้ ย่อมนำความสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ (คือให้ความสุขใจได้มาก) มีความสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไป เพื่อสิ่งอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ผล แห่งทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์คุณ ๖ ประการเช่นนี้ ไม่ใช่จะ ประมาณค่าได้ง่ายเลย โดยที่แท้ ผลบุญแห่งทักษิณาทานนั้น ย่อมนับได้ว่า เป็นกองแห่งบุญใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณค่าไม่ได้ เปรียบเหมือนการนับน้ำ ในมหาสมุทรว่า เท่านี้อาฬหกะ (เช่นเท่านี้ลิตร) เท่านี้ร้อยอาฬหกะ หรือเท่า นี้แสนอาฬหกะ ไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย โดยที่แท้น้ำในมหาสมุทรย่อมถึงการพูด ได้ว่า เป็นปริมาณแห่งห้วงน้ำใหญ่ที่นับไม่ได้ ประมาณไม่ได้เลยทีเดียว”
จากข้อความในพระสูตรนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่า การทำบุญแม้เพียงขั้น ทาน ถ้าทำได้ถูกต้องตามหลักทักษิณาทานในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีผล นับไม่ถ้วนขนาดนี้ แล้วการสั่งสมบุญด้วยการรักษาศีล ซึ่งมีผลเหนือทาน และการสั่งสมบุญด้วยการเจริญภาวนา ซึ่งมีผลเหนือศีล ถ้าทำได้ถูกหลักแล้ว จะมีผลมากเพียงไร ผลย่อมมีมากอย่างเหลือคณานับอย่างแน่นอน
ในการให้ทานของฝ่ายทายกผู้ให้ทานด้วยเจตนา ๓ ประการ ที่มีผล มากนั้น ผู้ให้จะต้องกอปรด้วยศรัทธา เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นในผล ของทาน และมีเจตนาสัมปทา ความสมบูรณ์ของเจตนา ๓ ประการ คือ
๑. ปุพพเจตนา เจตนาก่อนให้ทาน
๒. มุญจนเจตนา เจตนากำลังให้ทาน
๓. อปราปรเจตนา เจตนาหลังจากให้ทานเสร็จแล้ว
เจตนาใน ๓ กาลนี้ก็คือ ก่อนให้ก็มีจิตใจเบิกบานชื่นชมยินดีว่าตน จะให้ทาน ขณะให้ก็เบิกบานใจ แม้ให้เสร็จแล้วเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็น เดือน หรือเป็นปี ก็ยังปลื้มใจในทานที่ตนได้ทำไปแล้ว
เมื่อทานให้ผล ไม่ว่าจะเกิดอยู่ภพใดภูมิใด คนเช่นนี้ย่อมมีความสุขในวัยทั้ง ๓ คือ ปฐมวัย วัยเด็ก มัชฌิมวัย-วัยกลางคน และปัจฉิมวัย วัยชรา ฉะนั้น ผู้ให้ทานควรทำใจของตนอย่างนี้ ทานของตนจึงจะมีผลมาก แต่ถ้าใจของตนไม่ได้ประกอบด้วยเจตนา ๓ ประการนี้ แม้จะให้ทานมากก็ มีผลน้อย แต่ถ้าให้ทานถูกต้องตามหลักนี้ แม้ให้ทานน้อยก็จะมีผลมาก
ส่วนฝ่ายปฏิคาหกผู้รับทาน ก็ต้องมีองค์คุณ ๓ ประการเช่นกัน คือ ไม่มีราคะหรือปฏิบัติตนเพื่อกำจัดราคะ ไม่มีโทสะหรือปฏิบัติตนเพื่อกำจัด โทสะ ไม่มีโมหะหรือปฏิบัติตนเพื่อกำจัดโมหะ ในปัจจุบัน การให้ทานโดย การได้ปฏิคาหกผู้รับทาน ผู้ไม่มีกิเลสเลยนั้นคงทำได้ยาก แต่ถ้าปฏิคาหกมีกิเลสน้อยหรือกิเลสเบาบางก็คงหาได้ไม่ยาก แต่ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ ตรัสว่า แม้ให้แก่ท่านผู้ปฏิบัติตนเพื่อกำจัดราคะ เพื่อกำจัดโทสะ หรือเพื่อ กำจัดโมหะ ทานก็มีผลมากเช่นกัน ถ้าจะหาปฏิคาหกเช่นนี้ คงหาได้ไม่ยาก เพราะพุทธศาสนิกชนผู้ปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสของตนนั้นก็มีอยู่ทั่วไป แม้แต่ในหมู่ฆราวาส ในเรื่องนี้คัมภีร์อรรถกถามโนรถบูรณี ได้อธิบายแก้ ความพระสูตรตอนนี้ว่า พระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์สูตรนี้ กล่าวไว้ อย่างอุกฤษฎ์ คืออย่างสูง แต่แท้ที่จริงแล้ว ทานไม่ใช่ให้แก่พระอรหันต์ ประเภทเดียวเท่านั้นจึงมีผลมาก แม้ให้แก่พระอนาคามี พระสกทาคามี และพระโสดาบันก็มีผลมากเช่นกัน โดยที่สุด แม้ทักษิณาทานที่ให้แก่ สามเณรผู้บวชในวันนั้น ก็ย่อมเป็นทานที่ประกอบด้วย
องค์คุณ ๖ ได้เช่น กัน ถ้าบวชเพื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มุ่งทำลายกิเลส ทานนั้นก็มีผลมากเช่นกัน
อีกประการหนึ่ง จากข้อความในทานสูตรนี้ สันนิษฐานได้ว่า อุบาสิกา ชื่อนันทมารดา ให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เป็นประมุขในสมัยนั้น นางเองก็คงทราบว่า พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปคงไม่ใช่ พระอรหันต์ทั้งหมด และความเป็นจริง ก็อาจจะมีพระสงฆ์บางรูปในจำนวน
นั้นเป็นพระอริยบุคคล ชั้นพระอนาคามี ชั้นพระสกทาคามี และพระโสดาบัน รวมอยู่ด้วย หรืออาจจะมีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นปุถุชนอยู่ด้วย พระพุทธองค์ จึงตรัสว่า หรือแม้ให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติตนเพื่อกำจัดราคะ โทสะ หรือโมหะ ปฏิคาหกผู้รับทานก็จัดว่ามีองค์ ๓ เช่นกัน
การให้ทานที่ฝ่ายทายกผู้ให้ประกอบด้วยองค์ ๓ นั้น ผู้ให้เองสามารถสร้างเจตนา ๓ ประการให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองโดยไม่เหลือวิสัย แม้อาจจะ ไม่สมบูรณ์เต็มที่ก็ตาม แต่การได้ปฏิคาหกผู้รับทาน ผู้ประกอบด้วยองค์ นั้น ไม่ใช่หาได้ง่ายนัก เพราะผู้ที่หมดกิเลสหรือผู้ปฏิบัติตนเพื่อกำจัดกิเลส ไม่ใช่มีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าได้ปฏิคาหก ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แม้ท่านยังไม่เป็น พระอริยบุคคล ทานก็ยังมีผลมากกว่าทานที่ให้แก่คนไม่มีศีลและไม่ถึงพระ รัตนตรัยหลายเท่านัก แต่ถ้าได้ทักขิไณยบุคคลแล้ว ทานแม้น้อยก็มีผลมาก ดังเรื่องอินทุกเทพบุตรกับอังกุรเทพบุตร ที่กล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบทเป็นตัวอย่าง
ท่านเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า ในพรรษาที่ ๗ พระพุทธองค์ทรง แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในครั้งนั้น
มีเทพเจ้าจำนวนมากมาเฝ้าเพื่อฟังธรรม ในจำนวนเทพเจ้าที่เข้าเฝ้าครั้งนั้น มีเทพบุตร ๒ องค์ คืออินทกเทพบุตรกับอังกุรเทพบุตรมาฟังธรรมด้วย ในครั้งแรกได้เข้ามานั่งใกล้พระพุทธองค์ แต่เมื่อเทพเจ้าที่มีอำนาจมากกว่า มีรัศมีมากกว่า และมีบุญมากกว่าทยอยกันเข้าเฝ้า อังกุรเทพบุตรซึ่งมีบุญและ อำนาจน้อยกว่าเทพเหล่านั้น ก็ต้องถอยออกไปนั่งอยู่ห่างไกล แต่อินทุกเทพ บุตรซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ยังนั่งอยู่ที่เดิม หาได้ถอยออกไปเช่นอังกุรเทพบุตรไม่
พระพุทธองค์ทรงเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น เพื่อจะทรงชี้ให้เทพบุตรเทพ ธิดาทั้งหลายเห็นความแตกต่างของทานที่เลือกให้และไม่เลือกให้ จึงได้ตรัสถามอังกุรเทพบุตรว่า “อังกุระ เธอให้ทานเป็นอันมาก สิ้นกาล นาน เมื่อมาสู่สำนักของเรา ทำไมจึงไปนั่งเสียไกลลิบ” ทั้งนี้ก็เพราะว่า อังกุรเทพบุตรนั้น ในสมัยที่เป็นมนุษย์ได้เกิดในปลายศาสนาของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะ ได้ทำบุญถวายทานเป็นอันมาก และเป็นเวลานานแต่ปฏิคาหกผู้มารับทานในสมัยนั้นไม่มีใครมีศีล และไม่มีใครยึดถือพระรัตนตรัยแม้แต่เพียงคนเดียว ทานที่ให้จึงไม่มีผลมาก แม้ไปเกิดบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ยังมีบุญบารมีสู้อินทุกเทพบุตร ซึ่งทำบุญน้อย แต่ได้ผลมากไม่ได้ เพราะเขาได้ให้ทานแก่ทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ คือ อินทกเทพบุตร นั้น ในสมัยที่อยู่ในโลกมนุษย์เป็นคนยากจน อยู่ในกรุงราชคฤห์ ได้ถวายทานที่มีผู้อื่นมอบให้ตนแก่
พระอนุรุทธ์ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้เข้าไปบิณฑบาต ในบ้านหนึ่งทัพพี ทานที่ให้นั้น มีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตรได้ถวายเป็นอันมากและเป็นเวลานาน
อังกุรเทพบุตรได้กราบทูลพระพุทธเจ้าบุตรว่า ข้าพระองค์จะต้องการ อะไรด้วยทานที่ว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล อินทกะนั้นถวายทานนิดหน่อย ยังรุ่งเรืองกว่าข้าพระองค์ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามอินทกเทพบุตรว่า “เธอนั่งอยู่ข้างขวาของเรา ไฉนจึงไม่ถอยร่นออกไปนั่งเล่า” อินทุกเทพบุตรได้ทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ได้ทักขิไณยบุคคล ดุจชาวนาหว่านพืชนิดหน่อยในนาดี” แล้ว กราบทูลต่อไปว่า
“พืชแม้มาก อันบุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ทั้งไม่ ทำให้ชาวนาพอใจฉันใด ทานมากมายอันบุคคลให้ไปในหมู่คนผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ให้ทายกพอใจฉันนั้นเหมือนกัน พืชแม้เล็กน้อยอันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนตกต้องตามกาลแล้ว ผลที่ได้รับย่อมทำ ชาวนาให้พอใจฉันใด เมื่อทานแม้เล็กน้อยอันทายกให้แล้วในท่านผู้มีศีลมีคุณ ผลย่อมทำทายกให้พอใจยินดีได้ฉันนั้นเหมือนกัน”
เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลเช่นนี้แล้ว พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “อังกุระ การเลือกเสียก่อนแล้วให้ทานจึงควร ทานย่อมมีผลมากด้วยอาการอย่างนี้ ดุจพืชที่เขาหว่านลงในนาดี แต่เธอหาทำเช่นนั้นไม่ เหตุนั้น ทานของเธอจึง ไม่มีผลมาก แล้วพระองค์ตรัสว่า วิเจยฺย ทานํ สุคตปปสตถํ – การเลือกให้ พระสุคตเจ้าสรรเสริญ”
จากเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ทานจะมีผลมากต้องเลือกให้ คือต้องเลือก ปฏิคาหกผู้รับทาน อย่าทำโดยสักว่าให้เท่านั้น ไม่เลือกไม่ได้ เพราะการ เลือกให้กับการไม่เลือกให้มีผลแตกต่างกันมาก สังฆทานไม่ต้องเลือกบุคคล แต่ควรเป็นวัดที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ส่วนทานอื่นทั้งหมดต้องเลือก ถ้าไม่เลือก ผลที่ได้รับก็มีน้อย ซ้ำเป็นการส่งเสริมผู้ไม่มีคุณธรรมให้อยู่ดีกินดี อันเป็นการทำลายชาติและศาสนาของตนโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ถ้าผู้ใดทำบุญ ให้ทาน เช่นใส่บาตรแก่พระภิกษุสามเณร แต่ไม่อาจทราบได้ว่าท่านเป็น พระมีศีลและมีคุณธรรมหรือไม่เพียงไร ในกรณีเช่นนี้ ท่านผู้รู้แนะนำว่า ให้ ทำใจเสียว่าการให้ทานครั้งนี้ตนให้อุทิศพระอริยสงฆ์ ทานก็จะมีผลมาก
ผลของการให้ทานนั้นมีมาก คือ สามารถให้ผลทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต และเป็นปัจจัยแก่มรรคผลนิพพานอีกด้วย
/ผลของทานในปัจจุบัน
ผลของทานในปัจจุบัน ท่านกล่าวว่ามีมากถึง ๑๒ อย่าง คือ
๑. เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย เช่น รูปสมบัติ ยศสมบัติ และบริวารสมบัติ
๒. เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือได้รับทรัพย์สมบัติ
๓. ทำให้ได้รับความสุขในปัจจุบัน
๔. ทำให้เป็นที่รักของคนเป็นอันมาก
๕. ย่อมผูกมิตรไมตรีกับผู้รับทานไว้ได้
๖. ทำให้เป็นผู้มีเสน่ห์ คือเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๗. ทำให้เป็นที่เคารพคบหาของคนอื่น
๘. ทำให้เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว ไม่ติดขัดในสังคม
๙. ทำให้แกล้วกล้า อาจหาญในที่ชุมนุมชน
๑๐. ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณดังขจรไป
๑๑. เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ เพราะเมื่อช่วยเหลือคนอื่นไว้มาก
เมื่อมีภัยต่างๆ เกิดขึ้น ย่อมได้รับการป้องกันจากผู้คนทั้งหลาย ไม่ให้ภัย เกิดขึ้นหรือให้เบาบางลง
๑๒. เป็นที่พึ่งอาศัยในโลกนี้ คือตนก็พึ่งตนเองได้ และผู้อื่นก็ได้พี่ อาศัยได้ เพราะการบริจาคเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ส่วนผลในอนาคต คือเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วก็ไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ หรือเกิดเป็นมนุษย์มีทรัพย์สมบัติมาก มีบริวารมาก เป็นที่ นับถือของคนทั้งหลาย ทั้งยังเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลในที่สุดอีกด้วย ดังที่
ชาวพุทธนิยมตั้งจิตอธิษฐานเมื่อให้ทานว่า “อิทํ เม ทาน, อาสวกฺขยาวหํ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ ขอทานนี้ของข้าพเจ้า จงเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ, เป็น ปัจจัยแก่พระนิพพานในอนาคตกาลนั้นเทอญ”
การให้ทานนี้ เป็นคำสอนเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา ในหลักบำเพ็ญบุญ ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องทาน ไว้ในพระสูตรเป็นอันมาก เช่น
ในสมัยหนึ่ง ชาวเมืองสาวัตถีรวมกันเป็นคณะ พากันถวายทานแก่ พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ในวันหนึ่งพระพุทธองค์ เมื่อ จะอนุโมทนาต่อทานของชาวเมืองสาวัตถีที่ร่วมกันถวายทาน โดยได้ตรัสว่า “ดูก่อนอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้ตนเองให้ ทาน แต่ไม่ชวนคนอื่นให้ทาน คนเช่นนี้ย่อมได้ทรัพย์สมบัติแต่ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว คนบางคน ตนเองไม่ให้ทาน แต่ชวนคนอื่นให้ทาน คนเช่นนี้ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้ทรัพย์สมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว คนบางคน ตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชวนคนอื่นให้ทาน คนเช่นนี้ย่อมไม่ได้ ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ เป็นคนยากไร้ เที่ยวไป ในที่ที่ตนเกิดแล้ว คนบางคน ตนเองก็ให้ทาน ทั้งชวนคนอื่นให้ทานด้วย คนเช่นนี้ย่อมได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว”
/ คนในโลก ๔ ประเภท
จากพระธรรมเทศนาข้างต้นนี้ ก็สามารถแบ่งคนในโลกนี้ได้ ๔ ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง เกิดมาร่ำรวย แต่ไร้ญาติขาดมิตร จะมีบ้างก็น้อย มาก เพราะชาติก่อนหรือแม้แต่ชาตินี้ ตนเองให้ทาน แต่ไม่ชักชวนใครให้ทาน
ประเภทที่สอง เกิดมายากจน แต่มีญาติมิตรและบริวารมาก เพราะ ชาติก่อนหรือแม้แต่ชาตินี้ ตนเองขี้เหนียว ไม่ทำบุญให้ทาน ได้แต่ชักชวนคนอื่นให้ทาน
ประเภทที่สาม เกิดมายากจนและไร้ญาติขาดมิตร เพราะชาติก่อน หรือแม้แต่ชาตินี้ ตนเองขี้เหนียว ไม่ทำบุญให้ทาน ทั้งไม่ยอมชักชวนใคร ทำบุญให้ทาน
ประเภทที่สี่ เกิดมาร่ำรวยและมีญาติมิตรบริวารพวกพ้องมาก เพราะชาติก่อนหรือแม้แต่ชาตินี้ ตนเองมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบให้ทาน ทั้ง ชวนคนอื่นทำบุญให้ทาน
ฉะนั้น ผู้ต้องการได้รับทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ก็จงยินดีใน เหลือผู้อื่น และชักชวนผู้อื่นในการทำบุญให้ทาน ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมโดยส่วนรวม ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังได้ชี้แจงมานี้
อีกประการหนึ่ง ในหลักการให้ทานในพระพุทธศาสนานั้น ท่าน ทานของสัปบุรุษว่ามีผลมาก
และทานของอสัปบุรุษว่ามีผลไม่มาก คำว่า “สัปบุรุษ” หมายถึงคนดี คนที่รู้จักบาปบุญคุณโทษ คนที่ประเสริฐ ท่านยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายว่าเป็นสัปบุรุษ ส่วน คนโง่ คนชั่ว คนไม่ดี ท่านเรียกว่า
อสัปบุรุษ
/อสัปปุริสทานสูตร
ในอสัปปุริสทานสูตร คือ พระสูตรที่ว่าด้วยการให้ทานของอสัปบุรุษ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสัปปุริสทาน คือ ทานของอสัปบุรุษมี ๕ อย่าง คือ
๑.อสัปบุรุษไม่ให้ทานโดยเคารพ
๒. ให้ของที่เป็นเดน
๓. ไม่ให้ด้วยความอ่อนน้อม
๔. ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง
๕. ไม่เห็นผลที่จะพึงมาถึง”
คนที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หรือคนที่ไม่เห็นคุณค่าของทาน บางคนให้ทานโดยไม่เคารพ ให้แบบทิ้งขว้าง ไม่ว่าจะใส่บาตรหรือทำบุญ อะไรก็ให้แบบส่งๆ ไป หรือโยนให้ และบางคนก็ไม่อยากให้ด้วยมือของตน เกรงว่าจะเสียเกียรติ จึงใช้ให้คนอื่นเอาไปให้ แต่ชาวพุทธบางคนที่แก่เฒ่า หรือเจ็บป่วย หรือคนที่ไม่มีเวลาให้ทาน ได้แต่มอบให้ญาติมิตรหรือลูก หลาน หรือคนใช้ไปให้ทานแทน อย่างนี้ไม่จัดเป็นอสัปปุริสทาน เพราะอันที่ จริง เขาตั้งใจจะให้ด้วยมือของตนเอง แต่ขัดข้องดังกล่าวแล้ว แต่การให้ทานแบบอสัปปุริสทานนั้น ตัวเองไม่ให้ด้วยมือของตน เพราะกลัวจะเสีย เกียรติ และให้ของที่เป็นเดน ของที่ไม่กินแล้ว หรือของที่ทิ้งแล้ว หรือไม่ก็ให้ ไปโดยไม่หวังว่าผลของทานจะมาถึงตน เพราะไม่เชื่อบุญบาป ทานประเภทนี้ จัดเป็นอสัปปุริสทาน เป็นทานที่มีผลน้อย
/ สัปปุริสทานสูตร
ส่วนทานที่ตรงกันข้าม จัดเป็นสัปปุริสทาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สัปปุริสทานสูตรในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ เช่นกันว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน คือ ทานของสัปบุรุษมี ๕ ประการ คือ
๑.สัปบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา
๒. ให้ทานด้วยความเคารพ
๓. ให้ทานในกาลอันสมควร
๔. เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน
๕. ให้ทานโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น” พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปบุรุษ ครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมเป็น ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นผู้มีรูปสวย น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิว พรรณงามยิ่งนัก ในที่ที่ทานนั้นให้ผล หรือในที่ที่เขาไปบังเกิด
ครั้นให้ทานด้วยความเคารพแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นผู้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนงาน มีความเชื่อฟัง ตั้งใจ รับคำสั่ง ตั้งใจใคร่รู้ ในที่ที่ทานนั้นให้ผล
ครั้นให้ทานในกาลอันสมควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี โภคะมาก ย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลอันสมควร (คือเมื่อ อยากได้อะไร ก็ได้อย่างนั้นตามกาล) ในที่ที่ทานนั้นให้ผล
ครั้นให้ทานด้วยจิตใจอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีใจน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ยิ่งขึ้น ในที่ที่ทาน นั้นให้ผล
ครั้งให้ทานไม่กระทบต่อตนและผู้อื่น (ข้อนี้หมายถึง เมื่อมีใครมาขอความช่วยเหลือ ก็ไม่พูดกระทบตนและผู้อื่น เป็นเชิงพูดแดกดันให้คนที่มา ขอเกิดความน้อยใจหรือไม่สบายใจ) ก็ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคะมาก และเป็นผู้บริโภคทรัพย์สมบัติ ทั้งทรัพย์สมบัติก็ไม่มีอันตรายในที่ไหนๆ (คือไม่มีอันตรายจากไฟ จากน้ำจากการยึดของรัฐบาล จากโจร หรือจากทายาทอันไม่เป็นที่รัก) ในที่ที่ทานนั้นให้ผล”
ตามที่ได้กล่าวมานี้ สรุปได้ว่า การให้ทานตามหลักพระพุทธศาสนา ที่จะมีผลมากนั้น ทานนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ ๖ คือ ฝ่ายทายก ๓ ฝ่ายปฏิคาหก ๓ ทานก็จะมีผลมาก นับไม่ได้ เหมือนน้ำในมหาสมุทร จะ นับไม่ได้ว่ามีจำนวนกี่ล้านลิตร ฉะนั้น ต้องเลือกให้เว้นไว้แต่สังฆทานที่ให้ แก่สงฆ์ ซึ่งไม่ต้องเลือกผู้รับทาน ทั้งต้องไม่ใช่เป็นทานของอสัปบุรุษ หากแต่เป็นลักษณะสัปปุริสทาน ๕ ประการ ดังกล่าวมาแล้ว แม้ของที่ทำทาน จะไม่มากและไม่ประณีต แต่เมื่อใจเลื่อมใสมากแล้ว ทานก็จะมีผลมากเช่นกัน
ดังนั้น จึงขอให้ท่านผู้หวังผลดีผลเลิศของการทำบุญให้ทาน จงให้ทาน ให้ถูกต้องตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ก็จะได้รับผลดีเป็นอันมากจาก การให้ทาน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในชาติต่อๆ ไป ทั้งยังเป็นปัจจัยเพื่อความสิ้นทุกข์ ในที่สุดอีกด้วย
*ตอนที่ ๓ *
…สังฆทาน…
การให้ทาน เป็นการบำเพ็ญบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวไทยเราบำเพ็ญบุญนี้เป็นประจำแท้ ที่จริง ทานนี้มนุษย์เราได้รับมาตั้งแต่ต้นแล้ว คือ ผู้อื่นให้แก่ เราก่อน เช่น พ่อแม่ได้เลี้ยงดูเรามา ก็แสดงว่า ท่านให้ น้ำนม ให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเล่าเรียน ให้ความรู้แก่เรา มาแล้ว พอโตขึ้น พี่เลี้ยงหรือคนอื่นๆ ก็ให้อุปการะแก่เรา ให้ขนมหรือให้สิ่งอื่นๆ แก่เรา นั้นคือทานเหมือนกัน แต่ทาน ประเภทนี้ ท่านเรียกว่าเป็นการให้เพื่ออนุเคราะห์หรือสงเคราะห์ ไม่ใช่ทานแบบที่เราให้เพื่อมุ่งบุญกุศลโดยทั่วไป แต่การให้ประเภทนี้ก็ถือว่าเป็นบุญเหมือนกัน อย่างพ่อแม่เลี้ยงลูกก็ถือว่าให้เหมือนกัน เพราะให้ด้วยความรักก็เป็น บุญ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อย่าว่าแต่ทานที่ให้แก่ มนุษย์เลย แม้แต่ทานที่ให้แก่สัตว์เดรัจฉานตัวเล็กๆ โดยเท น้ำลงไปในหลุมในบ่อที่มีสัตว์ตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ โดยหวังว่า มันจะได้อาศัยน้ำนี้ พระองค์ยังกล่าวว่าเป็นบุญเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องพูดถึงทานที่ให้แก่มนุษย์
ได้ย้ำแล้วว่า ทานนั้นถ้าเลือกให้ก็จะมีผลมาก แต่ทานที่มีผลมากกว่าวัตถุทานทั้งปวงนั้น ได้แก่ ทานที่ให้แก่สงฆ์ ที่เรียกว่า สังฆทาน เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ จะได้กล่าวถึง สังฆทาน คือ ทานที่ให้แก่พระสงฆ์
คำว่า “สังฆทาน” หมายถึงทานที่ให้แก่สงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ทำไม สังฆทานจึงมีผลมากกว่าวัตถุทั้งปวง ก็เพราะทานนี้ให้แก่ส่วนรวม ไม่ใช่ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่างการบริจาคที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์ เช่น เพื่อ สร้างโรงพยาบาล หรือเพื่อสร้างโรงเรียน เป็นต้น ถึงแม้ว่าไม่ได้ผ่านหมู่สงฆ์ ก็ถือว่าเป็นทานที่เป็นสาธารณะ เป็นบุญมากกว่าทานทั่วไป หรือให้ที่ดิน เพื่อให้ตัดถนน โดยที่เราไม่คิดเงินทอง ก็ถือว่าเป็นบุญสาธารณะเหมือนกัน เพราะสิ่งเหล่านี้คนทั่วไปใช้มาก และไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง คือ อุทิศให้เป็นสาธารณกุศล บุญที่ให้สาธารณะนี้ย่อมกว้างขวาง เพราะไม่เจาะจงคนใด คนหนึ่ง บุญที่ให้แก่พระสงฆ์ที่เป็นสังฆทานก็เหมือนกัน เพราะให้ผลกว้างขวาง
บางคนเข้าใจสังฆทานในลักษณะต่างกัน ไม่ค่อยเหมือนกัน เพราะ ฉะนั้น ในตอนนี้จะแยกแยะสังฆทานออกให้เห็นชัดว่า การกระทำสังฆทาน แบบไหนจะเป็นสังฆทานหรือไม่เป็น หรือพระผู้รับสังฆทานนั้น เมื่อรับไป แล้ว นําสังฆทานไปใช้ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ชาวพุทธเรานิยมถวายสังฆทานกันอยู่เสมอ บางทีก็มีเพื่อนหรือญาติมิตรมาถามเรื่องวิธีทำสังฆทาน
เราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงจะตอบเขาได้ดี หรือตนเองก็จะทำได้ถูกต้อง
/ ทาน ๒ ชนิด
การให้ทานในพระพุทธศาสนานั้น ถ้าเป็นอามิสทานหรือวัตถุทานมี ๒ ชนิด คือ
๑. ปาฏิบุคลิกทาน ทานที่ให้เจาะจง คือเจาะจงท่านผู้ใดผู้หนึ่งไปเป็น คนๆ โดยเฉพาะ จะให้แก่ภิกษุสามเณร หรือให้แก่คนทั่วไปก็ได้
๒. สังฆทาน ทานที่ให้แก่สงฆ์
ใน ๒ อย่างนี้ สังฆทานมีผลมากที่สุด ทำไมจึงมีผลมากก็เพราะเป็นทานที่ให้ไปในหมู่สงฆ์ อย่างใครก็ตามสร้างวัดหรือสร้างเสนาสนะถวายไว้ ในพระพุทธศาสนา โดยมุ่งอุทิศแก่สงฆ์ ไม่ใช่ให้แก่พระรูปใดรูปหนึ่ง แม้พระ
จะมาอยู่ก็เพียงอยู่อาศัย อย่างนี้เป็นสังฆทาน แม้การสร้างหอสวดมนต์แม่ชีถวายไว้เป็นของวัดก็ถือว่าเป็นของสงฆ์เช่นกัน เมื่อเป็นของสงฆ์ก็ เป็นสังฆทาน เพราะใช้ได้ทุกคน ใช้ได้ทั่วไป ใช้ได้ส่วนรวม เพราะฉะนั้น สังฆทานจึงมีผลมาก เพราะให้แก่ส่วนรวม เพื่อใช้ได้โดยส่วนรวม เพื่อ ประโยชน์แก่พระสงฆ์หมู่มาก ไม่เจาะจงใคร
สังฆทาน ไม่ได้หมายความว่า ต้องถวายเฉพาะอาหารเท่านั้นจึงเป็น สังฆทาน ให้อย่างอื่นก็เป็นสังฆทานได้ เช่น ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่ อยู่อาศัย แม้แต่บริจาคที่ดินถวายวัดก็เป็นสังฆทาน วัดบางวัดที่มีที่ดินอยู่ มาก เป็นที่ธรณีสงฆ์ ก็เป็นที่ดินซึ่งชาวพุทธที่มีความเลื่อมใสได้ถวายไว้เป็น ของสงฆ์ ทานเช่นนี้ได้บุญมาก เพราะถวายเป็นของสงฆ์โดยส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะพระรูปใดรูปหนึ่ง ใช้โดยเป็นส่วนรวม การที่ให้เป็นส่วนรวมนั้น คนทั่วไปใช้ได้มากเพราะสงฆ์ใช้ได้ทุกรูป ไม่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อใจของผู้ถวายกว้างขวางบุญก็ต้องกว้างขวาง
บางคนเข้าใจว่า สังฆทานนั้นต้องมีข้าวสาร มีกะปิ น้ำปลา พริก กระเทียม ดอกไม้ และผ้า เป็นต้น นี้ไปตั้งกฎเกณฑ์กันไว้เอง เฉพาะถิ่น นั้นๆ ไม่ใช่ทั่วไป แท้ที่จริง การถวายสังฆทานไม่จำเป็นต้องมีของดังกล่าวเท่านั้น แม้อย่างอื่นก็ถวายได้ เช่น การถวายที่ดิน สร้างวัดก็เป็นสังฆทาน ถวายกุฏิให้เป็นของสงฆ์ก็เป็นสังฆทาน ถวายจีวรให้เป็นของสงฆ์ก็เป็น
สังฆทาน คือ เมื่อให้เป็นของส่วนรวมก็เป็นสังฆทานทั้งสิ้น หรือถวายปัจจัย ล้วนๆ โดยไม่มีสิ่งของเลย เพราะปัจจัยนั้นสามารถนำไปจัดซื้อของต่างๆ ได้ก็เป็นสังฆทานเหมือนกัน สมมติว่ามีผู้บริจาคเงินถวายวัด โดยมีจุดประสงค์บำรุงทั่วไปในวัด ถามว่า นี้เป็นสังฆทานไหม
ตอบว่า เป็นสังฆทาน เพราะไม่ได้ให้พระรูปใดรูปหนึ่ง แต่มุ่งบำรุง สงฆ์ทั่วไป ก็จัดเป็นสังฆทาน
ในที่นี้ มีข้อแม้อยู่ว่า การถวายสังฆทานนั้นต้องถึงแก่ภิกษุส่วนใหญ่ หรือพระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปจึงจะเป็นสังฆทานได้ ถ้าหากถวายแก่พระ รูป ๒ รูป ๓ รูป ไม่ถึง ๔ รูป จะไม่เป็นสังฆทาน และพระรูปนั้นต้อง เข้าใจเรื่องสังฆทาน แต่ถ้าเขาถวายแก่ภิกษุเพียงรูปเดียว รูปนั้นเมื่อรับไปในนามสงฆ์แล้วต้องให้สงฆ์แจก จึงจะเป็นสังฆทานได้ ถ้าไม่ไปให้สงฆ์แจก พระรูปนั้นชื่อว่ากินของสงฆ์ ใช้ของสงฆ์ ขโมยของสงฆ์ไป เพราะเขาให้เป็น ของสงฆ์ ไม่ใช่ให้ส่วนตัว
อย่างสมมติว่า เจ้าอาวาสวัดหนึ่ง มีผู้มาถวายที่ดินโดยบอกว่าขอ ถวายไว้เป็นของวัด แต่เจ้าอาวาสรูปนั้นเอาไปเข้าชื่อตัวเองเสียก็ไม่ได้ เพราะเขาถวายสงฆ์ แม้ท่านจะรับรูปเดียวก็จริง แต่เขาถวายสงฆ์ก็ต้องตกเป็นของวัด เป็นของภิกษุทุกรูปในวัดนั้น จะเอาไปแจกกันไม่ได้ แม้แจกก็ไม่เป็นอันแจก เพราะผิดพระวินัย ต้องคืนให้แก่สงฆ์ หรือถ้าไม่คืนก็ถวายปัจจัย เป็นผาติกรรมให้แก่สงฆ์ คือ แก่วัดนั้นไป จึงจะถูกต้องตามพระธรรมวินัย
สมมติว่าในการถวายสังฆทาน มีการถวายปิ่นโตด้วยอาหารด้วย โดยผู้ถวายบอกว่าถวายสังฆทาน ถ้าพระมีอยู่รูปเดียวในวัดนั้น อาหารนั้น รับเป็นสังฆทานไม่ได้ เพราะว่าไม่มีใครแจกให้เป็นสังฆทาน พระในวัดนั้น ต้อง ๔ รูปขึ้นไปจึงจะแจกได้ สมมติว่ามีพระอยู่รูปเดียว มีผู้นำอาหารมา ถวายเป็นสังฆทาน ถ้าอย่างนี้รับไม่ได้ เพราะทานจะเป็นสังฆทานได้ ในวัดนั้นต้องมีพระ ๔ รูปขึ้นไป และให้สงฆ์แจก จึงจะเป็นสังฆทานได้ แต่ถ้า เป็นวัตถุสิ่งของที่เป็นครุภัณฑ์รับเป็นของสงฆ์ได้ แม้ในวัดนั้นมีพระไม่ถึง ๔ รูป เพราะรับไว้ในนามสงฆ์ เช่น เขาถวายโต๊ะ เตียง เก้าอี้ หรือนาฬิกา หรือที่ดินเป็นของสงฆ์ แม้พระรูปเดียวก็รับในนามสงฆ์ได้ ไม่ใช่ในนาม ตนเอง แต่อาหารนั้นเมื่อมีพระไม่ถึง ๔ รูปในวัดนั้น จะเป็นของสงฆ์ไม่ได้ เพราะเก็บไว้นานไม่ได้ ถ้าพระอยู่รูปเดียวเท่านั้น หรือ ๒-๓ รูป ในวัดนั้นจะ เป็นสงฆ์ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งของรับไว้สำหรับสงฆ์ทั่วไป ผู้เข้าอยู่อาศัยหรือ ได้ใช้ของนั้นในนามสงฆ์ได้ ถ้าเช่นนี้เป็นสังฆทานได้
เพราะฉะนั้น การถวายสังฆทานนั้น ผู้ที่เข้าใจ แม้แต่พระรูปเดียวรับ ก็ถวายเป็นสังฆทานได้ แต่พระรูปนั้นต้องเข้าใจเรื่องสังฆทานด้วย คือ เมื่อ รับสังฆทานไปแล้วก็นำไปให้สงฆ์ในวัดที่ตนอยู่นั้นแจก อย่างวัดโสมนัสวิหาร หรือวัดที่เขามีระเบียบวินัย เข้าใจพระวินัยของสงฆ์ถูกต้อง ทางวัดนั้นจะ ประกาศ แต่งตั้งพระรูปหนึ่ง เรียกว่า ภัตตุทเทศก์ มีหน้าที่แจกภัตโดยตรง และการแต่งตั้งภัตตุทเทศก์นั้นต้องมีการสวดตั้งเป็นญัตติ เป็น “ญัตติทุติยกรรม” มีการสวดเสนอญัตติเช่นเดียวกับญัตติในสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามี พระรูปใดรูปหนึ่งคัดค้านแม้แต่รูปเดียวก็ไม่ได้ เมื่อตั้งบัญญัติเสนอขึ้นไปไม่มีใครคัดค้าน ก็แสดงว่ารับรองแล้วว่าพระรูปนี้จะมีความยุติธรรมในการ แจกของ รับหน้าที่เป็นภัตตุทเทศก์ตามอนุมัติของสงฆ์
ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อพระสงฆ์รับสังฆทานมาจากที่ใดที่หนึ่งจะจากภายในวัดหรือจากนอกวัดก็ตาม พระสงฆ์ที่รับสังฆทานมานั้น จะต้องมาแจ้งให้ภัตตุทเทศก์ให้ท่านได้แจกสังฆทานนั้น เพราะรับมาในนามสงฆ์
ปกติแล้ว พระรับสังฆทานไว้ในนามสงฆ์ ภัตตุทเทศก์จะไม่แจกรูป นั้น โดยแจกให้แก่รูปอื่นที่ถึงวาระรับสังฆทานเข้าตามลำดับในวัดนั้นก็ได้ เพราะรับมาในนามสงฆ์ แต่ส่วนมากถ้าพระรูปใดรับมา ภัตตุทเทศก์ก็แจกรูปนั้น
เมื่อพระรูปใดรับสังฆทานในนามสงฆ์ไว้แล้ว ภัตตุทเทศก์ก็ปิดบัญชี ไว้ แสดงว่ารูปนั้นรับสังฆทานในนามสงฆ์ในครั้งนี้แล้ว ต่อไปถ้าหากมีใคร มาต้องการพระสัก ๑๐ รูป หรือกี่รูปก็ตาม เผดียงสงฆ์บอกว่าจะถวายสังฆทาน โดยมานิมนต์กับภัตตุทเทศก์ หรือนิมนต์กับพระรูปอื่น แต่พระรูปอื่นบอกว่าให้ภัตตุทเทศก์นิมนต์ตามหน้าที่ ภัตตุทเทศก์ก็จะข้ามรูปที่ได้รับไปแล้วเสีย ไปนิมนต์รูปอื่นต่อไป เพราะแจกในนามสงฆ์ ไม่ใช่ว่ารูปที่รับสังฆทานมานั้นจะเอาเป็นของตนเองไปเสียผู้เดียว จะทำอย่างนั้นไม่ได้ผิดวินัยสงฆ์ ต้องให้สงฆ์แจก เมื่อรับแจกในนามสงฆ์แล้ว สิ่งที่แจกได้ก็เฉพาะอาหารหรือดอกไม้หรือสิ่งที่ใช้ได้หมดเท่านั้น เช่น จีวร หรือปัจจัยเท่านั้นสิ่งเหล่านี้แจกได้ แต่ถ้าเป็นที่ดิน เครื่องครุภัณฑ์ เป็นไม้ เป็นเรือ เป็นเครื่องเหล็ก เช่น ปิ่นโต สิ่งเหล่านี้จัดเป็นครุภัณฑ์แจกไม่ได้ พระรูปใดแจกครุภัณฑ์ พระรูปนั้นเป็นอาบัติ สิ่งของที่แจกไปก็ชื่อว่าไม่เป็นอันแจก อย่างสมมติว่ามีผู้ ถวายที่ดินแก่วัด ๑๐๐ ไร่ พระในวัดนั้นรับมาแล้วก็เอามาแจกแบ่งกัน ถ้านำไปแจกก็ไม่เป็นอันแจก แจกก็เป็นอาบัติ แจกแล้วไม่เป็นอันแจก เพราะเป็นของสงฆ์ เพราะฉะนั้น ของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์นั้นต้องส่งเข้าสู่คลังสงฆ์ ซึ่งพระผู้ทำหน้าที่นี้ได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์เช่นเดียวกับภัตตุทเทศก์ ผู้ที่รักษาคลังสงฆ์ทางพระเรียกว่า ภัณฑาคาริก
สมมติว่ามีคนถวายสังฆทานมา มีปิ่นโตด้วย เมื่อพระฉันอาหาร หมดแล้ว เหลือแต่ปิ่นโตก็ส่งเข้าคลังสงฆ์ ถ้าผู้ใดไม่ส่งเข้าคลังสงฆ์ แต่เอาไปเป็นส่วนตัว ชื่อว่ากินของสงฆ์และการกินของสงฆ์นี้ถือว่าบาปมากกว่ากินของทั่วไป แต่เดี๋ยวนี้พระบางรูปในบางวัดรับสังฆทานมาแล้วเอาเป็นของส่วนตัว ทายกถวายเป็นสังฆทาน แต่พระรับมาแล้วไม่ไปแจ้งภัตตุทเทศก์ แต่เอามาฉันหรือใช้เป็นของส่วนตัว ถ้าอย่างนี้ชื่อว่ากินของสงฆ์ ปิ่นโตก็มี ของอย่างอื่นก็มี เอามาใช้ส่วนตัวเสีย อย่างนี้ถือว่าใช้ของสงฆ์ แต่ถ้าใช้สอยในนามสงฆ์ ไม่ได้ถือเอาเป็นของส่วนตัว หรือมิได้นำไป มอบให้แก่ผู้อื่นก็ใช้ได้ ท่านเรียกว่า สังฆทานบริโภค คือ ใช้สอยเป็นของ สงฆ์ก็ใช้ได้ เหมือนพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในกุฏิสงฆ์ หรือใช้ของสงฆ์ ก็มิได้ถือเอาเป็นของส่วนตัว
บางวัดเดี๋ยวนี้จัดสังฆทานทำเป็นชุดๆ สำเร็จ จัดไว้เป็นสังฆทาน ๒ ที่ ๓ ที่ หรือมากกว่านี้ มีพระนั่งรับอยู่รูปเดียวหรือ ๒ รูป แล้วก็เวียนมาสู่ พระรูปเดิมนั้นอีก ไม่เคยเข้าไปสู่สงฆ์เลย ถ้าไม่เข้าไปสู่สงฆ์ ทานนั้นแม้ ถวายเป็นสังฆทานก็เหมือนกับไม่เป็น เพราะพระที่รับนั้นเอามาฉันหรือเอามาใช้เสียผู้เดียว เช่นมีผู้ถวายที่ดินให้แก่วัดแล้ว สมภารรับเป็นของตัวเองเสียไม่ได้ไปถึงสงฆ์เลย อย่างนี้ผิดพระวินัย ใช้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ใครจะถวายทานที่ไหนให้เป็นสังฆทานนั้น จำเป็นต้องรู้ ว่าวัดนั้นๆ พระรูปนั้น รับสังฆทานเอาไป ท่านเอาไปใช้ส่วนรวมหรือเปล่า หรือเอาไปเป็นของตัวเอง พระบางรูปที่ท่านฉันเสียส่วนตัว หรือเอาไปเป็นของส่วนตัวเสียนั้น ท่านไม่รู้พระวินัยในข้อนี้ ไม่ใช่ท่านโกงสงฆ์ ท่านไม่รู้พระวินัย พระวินัยนั้นต้องศึกษาให้รู้ถ่องแท้ว่า ของสงฆ์นั้นใครเอาเป็นของส่วนตัวไม่ได้ ถ้าพระรูปใดกินเข้าไปแล้วอาจจะเกิดเป็นเปรตได้ อย่างญาติพระเจ้าพิมพิสารที่เกิดเป็นเปรตก็เพราะกินของสงฆ์ พระสงฆ์ก็เหมือนกัน ถ้าไปกินของสงฆ์หรือเอาของสงฆ์มาเป็นของส่วนตัวก็ผิดพระวินัย ของนั้นเป็นของสงฆ์ หรือเอาไปแจกคนอื่น ยังไม่ได้รับแจกจากสงฆ์ ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน
แม้ผู้เขียนเอง ถ้ามีผู้ถวายสังฆทาน มีครุภัณฑ์ เช่น มีพระพุทธรูปอยู่ด้วย ถ้าต้องการพระพุทธรูปนั้นไว้บูชา ก็ต้องเช่ามาจากสงฆ์ เพราะว่า เป็นของสงฆ์ ซึ่งทางพระเรียกว่า ผาติกรรม คือมอบให้ไวยาวัจกรหรือ
กัปปิยการกไปจ่ายปัจจัยให้แก่สงฆ์ แต่ทางพระเขาไม่เรียกว่าซื้อ แต่เรียกว่า ผาติกรรม คือ ผาติกรรมเอามา โดยไปถามไวยาวัจกรวัดว่าของชิ้นนี้ราคาเท่าไร เมื่อเขาบอกราคาแล้วก็ให้ศิษย์วัดจ่ายให้ ตามที่ตีราคานั้น แล้ว เอามาบูชาได้หรือแจกให้แก่ญาติมิตรไปก็ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้เสียส่วนตัวหรือไปแจกคนอื่นโดยไม่ผ่านสงฆ์ เพราะเป็นของสงฆ์ ของที่เป็นครุภัณฑ์อย่าง อื่นๆ เช่น ปิ่นโต โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ก็เหมือนกัน พระรับสังฆทานมาแล้วก็ ถ้าต้องการเอาไว้ใช้เป็นของส่วนตัว ก็ต้องผาติกรรมจากสงฆ์ เพราะเป็น ครุภัณฑ์แจกกันไม่ได้
สิ่งที่ต้องย้ำมากประการหนึ่งก็คือ การถวายสังฆทานนั้น บางทีเขา เขาไม่ได้ถวายอย่างอื่น บางคนพอถวายสังฆทานเสร็จแล้ว อาหารที่เหลือเขาก็ไม่กล้ากิน กลัวจะไปกินของสงฆ์ กลัวจะเป็นบาป แต่ของเช่นนี้พระสงฆ์ท่านให้แล้ว คือไม่ต้องการแล้ว ก็นำไปกินได้ เพราะเหลือจากพระแล้ว ไม่ต้องกลัว เพราะเราไม่ได้ไปแย่งของสงฆ์ ไม่ได้ไปขโมยของสังฆทาน แต่บางวัดเขาไม่เอาอย่างนั้น ถวายแล้วก็ถวายเป็นของสงฆ์ไป ส่วนตัวเองก็แบ่งไว้กินต่างหากอย่างนี้ก็มี แต่ส่วนมากก็ถือว่าถ้าสงฆ์ให้แล้วก็ถือว่าเขาแจกแก่ภิกษุนั้นแล้ว ส่วนที่เหลือจากพระฉัน เมื่อท่านมอบให้แล้วหรือท่านไม่ต้องการแล้ว ชาวบ้านผู้ถวายก็นำไปรับประทานได้ ไม่เป็นบาป ของเช่นนี้ลูกศิษย์วัดก็นำไปรับประทานอยู่ เสมอ ไม่ผิดอันใดเลย
อีกประการหนึ่ง บางแห่งไม่มีภัตตุทเทศก์จะแจกให้ อย่างสมมติว่าพระไปรับสังฆทาน สังฆทานบางที่เขาถวายของหรือปัจจัยไม่เท่ากัน ของไม่ค่อยเหมือนกัน เช่น บางองค์มีร่ม บางองค์ไม่มี ตามปกติถ้าสงฆ์แจกต้องแจกให้เท่ากัน ถ้าไม่เท่ากันเกิดการลักลั่น ในกรณีอย่างนี้เขาจะทำอปโลกนกรรม คือมีพระรูปหนึ่งทำหน้าที่อปโลกน์ โดยกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย บัดนี้ ทานกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นแล้วท่ามกลางสงฆ์ ของเหล่านี้มีบางอย่างเสมอกัน บางส่วนไม่เสมอกัน ข้าพเจ้าขอสมมติต่อสงฆ์แจกของเหล่านี้ ถ้าหากว่าของเหล่านี้ถึงเฉพาะพระคุณเจ้ารูปใด ขอให้พระคุณเจ้ารูป นั้นถือเอาเป็นของตน ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ให้คัดค้านขึ้น จะได้แลกของ เหล่านี้เสียใหม่ ถ้าเห็นว่าเหมาะสมแล้วก็ให้นิ่งอยู่ ข้าพเจ้าจะถือการนั่งอยู่นั้น ว่าเป็นการถูกต้องตามวินัยนิยม” อย่างนี้ก็ถือว่าแจกเช่นกัน เพราะแม้ว่าไม่ได้เป็นภัตตุทเทศก์เอง แต่สมมติต่อสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปแล้วจึงแจกได้ไม่ใช่ตนเองรับมือซ้าย แล้วเอามือขวาแจกด้วยตัวเอง บางวัดเวียนไปเวียน มาเฉพาะพระรูปเดียวหรือเฉพาะกลุ่มเดียว โดยไม่ให้สงฆ์แจกให้อย่างนี้ มองดูแล้วไม่ถูกต้อง แม้ถวายเป็นสังฆทานก็เหมือนไม่ใช่สังฆทาน เพราะว่าเขาให้สงฆ์ แต่ว่าไม่ได้ถึงสงฆ์ ถ้าจะถามว่า “ผู้ถวายได้บุญไหม” ตอบว่า “ได้” เพราะเรามุ่งให้เป็นสังฆทาน แต่ว่ามองดูแล้วบุญคงไม่มาก เพราะมันเวียนอยู่ตรงนั้นเอง เหมือนกับเป็นปาฏิบุคลิกทานไปเสียแล้ว พระรูปนั้นจะเป็นบาปเป็นกรรมเอาเสียด้วย เพราะไปรับเอามาเป็นของส่วนตัวโดยไม่เข้าใจหลักพระวินัย เอาสังฆทานมาเป็นของตน
/ เสนาสนทานมีผลเลิศ
สังฆทานนั้นได้กล่าวแล้วว่าเป็นทานที่มีผลมาก คือ ทานนั้นในตอนต้นได้แยกออกให้ดูว่ามี ๓ อย่าง คือ
๑.อามิสทานหรือวัตถุทาน
๒. ธรรมทาน
๓. อภัยทาน
ตอนนี้กำลังพูดถึงอามิสทานเท่านั้น อันอามิสทานนั้นถ้าให้เป็นสังฆทานจะมีผลมาก แต่ถ้าถามว่า สังฆทานให้ของอะไรจึงจะมีผลมาก
ตอบว่า ให้ที่อยู่อาศัย คือให้กุฏิ ให้ที่อยู่ คือ ถวายเสนาสนะ เช่น สร้างกุฏิถวายสงฆ์ ชื่อว่ามีผลมากกว่าวัตถุทานทุกอย่าง
เรื่องนี้ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค กล่าวไว้ว่า ได้มีเทวดา องค์หนึ่งมาทูลถามพระพุทธเจ้าถึงการให้ทานว่า “กึทโท พลโท โหติ ให้อะไรชื่อว่าให้กำลัง”
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “อนุนโท พลโท โหติ ให้ข้าวให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง”
เทวดาทูลถามต่อไปว่า “ทโท โหติ วณฺณโท ให้อะไรชื่อว่าให้ผิวพรรณ”
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “วตฺถโท โหติ วณฺณโท ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ”
เทวดาทูลถามต่อไปว่า “กึทโท สุขโต โหติ ให้อะไรชื่อว่าให้ความสุข”
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ยานโท สุขโท โหติ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ ความสุข” เช่น ให้รถพระนั่ง หรือว่าให้ใครนั่งรถ หรือว่าเสียค่ารถให้พระ เดินทางไปโน้นไปนี้ อย่างนี้ชื่อว่าให้ความสุข
เทวดาทูลถามต่อไปว่า “กึทโท โหติ จกฺขุโท ให้อะไรชื่อว่าให้ดวงตา”
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ทิปโท โหติ จกฺขุโท ให้ประทีปชื่อว่าให้ ดวงตา” คือให้แสงสว่าง เดี๋ยวนี้มีผู้ชอบนําโคมไฟหรือหลอดไฟฟ้ามาถวายวัดหรือถวายพระ หรือให้ไฟฉาย หรือแม้ถวายค่าไฟฟ้าแก่วัดหรือแก่พระก็ ถือว่าให้ประทีปเป็นทานเหมือนกัน และมีคุณค่ามากด้วย เพราะวัดหรือ พระในวัดนั้นต่างต้องเสียค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนไม่น้อย ยิ่งวัดใหญ่ก็ต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าเดือนหนึ่งๆ หลายหมื่นบาทในปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า
“โส จ สพฺพโท โหติ โย ททาติ อุปสฺสยํ
ผู้ใดให้ที่อยู่อาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง”
ข้อนี้เห็นได้ชัดทีเดียว การให้ที่อยู่อาศัยเสนาสนะนี้ชื่อว่าให้ทุกอย่าง
เช่น ใครสร้างกุฏิถวายวัดโดยถวายเป็นของสงฆ์เป็นสังฆทาน
ในที่สุดพระพุทธองค์ตรัสว่า
“อมตนฺทโท จ โส โหติ โย ธมุมมนุสาสติ
ผู้ใดให้พระธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้ความไม่ตาย”
ทั้งนี้เพราะว่า การให้พระธรรมคือการสั่งสอนพระธรรม ทำให้บุคคลเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นแดนอมตะจึงชื่อว่าให้ความไม่ตาย
ใครก็ตามที่ได้สร้างวัดหรือสร้างเสนาสนะ สร้างกุฏิถวายสงฆ์ ผู้มาจากจตุรทิศ โดยไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญว่า เป็นสังฆทานที่เลิศกว่าสังฆทานทุกชนิดดังข้อความจากคัมภีร์จุลวรรคแห่งพระวินัยปิฎกว่า
ครั้งนั้นแล ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสก (ผ้าสบง ผ้านุ่ง) ถือบาตรและจีวร เสด็จไปยังนิเวศน์ของราชคหเศรษฐี ครั้นแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้นแล ราชคหเศรษฐี อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยของเคี้ยวและฉันอันประณีตด้วยมือของตน จนให้พระผู้มีพระภาค เสวยแล้วลดพระหัตถ์จากบาตร แล้วประทับนั่ง ณ ที่เหมาะสมข้างหนึ่ง (ในบ้านของเศรษฐีนั้น)
ราชคหเศรษฐี ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับนั่งอยู่ ณ ที่ นั้นว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ต้องการบุญ ต้องการสวรรค์ ได้สร้างวิหาร (กุฏิ-เสนาสนะ) ๖๐ หลังนี้ไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงจัดการ อย่างไรในวิหารเหล่านั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนคหบดี ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวาย วิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์จตุรทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา” ราชคหเศรษฐีทูล รับพระพุทธดำรัสแล้ว จึงได้ถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์จตุรทิศ (ผู้มาจาก ทิศทั้ง ๔) ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่ราชคหเศรษฐีด้วยคาถาว่า
/คาถาอนุโมทนาวิหารทาน
“สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ ตโต วาฬมิคานิ จ
สิริสเป จ มกเส สิสิเร จาปิ วุฏฺฐิโย
ตโต วาตาตโป โฆโร สญฺชาโต ปฏิหญฺญติ
เลณตฺถญฺจ สุขตฺถญฺจ ฌายิตํ จ วิปสฺสิตํ
วิหารทานํ สงฺฆสฺส อคฺคํ พุทฺเธหิ วณฺณิตํ
ตสุมา หิ ปณฺฑิโต โปโส สมฺปสฺสํ อตฺถมตฺตโน
วิหาเร การเย รมฺเม วาสเยตฺถ พหุสฺสุเต
เตสํ อนฺนญฺจ ปานญฺจ วตฺถเสนาสนานิ จ
เต ตสฺส ธมฺมํ เทเสนฺติ สพฺพทุกขาปนูทนํ
ยํ โส ธมฺมํ อิธญฺญาย ปรินิพฺพาติ อนาสโว”
แปลว่า
“วิหาร (เสนาสนะหรือกุฏิ) ย่อมป้องกันหนาวร้อนและเนื้อร้าย นอกจากนั้นยังป้องกันงูและยุง ฝนแม้ในฤดูหนาว นอกจากนั้น วิหารป้องกัน ลมและแดดอันกล้าที่เกิดขึ้น การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณาสภาวธรรม และเพื่อเห็นแจ้ง (เพื่อบรรลุธรรม) พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุนั้นแล คนฉลาดเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน ก็พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุทั้งหลายผู้พหูสูตให้ได้อยู่ในวิหารนี้เถิด อนึ่ง จึงมีใจเลื่อมใสถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะ อัน เหมาะสมแก่พระภิกษุเหล่านั้น
(จึงถวายไป) ในพวกเธอผู้ซื่อตรง (ปฏิบัติดี) เพราะพวกเธอย่อมแสดงธรรม อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงให้แก่เขา (ผู้สร้างวิหารถวายนั้น) เขารู้ทั่วถึงธรรมแล้ว (บรรลุธรรมแล้ว) จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้”
คาถา อนุโมทนาการถวายเสนาสนะข้างต้นนี้ เรียกกันว่า วิหารทานคาถา อนุโมทนาการถวายวิหาร พระสงฆ์จะใช้สวดอนุโมทนาแก่เจ้าภาพผู้ สร้างวัดหรือกุฏิ วิหาร หรือเสนาสนะถวายสงฆ์ เพราะเป็นคาถาที่ พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาแก่ราชคหเศรษฐีผู้ถวายวิหาร ๖๐ หลังแก่สงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เป็นคาถาอนุโมทนาการถวายวิหารหรือเสนาสนะ ที่มีความหมายดีมาก บอกถึงประโยชน์ที่จะพึงได้รับ ทั้งแก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้เข้าอยู่อาศัย ทั้งแก่เจ้าภาพ (ทายก) ผู้ถวายวิหารไว้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง
เพราะฉะนั้น จึงขอสรุปในที่นี้ว่า บรรดาวัตถุทานทุกชนิด สังฆทาน เป็นเลิศ แต่บรรดาวัตถุทานที่ให้เป็นสังฆทานนั้น การให้ที่อยู่เป็นเลิศ ทานที่ให้แก่สงฆ์นั้นมีผลมาก เพราะพระสงฆ์เป็นบุญเขตของโลก ถ้าเราไปฟังคาถาอนุโมทนา เมื่อมีทอดกฐินหรือเวลางานสำคัญที่ถวายพวกกาลทาน คือ ทานถวายเฉพาะกาล เช่น ถวายผ้าอาบน้ำฝนซึ่งให้เฉพาะกาล ไม่ได้ถวายทั่วไป ผ้าอาบน้ำฝนที่ถวายนั้นเป็นสังฆทาน แล้วนำไปแจกกันทีหลัง หรือถวายผ้ากฐิน ผ้ากฐินนี้ก็เป็นสังฆทานและเป็นกาลทาน คือทานที่ให้ เฉพาะกาล ไม่ได้ถวายได้ทุกกาล พระพุทธเจ้าตรัสว่าสังฆทานนั้นเป็นทาน เลิศ โดยตรัสเปรียบเทียบกับสิ่งหรือบุคคลที่เป็นใหญ่หรือเป็นประมุข ดัง
พระคาถาว่า
อคฺคิหุตฺตํ มุขา ยญฺญา สาวิตฺติ ฉนฺทโส มุขํ
ราชา มุขํ มนุสฺสานํ นทีนํ สาคโร มุขํ
นกฺขตฺตานํ มุขํ จนฺโท อาทิจฺโจ ตปตํ มุขํ
ปุญฺญมากขมานานํ สงฺโฆ เว ยชตํ มุขํ
ภณิสฺสาม มยํ คาถา กาลทานปฺปทีปิกา
เอตา สุนนฺตุ สกฺกจฺจํ ทายกา ปุญฺกญฺามิโน”
คาถานี้แปลโดยได้ใจความว่า
“ยัญทั้งหลายมีการบูชาไฟเป็นประมุข สาวิตติฉันท์เป็นประมุขของฉันท์ทั้งหลาย พระราชาทรงเป็นพระประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย ทะเลเป็นประมุขของแม่น้ำทั้งหลาย พระจันทร์เป็นประมุขของดาวฤกษ์ทั้งหลาย
พระอาทิตย์เป็นประมุขของสิ่งที่ให้ความร้อนทั้งหลาย พระสงฆ์แลเป็นประมุข ของทานทั้งหลายของชนทั้งหลายผู้ต้องการบุญ ซึ่งทำการบูชาอยู่ พวกเราจักกล่าวคาถาแสดงถึงกาลทาน ขอทายกทั้งหลายผู้ต้องการบุญ จงฟังคาถานี้โดย เคารพเถิด”
คาถาข้างต้นนี้ ใช้สวดในการอนุโมทนาทานที่เป็นกาลทาน พระสงฆ์ ผู้เป็นหัวหน้าจะกล่าวแต่เพียงผู้เดียวก่อน แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายก็จะสวด กาลทานสุตตคาถา คือ คาถาว่าด้วยสูตรแห่งการถวายกาลทาน โดยเริ่ม ต้นพระคาถานี้ว่า
กาเลน ททนฺติ สปญฺญา วทญญู วีตมจฉรา เป็นต้น ซึ่งแปลโดยได้ใจ ความว่า
“ชนทั้งหลายผู้มีปัญญา มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาล (กาลทาน) ทานอันบุคคลให้แล้วตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ซื่อตรง ผู้คงที่ ทักษิณาทานของเขาเป็นทักษิณาที่มีใจเลื่อมใส ย่อมมี ผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนา หรือกระทำการขวนขวายในทานนั้น เพราะการให้ทานนั้น ทักษิณาจึงมีผลไม่น้อย แม้ชนเหล่านั้นก็ย่อมได้รับส่วน แห่งบุญ เพราะฉะนั้น ทานที่บุคคลให้ในที่ใดแล้วมีผลมาก บุคคลผู้มีจิตไม่ คลอนแคลนพึงให้ทานในที่นั้น เพราะว่า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้ง หลายในปรโลก”
กาลทานนี้ให้เฉพาะกาลเท่านั้น ไม่ใช่ให้ได้ทุกเมื่อ เช่น ถวายผ้ากฐิน (ทอดกฐิน) หรือถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมเป็นทานมีผลมาก ดังข้อความในพระคาถาข้างต้น และเป็นสังฆทานด้วย จึงมี
ผลมากกว่าทานปกติซึ่งสามารถให้ได้เป็นนิตย์
/กาลทาน ๕ ชนิด
ในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทานมี ๕ ชนิด คือ
๑. อาคันตุกทาน ทานเพื่อแขกผู้มาเยือน
๒. คมิกทาน ทานเพื่อผู้เตรียมเดินทาง
๓. คิลานทาน ทานแก่ผู้ป่วย หรือแก่พระสงฆ์สามเณรอาพาธ
๔. นวทาน ทานที่ให้เมื่อผลิตผลทางเกษตรออกมาใหม่ๆ
๕. ทุพภิกขุทาน ทานในคราวเกิดทุพภิกขภัย (คนอดอยาก)
คือ ข้าวใหม่ ผลไม้ใหม่ โดยให้ท่านผู้มีศีลก่อน (คือก่อนจะรับประทานเอง หรือก่อนจะให้ใครอื่น)บ
เพราะฉะนั้น การให้ทานจึงถือว่าถ้าจะให้มีผลมากต้องให้เป็นสังฆทาน ถ้าเป็นกาลทานด้วยก็ยิ่งดีมาก แต่สังฆทานนี้ต้องถวายให้เป็น ถ้าให้ไม่เป็น อาจจะไม่เป็นสังฆทานก็ได้ ถ้าพระมีอยู่หนึ่งรูปขึ้นไป แต่เราถวายกับ พระรูปเดียวให้รับในนามสงฆ์ เมื่อท่านรับแล้ว ท่านก็ไปแจ้งให้ภัตตุทเทศก์ ได้แจกสังฆทานนั้น และส่วนมากแล้ว
ภัตตุทเทศก์ก็จะแจกให้ผู้ที่รับมา แต่แจกในนามสงฆ์ หรือเมื่อเราจะถวายสังฆทานก็ไปขอต่อพระสงฆ์จะต้องการพระรูปเดียว ๒ รูป ๓ รูป หรือสักกี่รูปก็ได้ เมื่อได้พระมาในนามสงฆ์ก็เป็นสังฆทานทั้งสิ้น แต่สังฆทานเวียนนั้นอย่าไปทำเลย มองดูแล้วไม่เหมาะสม แบบพระบิณฑบาตเวียน อันนี้ไม่เหมาะสม
ในตอนต้นนั้นได้แล้วว่า ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์ คือมีคุณธรรมสูงผลก็มาก ถ้าจะถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระรูปใดมีศีลบริสุทธิ์ เช่น มีพระบิณฑบาตอยู่ทั่วไป เราก็ไม่รู้ เพราะว่าเราก็มาใหม่ พระรูปนั้นก็ใหม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ นักปราชญ์ท่านแนะนำว่า เวลาให้ทานก็ตั้งใจอธิษฐานเสีย ว่า “ข้าพเจ้าให้ทานครั้งนี้ ขออุทิศพระอริยบุคคล อุทิศพระอรหันต์ทั้งหลาย” จะได้สบายใจ ไม่ต้องมานึกถึงเสียใจภายหลัง โดยตั้งใจว่า “ข้าพเจ้าอุทิศ พระอรหันต์เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา” ไม่ได้มุ่งว่าจะได้พระรูปนั้นพระรูปนี้ หรือเมื่อขอพระต่อสงฆ์แล้ว เมื่อสงฆ์ส่งพระรูปใดมารับในนามสงฆ์แล้ว แม้จะได้สามเณรในนามสงฆ์ ก็เป็นสังฆทานเช่นกัน ทานก็จะมีผลมาเหมือนกัน
แต่สังฆทานนี้แปลก คือ ถ้าใครให้แล้ว แม้สงฆ์ที่มารับทานจะไม่มีศีลเลย ทานก็มีผลมากเหมือนกัน อย่างสมมติว่าทางวัดส่งพระที่ไม่มีศีลบริสุทธิ์ไปรับที่ดินที่มีผู้ถวายวัด ทานนั้นมีผลมากเหมือนกัน เพราะที่ดินนั้นเขาไม่ได้ถวายให้พระรูปนั้น แม้ในการถวายภัตตาหารหรือของอย่างอื่นก็เหมือนกัน เพราะพระที่มารับสังฆทานมารับในนามสงฆ์ ไม่ใช่ในนามส่วนตัว การให้ทานถ้าหากว่าให้ถูกต้องแล้ว จะมีผลมากดังกล่าวมาแล้ว
*ตอนที่ ๔*
…ทักขิณาวิภังคสูตร…
เพื่อให้เข้าใจการถวายทาน ทั้งที่เป็นปาฏิบุคลิกทาน ทั้งที่เป็นสังฆทาน ได้ผลดีและเข้าใจชัดเจนเพิ่มขึ้น จะได้นำข้อความในทักขิณาวิภังคสูตรทั้งสูตรที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อให้ท่านผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติธรรมได้ทราบเรื่อง การถวายทานในพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น ดังต่อไปนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่วัด นิโครธารามเขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท สมัยนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือผ้าห่มคู่หนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ แล้วถวาย อภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว พระนางได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้ายทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด”
เมื่อพระนางกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ดูก่อน โคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายแล้วจักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้ง อาตมภาพและสงฆ์” พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้กราบทูลพระผู้มีพระ ภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้หม่อมฉันกรอด้ายทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรด รับผ้าใหม่ทั้งคู่นี้ของหม่อมฉันเถิด” แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ พระผู้มี พระภาคก็ตรัสกับพระนางว่า “ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อ ถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระอานนท์ได้กราบทูล พระผู้ มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับผ้าใหม่ทั้ง ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถิด พระนางมหาปชาบดีโคตมี มี อุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้บำรุงเลี้ยง ประทานพระขีรรสแด่พระผู้มีพระภาคเมื่อพระชนนีทิวงคตแล้ว ได้โปรดให้พระผู้มีพระภาคทรงดื่มเต้าพระถัน แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดี โคตมี พระนางทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ได้ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มสุราและเมรัยได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงประกอบด้วยศีล ที่พระอริยะมุ่งหมายได้ ทรง อาศัยพระผู้มีพระภาค จึงเป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มี
พระภาคก็ทรงมีพระอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถูกแล้วๆ อานนท์ จริงอยู่ บุคคลอาศัยบุคคล ใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ เราไม่กล่าว การที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี
ทำสามีจิกรรมด้วยเพิ่มให้ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร บุคคลใด อาศัยบุคคลใดแล้ว งดเว้นจากปาณาติบาต จาก อทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคล นี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดีเพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร บุคคล อาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมายได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดีเพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทน บุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิบุคลิกมี ๑๔ อย่าง คือ ให้ทานใน ตถาคตอรหันต์สัมมาสัมพุทธะ นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิก ประการที่ ๑ ให้ ทานในพระปัจเจกสัมพุทธะ นี่เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิก ประการที่ ๒ ให้ ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิกประการ ที่ ๓ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิก ประการที่ ๔ ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิกประการที่ ๕ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิก ประการที่ ๖ ให้ทานแก่พระสกทาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิกประการที่ ๗ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณา ปาฏิบุคลิกประการที่ ๘ ให้ทานในพระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิก ประการที่ ๙ ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง นี้เป็น ทักษิณาปาฏิบุคลิกประการที่ ๑๐ ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิกประการที่ ๑๑ ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล นี่เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิกประการที่ ๑๒ ให้ทานในปุถุชนผู้ ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิกประการที่ ๑๓ ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน นี้ เป็นทักษิณาปาฏิบุคลิกประการที่ ๑๔
ดูก่อนอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล จึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลพึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามจึงหวังผลทักษิณาได้แสน โกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งจึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไย (ไม่จำเป็นต้อง พูดถึง) ถึงทานที่ถวายในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็น พระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธะและในตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธะและในตถาคตอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาที่ให้แล้วในสงฆ์มี ๗ คือ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๑ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๒ ให้ทานในภิกษุสงฆ์นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๓ ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการ ที่ ๔ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์ แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๕ เผดียง สงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๖ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัด ภิกษุณี จำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๗
ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภูมีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมอันทราม คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ ได้เหล่าภิกษุทุศีลนั้น ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิบุคลิกทาน ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้ว (ที่ให้) ในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย
ดูก่อนอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่าง อะไรบ้าง ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายกไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายทายกบางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่าย ปฏิคาหกเป็นอย่างไร ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคา หกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันทราม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่าย ทายกเป็นอย่างไร ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันทราม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แลทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่าย ปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหก ก็ไม่บริสุทธิ์เป็นอย่างไร ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันทราม ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันทรามอย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์
ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคา หกเป็นอย่างไร ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่าย ทายกและฝ่ายปฏิคาหก
ดูก่อนอานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสไวยากรณ์ (ตรัสเป็นร้อยแก้ว) ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ต่อไปอีกว่า
๑.ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผล แห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก
๒. ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรม และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าบริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหก
๓.ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรม และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์
๔. ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตใจเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล
เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่ามีผลไพบูลย์
๕. ผู้ใดปราศจากราคะแล้วได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่น แล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย
/ อธิบายข้อธรรมในทักขิณาวิภังคสูตร
ทักขิณาวิภังคสูตร แปลว่า “พระสูตรว่าด้วยการอธิบายหรือแจก แจงทักษิณาทาน” การให้ทานด้วยความเคารพ เรียกว่า “ทักษิณาทาน” ส่วนการให้ทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วท่านเรียกว่า
“ทักษิณานุปทาน”
คำว่า “ทักษิณ” หมายถึงทิศเบื้องขวาคือทิศใต้ เพราะเมื่อบุคคลยืน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มือขวาของเขาก็อยู่ทางทิศใต้ คือ ทิศทักษิณ (ทักขิณ เป็นบาลี ส่วนทักษิณ เป็นสันสกฤต) มนุษย์ถือว่ามือขวาหรือมือ ด้านทักษิณ เป็นมือที่มีเกียรติ ส่วนมือซ้ายไม่มีเกียรติเท่ามือขวา ฉะนั้น เมื่อจะทำอะไรหรือให้ของแก่ใครหรือแสดงความเคารพใคร มนุษย์จึงนิยมใช้มือขวา นิยมกันอย่างนี้ทุกชาติ ทุกภาษา เช่น เมื่อเขียนหนังสือก็นิยม มือขวา เขียนด้วยมือขวา เมื่อจะจับมือกับใครก็นิยมใช้มือขวา เมื่อให้ของก็นิยมใน เมื่อเดินเวียนพระเจดีย์หรือสถานที่เคารพก็นิยมใช้มือขวาเข้าในสถานที่นั้นๆ เช่น เดินเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็เมื่อขวาเข้าหาพระเจดีย์ จึงเรียกว่า เดินไปทักษิณ เพราะใช้มือขวาแส ความเคารพเมื่อจะหลีกทางให้ผู้ที่ตนเคารพก็นิยมหลีกไปทางมือขวาตนเอง เมื่อจะจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย ก็นิยมใช้เทียนดอกที่อยู่ทาง พระหัตถ์ขวาของพระพุทธรูป
แต่อยู่ทางซ้ายมือของตน และนิยมจุดด้วยมือขวา เพราะมือขวาถือว่าเป็นมือที่มีเกียรติ จึงนิยมใช้ในการแสดงความเคารพ
การให้ทาน ถ้าให้ด้วยความเคารพ ก็นิยมให้ด้วยมือขวา ฉะนั้น ท่านจึงเรียกทานที่ให้ด้วยความเคารพว่า “ทักษิณาทาน” ทักษิณาทานจึง เป็นชื่อของทานที่ให้ด้วยความเคารพ ฉะนั้น พระสูตรนี้จึงเรียกว่า “ทักขิณา
วิภังคสูตร คือ สูตรที่ว่าด้วยการจำแนกทักษิณาทาน”
/ หลักฐานทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา
พระสูตร แปลว่า กฎเกณฑ์ หรือ บรรทัดฐาน หรือสิ่งที่ฟังมา คือ พระสูตรทั้งหมด พระอานนท์ได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าหรือจากพระอรหันต์ ทั้งหลาย จึงชื่อว่าสูตร (สูต : บาลี) พระสูตรเป็นหนึ่งในพระไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม (หรือพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก)
การศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจได้ถูกต้อง นอกจากจะได้จาก ภาคปฏิบัติแล้ว ก็ต้องศึกษาจากอาจารย์ และจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
หลักฐานทางคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท (ไม่รวมคัมภีร์ฝ่าย มหายาน) มีอยู่ ๔ ชั้น คือ
๑. บาลี ได้แก่ พระไตรปิฎก ผู้รวบรวมคือ พระธรรมสังคหกาจารย์ (พระอาจารย์ผู้สังคายนาหรือรวบรวมพระธรรมวินัย ตั้งแต่สังคายนาพระ ธรรมวินัยครั้งที่ ๑-๓ ในชมพูทวีป) ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
๒. อรรถกถา ได้แก่ คำอธิบายบาลี ผู้แต่งเรียกว่า พระอรรถกถาจารย์ เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๑๐
๓. ฎีกา ได้แก่ คำอธิบายอรรถกถา ผู้แต่งเรียกว่า พระฎีกาจารย์ เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๕
๔. อนุฎีกา ได้แก่ คำอธิบายฎีกา ผู้แต่งเรียกว่า พระอนุฎีกาจารย์ เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๒๐
บาลีหรือพระไตรปิฎกถือว่าเป็นหลักฐานอันดับหนึ่ง อรรถกถาเป็นหลักฐานอันดับ ๒ ฎีกาเป็นหลักฐานอันดับอันดับ ๔
นอกจากหลักฐานทั้ง ๔ ระดับนี้แล้ว ก็ยังมีคัมภีร์ปกรณ์วิเศษที่ถือ เป็นเพชรน้ำเอกของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอีก ๓ คัมภีร์ คือ
๑. มิลินทปัญหา เป็นหนังสือถาม-ตอบ ปุจฉา-วิสัชชนา ระหว่างนัก ปรัชญาทั้ง ๒ คือ พระยามิลินทร์ หรือ เฟอร์นันเดอร์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก แห่งแคว้นสาคระ อินเดียภาคเหนือ กับพระนาคเสน พระอรหันต์ผู้แตกฉาน ในพระไตรปิฎก และปฏิสัมภิทา ๔ เกิดขึ้นในพระพุทธศตวรรษที่ห้า
๒. วิสุทธิมรรค เป็นการย่อพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มเหลือ ๓ เล่มว่า ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ผู้แต่งคือ พระพุทธโฆสาจารย์ พระภิกษุชาว อินเดีย ผู้เกิดใกล้พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า รวบรวมหรือแต่ง ในศรีลังกา ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐
๓. อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นการย่อคัมภีร์ทางอภิธรรม ๑๒ เล่ม ให้ เป็นหนังสือเล่มเดียว มี ๙ ปริเฉท หรือ ๙ บท ผู้แต่งคือ พระอนุรุทธาจารย์ พระเถระชาวอินเดียภาคใต้ ซึ่งมีอายุรุ่นเดียวกับพระพุทธโฆสาจารย์ ผู้แต่ง วิสุทธิมรรค
/ อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร
คำอธิบายธรรมะหรือหลักธรรมต่อไปนี้ ผู้เขียนได้ถือเอานัยแห่ง อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร แต่นำมาเฉพาะบางแง่หรือบางประเด็น เฉพาะ ที่ควรทราบ และน่าสนใจเท่านั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดงทักขิณาวิภังคสูตร ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแต่พระน้านาง คือ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระกนิษฐภคินี (น้อง สาว) แห่งพุทธมารดา เพราะเมื่อพระมารดา คือ พระนางสิริมหามายา ทิวงคตแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ทรงเลี้ยงพระพุทธองค์เหมือนอย่าง พระมารดา ตั้งแต่พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๗ วัน
พระนางได้สำเร็จพระโสดาบันเป็นครั้งแรก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จ กรุงกบิลพัสดุในคราวเดียวกันกับที่พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาสำเร็จ พระสกทาคามี ในเมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระพุทธ บิดา ด้วยพระธรรมเทศนาว่า
ธมฺมญฺจเร สุจริตํ น ตํ ทุจฺจริต จเร
ธมฺมจารี สุข เสติ อสมี โลเก ปรมฺหิ จ
แปลว่า พึงประพฤติธรรมให้ถูกต้อง ไม่พึงประพฤติธรรมให้ทุจริต (ให้ผิดหลักธรรม) ผู้ประพฤติธรรมเป็นประจำ ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
การที่ได้ทราบว่าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้สำเร็จพระโสดาบัน ก็เพราะในการเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อทรงถวายผ้าใหม่ 6 ผืน ที่พระนาง ทรงทอเองแด่พระพุทธองค์ ที่วัดนิโครธาราม อันเป็นวัดเพียงวัดเดียวในกรุง กบิลพัสดุ์ที่พระญาติของพระพุทธองค์ทรงสร้างถวาย ก็ด้วยการกราบทูลของพระอานนท์ที่ว่า “พระนางทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหว (เป็นอจลศรัทธา) ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมาย….” อันแสดงให้เห็นว่า “ผู้มีอจุล ศรัทธา ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวก็ตาม มีศีลที่พระอริยะมุ่งหมายก็ตาม” อย่างน้อยผู้นั้นต้องสำเร็จพระโสดาบัน อันเป็นอริยบุคคลขันแรกในพระพุทธศาสนา
ในพระสูตรนี้ อาจจะมีผู้สงสัยถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระ ภาคเจ้าจึงทรงให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถวายผ้าคู่ใหม่ที่พระนางจะถวายแด่พระองค์แก่สงฆ์เสียเล่า ?
ทั้งนี้ก็เพราะเพื่อทรงอนุเคราะห์พระนาง ให้พระนางทรงได้รับส่วน กุศลมากจากการถวายผ้าใหม่คู่นั้นแด่สงฆ์ เนื่องจากสังฆทานมีผลมาก
กว่าปาฏิบุคลิกทาน ถ้าทรงถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้จะมีผลมากก็ เป็นเพียงปาฏิบุคลิกทาน จึงสู้สังฆทานไม่ได้ แต่เมื่อพระนางได้ถวายสงฆ์ (เป็นสังฆทาน) ก็ชื่อว่าพระนางได้บูชาพระพุทธองค์และพระสงฆ์พร้อมกัน ไปในตัวด้วย เพราะสังฆทานครั้งนั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า “ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อ ถวายแล้วจักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์”
ในที่สุด พระนางจึงได้ถวายผ้าใหม่คู่นั้นแด่สงฆ์อันเป็นสังฆทาน ซึ่ง มีผลมากกว่าปาฏิบุคลิกทานทั้งปวง ตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนําไว้
ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิบุคลิกทานว่ามี ๑๔ ประเภท ทรงแสดงสังฆทานว่ามี ๗ ประเภท และทรงแสดงทักขิณาบริสุทธิ์ไว้ ๔ ประเภท โดยทรงแสดงว่า สังฆทานมีผลมากกว่าทานทุกชนิด ดังที ตรัสที่ “ดูก่อนอานนท์ แต่เราไม่กล่าวปาฏิบุคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ ให้แล้วในสงฆ์ โดยปริยายใดๆ เลย”
ทานทุกชนิดย่อมมีผลทั้งสิ้น แม้แต่ทานที่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉานอันมีผล น้อยที่สุดกว่าทานทุกประเภท ก็ยังมีผลถึงร้อยเท่า แม้ทานที่ให้แก่คนทุศีล คือ คนไม่มีศีลเลย ก็ยังมีผลถึงพันเท่า คือ มีผลมากกว่าให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน ถึง ๑๐ เท่า แต่ให้แก่ปุถุชนผู้มีศีลมีผลถึงแสนเท่า คือ มีผลมากกว่าให้แก่ คนทุศีล ๑๐๐ เท่า ถ้าให้แก่ท่านผู้ปราศจากราคะ คือ ผู้ได้ฌานมีผลมาก ถึงแสนโกฏิ ไม่จําต้องพูดถึงทานที่ให้แก่พระอริยบุคคลประเภทต่างๆ เลย
ทานเช่นนั้นมีผลนับไม่ถ้วน เหมือนน้ำในมหาสมุทรจะนับว่าเท่านี้ลิตร เท่านั้นลิตรไม่ได้เลย ฉะนั้น
ในอรรถกถาของพระสูตรนี้ ท่านอธิบายไว้ว่า“ทักขิณาย่อมให้อานิสงส์ (มีผล) ร้อยเท่า” คือ หมายถึงให้อายุร้อยเท่า วรรณะร้อยเท่า สุข ร้อยเท่า พละร้อยเท่า และปฏิภาณร้อยเท่า ทักษิณาทานให้อายุร้อยอัตภาพ ชื่อว่าอายุร้อยเท่า ให้วรรณะ (ผิว พรรณดี) ในร้อยอัตภาพชื่อว่า วรรณะร้อยเท่า ให้สุขในร้อยอัตภาพ ชื่อว่า สุขร้อยเท่า ให้พละในร้อยอัตภาพ ชื่อว่าพละร้อยเท่า ให้ปฏิภาณ คือ ทำความกล้าหาญไม่สะดุ้งกลัวหรือผูกปัญหาและแก้ปัญหาได้คล่องแคล่วในร้อยอัตภาพ ชื่อว่าปฏิภาณร้อยเท่า แม้ทักษิณาทานที่ให้อานิสงส์พันเท่า และแสนโกฏิเท่า เป็นต้น ก็มีความหมายนัยเดียวกันนี้
ส่วนในข้อที่ว่า “ทานที่ให้แก่ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผลให้แจ้ง (คือสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน)” นั้น ท่านขยายความไว้ว่า แม้อุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย อย่างต่ำที่สุด ก็ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่ง โสดาปัตติผล แม้แต่ทานที่ให้แก่อุบาสกผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลนั้น ก็มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้
ส่วนทานที่ให้แก่ผู้มีศีลห้ามีผลมากกว่านั้น ทานที่ให้แก่ผู้ที่มีศีลสิบมีผลมากกว่านั้นอีก ทานที่ให้แก่สามเณรผู้บวชในวันนั้นมีผลมากกว่านั้น ทานที่ให้แก่ผู้อุปสมบทมีผลมากกว่านั้น
ทานที่ให้แก่ผู้อุปสมบท (แก่พระภิกษุ) ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร (คือมีข้อ วัตรปฏิบัติดี) มีผลมากกว่านั้น ทานที่ให้แก่ผู้เจริญวิปัสสนา มีผลมากกว่า นั้น ส่วนทานที่ให้แก่ท่านผู้ทำมัคคสมังคีให้เกิดขึ้น คือ ท่านผู้กำลังจะบรรลุ เป็นพระอริยบุคคล ย่อมมีผลมากกว่านั้น
พระอรรถกถาจารย์อธิบายเรื่องสังฆทานไว้ในอรรถกถาของพระสูตร
นี้ตอนหนึ่งว่า “ก็ทักษิณาทานที่ถวายสงฆ์ (เป็นสังฆทาน) ย่อมมีแก่บุคคล ผู้อาจเพื่อทำความยำเกรง (คือเคารพ) ในสงฆ์ ทำได้ยาก ก็บุคคลใดเตรียม ไทยธรรม (ของถวายทาน) ด้วยคิดว่า เราจักให้ทักษิณาทานแก่สงฆ์จึงไป วัดและเรียน (ต่อสงฆ์) ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอให้ท่านจงให้พระเถระรูป หนึ่ง เจาะจงสงฆ์เถิด (ให้มาในนามสงฆ์เพื่อมารับสังฆทาน) ลำดับนั้นได้ สามเณรจากสงฆ์ (คือสงฆ์ส่งสามเณรมารับสังฆทานในนามสงฆ์) ผู้ถวาย ทานถึงความเป็นประการอื่น (คือเกิดความไม่พอใจขึ้น) ว่า “เราได้สามเณร เสียแล้ว” ทักษิณาทานของผู้นั้นไม่ถึงสงฆ์ (ไม่เป็นสังฆทาน) เมื่อเขาได้พระ มหาเถระ แม้ได้เกิดศรัทธาโสมนัส (ดีใจ) ว่า “เราได้พระมหาเถระแล้ว” ทักษิณาก็ไม่ถึงสงฆ์เหมือนกัน (คือไม่เป็นสังฆทานเช่นกัน)
ส่วนผู้ใดได้สามเณรหรือพระภิกษุ จะเป็นพระหนุ่มหรือเป็นพระเถระ ผู้เป็นพาลหรือบัณฑิต รูปใดรูปหนึ่งแล้ว ไม่สงสัย (ไม่รังเกียจ) ย่อมอาจ เพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ว่า เราจะถวายสงฆ์ทักษิณาทานของผู้นั้นเป็น สังฆทาน”
/ ทักขิณาวิสุทธิ์ ๔ ประการ
ในตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงทักขิณาวิสุทธิ คือ การมีผลมากของทักษิณาทาน ไว้ ๔ ประการ คือ
๑. ทักษิณา บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)
๒. ทักษิณา บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
๓. ทักษิณา ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกทั้งฝ่ายปฏิคาหก
๔. ทักษิณา บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก
ทักษิณาวิสุทธิ์ข้อแรก หมายถึงผู้ให้ทานเป็นผู้บริสุทธิ์ คือ มีศีล มีกัลยาณธรรม เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทานแก่คนทุศีล คือ คนไม่มีศีล ขาดคุณธรรม ตัวอย่างทักษิณาทานเช่นนี้ เช่น พระเวสสันดรทรงบริจาค พระโอรสและพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชก ยังทำให้แผ่นดินไหวได้ เพราะ เจตนาของผู้ให้บริสุทธิ์มาก เนื่องจากมุ่งพระโพธิญาณจึงบริจาคมหาทาน เช่นนั้น
ทักษิณาทานข้อสอง หมายถึงผู้รับทานมีศีล มีคุณธรรม แต่ผู้ให้ทาน ไม่มีศีล เช่น ชาวประมงคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ที่ปากประตูแม่น้ำกัลยาณีในประเทศศรีลังกา ได้ถวายบิณฑบาตแก่พระทีฆโสมเถระถึง ๓ ครั้ง เมื่อ นอนใกล้ตายอยู่บนเตียงได้กล่าวว่า บิณฑบาตที่ข้าพเจ้าได้ถวายแก่พระทีฆโสมเถระ ย่อมยกข้าพเจ้าขึ้นจากบาปกรรมที่ทำไว้
ทักษิณาทานข้อสาม หมายถึง ผู้ให้ทานก็ไม่มีศีลและผู้รับทานก็ไม่มี ศีล ชื่อว่าทักษิณาทานไม่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ท่านยกตัวอย่างในคัมภีร์ อรรถกถาว่า นายพรานคนหนึ่งได้ถวายทักษิณาทานอุทิศผู้ตาย โดยได้ ถวายทานแก่ภิกษุทุศีล (ผู้ไม่มีศีล) รูปหนึ่งถึง ๓ ครั้ง ผลของทานนั้นก็หา ได้ถึงผู้ตายไม่ เพราะปฏิคาหกผู้รับทานไม่มีศีล ในครั้งที่สาม อมนุษย์ (คือ เปรต) เมื่อไม่ได้ผลทานจึงได้ร้องขึ้นว่า
“ผู้ทุศีลปล้นข้าพเจ้า” แต่เมื่อนายพรานนั้นได้ถวายแก่ภิกษุผู้มีศีลรูปหนึ่งซึ่งเดินทางมาถึงเช้า แล้วอุทิศส่วนบุญแก่ผู้ตาย ผลของทักษิณาทานนั้นก็ถึงผู้ตายนั้น
ทักษิณาทานข้อที่สี่ หมายถึงผู้ให้ทานก็มีศีล มีคุณธรรมอันงาม และ ผู้รับทานก็มีศีล มีคุณธรรม ทานเช่นนี้ย่อมมีผลมาก เช่น ทักษิณาทาน ที่ พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระญาติของพระองค์ที่ไปเกิดตกระกำลำบากอยู่เปรตวิสัยเป็นเวลาหลายพุทธันดร เปรตเหล่านั้นก็ได้รับผลแห่งทานนั้นทุกตน และไปเกิดเป็นเทพในเทวโลกสิน
เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนทุกคนพึงใส่ใจข้อความในพระสูตรให้ จะได้ปฏิบัติตนและบำเพ็ญทานได้ถูกต้อง และเมื่อให้มาก ศึกษาให้เข้าใจทานก็ได้ผลมาก สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา
*ตอนที่ ๕*
…เหตุที่คนเกิดมาไม่เหมือนกัน…
ในตอนนี้ จะพูดถึงสาเหตุที่ทำให้บุคคลแตกต่างกัน โดยเฉพาะจะย้ำในข้อที่ว่า ทำไมคนจึงเกิดมาเป็นคนยากจน
ตามหลักพระพุทธศาสนา การที่คนเกิดมายากจนนั้น
มีสาเหตุ ๒ คือ
๑. เมื่อชาติก่อนไม่ทำบุญให้ทาน
๒. ชาติปัจจุบันก็ไม่รู้จักตั้งตัว คือ ไม่มีหลักธรรมใน การตั้งตัว อันได้แก่ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ และตกอยู่ ในอบายมุข
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนบางคนเกิดมาในสกุลยากจน แม้จะทำมาหากินหนักขนาดไหนก็รวยกับเขาไม่ได้ มีแต่ความยากจนข้นแค้น คือ ทำมาหากินไม่ขึ้น ทำราชการก็ไม่ขึ้น มีแต่อุปสรรคขัดขวางอยู่ตลอดเวลา
วันหนึ่งๆ พบแต่อุปสรรคขัดขวาง การที่เป็นเช่นนี้เชื่อแน่เสียเถิดว่า เกิดจากกรรมที่เขาสร้างไว้ ที่เห็นชัดก็คือการเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวเมื่อชาติปางก่อน ข้อนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสยืนยันไว้ในจูฬกัมมวิภังค สูตร” คัมภีร์มัชฌิมนิกาย ถึงเหตุที่บุคคลเกิดมาแตกต่างกัน
/ จูฬกัมมวิภังคสูตร
ในสมัยพุทธกาลมีมาณพผู้หนึ่งซึ่งเป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์ พราหมณ์ผู้นี้ขี้เหนียวมาก ดังที่บางท่านได้ทราบอยู่แล้ว เมื่อตายไปเขาก็ไป เกิดเป็นสุนัขอยู่ในบ้านของตนเอง เพราะเหตุที่ชาติก่อนขี้เหนียวและดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ต่อมาภายหลังบุตรชายของเขาคือสุภมาณพ เมื่อได้รับข้อพิสูจน์ว่า พ่อของตัวเองตายไปเกิดเป็นหมาอยู่ในบ้านจริงๆ ก็รู้สึกสลดใจ และเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า ในเมื่อพบสิ่งที่พ่อฝังไว้ถึง ๔ อย่าง ซึ่งเป็นการ ยืนยันว่า การเวียนว่ายตายเกิดนั้นมีแน่ ที่สลดใจมากก็คือ พ่อของตัวเองแทนที่จะไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลกตามคำทำนายของพวกพราหมณ์ แต่กลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตัวเอง
สุภมาณพ จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม โดยทูลถามว่า ทำไมคนเราจึงเกิดมาแตกต่างกัน คือ ทำไมบางคนอายุสั้น บาง คนอายุยืน บางคนโรคภัยไข้เจ็บมาก บางคนโรคภัยไข้เจ็บน้อย บางคน ยากจน บางคนร่ำรวย บางคนรูปไม่สวย บางคนรูปสวย บางคนเกิดในสกุลต่ำ บางคนเกิดในสกุลสูง บางคนมีศักดิ์ต่ำบางคนมีศักดิ์สูง บางคนโง่ บางคนฉลาด เป็นปัญหา ๗ คู่ ๑๔ ข้อ
เท่าที่สังเกตดูแล้วก็พบว่า คนในโลกเป็นเช่นนี้จริง พระพุทธเจ้าตรัส ตอบสุภมาณพว่า ก็เพราะกรรมจำแนกสัตว์โลกให้แตกต่างกัน โดยตรัส ยืนยันในพระสูตรนี้ว่า “ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน (กมุมสุสกา) เป็นผู้รับผลของกรรม (กลุ่มทายาทา) มีกรรมเป็นกำเนิด (กมฺมโยนี) มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ (กมฺมพนฺธู) มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย (กมมฺปฏิสรณา) แล้วตรัสต่อไปว่า “กมุมํ สตฺเตวิภชติ ยทิทํ หินปฺณีตตาย กรรมย่อมจำแนก
สัตว์โลกให้แตกต่างกัน คือ ให้เลวทรามและประณีต”
พระพุทธองค์ได้ตรัสชี้แจงถึงปัญหา ๑๔ ข้อ ๗ คู่ ที่สุภมาณพได้ทูลถาม โดยตรัสว่า
“คนที่เกิดมาอายุสั้นเพราะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คนเกิดมาอายุยืนเพราะ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (ข้อความในพระสูตรนี้ค่อนข้างยาว แต่ในที่นี้ขอเอาแต่ ใจความเท่านั้น)
คนที่เกิดมาโรคภัยไข้เจ็บมาก เพราะเบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่นให้ลำบาก เดือดร้อน แต่คนเกิดมาโรคภัยไข้เจ็บน้อย เพราะไม่เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น
คนบางคนยากจน เพราะเมื่อชาติปางก่อน เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวไม่รู้จักบริจาคทาน ส่วนคนที่เกิดมาร่ำรวยก็เพราะว่าไม่ตระหนี่ถี่เหนียว รู้จักบริจาคทาน
คนที่เกิดมารูปไม่สวยเพราะเป็นคนขี้โกรธ เกิดมาในรูปสวยเพราะเป็นคนไม่ขี้โกรธ มีเมตตาต่อผู้อื่นสัตว์อื่น
คนที่เกิดมาในสกุลต่ำ เพราะเป็นผู้ไม่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ เกิดมาในสกุลสูง เพราะเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
คนที่เกิดมาไม่มียศศักดิ์ มีศักดิ์ต่ำ มักจะเป็นคนงาน หรือคนศักดิ์ต่ำ เพราะเป็นคนริษยาผู้อื่นเมื่อเขาได้ดี คนที่เกิดมาเป็นคนมีศักดิ์สูง เป็นใหญ่ เป็นโต เพราะไม่ริษยาผู้อื่นเมื่อเขาได้ดี
คนเกิดมาโง่เขลา เพราะไม่เข้าไปไต่ถามสมณพราหมณ์ ถามถึง บาปบุญคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ส่วนคนที่เกิดมาฉลาด เพราะ เข้าไปไต่ถามสมณพราหมณ์ถึงบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์”
สุภมาณพเมื่อฟังพระสูตรนี้จบลง ก็ได้ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
เรื่องนี้เป็นการชี้ให้เห็นตามกฎแห่งกรรมว่า คนที่เกิดมายากจนส่วนหนึ่งเกิดจากความขี้เหนียว บางคนมักเข้าใจผิดว่า ถ้าหากขี้เหนียวจะ ร่ำรวย ถ้ารู้จักประหยัดจึงจะรวย แท้ที่จริง คนขี้เหนียวนั้นก่อให้เกิดความ ทุกข์แก่ตัวเองและครอบครัว และชาติต่อไปก็ยากจน ข้อนี้มีเรื่องที่เป็น ตัวอย่างชัดเจนมาก และฟังแล้วก็น่าเศร้าและน่าตกใจ คือ เรื่องของอานนท์ เศรษฐี เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ภาคที่ ๓
/ อานนท์เศรษฐี
กล่าวกันว่า ในสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ไม่ไกลจากภูเขาหิมาลัยมากนัก สาวัตถีเป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของแคว้นโกศล สมัยนั้น ณ เมืองสาวัตถี นั้น มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่งร่ำรวยมาก มีทรัพย์อยู่ถึง ๔๐ โกฏิกหาปนะ โกฏิ หนึ่งก็ ๑๐ ล้าน ๘๐ โกฏิก็เท่ากับ ๔๐๐ ล้าน กหาปนะหนึ่งเท่ากับ บาท เอา ๔ คูณ ๙๐๐ เข้าไปก็เท่ากับ ๓๒๐๐ ล้าน” (เงินบาทของยุคนั้น) ทรัพย์สมบัติทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวเงินหรือทองแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมหมดทั้งทรัพย์สินสมบัติเรือกสวนไร่นา ทั้งหมดรวมแล้วมีค่า ๔๐ โกฏิ นับว่ารวยมาก
แม้เศรษฐีนี้จะรวยมาก แต่ก็เป็นคนขี้เหนียว ขั้นมหามัจฉรีจอมขี้เหนียว คือ ขี้เหนียวเอามากๆ ไม่ยอมให้อะไรแก่ใครเลย เขาประชุมญาติของตน เดือนละ ๒ ครั้ง พูดเรื่องการสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเองและครอบครัวเช่น สอนลูกของตนชื่อมูลสิริว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าสำคัญว่าเงิน ๔๐ โกฏิ (ไม่ทราบว่าทำไมพูด ๔๐ โกฏิ ที่จริงเขามีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ อีก ๔๐ โกฏิ อาจจะเป็นเรือกสวนไร่นาก็ได้) เงินนี้มันหมดได้ เจ้าจงอย่าให้ทรัพย์นี้แก่ ใครๆ เลย แต่เจ้าจงให้ทรัพย์มันเพิ่มขึ้น เพราะถ้าเราให้ใครไปทีละกหาปณะ สองกหาปณะ (ถ้าเป็นไทยก็ว่าที่ละบาทสองบาท) ในที่สุดทรัพย์ก็หมดได้ เพราะว่าคนที่เขาครองเรือนที่เขาฉลาดนั้น เขาดูตัวอย่างธรรมชาติ”
การสอนเช่นนี้ เป็นลักษณะชาวอินเดียที่สอนโดยทั่วไปในสมัยนั้น โดยกล่าวเป็นคาถาว่า
อญฺชนาน ขยํ ทิสวา อุปจิกานญฺจ อาจยํ
มธูนญฺจ สมาหาร ปณฺฑิโต ฆรมาวเส.
แปลว่า คนที่ฉลาดเห็นความสิ้นไปของยาหยอดตา เห็นการก่อตัวขึ้นของปลวกทั้งหลาย
และเห็นการประมวลมาของตัวผึ้งทั้งหลาย พึงอยู่ครองเรือนได้
การสอนแบบนี้ท่านเศรษฐีสอนทุกวัน โดยพูดเรื่องนี้แหละว่า “จงดูตัวอย่างยาหยอดตานะลูกได้ ถ้าหากว่าหยอดไปทีละหยดสองหยดในที่สุดก็หมดได้ เงินก็เหมือนกัน เมื่อจ่ายที่ละบาทสองบาท ที่ละกากนกสองกากนัก
ก็หมดได้ เพราะฉะนั้น เจ้าจงดูตัวอย่างยาหยอดตานะลูก อีกอย่างหนึ่ง จงดูตัวอย่างจอมปลวกซิลูก ปลวกนั้นมันนำดินมาด้วยจะงอยปากของมัน ทีละนิดๆ ในที่สุดก็ก่อเป็นจอมปลวกใหญ่ขึ้น เจ้าก็เหมือนกัน จงสร้างตัวให้รวยให้ได้เหมือนอย่างตัวปลวกสร้างรังของมัน ดูตัวอย่างปลวกมันซิ อีก อย่างหนึ่ง ให้เจ้าจงดูตัวอย่างผึ้งซิลูก ตัวผึ้งมันนำน้ำหวานมาจากเกสร ดอกไม้มาทีละนิดๆ มาทำเป็นรังผึ้งใหญ่โตให้ลูกของมันได้อยู่กิน นี้แหละ เจ้าจงดูตัวอย่างมัน”
อานนท์เศรษฐีสอนลูกอย่างนี้วันละ ๓ ครั้ง ลูกก็คงเบื่อน่าดูเพราะ แต่เรื่องเช่นนี้ แต่ลูกก็จำเป็นต้องฟัง เพราะพ่อสอนด้วยความหวังดีใน การสร้างตัว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าลูกของอานนท์เศรษฐีจะขี้เหนียวเหมือนพ่อ ภายหลังอานนท์เศรษฐีก็ตายไป แต่ก่อนตายนั้น เขาไม่ได้สั่งสมบุญอะไรไว้ เลย จึงได้ไปเกิดในสกุลจัณฑาล”
กล่าวกันว่า ณ ประตูเมืองด้านหนึ่งของกรุงสาวัตถีนั้น มีหมู่บ้านคน จัณฑาลอาศัยอยู่ประมาณหนึ่งพันครอบครัว เป็นแหล่งสลัมซึ่งอยู่ทาง ประตูเมืองด้านนั้น พวกคนจัณฑาลทำงานรับจ้าง อานนท์เศรษฐีไปถือ กำเนิดในครรภ์หญิงจัณฑาลคนหนึ่ง ในสกุลของคนจัณฑาลที่ประตูเมือง สาวัตถีนี้เอง นับตั้งแต่เขาเริ่มอยู่ในท้องแม่
พวกคนจัณฑาลนั้นก็ยิ่งจน เข้าไปอีก ไม่ใช่แต่พ่อแม่ของเขาจนอย่างเดียว แต่จนหมดเลยทั้งหมู่บ้าน หมู่บ้านก็ใหญ่ มีถึงพันครอบครัวก็นับว่ามาก เป็นอยู่อย่างอัตคัด หางานก็ ไม่ค่อยได้ ไปหางานที่ไหนก็ไม่ได้ ไปขออะไรก็ไม่ค่อยได้
พากันลำบากมาก พวกคนจัณฑาลจึงปรึกษากันว่า คงมีคนกาลกิณีมาเกิดในตระกูลของพวกเราแน่แล้ว เพราะว่ามันเกิดยากจนข้นแค้นขึ้นมากเหลือเกิน
คนอินเดียโบราณเขาคิดอย่างนั้น คนไทยเราบางคนก็คิดแบบนี้ เหมือนกัน คือ ถ้าหากลูกคนไหนเกิดมาแล้ว พ่อแม่ร่ำรวย ถูกลอตเตอรี่ มี อะไรดีขึ้น ก็ถือว่าลูกคนนี้ดี ลูกนำโชคมาให้ มีจริงในบางสกุล ผู้เขียนก็เคย เห็นมาด้วยตัวเอง เพราะว่าพอเด็กคนนี้เกิดมา พ่อแม่ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นหนี้ เขา ก็หายเป็นหนี้ แล้วก็ร่ำรวยขึ้น เด็กคนนี้เป็นเด็กผู้หญิง และเป็นเด็กใน กรุงเทพฯ พ่อแม่เขารวยขึ้น ไม่ถึงกับรวยมาก แต่ก็ดีขึ้นเพราะเด็กผู้มีบุญ มาเกิด ตอนนี้อายุก็คงราว ๗ ขวบ (พ.ศ. ๒๕๓๓) ผู้เขียนคุ้นเคยกับพ่อของ เธอ และพ่อแม่เธอก็ร่ำรวยขึ้น ดีขึ้น จากฐานะที่ลำบาก หญิงชราคนหนึ่ง เมื่อดูเด็กคนนี้แล้วก็ท่านายว่าเธอเป็นเด็กผู้มีบุญมาเกิด อันนี้ในฐานะที่เกิดมามีบุญ คนไทยชอบพูด แต่ว่าผู้ที่เกิดมาแล้วครอบครัวพากันเดือดร้อนเขา ไม่ค่อยพูดกัน แท้ที่จริง บางคนนั้นพอเกิดขึ้นมาแล้ว พ่อแม่ลำบากมาก ก็เป็นกรรมของคนนั้น อย่างอานนท์เศรษฐีที่ไปเกิดใหม่เป็นตัวอย่าง แม้เพียง แม่ตั้งท้องเท่านั้น ก็ลำบากกันหมดแล้วทั้งตระกูลจัณฑาล
ดังนั้น พวกคนจัณฑาลในแหล่งสลัมแห่งนั้น จึงพิจารณากันว่า คงมีคนกาลกิณีมาเกิดบ้างในตระกูลของพวกเรานี้ก็ได้ เพราะทราบว่ามีหญิง คนหนึ่งตั้งท้องขึ้น คงเป็นเด็กคนนี้แน่ เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงไปบอกหญิง คนนั้นว่า เจ้าจงออกไปจากหมู่บ้านนี้ อย่าอยู่เลย เพราะถ้าเจ้าอยู่แล้วพวก เราก็หากินไม่ได้ ทำงานจ้างก็ไม่ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นก็แปลก พอหญิงซึ่งเป็นแม่ของเด็กที่จะเกิดใหม่นี้จากไป พวกคนจัณฑาลเหล่านั้นก็หางานทำได้ พอเลี้ยงชีพได้ แม่และพ่อของเขาก็ต้องออกจากตระกูลจัณฑาลนั้น ไป เพราะพวกจัณฑาลทั้งหลายไม่ให้อยู่
ขณะที่ลูกอยู่ในท้องนั้น พ่อแม่หากินลำบาก วันหนึ่งๆ ลำบากเหลือ เกิน ได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง บางทีข้าวสักก้อนหนึ่งไปขอเขาก็ไม่ได้ มี ความยากลำบาก แต่พอคลอดลูกออกมา ลูกก็เป็นเด็กน่าเกลียด น่า เกลียดเอามากๆ ทีเดียว ตามข้อความในคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า เท้าทั้ง ๒ ข้าง ปาก จมูก ทั้ง ๒ หู ทั้ง ๒ ตา ทั้ง ๒ ของเด็กคนนี้ไม่ได้ตั้ง ไม่ได้ตั้งอยู่ เหมือนเด็กทั่วๆ ไป ปากแทนที่จะตั้งอยู่ตรงๆ ก็เบี้ยวไปอยู่อีกข้างหนึ่ง จมูก แทนที่จะตั้งอยู่โดยปกติ ก็กลับเบี้ยวไม่อยู่ปกติเหมือนคนทั้งหลาย ตาก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เด็กคนนี้หน้าตาน่าเกลียดมาก เหมือนกับปีศาจคลุกฝุ่น พอเกิดขึ้นมาแล้วแม่ยิ่งลำบากเพิ่มขึ้น หากินด้วย ความยากลำบาก ธรรมดาว่าแม่แล้วถึงลูกจะน่าเกลียดขนาดไหน แม่ก็ไม่ เคยทอดทิ้งลูก แม่ยังรักลูก ลูกจะน่าเกลียดอย่างไรก็ตาม เขาถูกไล่เพราะ ลูกคนนี้ แต่แม่ก็ยังรักลูก นี่คือลักษณะของแม่ทั่วไป
พอโตขึ้นมาได้หน่อย แม่ก็บอกว่า พ่อและแม่นี่ลำบากเพราะเจ้ามา มากแล้ว เจ้าพอไปขอทานได้ก็ออกไปเถิด ไปหากินเอาเอง แม่ไม่อาจจะ เลี้ยงเจ้าได้ ในเมืองนี้เขาบริจาคอาหารสำหรับคนกำพร้าและคนเดินทางเจ้าเข้าไปขอที่นั่นเถิด
พอลูกจากไปพ่อแม่ก็หางานทำได้ มีอะไรพอประทังชีวิตดีขึ้น เด็ก คนนี้ก็เร่ร่อนไปขอทานเขากิน วันหนึ่งได้เดินไปยังบ้านของตัวเองในชาติก่อน เกิดระลึกชาติได้ว่านี่คือบ้านของตัวเองในชาติก่อน จึงเข้าไปในบ้าน ของมูลสิริเศรษฐี ซึ่งเคยเป็นบุตรของตน พอเข้าไปในบ้าน เด็กในบ้านซึ่ง เป็นลูกของมูลสิริเศรษฐี ซึ่งเป็นหลานของตัวเองเห็นเข้าก็ตกใจ พากัน ร้องไห้ดังลั่น เพราะว่าหน้าตาเหมือนผี น่าเกลียดน่ากลัวมาก คนใช้ในบ้าน เห็นเข้าก็พากันรุมทุบตี แล้วก็จับไปโยนในกองขยะ
วันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตไปถึงที่นั่น มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ คือ เดินตามเสด็จ พระพุทธเจ้าก็ทรงเหลียวไปดูพระ อานนท์ พระอานนท์เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าทรงเหลียวไปดูก็ทูลถามว่า “อะไร พระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เด็กคนนี้คืออานนท์เศรษฐี”
จากนั้น พระอานนท์ก็ให้เรียกมูลสิริมาเฝ้าพระพุทธเจ้า มหาชนทราบข่าวนั้นก็มาประชุมกันเพื่อรู้ความเป็นไป
เมื่อมูลสิริเศรษฐีเข้ามาเฝ้าแล้ว พระศาสดาจึงตรัสถามว่า “รู้จักเด็ก คนนี้ไหม” มูลสิริเศรษฐีก็ทูลตอบว่า “ไม่รู้จัก”
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เด็กคนนี้คืออานนท์เศรษฐี ผู้เป็นบิดาของ ท่านที่มาเกิด” แล้วพระศาสดาจึงตรัสกับเด็กคนนั้นว่า “ดูก่อนอานนท์ เศรษฐี เจ้าจงบอกขุมทรัพย์ ๕ แห่ง ที่ฝังไว้แก่บุตรของเจ้า”
เมื่อเด็กคนนั้นคืออานนท์เศรษฐี ซึ่งกลับชาติมาเกิด สามารถระลึกชาติ ได้โดยบอกถึงขุมทรัพย์ ๕ แห่ง ที่ฝังไว้อย่างถูกต้อง จึงทำให้มูลสิริเศรษฐี เชื่อสนิท แล้วประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา โดยยึดเอาพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง แต่ไม่ปรากฏว่าเขาได้บรรลุมรรคผลอันใดบ้าง แต่ว่าได้ถึงพระ รัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เช่นเดียวกับสุภมาณพซึ่งเป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์ แต่โตเทยยพราหมณ์นั้นกลับมาเกิดเป็นสุนัข มันแรงกว่า แต่อานนท์เศรษฐี นี้แม้จะเกิดเป็นคนก็ลำบาก เดือดร้อนยิ่งกว่าสุนัขที่เขาเลี้ยงอย่างดีตั้ง หลายเท่า เพราะหน้าตาก็น่าเกลียดมาก เวลาเดินทางไปไหนๆ ก็ถูกทุบตี ทั้งเกิดมาก็แสนจะลำบากยากจน เพราะอะไร? เพราะเมื่อชาติปางก่อน เป็นคนขี้เหนียว อีกทั้งไม่สั่งสมบุญอะไรไว้
พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงอานนท์เศรษฐี จึงตรัสว่า คนโง่สำคัญว่า ตนมีบุตร มีทรัพย์ แท้ที่จริง มีทรัพย์ก็เหมือนไม่มี มีบุตรก็เหมือนไม่มี เพราะทรัพย์และบุตรจะช่วยอะไรได้ หมายความว่า คนโง่เป็นอันมากได้ยึดเอาทรัพย์สมบัติ และยึดเอาบุตรธิดาว่าเป็นของของเราโดยเข้าใจว่าจะช่วย เหลือตัวเองได้ แต่เมื่อตัวเองไม่ได้ทำความดี บุตรจะช่วยอะไรได้ เมื่อความ ตายมาถึงเข้า ทรัพย์จะช่วยอะไรได้ ก็ต้องทิ้งไว้ทั้งหมด ไม่มีอะไรที่เป็นของ ตนได้เลย มัวแต่ถนอมบุตรและทรัพย์สมบัติ ในที่สุดก็ช่วยตัวเองไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างที่พึ่งให้แก่ตนเอง ถ้าตนไม่สร้างที่พึ่งให้ แก่ตนเองแล้ว ใครจะมาช่วยได้ ญาติพี่น้องก็ช่วยไม่ได้ บุตรหลานก็ช่วยไม่ ได้ ทรัพย์ก็ช่วยไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องทิ้งไว้หมด ไม่มีอะไรที่จะนำติดตัวไปได้เลย
ดังนั้น ท่านจึงสอนให้พิจารณาความจริงของชีวิตในข้อนี้ว่า เราต้อง ทิ้งทุกสิ่งไปหมด แล้วตายจากโลกนี้ไป จึงควรสั่งสมบุญ บริจาคทาน เป็นต้น อย่าขี้เหนียว ถ้าขี้เหนียวแล้ว ในที่สุดก็นำอะไรไปไม่ได้ ตัวเองก็ไม่ได้ใช้
บางคนมีทรัพย์สมบัติมากนับเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่ลูกหลาน ไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง
ไม่เป็นประโยชน์แก่เพื่อน ร่วมชาติเลย ท่านกล่าวว่า ทรัพย์สมบัติของคนเช่นนี้ เปรียบเสมือนน้ำในมหาสมุทร
แม้จะมีมากแต่ก็ไม่มีประโยชน์ สำหรับสัตว์บกหรือบุคคลที่จะ ดื่มกินได้เลย เพราะเป็นน้ำเค็ม
เรื่องประเภทนี้มีมากในสมัยพระพุทธกาล เพราะฉะนั้น คนที่ฉลาด แม้แต่ได้เห็นเด็กขอทาน เขาจะเตือนตนขึ้นมาทันทีว่าเราไม่ควรประมาทใน ชีวิต แม้แต่เราเดินไปที่ไหนเห็นคนขอทาน เขาอาจจะร้องว่า “โปรดช่วย เหลือคนยากจนเจ้าข้า” หรือพูดอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อขอทาน ก็เตือนตัวเองได้เลยว่า ต่อไปเราอย่าได้เกิดมาเป็นคนขอทานเลย ที่เขาเกิดมาเป็นคน ขอทานก็เพราะขี้เหนียว ไม่ให้ทาน เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องรู้จักในการ บริจาคทาน มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ ต่อท่านผู้มีพระคุณ แล้ว ตั้งใจสั่งสมบุญไว้ แต่ว่าให้รู้จักทำดังกล่าวมาแล้ว
การให้ทานเป็นเหตุให้พ้นจากความยากจนได้ เมื่อบุญนั้นให้ผลขึ้นมา มีเรื่องปรากฏว่า ผลของการให้ทานนั้นทำให้บุคคลพบที่พึ่งแก่ตนเองได้มาก ทั้งผลของทานนั้นยังสามารถให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วย
เพราะฉะนั้น คนไทยโบราณเมื่อใส่บาตรก็ตาม หรือเมื่อทำบุญอย่าง ใดอย่างหนึ่งก็ตาม มักจะอธิษฐานว่า “อิทํ เม ทานํ อาสวกขยาวหํ โหตุ ขอ ให้ทานนี้ของข้าพเจ้า จงเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ” หรือเติมเข้ามาอีกหนึ่ง ประโยคว่า “อนาคเต กาเล นิพพานปจฺจโย โหตุ ขอจงเป็นปัจจัยเพื่อบรรลุ มรรคผลนิพพานในอนาคตกาลนั้นเถิด”
ทั้งนี้ก็เพราะว่า การให้ทานสามารถส่งผลอย่างสูงให้บรรลุนิพพานได้ดังเช่นพระพุทธเจ้าของเราซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้ทรงบำเพ็ญ ทานเป็นอันมาก เพื่อปรารถนาพระโพธิญาณ คือการสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทานนี้เป็นบารมีข้อหนึ่งที่ทำให้พระองค์สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ในที่สุด ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์คือยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็จะพบความสุข ความเจริญอันเกิดจากผลของทาน ทั้งในปัจจุบันและในชาติต่อๆ ไป
*ตอนที่ ๖*
…การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า…
ในตอนนี้ จะพูดถึงการให้ทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยเป็นโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นการสร้างบารมีเพื่อมุ่ง สัมมาสัมโพธิญาณพระพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงบำเพ็ญบารมีมานานแสน นาน นับตั้งแต่พระองค์ได้รับคำพยากรณ์ จากพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งใน อนาคต ในสมัยที่พระองค์เป็นสุเมธดาบส จนถึงการได้ตรัสรู้ ๔ ใช้เวลาบำเพ็ญถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป ก็นับว่านานมากที่ พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมา
การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้านั้น ทรงบำเพ็ญได้ ครบ ๑๐ ประการ บุญหรือบารมีนี่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งหนุนให้ พระองค์ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า แม้พวกเราก็เหมือนกัน ถ้า มุ่งจะบรรลุมรรคผล มุ่งสิ้นกิเลส หรือแม้จะมุ่งประสบความสำเร็จสิ่งที่เราต้องการ ก็ต้องบำเพ็ญบุญบารมี หากปราศจากบุญบารมี เสียแล้ว สิ่งที่ปรารถนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะสิ่งที่น่าปรารถนาอย่างสูงสุด นั้น ต้องผ่านบุญบารมีทั้งสิ้น
บุญที่ได้ทำไว้มากๆ ในที่สุดก็เกิดมาเป็นบารมีขึ้น แม้คนที่ทำอะไร ประสบความสำเร็จ เขาก็เรียกว่าคนมีบารมี อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวของเรา พระองค์ทรงสร้างบุญไว้มาก จึงทำให้พระองค์มีพระบารมี มาก ทรงสามารถช่วยพระองค์เอง พสกนิกร และประเทศชาติให้อยู่รอด ปลอดภัยได้ เพราะพระองค์มีพระบารมีมากนั่นเอง
/ บารมี ๑๐ ประการ
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ คือ
๑.ทาน การให้
๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. เนกขัมมะ การออกบวช
๔. ปัญญา ความรอบรู้
๕. วิริยะ ความเพียร
๖. ขันติ ความอดทน
๓. สัจจะ ความจริงใจ
๔. อธิษฐาน ความตั้งใจมัน
๙. เมตตา ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีความสุข
๑๐. อุเบกขา ความวางเฉย
ในคัมภีร์ชาดกกล่าวถึงพระชาติต่างๆ ของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญ เท่าที่รวบรวมไว้ในบัญชีชาดกพบว่า มีพระชาติที่พระองค์ทรง บำเพ็ญบารมีในพระชาติต่างๆ ถึง ๕๔๗ ชาติ คือมีชาดก ๕๔๗ เรื่อง อัน ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ และ ๒๘ มหาชาติหรือชาดกทั้ง ๑๐ เรื่องที่ปรากฏอยู่ในมหานิบาตชาดก ใน พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ นั้น ถือว่าเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงบำเพ็ญ บารมีทั้งหมด ๑๐ ประการ แต่ว่าบารมีทั้ง ประการ แต่ว่าบารมีทั้ง ๑๐ นั้นมีความแรงไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันในแต่ละชาติ
อันบารมีนั้น ถ้าหากบำเพ็ญธรรมดาก็เป็น บารมีธรรมดา ถ้าหากว่า บำเพ็ญสูงขึ้นจนถึงยอมสละเสียอวัยวะไปบางส่วนก็เป็น อุปบารมี แต่หาก บำเพ็ญสูงยิ่งยวดจนถึงชีวิตก็สละได้ก็จัดเป็น ปรมัตถบารมี เช่น เรื่องทาน ถ้าให้วัตถุสิ่งของหรือให้สิ่งที่เรามีอยู่แก่ผู้อื่น อย่างนี้เป็นทานบารมีธรรมดา แต่ว่าหากให้อวัยวะ เช่นให้ดวงตา ให้ไต เป็นต้น แต่ไม่ใช่ให้เมื่อตายแล้ว ให้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ การให้อวัยวะเหล่านี้แก่ผู้อื่นเป็นทานอุปบารมี คนที่ให้ดวงตา ให้แขนขาหรือให้อวัยวะอย่างอื่นเมื่อตายแล้ว ก็ถือว่าเป็นทางธรรมดา เพราะให้เมื่อตายแล้ว ส่วนการให้ชีวิต คือ ชีวิตนี้ก็สละให้ได้ จัดเป็นทานปรมัตถบารมี
ในสสบัณฑิตจริยาแห่งคัมภีร์จริยาปิฎกกล่าวไว้ว่า ในสมัยที่พระพุ เจ้าทรงเสวยพระชาติเป็นกระต่ายได้โดดเข้ากองไฟ เพื่อให้เนื้อเป็นทาง พระอินทร์ที่แปลงเป็นพราหมณ์มาขออาหาร นั้นเป็นการบําเพ็ญปรบารมีอันเป็นบารมีชั้นสูง คือ ใครก็ตามที่สร้างความดี ถ้าถึงกับสละบารมีธรรมดานั้นมี ๑๐ แต่ถ้าบำเพ็ญจนต้องเสียอวัยวะก็เสียสละได้ จัดเป็นอุปบารมี แต่ถ้าแม้บำเพ็ญถึงเสียสละชีวิตได้ จัดเป็นปรมัตถบารมี
ฉะนั้น บารมีธรรมดา ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ จึงรวมบารมีทั้งหมด ๓๐ ทัศ
พระพุทธเจ้าของเราบำเพ็ญบารมีอย่างนี้ตลอดมาจนถึงเป็นพระ พุทธเจ้าได้ ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมี โดยไม่ทรงปรารถนา สัมมาสัมโพธิญาณ คือไม่ทรงอธิษฐาน เช่น บำเพ็ญบารมีแล้วไม่อธิษฐาน ว่าเพื่อสำเร็จเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลก็ไม่เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลเพื่อ เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะไม่ทรงอธิษฐาน เพราะฉะนั้น การทำบุญ เพื่อต้องการให้ถูกเป้าจริงๆ ก็ต้องอธิษฐานอย่างพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญ ทานเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ หรือจะทำบุญอะไรก็ตาม แต่มุ่งไปเพื่อสัมมา สัมโพธิญาณทั้งสิ้น ไม่ใช่เพื่อลาภยศ สักการะ ชื่อเสียงใดๆ แต่เพื่อสัมมา สัมโพธิญาณ
/ พระเจ้า ๑๐ ชาติ
บารมี ๑๐ ที่พระองค์บำเพ็ญหนักในพระชาติสำคัญ ๑๐ ชาติ คือ
๑. บำเพ็ญทานบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร
๒. บำเพ็ญศีลบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น ภูริทัตตนาคราช
แม้หมองูจะจับไปทรมานก็ไม่ยอมทำให้ศีลของตัวเสีย ทั้งๆ ที่สามารถจะทำลายหมองูนั้นได้ ก็ไม่ยอมทำลายเพราะกลัวศีลจะขาด
๓. บำเพ็ญเนกขัมมบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น พระเตมีย์
๔. บำเพ็ญปัญญาบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น มโหสถบัณฑิต
๕. บำเพ็ญวิริยบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น พระมหาชนก แม้เรือแตก ตนตกอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ทรงแหวกว่ายอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ก็ยังไม่ทรงยอมละความเพียร
๖. บำเพ็ญขันติบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น พระจันทกุมาร แม้จะถูกนำไปเพื่อประหารชีวิต พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญขันติอย่างมั่นคง
๗. บำเพ็ญสัจจบารมี เมื่อพระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็น พระวิทูร บัณฑิต แม้จะถูกปุณณกยักษ์นำไปประหารชีวิตหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังรักษาสัจจะไว้ได้ ไม่ยอมให้เสียสัจจะที่พระเจ้าแผ่นดินของตนได้ทรง
ทำเอาไว้กับปุณณกยักษ์
๘.บำเพ็ญอธิษฐานบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าเนมิ ราช พระเจ้าเนมิราชนี้ได้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีไว้ว่าจะออกผนวช ก็ต้องทรงออกผนวชจริงๆ
๙. บำเพ็ญเมตตาบารมี เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น สุวรรณสามดาบส
๑๐. บำเพ็ญอุเบกขาบารมี เมื่อพระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็น พรหมนารทะ
การสร้างบารมีเหล่านี้ก็คือการสั่งสมบุญนั่นเอง บุญที่สั่งสมขึ้นมา ท่านเรียกว่าสร้างบารมี คำว่า “บารมี” แปลว่า “ให้ถึงฝั่ง” ปาระ แปลว่า ฝั่งโน้น คือพระนิพพาน ไม่ใช่โอรัง ฝั่งนี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด คำว่า“บารมี” จากคำบาลีว่า “ปารมี” แปลว่า ให้ถึงความสำเร็จ คือสำเร็จสิ่งที่ ต้องการ เพราะมีบารมี แต่ถ้าแปลให้เข้าใจง่ายที่สุดก็แปลว่า “ให้ถึงฝั่ง” ฝั่งอะไร ฝั่งคือพระนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีมากจึงเข้าสู่ฝั่ง คือ พระนิพพาน
/ การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร
การบำเพ็ญความดีของเราก็ย่อมได้รับผลที่เรามุ่งหมาย ตามที่เรา ปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีสูงสุด ในการบำเพ็ญทานบารมีนั้น พระองค์บำเพ็ญมากในหลายพระชาติ แต่พระชาติที่ยิ่งใหญ่คือ ในสมัยที่
พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นพระชาติสุดท้ายในการสร้างบารมี เพราะหลังพระชาติเวสสันดรนี้แล้ว พระองค์ก็จุติจากโลกมนุษย์นี้ไปทรงอุบัติอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตเป็นเวลานาน แล้วจึงลงมาทรง อุบัติในโลกนี้ แสดงว่า การบำเพ็ญทานบารมีนั้น มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย บารมีข้ออื่นพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญเช่นกัน เช่น ศีลบารมี เนกขัมมบารมี และ ขันติบารมี เป็นต้น เช่น ทรงออกผนวชเหมือนกันในสมัยเป็นพระเวสสันดรบารมีข้ออื่นๆ ก็มีทุกข้อในแต่ละพระชาติ แต่ที่เด่นที่สุด ในสมัยที่เป็นพระ เวสสันดร พระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมี ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาแล้ว เช่น ทรงบริจาคทานจำนวนมากแก่คนยากจนและแก่คนทั่วไป ถ้าได้บริจาคทาน
ก็ทรงรู้สึกปลื้มพระทัย เพราะมุ่งบริจาคเพื่อมุ่งสัมมาสัมโพธิญาณ
แต่การบริจาคทานของพระองค์ครั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อทรงมอบช้าง ปัจจัยนาคแก่พวกพราหมณ์ชาวกาลิงครัฐ ทำให้ชาวเมืองสีพี่โกรธมาก จึงยกขบวนเข้าเฝ้าพระราชบิดา คือ พระเจ้าสญชัยซึ่งครองแคว้นสีพีใน
สมัยนั้น พระเจ้าสญชัยก็ทรงเห็นว่า พระเวสสันดรทรงทำผิดที่มอบช้างนี้ให้เขา ไป ทำให้ชาวเมืองโกรธ เพราะว่าช้างนี้เป็นช้างมงคล ทำให้เกิดเป็นสิริ มงคลแก่บ้านเมือง เช่น ทำให้ฝนตกทั่วไปในแคว้น เขาเชื่อถือกันอย่างนั้น
ในที่สุด พระเวสสันดรก็ถูกเนรเทศให้ไปอยู่เขาวงกต ในเทือกเขา หิมาลัย แท้จริงในครั้งนั้น พระองค์ต้องการจะเสด็จไปเพียงพระองค์เดียว แต่พระนางมัทรีก็ตามเสด็จไปด้วย เมื่อพระนางมัทรีตามเสด็จไปก็ต้องพา พระโอรสพระธิดา คือ พระชาลีและพระกัณหาเสด็จไปด้วย ขณะที่ทรงนั่ง รถม้าไปยังป่าหิมพานต์ พวกพราหมณ์ก็มาทูลขอรถม้าไปเสียอีก และเมื่อ ประทับอยู่เขาวงกต ตาชูชกก็ไปทูลขอสองกุมารเสียอีก แล้วก็เฆี่ยนตีอย่าง ทารุณ กว่าจะออกจากป่ามาได้ จนทำให้พระองค์ทรงพิโรธ เหมือนกับจะ ทรงฆ่าตาชูชกนั้นเสีย เพราะว่าเพี้ยนพระโอรสพระธิดาต่อหน้าพระพักตร์ แต่ทรงอดกลั้นไว้ด้วยขันติบารมี และในที่สุด ก็มีท้าวสักกเทวราชทรงแปลง เป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี ก็ทรงพระราชทานให้ไปอีก เพราะทรงมุ่ง บำเพ็ญทานบารมี เพื่อพระโพธิญาณ
เดี๋ยวนี้ประเทศไทยของเราใช้หนังสือเรื่องพระเวสสันดรเป็นวรรณคดี เรื่องหนึ่งในการศึกษาของนักศึกษา
คนสมัยใหม่ เมื่อศึกษาเข้าแล้ว ไม่รู้จุดมุ่งหมายของพระโพธิสัตว์ ผู้ทรงบำเพ็ญบารมีนี้ ก็ติเตียนหาว่าพระเวสสันดรนั้นเห็นแก่ตัว บริจาคลูก เล็กๆ ให้คนอื่นไปเพื่อหวังบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอย่างเดียว หรือหวังประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คิดถึงหัวอกของพระโอรส พระธิดา และพระชายา หรือของชาวเมืองบ้าง คนที่ไม่เข้าใจก็ติเตียน บางคนพอฟังเข้าแล้วก็เห็นด้วย อย่างใครเมื่อฟังเรื่องพระเวสสันดรชาดกที่เขาเทศน์เป็นแบบมหาชาติ ตอน กัณฑ์กุมาร หรือกัณฑ์มัทรี่มักจะร้องไห้ขณะฟังเทศน์ เพราะว่าพระนางมัทรี บางครั้งสลบไป เพราะทรงอาลัยเป็นห่วงพระโอรสและพระธิดา ยิ่งตอนที่ถูกชูชกเฆี่ยนตี ก็ทำให้เห็นว่าพระเวสสันดรคล้ายคนใจจืดใจดำที่ทรงทนดูอยู่ได้
ข้อนี้ขอตอบว่า การที่พระเวสสันดรทรงบริจาคทุกสิ่งทุกอย่างไปนั้นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็คือพระสัมมาสัมโพธิญาณ เราต้องเข้าใจคำว่า “สัมมาสัมโพธิญาณ” เพราะแท้จริงนั้น ไม่ใช่เฉพาะพระราชโอรส พระราชธิดาหรือพระชายาเท่านั้นที่ทรงบริจาคไป แม้ชีวิตของพระองค์ ถ้าใคร
ต้องการพระองค์ก็ทรงบริจาคได้เพื่อหวังพระโพธิญาณอันเป็นปณิธานแน่ว แน่สูงสุดของพระโพธิสัตว์ หน่อเนื้อพุทธางกูร
สัมมาสัมโพธิญาณคืออะไร? สัมมาสัมโพธิญาณ คือ การได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเป็นพระพุทธเจ้าประเสริฐถึงขนาดต้องสละ ทุกสิ่งทุกอย่างไปแลก ก็เพราะประเสริฐมาก การบำเพ็ญให้เป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้านี้ไม่ใช่ทำง่ายเลย ต้องใช้เวลานานมาก คนทั่วไปไม่เข้าใจถึงน้ำ พระทัยของพระมหาสัตว์ (พระโพธิสัตว์ เรียกย่อๆ ว่าพระมหาสัตว์) ซึ่ง บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ บริจาคมหาทาน มานานถึง ๔ อสงไขย กับ แสนกัป เพราะว่าเมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็สามารถช่วยเหลือสัตว์ โลกได้มาก อย่างที่พวกเราได้มีพระพุทธศาสนา ก็เพราะการเสียสละอย่าง ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า เป็นการเสียสละที่มีผลมหาศาล เพื่อการตรัสรู้เป็น พระสัมมา
สัมพุทธเจ้า คนที่ได้รับผลประโยชน์ เช่น ความสุข ความเจริญ รุ่งเรืองในชีวิต การมีวัฒนธรรมของชาติ การมีวัดวาอาราม จนถึงการสิ้น ทุกข์ เป็นต้น ก็โดยการเสียสละของพระพุทธเจ้านั้น จนถึงปัจจุบันก็มี จำนวนนับไม่ถ้วน
พระพุทธศาสนาแผ่กว้างไปทั่วโลกเพราะการเสียสละของพระพุทธเจ้า เสียสละส่วนน้อย แต่เพื่อส่วนใหญ่
ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับทหารที่ไปรบในสงคราม บางคน อาจพูดว่า “ไม่น่าไปรบเลย แม่ก็แก่แล้ว ลูกๆ ก็ยังเล็ก เมียก็ยังสาว ทิ้งไป ได้อย่างไร ไม่คิดถึงแม่ ไม่คิดถึงลูก ไม่คิดถึงเมียบ้าง ไปรบแล้วบางทีก็อาจ จะต้องตายอีก”
ถ้าใครคิดว่าทหารที่ไปรบนั้นเห็นแก่ตัวเพราะว่าไปรบเพื่อต้องการ เกียรติยศชื่อเสียง ไม่คิดถึงลูกเมีย ไม่คิดถึงแม่ คนนั้นเป็นคนเข้าใจผิด เขา เสียสละเพื่อส่วนรวม เพราะถ้าไม่มีทหารเสียสละเช่นนี้ ประเทศชาตินั้นก็ อาจจะแตกเป็นชิ้นเป็นส่วน ไม่มีประเทศของตนเองเหมือนอย่างประเทศมอญเป็นต้น แต่ว่าประเทศของเราหรือประเทศไหนก็ตามที่ยังเป็นเอกราช อยู่ได้ เพราะการเสียสละของทหาร เราจะหาว่าทหารนั้นเห็นแก่ตัวไม่ถูก เพราะเขาไปรักษามาตุภูมิ ไปรักษาดินแดน ไปรักษาส่วนใหญ่เอาไว้ อย่าง ทหารไทยนั้นเมื่อจะออกศึกก็จะประกาศต่อเทวดาฟ้าดินว่า ที่ออกรบนี้เพื่อ รักษามาตุภูมิและพระพุทธศาสนาเอาไว้ บางคนก็ตายในสนามรบ
และเขา ก็ตายจริงๆ ตายมามากแล้วนับไม่ถ้วน ใครที่หาว่าทหารนี้เห็นแก่ตัว คนนั้น เป็นคนที่ไม่เข้าใจ เพราะว่าชาติจะดำรงอยู่ได้เพราะการเสียสละของเขา อย่างพระเจ้าตากสินมหาราช ที่กู้ชาติไทยจากพม่ามาได้ ก็เพื่อศักดิ์ศรีและ ความสงบสุขอยู่รอดของพี่น้องชาวไทย ซึ่งพี่น้องทหารไทยก็ตายไปไม่น้อย ในการกู้ชาติครั้งนั้น อย่างที่ทราบกันอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยของเรา และการที่พระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติสำเร็จครั้งนั้น โดยจุดมุ่งหมาย
ประการหนึ่งก็คือ ถวายแผ่นดินนี้ให้เป็นพุทธบูชา ดังคำปณิธานที่จารึกไว้ที่ วัดอรุณราชวราราม อันแสดงถึงน้ำพระทัยอันสูงส่งของพระเจ้าตากสิน มหาราช เป็นคำประพันธ์ที่กินใจคนไทยผู้รักชาติยิ่งว่า
อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่พระศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน
พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระเวสสันดรก็เหมือนกัน ก็เสียสละเพื่อส่วน ใหญ่ ถ้าคิดว่าการเสียสละนั้นเป็นการเห็นแก่ตัว พระพุทธศาสนาก็บังเกิด ไม่ได้ ถ้าคิดแต่เห็นแก่ลูกเมียอยู่เท่านั้น ไม่ยอมบำเพ็ญบารมี พระพุทธศาสนาจะบังเกิดไม่ได้
อีกประการหนึ่ง ถ้าเรามองให้ลึกซึ้ง การที่พระเวสสันดรทรงสละเช่น นั้นเป็นการกระทำที่ฉลาดมาก นับตั้งแต่เรื่องพระราชทานช้างปัจจัยนาคมา ก่อน การที่ทรงให้ช้างไป พระองค์ก็พระราชทานให้ไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ว่าใครจะขออะไรก็ให้ไปทั้งนั้น แต่ผลสะท้อนมันเกิดได้มาก เพราะถ้า หากว่าพระองค์ไม่ทรงให้ช้างนั้นไป กาลิงครัฐเป็นแคว้นใหญ่ ถ้าเขายกกอง ทัพมาบุกชิงเอาช้างไป เพราะเขาต้องการนำช้างไปเพื่อให้ฝนตก เนื่องจาก แคว้นกาลิงครัฐอดอยากมาก แคว้นสีพี่ก็จะพินาศได้ง่าย เพราะว่าแคว้น สีพี่เล็กกว่า แต่การที่พระองค์ทรงให้ไปอย่างนี้ ก็เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกัน เมื่อเขาเอาช้างปัจจัยนาคไปยังแคว้นกาลิงครัฐ ฝนตกต้องตามฤดูกาล แล้ว เขาก็นำช้างมาคืนในที่สุด จัดว่าเป็นการทำให้ไม่ต้องเสียไพร่พล ไม่ อย่างนั้นประชาชนจะต้องตายอีกมาก อาจจะต้องเสียเมือง ถ้ากองทัพของ กาลิงครัฐบุกเข้ามา เพราะเขาต้องการช้างซึ่งเขาถือว่าเป็นช้างมงคล ก็ ถือว่าฉลาดในเชิงการเมืองก็ได้ ถ้าจะคิดในแง่นี้ แต่พระเวสสันดรทรง บริจาคไปจริงๆ โดยมุ่งสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสำคัญ
แม้การที่ทรงสละพระโอรสพระธิดาไปให้แก่ตาชูชกก็เหมือนกัน พระองค์คงทรงดำริว่า พระโอรสและพระธิดาอยู่ในป่าไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน พระเจ้าปู่คงไถ่ไว้เป็นแน่เพราะตีราคา กัณหาชาลีไว้มาก เช่นว่า
กัณหาตีราคาด้วยของอย่างละ ๑๐๐ คือ ทาสี ทาส ช้าง ม้าและโค อย่างละ ๑๐๐ แล้วก็มีทองคำต่างหากอีก
๑๐๐ ลิ่ม แม้ชาลีก็ตีราคาไว้สูง ก็ทรงดำริว่าตาชูชกจะเอาเด็กไปเลี้ยงทำงานก็คงไม่ เท่าไหร่ เด็กตัวเล็กๆ อายุราว ๑๑-๑๒ ขวบ จะทำงานอะไรได้มาก เอาไป ขายดีกว่า ก็คงทรงดำริเช่นนั้น ถ้าขายชาวบ้าน ใครที่ไหนจะซื้อให้เด็กตัว เล็กๆ ก็ต้องไปขายให้แก่พระราชา คือ พระเจ้าสญชัย ผู้เป็นพระเจ้าปู่ เมื่อ ไปขายให้แก่พระเจ้าปู่ พระโอรสพระธิดาก็จะอยู่ในเมืองสงบสุขและได้รับ การศึกษาเล่าเรียน แล้วจะได้เล่าความถึงพระองค์และพระนางมัทรีซึ่งอยู่ ในป่า ก็จะทำให้พระองค์ได้กลับสู่พระนครเชตุดรในที่สุด ก็เป็นจริงอย่างที่ ทรงดำริ ตาชูชกได้นำชาลีและกัณหาไปขายให้พระเจ้าสญชัย แล้วตาชูชก ก็ได้รับเลี้ยงอย่างดี กินอาหารเข้าไปมากจนท้องแตกตาย และในที่สุด พระเจ้าสญชัยก็เสด็จไปเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเข้าสู่เมืองเชตุดร
ส่วนเรื่องที่ทรงประทานพระนางมัทรีแก่พระอินทร์ก็เหมือนกัน บางคนที่ไม่เข้าใจการเสียสละเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณก็อาจจะคิดไม่เห็นด้วยว่า “การให้เมียของตัวเองนี้ให้ได้อย่างไร ให้แก่คนอื่นไปเช่นนั้นรู้สึกว่า ทารุณ” บางคนอาจจะคิดอย่างนั้น แท้ที่จริง พระนางมัทรีนั้นก็เคยทรง ปวารณาต่อพระเวสสันดรแล้วว่า ตัวของหม่อมฉันนี้เป็นเหมือนสมบัติของ พระองค์ จะเฆี่ยนตีจะทำอย่างไรก็ทำได้ เพราะจงรักภักดีอย่างยิ่ง จะให้ ใครก็ได้ ยอมทั้งสิ้น เพราะถือว่าเป็นภัสดาของตัว เมื่อพระองค์มีพระทัย เด็ดเดี่ยวให้ไป ในที่สุด ท้าวสักกเทวราชซึ่งทรงแปลงมาเป็นพราหมณ์ก็ทรง ถวายคืน ใครจะไปเอาเมียรักของคนอื่นไปได้ในเมื่อเขามีความจงรักภักดี กันมากเช่นนี้ ท้าวสักกเทวราชก็เพียงทรงทดสอบดูว่า จะจริงหรือไม่แค่ไหน ก็จริงทีเดียว การบริจาคครั้งนี้ เป็นการเสียสละอย่างสูงยิ่ง ซึ่งคนที่ ซึ่งคนทั่วไปไม่อาจจะทำได้
การเสียสละอย่างสูงของพระเวสสันดรนั้น เป็นปรมัตถบารมี เพราะว่า แม้ชีวิตของพระองค์ก็สละได้ ชาติของเราหรือใครที่ไหนก็ตาม ที่มีความเจริญ รุ่งเรืองอยู่ได้ เพราะมีคนเสียสละ หากปราศจากการเสียสละ เหมือนอย่าง พระพุทธเจ้าทรงเสียสละแล้ว โลกนี้จะหาความสงบสุขได้ยาก เรามีชีวิตสงบ สุขมาได้ เพราะบรรพบุรุษของเราเสียสละ รักษาอธิปไตยและศาสนาเอาไว้ เราจึงเกิดมามีความสงบสุข และภูมิใจในความเป็นชาติของเรา เพราะฉะนั้น ผู้ ที่เสียสละด้วยการเสียสละอย่างสูงเช่นนี้ ถือว่าเป็นผู้มีใจสูง การบริจาคของ พระเวสสันดรโพธิสัตว์เป็นตัวอย่างผู้เสียสละ
*ตอนที่ ๗*
..บัณฑิตสามเณร…
การให้ทานตอนนี้ จะได้พูดถึงเรื่องบัณฑิตสามเณร รวมทั้งอดีตชาติของบัณฑิตสามเณรที่ได้สั่งสมบุญด้วยการให้ ทานไว้ แล้วในที่สุด ก็ได้มาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่มีอายุได้ เพียง ๓ ปี ด้วยอำนาจทานที่ได้สั่งสมไว้หนุนมา
การให้ทานไม่ใช่จะทำให้เกิดความร่ำรวยอย่างเดียว หากแต่ให้คุณสมบัติอย่างอื่นเป็นอันมากอีกด้วย
จนบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นที่สุดได้ เรื่องบัณฑิตสามเณรที่นำมา กล่าวไว้ในตอนนี้ เป็นเรื่องที่ให้คติธรรมทางพระพุทธศาสนา อยู่หลายตอนทีเดียว เรื่องนี้ค่อนข้างยาว แต่จะขอถอดใจความเอามาเล่าแต่เพียงโดยย่อ เพื่อชี้ให้เห็นอานิสงส์ของการให้ทาน
กล่าวกันว่า ในภัทรกัปนี้ ก่อนพระพุทธเจ้าของเรา มีพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะได้ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ในยุคนั้นมนุษย์มีอายุยืนสองหมื่นปี และพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระสาวกบริวารสองหมื่นรูปล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
ในวันหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้เสด็จไปเมืองพาราณสี ชาวเมืองได้ถวายทาน เมื่อถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ทรง อนุโมทนา โดยตรัสว่า
“อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้ให้ทานด้วยทรัพย์สมบัติของตนเท่านั้น ไม่ยอมชักชวนบุคคลอื่น โดยคิดว่าประโยชน์อะไรที่ต้อง ชักชวนบุคคลอื่นเขา แล้วให้ทานด้วยตนเพียงคนเดียว บุคคลเช่นนี้ย่อมได้แต่ทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว คนบางคนชักชวนคนอื่นให้ทาน แต่ตนเองไม่ยอมให้ทาน เขาย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้ทรัพย์สมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว
คนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ทาน เขาย่อมไม่ได้ ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ในที่ที่ตนเกิดแล้ว
คนบางคนตนเองก็ให้ทาน และชักชวนคนอื่นให้ทานด้วย เขาย่อมได้ ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติในที่ที่ตนเกิดแล้ว”
ในการฟังธรรมครั้งนั้น มีอุบาสกซึ่งเป็นบัณฑิตอยู่คนหนึ่ง มาคิดว่า เราควรจะทำสมบัติทั้งสองอย่างนี้ให้เกิดขึ้น คือ เราจะให้ทานด้วยและชักชวน คนอื่นให้ทานด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาจบลง อุบาสกหรือบุคคลผู้เป็นบัณฑิตผู้นั้นก็เข้าไปเฝ้า แล้วทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ว่า ขอนิมนต์พระพุทธองค์ทรงรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าตรัส ถามว่า “ต้องการพระเท่าไหร่” อุบาสกนั้นก็ทูลว่า “ข้าพระองค์ขอนิมนต์ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดสองหมื่นรูป โดยมีพระองค์เป็นประมุข” พระพุทธเจ้า ก็ทรงรับโดยดุษฎีภาพ
เมื่อได้จำนวนพระแล้ว เขาก็ไปประกาศป่วนร้องชาวเมืองทั้งหลาย ให้ทำบุญเลี้ยงพระ โดยประกาศว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย เราได้นิมนต์ พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนสองหมื่นรูป ใครต้องการจะทำบุญ กับเราในวันพรุ่งนี้บ้าง เราจะเลี้ยงพระ ท่านต้องการพระจำนวนเท่าใดก็ บอกมา เราจะได้ทำบุญด้วยกัน”
เมื่อเขาได้ประกาศไปทั่วๆ คนที่มีใจบุญ คนที่ต้องการทำบุญก็ได้ บอกจำนวนพระที่ตัวเองต้องการตามกำลังทรัพย์ ตามกำลังศรัทธาของตน บางคนบอกว่าต้องการ ๑๐ รูป บางคนต้องการ ๒๐ รูป บางคนต้องการ ๑๐๐ รูป บางคนต้องการ ๕๐๐ รูป ตามความสามารถของตน อุบาสกนั้น ก็จดชื่อของผู้ที่เลี้ยงพระลงไปทั้งหมดว่าใครจะเลี้ยงพระจำนวนเท่าไร
ก็ในนครนั้นมีคนที่ยากจนมากที่สุดอยู่คนหนึ่งเรียกกันว่า มหาทุคคตะ คือ ยากจนมาก อุบาสกคนนั้นเมื่อได้พบนายมหาทุคคตะเข้า ก็ชักชวน มหาทุคคตะว่า “มหาทุคตะ พรุ่งนี้ชาวเมืองจะเลี้ยงพระจำนวนมาก เอ็ง จะร่วมทำบุญกับเราไหม จะเลี้ยงพระสักกี่รูป” นายมหาทุคคตะก็พูดว่า “ข้าพเจ้าจะเลี้ยงพระได้อย่างไร เพราะอาหารจะกรอกหม้อในวันพรุ่งนี้ก็ ไม่มี ทำงานไปกินไปมื้อต่อมื้อเท่านั้น การทำบุญทำทานนั้นมันเรื่องของคน
มีเงินมีทอง คนยากจนอย่างข้าพเจ้านั้นทำบุญทำทานกับเขาไม่ได้หรอก”
ตามปกติ คนที่ชักชวนมักจะเป็นคนฉลาด อุบาสกผู้นั้นจึงพูดว่า “เพื่อนมหาทุคคตะ รู้ไหมว่าคนในเมืองนี้ บางคนเขาร่ำรวยมาก เขามี เสื้อผ้า อาหาร ที่นอนอย่างสวยงาม อยู่อย่างสบาย ทำไมเขาจึงเป็นอย่าง นั้น ก็เพราะเขาได้เคยสั่งสมบุญให้ทาน เคยทำบุญไว้ นี่ตัวแกเองจนขนาด นี่แล้วยังไม่รู้ว่า เหตุไรมันจึงจน ก็เพราะตัวเองไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำทานมา เลย จึงเกิดมายากจน ถ้าต้องการจะรวยกับเขาบ้างต้องรู้จักให้ทานเสียบ้าง เอ็งก็ยังหนุ่มแน่น กำลังจะมีอยู่ จะทำงานจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ถวาย ทานไม่ได้เชียวหรือ”
เมื่อถูกชักชวนเข้าเช่นนี้ นายมหาทุคคตะก็บอกว่า “เอ้า ถ้าอย่างนั้น จดชื่อผมลงไป ผมจะเลี้ยงพระสักองค์หนึ่ง”
อุบาสกนั้นก็คิดว่า พระองค์เดียวจะจดลงไปทำไม คนอื่นเขาเลี้ยง พระถึง ๑๐ องค์ ๒๐ องค์ ก็ไม่ได้จดชื่อนายมหาทุคคตะลงไป แล้วไปชวน คนอื่นต่อไป เมื่อเขาชวนไปในที่สุด ก็มีเจ้าภาพรับเลี้ยงพระหมด ภิกษุสอง หมื่นรูปมีเจ้าภาพจองหมดแล้ว แต่นายมหาทุคคตะเมื่อเขาชวนแล้วก็คิดว่า ยังมีพระให้แก่ตนอยู่ จึงตั้งใจว่าจะได้ถวายทานให้วันรุ่งขึ้นแน่นอน
เมื่อนายมหาทุคคตะนั้นกลับไปถึงบ้านก็พูดกะภรรยาว่า “พรุ่งนี้เราจะเลี้ยงพระสักหนึ่งรูป ขอให้เราช่วยกันทำงานจ้างเพื่อได้ของมาเลี้ยงพระ ฝ่ายภรรยาแทนที่จะพูดว่า “ไปรับคำเขาทำไม เรายากจนอยู่แล้ว” แต่พูด ด้วยความยินดีว่า “เออ พี่ทำถูกแล้ว เราทั้งสองไม่ได้ทำบุญให้ทานแม้ใน กาลก่อน ชาตินี้จึงเกิดมายากจน เราทั้งสองทำงานจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง จักถวายอาหารแก่พระรูปหนึ่ง” เพราะฉะนั้น สองสามีภรรยาผู้ยากจนก็ไป ทำงานจ้างกันเพื่อเอาค่าจ้างมาทำบุญเลี้ยงพระ เพราะไม่มีอะไรอยู่ในบ้าน เลย ทำกินไปมื้อต่อมื้อเท่านั้นเอง
นายมหาทุคคตะได้ไปบ้านเศรษฐีคนหนึ่งแต่เช้าตรู่ ท่านเศรษฐีก็จะ เลี้ยงพระถึงสองสามร้อยรูป กำลังต้องการคนช่วยงานผ่าฟืน เศรษฐีถามว่า “มาทำไม” เขาตอบว่า “มารับจ้างทำงาน” เศรษฐีถามว่า “เจ้าทำงาน อะไรได้บ้าง” เขาตอบว่า “แล้วแต่ท่านให้กระผมทำ” เศรษฐีจึงพูดว่า “เออ พรุ่งนี้เราจะเลี้ยงพระหลายร้อยรูป ให้เจ้าไปผ่าฟืน เราจะให้ค่าจ้าง” นาย มหาทุคคตะนั้นรู้สึกดีใจ โดยคิดว่า “เออ ครั้งนี้ละ เราจะได้ค่าจ้างไป ทำบุญเลี้ยงพระสัก ๑ รูป”
ดังนั้น เขาจึงถูกเขมนอย่างแข็งขัน แสดงถึงความอุตสาหะในการ ทำงาน วางมีดคว้าขวาน วางขวานฉวยมีดผ่าฟืน ทำอย่างกุลีกุจอ เอาจริง เอาจังในการทำงาน เศรษฐีเห็นเข้าเช่นนั้นก็ถามว่า “เพื่อนเอ๋ย วันนี้เจ้า ทำงานดีใจขยันเป็นพิเศษ มีอะไรหรือ” เขาบอกว่า “นาย พรุ่งนี้ผมจะได้ เลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง” เศรษฐีคิดว่า “โอ เจ้าคนนี้ได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก เขาไม่ คิดว่าตนเป็นคนยากจน แต่ก็ยังมีแก่ใจจะทำบุญเลี้ยงพระกับเขา” ก็รู้สึก พอใจ เพราะฉะนั้น พอเขาทำงานเสร็จ ท่านเศรษฐีก็ให้ข้าวสาร ๔ ทะนาน เป็นค่าจ้าง แล้วให้อีก ๔ ทะนานโดยบอกว่า นี้เป็นรางวัลที่เจ้าปลื้มใจว่า จะได้เลี้ยงพระ เขาได้ข้าวสารรวม ๘ ทะนาน
ส่วนภรรยาของเขาก็ไปบ้านเศรษฐี พบภรรยาเศรษฐีๆ ก็ถามว่า “มาธุระอะไร” นางตอบว่า “มารับจ้างทำงาน” ภรรยาเศรษฐีจึงถามว่า “เจ้าจะทำงานอะไรได้บ้าง” นางตอบว่า “แล้วแต่คุณนายจะให้ดิฉันทำ อะไรก็ได้” ดังนั้น ภรรยาเศรษฐีจึงให้นางเข้าไปยังโรงซ้อมข้าวแล้วมอบกระด้งและสาก เป็นต้น ให้นาง นางดีใจ ซ้อมข้าว ฝัดข้าว กระพือข้าว เหมือนจะรำละคร คือทำได้รวดเร็ว คล่องแคล่วที่เดียว ภรรยาเศรษฐีเห็น เข้าเช่นนั้นจึงถามว่า “วันนี้เจ้าดีใจเป็นพิเศษ ทำงานเพลิดเพลินเหลือเกิน มีอะไรกันนะ” นางบอกว่า “คุณนาย แม้พวกดิฉันทั้ง ๒ ตัวผัวเมียจะได้เลี้ยงพระกับชาวเมืองเขาสักรูปหนึ่งพรุ่งนี้จึงมาทำงานจ้าง” ภรรยาเศรษฐีได้ฟัง เช่นนั้นก็พอใจว่า “เออ นางคนนี้ได้ทำสิ่งที่ทำได้โดยยาก” จึงให้คนมอบ เนยใส ๑ ขวด นมส้ม ๑ กระปุก แล้วยังแถมเครื่องเทศ อาหารและข้าว สาลีอีกหนึ่งทะนานให้ นางก็เอาของที่ได้รับกลับบ้าน
สองสามีภรรยาต่างก็ดีใจว่า “เราได้ของถวายพระแล้ว” ภรรยาจึง พูดกับนายมหาทุคคตะว่า “พี่จงไปหาผักมาเถิด” เขาได้ไปที่ตลาดก็ไม่ได้ ผัก จึงไปที่ริมฝั่งแม่น้ำเพื่อเก็บผัก เขาเก็บผักไปพลางก็ร้องเพลงไปพลาง มี ใจร่าเริงว่า เราจะได้ทำบุญเลี้ยงพระ ในขณะนั้นชาวประมงซึ่งกำลังทอดแห อยู่ ซึ่งคุ้นเคยกับเขา ได้ยินเสียงนายมหาทุคคตะร้องเพลงก็ถามว่า “เอ๊ะ วันนี้ เพื่อน ทำไมร้องเพลงเพลินไปเลยทีเดียว มีอะไรหรือ” นายมหาทุคคตะ ว่า “เพื่อนเอ๋ย กันจะเลี้ยงพระกับเขาสักรูปหนึ่งพรุ่งนี้” ชาวประมงบอกว่า “เฮ้ย อิ่มแล้วน่ะพระของเจ้าฉันแต่ผัก” นายมหาทุคคตะว่า “ทำไงล่ะเพื่อน กันมันคนจนนี่ กันก็ต้องเลี้ยงไปตามฐานะน่ะซิ” ชาวประมงก็บอกว่า “เอ้า
ถ้าอย่างนั้น เน มานี่ซี วันนี้มีคนมาซื้อปลากันมาก เอ็งมาทำหน้าที่ร้อยปลา เป็นพวง แล้วกันจะให้ปลาสำหรับไปเลี้ยงพระ”
วันนั้น มีคนมาซื้อปลามาก ปลาถูกขายหมดไม่เหลือเลย ชาว ประมงจึงถามว่า “มีปลาเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า” เขาบอกว่า “หมดแล้ว คนซื้อเอาไปหมดเลย โดยซื้อเอาไปเป็นพวงๆ” เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวประมงก็ พูดว่า “อ้าวถ้าอย่างนั้น มีปลาตะเพียน ๔ ตัว กันหมกทรายเอาไว้ กันให้ เอ็งได้เอาไปเลี้ยงพระ เอาไปเถิด”
ในวันนั้น เมื่อเวลาใกล้รุ่ง พระกัสสปพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเพื่อ แสดงธรรมในวันรุ่งขึ้น ก็ได้ทรงเห็นนายมหาทุคคตะเข้าไปในข่ายพระญาณ ของพระองค์ ทั้งทรงเห็นว่า พรุ่งนี้ นายมหาทุคคตะจะทำบุญเลี้ยงพระ แต่ ไม่มีพระเหลืออยู่เลย เขาจะได้พระที่ไหน นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเหลืออยู่เลย เพราะคนนิมนต์จองไว้หมดแล้ว
ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงทำการอนุเคราะห์ต่อคนยากจนทั้งหลายเสม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงทำสรีรกิจแต่เช้าแล้ว เสด็จเข้าไปประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ด้วยทรงหวังว่า “เราตถาคตจักได้ สงเคราะห์นายมหาทุคคตะ”
เมื่อนายมหาทุคคตะได้เข้าสู่เรือน ก็ปรากฏว่าวันนั้น อาสนะของ ท้าวสักกเทวราชร้อนขึ้นมา เพราะปกติอ่อนนุ่ม ประทับนั่งสบาย พระองค์ จึงทรงพิจารณาดูว่า “เกิดอะไรขึ้น” พิจารณาดูไปก็ทรงทราบว่า “อ๋อ วันนี้ นายมหาทุคคตะจะทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า พระองค์จะเสด็จ ไปบ้านของมหาทุคคตะและจะเสวยพระกระยาหารของนายมหาทุคคตะ อาหารที่ถวายพระพุทธองค์ไม่เหมาะเลย เพราะฉะนั้น เราจะต้องไปช่วย”
เมื่อทรงดำริเช่นนี้แล้ว ก็ทรงแปลงพระองค์เป็นคนเดินทางไปหางานทำ เสด็จมาจนถึงบ้านของมหาทุคคตะ ตรัสถามว่ามีงานอะไรทำบ้าง มหาทุคคตะ ถามว่า “ท่านทำอะไรได้บ้างล่ะ” ก็ตรัสตอบว่า “ทำเป็นทุกอย่าง ทำอะไร ก็ได้ทั้งนั้น ตั้งแต่หุงข้าว ต้มแกง ทำได้ชำนาญทั้งนั้น”
นายมหาทุคคตะก็พูดว่า “เออ ดีแล้ววันนี้เราจะเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง ท่านช่วยทำหน้าที่พ่อครัวก็แล้วกัน แต่ไม่รู้ว่าจะให้ค่าจ้างอะไร”
ท้าวสักกะตรัสถามว่า “ก็งานอะไรที่ท่านต้องทำ” นายมหาทุคคตะ ตอบว่า “ข้าพเจ้าต้องการจะเลี้ยงพระสักหนึ่งรูป ข้าพเจ้าต้องการจัดแจง ข้าวต้ม (ข้าวยาคู) และข้าวสวย เพื่อถวายพระรูปนั้น”
พระอินทร์แปลงก็ตรัสว่า “เมื่อท่านจะเลี้ยงพระ ข้าพเจ้าจะทำให้ฟรี ขอแต่บุญอย่างเดียว”
นายมหาทุคคตะพูดว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ตกลง ขออนุโมทนาละเพื่อน”
ท้าวสักกะปลอมจึงเสด็จเข้าไปสู่เรือนของนายมหาทุคคตะนั้น ได้ให้ นำข้าวสารเป็นต้นออกมา แล้วตรัสว่า “ท่านไปนิมนต์พระมาได้แล้ว”
นายมหาทุคคตะก็ไปรับพระ โดยไปพบอุบาสกผู้เป็นบัณฑิตนั้นแล้ว พูดว่า “ให้พระข้าพเจ้าหนึ่งรูป” อุบาสกนั้นนึกขึ้นมาได้ จึงพูดว่า “เอ้า พระคนจองหมดแล้ว ไม่มีเหลือพระสำหรับท่านเลย ลืมจดชื่อลงไป เห็นว่า เลี้ยงพระเพียงรูปเดียว”
นายมหาทุคคตะนั้นพอได้ฟังว่าไม่มีพระเหลือแล้วเท่านั้น ก็เหมือน ถูกแทงด้วยหอกอันคมกริบ ถึงกับร้องไห้โฮออกมา พร้อมกับพูดว่า “ทำอย่างนี้ได้อย่างไร เชิญชวนข้าพเจ้าไว้แล้วนี่ แล้วก็ไม่ให้พระข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รับชักชวนตั้งแต่เมื่อวาน จึงพร้อมกับภรรยาทำงานจ้างทั้งวัน ตอนเช้าก็ไปเก็บผักที่ท่าน้ำและเพิ่งกลับมา ขอพระสักรูปหนึ่งเถอะ พระแค่ รูปเดียวเท่านั้น” พูดแล้วก็ประคองแขนร้องไห้
คนทั้งหลายพอได้ยินเสียงร้องดังออกมาต่างก็ถามว่า “อะไรกัน อะไรกัน เจ้ามหาทุคคตะ” นายมหาทุคคตะก็พูดว่า “นี่แหละเขาชวนผมให้ ทำบุญเลี้ยงพระ ผมก็ได้รับปากแล้วว่าจะเลี้ยงพระ ๑ รูป แต่พอผมมารับ พระเพื่อนำไปฉันที่บ้านผม กลับไม่มีพระให้ผม” คนทั้งหลายก็พูดกับ อุบาสกผู้จัดการเชิญชวนคนทำบุญคนนั้นว่า “ท่านชวนเขาจริงหรือเพื่อน” อุบาสกผู้เป็นบัณฑิตนั้นยอมรับว่า “จริงคุณท่านทั้งหลาย”
คนทั้งหลายจึงพูดว่า “ท่านจัดแจงพระจำนวน ๒ หมื่นรูปไม่ได้ให้ ภิกษุแก่นายมหาทุคคตะ แม้เพียงรูปเดียว ทำกรรมหนักเสียแล้ว”
อุบาสกนั้นรู้สึกเก้อ เพราะคำพูดของคนเหล่านั้น จึงได้พูดกับนาย มหาทุคคตะว่า “เพื่อนทุคคตะเอ๋ย มันเป็นความผิดของฉันแล้ว ฉันเองก็ ลำบากใจเหลือเกิน ไม่รู้จะทำอย่างไร คนทั้งหลายได้นำพระที่ตนต้องการ
ไปยังเรือนของตนหมดแล้ว ไม่มีใครที่จะถอนพระที่นั่งอยู่ที่บ้านของตนสัก รูปหนึ่งออกมาได้เลย แต่ขณะนี้ มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ ยังไม่มีใครนิมนต์เจาะจง ถ้าท่านมีบุญลองไปนิมนต์พระองค์ดู พระพุทธเจ้า จะโปรดคนที่ยากจน ลองไปดู” มหาทุคคตะ รีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่า วันนี้นายมหาทุคคตะจะไม่ได้ พระรูปไหน พระองค์ก็ประทับนั่งรออยู่ภายในกุฏิ นายมหาทุคคตะก็ไปซบ ศีรษะลงที่บันไดพระคันธกุฎีแล้วกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า คนที่เรียกว่า
จนที่สุดในเมืองนี้ ไม่มีใครเหนือกว่าข้าพระองค์แล้วในเรื่องจน ขอพระองค์ทรงทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิด”พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสอะไร ได้เสด็จเข้าไปภายในพระคันธกุฎีแล้วทรงหยิบบาตรมาให้นายมหาทุคคตะ
ตอนที่นายมหาทุคคตะจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กุฏินั้น มีพระราชาพระอุปราชและเศรษฐี ต่างได้เสด็จมาประทับยืนหรือยืนรออยู่ด้วยคิดว่า“เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต ตนจะขอบาตรไปเลยโดยนำ
พระองค์ไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของตน” แต่จะเข้าไปนิมนต์ที่เดียว ก็ยังคิดว่าพอเสด็จออกมาถึงก็ขอนำบาตรไปเลย พอนายมหาทุคคตะเดิน เข้าไปคนอื่นๆ ก็ถามว่า “นี่ มาวัดทำไมเจ้ามหาทุคคตะ เวลานี้ไม่ใช่เวลา
กินนี่” เพราะคิดว่ามหาทุคคตะจะไปกินข้าวที่เหลือจากพระ
นายมหาทุคคตะบอกว่า “ไม่ วันนี้จะทำบุญเลี้ยงพระ จะมานิมนต์ พระพุทธเจ้า” คนทั้งหลายก็คิดว่า “นายมหาทุคคตะคนนี้ จะนิมนต์ พระพุทธเจ้าไม่ได้หรอก เพราะคนยากจนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปได้ อย่างไร บ้านก็แคบนิดเดียว” แต่พอมหาทุคคตะถือบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้า ออกมา พระราชาและเศรษฐีพอเห็นเข้าก็ขอบาตรจากมหาทุคคตะโดยพูด ว่า “นี่ฉันจะให้เงินเป็นพันหรือเป็นแสน ท่านยากจนเอาเงินไป เอาบาตรมา ให้เราเถิด” นายมหาทุคคตะก็พูดว่า “ไม่ได้ๆ” แม้ว่ามีใครจะเสนอเงินทองให้สักเท่าไรก็ไม่ยอมรับ รับแต่บาตรของพระพุทธเจ้านั้นแหละ แม้พระราชาเป็นต้นจะเสด็จมาขออย่างไรเขาก็ไม่ยอมให้บาตรไป
นายมหาทุคคตะรับบาตรจากพระหัตถ์พระพุทธเจ้าไปแล้ว พระองค์ ก็เสด็จไปที่บ้านของเขา ทีนี้พอเสด็จไปที่บ้าน บ้านของเขาแคบนิดเดียว และต่ำต้อย เดินเข้าลำบาก เพราะเป็นบ้านคนยากจน พระพุทธเจ้าเสด็จ เข้าไปต้องทรงก้ม คือถ้าไม่ทรงก้ม ก็เสด็จเข้าไปไม่ได้ เพราะเป็นบ้านที่เตี้ย
ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีไว้มาก ตามตำนานบอกว่า ถ้าหากบ้านไหนต่ำ เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปแผ่นดินจะยุบลง ไม่ต้อง เสด็จก้มเข้าไป หรือว่าบ้านนั้นมันจะสูงขึ้นด้วยอำนาจบุญบารมี ในวันนั้นก็ เช่นกัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปโดยไม่ต้องทรงก้มเข้าไป
ฝ่ายพระราชาทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงบ้านมหาทุคคตะ จึงทรงดำริว่า “มันจะมีอาหารอะไรนะที่จะถวายพระพุทธองค์ ถ้าพระองค์ เสวยไม่อิ่ม เราก็จะนิมนต์พระองค์ไปเสวยที่พระราชวังอีก” เมื่อทรงดำริ อย่างนั้นแล้ว ได้เสด็จเข้าไปดูในครัวก่อน ตรัสถามพ่อครัวว่า “มีอะไรที่จะ ถวายพระพุทธเจ้าวันนี้” พ่อครัว (พระอินทร์) ก็ตรัสว่า “เปิดดูซิ” พอเปิดดู ก็ทรงทราบว่า ไม่ใช่อาหารธรรมดา มันเป็นอาหารพิเศษ เพราะกลิ่นอาหาร กลบเมืองทั้งเมือง เนื่องจากพ่อครัวเป็นพระอินทร์ อาหารประเภทนี้ ไม่เคย เจอที่ไหนเลย เพราะเป็นอาหารทิพย์ พระราชาก็ทรงถอยออกมาทันที
เมื่อได้ถวายทานแล้ว และพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุโมทนาแล้ว เขาก็ถือ บาตรพระพุทธเจ้าตามส่งเสด็จ
พอพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว ท้าวสักกะออกมาประทับยืนหน้า ประตูบ้าน ทรงแหงนดูท้องฟ้า ในทันใดนั้นเอง ฝนรัตนะคือฝนห่าแก้ว ๗ ประการ ก็ตกลงมาทันที ทำให้หม้อและไหในบ้านนายมหาทุคคตะ
เต็มไปด้วยแก้ว ๗ ประการ พวกเพชรนิลจินดาตกลงมาจนล้นเรือนออกมาอีก เด็กอยู่ในเรือนอยู่ไม่ได้ ต้องออกมานอกบ้าน นายมหาทุคคตะเห็นเช่นนั้นก็ ปลื้มใจมากและคิดว่า นี่บุญของเรา ทานทีถวายแด่พระพุทธเจ้าได้ผลในวัน นี้เอง แต่ไม่รู้จะเอาเงินไปไว้ที่ไหน เพราะเงินทองมันมากเหลือเกิน เขาจึงได้ กราบทูลพระราชาว่า “บ้านของข้าพระองค์เต็มไปด้วยรัตนะ ๗ ประการขอให้พระองค์ได้ทรงนำไปเข้าในพระคลังหลวง”
พระราชาจึงรับสั่งให้พนักงานไปขนเงินมากองที่ท้องพระลานหลวง เป็นกองใหญ่แล้วตรัสถามคนทั้งหลายว่า “มีใครรวยเท่ามหาทุคคตะไหมใน เมืองนี้” ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีเลย ไม่มีใครในนครนี้มีเงินทองเท่านี้”
ดังนั้น พระราชาก็ทรงตั้งนายมหาทุคคตะเป็นเศรษฐีในวันนั้นเอง ผลทานปรากฏในวันนั้น เพราะผลทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้เป็น ทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ และถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง แต่เขาไม่มีบ้านที่เหมาะสมกับตำแหน่งเศรษฐีที่ได้รับพระราชทาน พระราชาจึงตรัสสั่งว่า “ในเมืองนี้มีสถานที่ซึ่งเคยเป็นบ้านของเศรษฐีเก่ามาก่อน ให้ไป ถางที่แล้วสร้างบ้านเอาเถิด” พอเขาสร้างบ้านเสร็จ ขุมทรัพย์จําพวกเพชร พลอย เป็นต้น ก็เกิดขึ้นมาเต็มในบริเวณบ้านอีก เขาจึงไปกราบทูลให้พระ ราชาทรงทราบ พระราชาตรัสว่า “ขุมทรัพย์เหล่านี้เกิดขึ้นด้วยบุญของท่าน เท่านั้น ท่านเองนั้นแหละจงถือเอาเป็นของตนทั้งหมด” นี้คือบุญที่เกิดขึ้น จากการถวายทานแด่พระพุทธเจ้าของมหาทุคคตะ เขาดีใจมาก เขาได้บุญ ทำทานครั้งนั้น ด้วยความเลื่อมใสมากที่สุด และทำในทักขิไณยบุคคลที่เลิศ ด้วย ทานของเขาจึงมีผลมากและเห็นผลทันตา
เมื่อเขาสร้างเรือนเสร็จก็ถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระ พุทธเจ้าเป็นประมุขถึง ๗ วัน เขาได้ทำบุญเป็นอันมาก เมื่อสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดอยู่ในเทวโลก เสวยทิพย์สมบัติอยู่ในเทวโลกเป็นเวลานานพุทธันดร” หนึ่ง
ในสมัยพุทธกาล คือในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา เขาจุติจากเทวโลก ลงมาเกิดในสกุลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรในเมืองสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ในวันตั้งชื่อ มารดาได้นําไปพบพระสารีบุตร เมื่อพระสารีบุตรถามว่าเด็กนี้ชื่ออะไร
มารดาจึงเรียนท่านว่า “นับตั้งแต่ตั้งครรภ์พ่อหนูน้อยคนนี้พวกคน เงอะงะปัญญาอ่อนในเรือนนี้ แม้พวกพูดไม่ได้เรื่องก็กลับเป็นคนฉลาด ฉะนั้น บุตรของดิฉันจักชื่อว่า “บัณฑิต”
เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ เขาก็ออกบวชเป็นสามเณร มีชื่อว่า “บัณฑิต สามเณร” เวลาเลี้ยงพระหรือไปบิณฑบาตมักจะมีอาหารปลาตะเพียนเสมอ แม้วันที่แพ้ท้องแม่อยากเลี้ยงพระด้วยปลาตะเพียน เพราะเคยถวายปลาตะเพียนในการทำบุญถวายพระพุทธเจ้าในสมัยที่เป็นมหาทุคคตะในชาติก่อนนั้น แต่บุญเช่นนี้ก็ยังติดตามมาอยู่
ในที่สุด ในเช้าวันหนึ่ง พระสารีบุตรได้นำสามเณรออกไปบิณฑบาต หลังจากบวชได้สัก ๗ วัน สามเณรขณะไปบิณฑบาตก็ได้เห็นคนไขน้ำ คน ถากไม้ และคนดัดลูกศรตามลำดับ ก็ใช้ปัญญาพิจารณา โดยเอาเปรียบกัน ดูว่า น้ำไม่มีชีวิต คนเขายังไขไปไหนได้ ไม้ไม่มีชีวิต เขายังดัดให้ตรงได้ คนเรา มีจิตใจ ทําไมจะฝึกตนไม่ได้
สามเณรน้อยเมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว จึงกราบเรียนพระอุปัชฌาย์ คือ พระสารีบุตรว่า กระผมขอกลับวัดก่อน ขอท่านจงบิณฑบาตเอาปลาตะเพียน มาด้วย ยังชอบปลาตะเพียนอยู่ เพราะเคยทำบุญด้วยปลาตะเพียนไว้ในสมัยเมื่อเป็นนายมหาทุคคตะ
เมื่อจะกลับมาวัด พระสารีบุตรได้ให้กุญแจพร้อมกับบอกว่า จง เข้าไปในห้องเมื่อถึงกุฏิ ลั่นกุญแจแล้วนั่งเจริญภาวนา เพราะกลัวคนจะมา รบกวนสามเณรเมื่อกลับวัดถึงกุฏิที่อยู่แล้ว
สามเณรก็ได้ทำตามที่พระอุปัชฌาย์สั่งไว้ เมื่อไปถึงวัดเข้าไปในกุฏิ แล้ว ก็นั่งพิจารณาสภาวธรรมอยู่ โดยได้นำสิ่งที่ได้พบขณะออกบิณฑบาต มาพิจารณาในการฝึกตน ในที่สุดสามเณรน้อยก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ใน วันนั้น ด้วยอำนาจบุญบารมีที่ได้เคยสั่งสมมาในกาลก่อน ตั้งแต่มีอายุเพียง ๗ ขวบ เป็นสามเณรที่มีชื่อเด่นมากรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็น สามเณรที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เป็นพระภิกษุเมื่ออายุได้เพียง ๗ ขวบเท่านั้น เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว
นี้คือประวัติของบัณฑิตสามเณร ในสมัยพุทธกาลซึ่งได้บวชในพุทธ ศาสนา เป็นสามเณรมีปัญญาและมีบุญมาก เพราะการบริจาคทานไว้ใน ชาติปางก่อน
ท่านทั้งหลายย่อมเห็นแล้วว่า ผลของทานนั้นมีมากมหาศาล สามารถส่ง ผลให้ได้รับสมบัติเป็นอันมาก คือ ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพาน สมบัติ คือ การสำเร็จมรรคผลเป็นที่สุด ฉะนั้น คนที่ฉลาดจึงนิยมให้ทาน
*ตอนที่ ๘*
…ทานเป็นตัวกำจัดมัจฉริยะ…
จุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของการให้ทานใน พระพุทธศาสนา ก็เพื่อจะกําจัดความตระหนี่ถี่เหนียว อันอยู่ใน ใจของผู้นั้น ถ้าผู้ใดให้ทานโดยมุ่งกําจัดความตระหนี่ มุ่งเสีย สละ มุ่งกําจัดความเห็นแก่ตัว การให้ทานย่อมมีผลมากขึ้น
ได้เคยย้ำแล้วว่า ทานกับจาคะนั้นไม่เหมือนกันทีเดียว ถ้าให้ด้วยความหวังว่าจะได้รับผลอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เพื่อจะ ได้ทรัพย์ สมบัติ รูปสวย หรือเกิดในที่สงบสุข เป็นต้น ถ้าหวัง อย่างนี้ ท่านยังไม่จัดเป็นราคะ จัดเป็นทานอยู่ แต่ถ้าหากว่าเสีย สละไปเพื่อหวังประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตน หวังความสุขแก่ผู้อื่น เป็นการเสียสละ อย่างนี้เป็นจาคะ อย่าง พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบริจาคทานเพื่อหวัง สัมมาสัมโพธิญาณนั้น ไม่ได้หวังเพื่อพระองค์อย่างเดียว แต่หวัง เพื่อความสงบสุขแก่สัตว์โลกเป็นการให้ที่มุ่งกําจัดความตระหนี่ไปในตัว
เพราะฉะนั้นทาน จะมีผลมากถ้าหากว่าให้เพื่อกําจัดความตระหนี่ ออกไป คือ กําจัดความเห็นแก่ตัวออกไป เนื่องจากความเห็นแก่ตัว ทำให้บุคคลเป็นอันมากทำอะไรมุ่งเพื่อตัวเองเป็นสำคัญ และบางครั้งก็ทำลายคน
อื่นเพราะเห็นแก่ตัว แต่ถ้าคนไม่เห็นแก่ตัวขจัดความเห็นแก่ตัวออกไปแล้ว สังคมเราจะเกิดความสงบสุขมากขึ้น สังคมในชาติของเรา ถ้ามีคนเห็นแก่ ตัวน้อย แต่เสียสละเพื่อส่วนรวม เพื่อผู้อื่นมาก สังคมก็สงบสุข บ้านเมือง จะสงบสุขเพิ่มขึ้น แต่ถ้าสังคมใดมีคนที่เห็นแก่ตัวมาก แต่มีการเสียสละ น้อยหรือไม่เสียสละมีแต่รับ หรือมีแต่สะสมอย่างเดียว มีแต่เห็นแก่ตัวอย่าง เดียว บางคนยังโกงกินและคอรัปชั่นอีกด้วย สังคมนั้นก็จะไม่สงบสุข จะ มีความเดือดร้อนวุ่นวายมาก เพราะฉะนั้น การให้ทานที่ถึงขั้นจาคะที่เรียก ว่าบริจาคนั้น ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เพื่อกําจัดความตระหนี และความเห็นแก่ตัวเป็นสำคัญ ความสงบสุขก็จะเกิดขึ้นในโลก
/ ศรัทธาหนุนการบริจาค
ในฐานะที่เราได้ศึกษาพุทธศาสนามาพอสมควรแล้ว เพื่อความเข้าใจในเรื่องการให้ทานเพิ่มขึ้น ในตอนนี้จะกล่าวถึง มัจฉริยะ คือ ความ ตระหนี่ ซึ่งเป็นตัวปฏิปักษ์หรือตรงกันข้ามกับบริจาค เพราะถ้ามีการบริจาค ความตระหนี่ก็หายไป แต่การบริจาคจะมีได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีศรัทธา หากขาดความศรัทธาเสียแล้ว ความตระหนี่ก็เข้ามาแทนที่ ถ้ามีศรัทธาเป็น พื้นฐานอยู่ในใจแล้ว การเสียสละย่อมมีมากขึ้น ฉะนั้น ตัวศรัทธาจึงหนุน การบริจาคได้เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมีตัวศรัทธาแล้ว การบริจาค การ เสียสละก็เกิดขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่จะบําเพ็ญบุญด้วยการให้ทานนี้ ถ้ามีศรัทธา ด้วยแล้ว การบริจาคนั้นย่อมทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น
| มัจฉริยะ ๕ ประการ
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเรื่องตระหนี่เสียก่อน ความตระหนี่คือการไม่อยากให้ของตนแก่คนอื่น อะไรก็ได้ที่เป็นของของตน ที่ตนเองรัก เกี่ยวข้อง ไม่ว่าที่อยู่อาศัย ความรู้ ความสามารถ หรือคนที่คนเกี่ยวข้อง ก็ ไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่งเข้ามาเกี่ยว อย่างนี้จัดว่าเป็นความตระหนี่ทั้งสิ้นในพระพุทธศาสนา ท่านแบ่งความตระหนี่ที่เรียกว่ามัจฉริยะ ออกเป็น ๕ อย่าง คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่
๒. กุลมัจฉริยะตระหนี่ตระกูล
๓. ลาภมัจฉริยะตระหนี่ลาภ
๔. วัณณมัจฉริยะตระหนวรรณะ
๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม
ความหมายของตระหนี่ทั้ง ๕ ประการนี้ มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ในพระไตรปิฎกเล่มที่
๒๓ ในที่นี้ขออธิบายเพื่อ ความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้
อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ คือ ถ้าเป็นพระสงฆ์ก็ตระหนี่อาวาสที่ อยู่อาศัย ถ้าเป็นชาวบ้านก็ตระหนี่ที่อยู่บ้านเรือน ไม่ให้ใครเข้ามาอยู่ในถิ่น ของตน หรือในบ้านเมืองของตน เช่น พระสงฆ์อยู่วัดไหน อาวาสไหน เมื่อ พระจากที่อื่นจะมาขออาศัยอยู่ก็ไม่ให้เข้าอาศัย เพราะไม่ใช่พวกพ้องของ ตน หรือตนเองไม่อยากให้ใครเข้ามาอยู่ในกุฏิ ในวัดของตน ผู้ที่ตระหนี่ อย่างนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน คือ กีดกันพระสงฆ์อื่น ภิกษุสามเณรอื่นที่ จะเข้าอยู่อาศัยเพื่อที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น อย่างวัดในกรุงเทพฯ ค่อนข้างหายาก บางวัดก็อยู่กันแน่นมาก เพราะพระเณรมาจากต่างจังหวัด เข้ามาศึกษาเล่าเรียน บางวัดไม่แน่น แต่สมภารท่านไม่รับ คือไม่รับพระเณรจากต่างจังหวัด หรือไม่รับพระเณรบางภาค บางท่านก็อยู่ในกุฏิใหญ่ รูปเดียว ไม่มีพระอื่นอยู่เลย บางทีครอบครองเสีย ๒ หลัง ไม่ยอมให้คนอื่น เข้ามาอยู่ บางที่กุฏิอื่นว่างๆ ก็ไม่ยอมให้ใครอยู่ อย่างนี้เรียกว่าตระหนี่ อาวาส การตระหนี่เช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อพระศาสนา ไม่เป็นผลดีต่อการดำรง มั่นของพระพุทธศาสนา เพราะวัดนั้นเขาสร้างไว้สหรับให้พระสงฆ์เข้าอยู่ อาศัย เมื่อมาตระหนี่เสียอย่างนี้แล้วก็ทำให้พระสงฆ์ที่มาจากจตุรทิศ คือ จากทิศต่างๆ จะเข้ามาอาศัยก็เข้าไม่ได้ เพราะเจ้าของถิ่นตระหนี่เอาไว้ การตระหนี่อย่างนี้เรียกว่า “อาวาสมัจฉริยะ”
บางประเทศ ตระหนี่ไม่ยอมให้คนเชื้อชาติอื่นเข้ามาในประเทศของ ตน กีดกันไว้ไม่ให้เข้ามาอาศัยในถิ่นของตน เช่น ชาวออสเตรเลีย กีดกัน ชาวเอเชียหลายชาติ ไม่ยอมให้เข้าไปอยู่ในถิ่นของตน แม้จะอพยพเข้าไปก็ ไม่ยอมให้เข้า เว้นไว้แต่บางครั้งเท่านั้น การตระหนี่กีดกันไม่ยอมให้คน เข้าไปในถิ่นของตนนั้น ก็ถือว่าตระหนี่ที่อยู่ แต่ประเทศไทยของเรานี้ แม้จะ มีการจํากัดจนวนให้คนต่างชาติให้เข้ามาอยู่อาศัย แต่เราก็มีมนุษยธรรม เช่น เมื่อพวกที่อพยพมาด้วยความลําบากเดือดร้อน เช่น พม่า เขมร ลาว หรือเวียดนาม ที่บ้านแตกสาแหรกขาด ได้เข้าสู่ประเทศไทย โดยเข้ามาทาง บกบ้าง ทางทะเลบ้าง เข้ามาขอพักพิงอาศัย เราก็ให้เข้ามาอาศัย หรือคน จีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอาศัยพระบรมโพธิสมภารในชาติของเราก็มีมาก นับตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ชาติไทยนี้เป็นชาติที่ไม่ตระหนี่ที่อยู่ ที่เขาเรียกว่า ความมีจิตใจกว้าง ไม่ตระหนี่ เป็นลักษณะของผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี แต่ถ้า ตระหนี่กีดกันไม่ยอมให้ใครเข้ามาอยู่ในประเทศของตนเลย อยู่กันแต่พรรค พวกตัวเองเท่านั้น นี่เรียกว่าตระหนี่ที่อยู่ หรือแม้แต่ในบางถิ่นบางแห่ง คนถิ่นอื่นจะเข้าไปอยู่ พวกเจ้าของถิ่นไม่ยอมให้เข้าไปอยู่ในถิ่นของเขาเลย อยากสงวนไว้แต่พวกของตน หรือกินแต่ผลประโยชน์เสียฝ่ายเดียว การหวง ถิ่นที่อยู่เช่นนี้ ล้วนจัดเป็นอาวาสมัจฉริยะทั้งสิ้น
กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ตระกูล ตระกูลในที่นี่คือ ตระกูลของคนที่เรารู้จัก มักคุ้น เป็นต้น ท่านยกตัวอย่างว่า พระบางรูปไม่อยากให้คนอื่นมารู้จักกับ โยมอุปัฏฐากของตนเอง เพราะถ้าพระรูปใดมารู้จักกับโยมอุปัฏฐากของตัว เองแล้ว เดี๋ยวโยมอุปัฏฐากนั้นจะไปบํารุงอุปัฏฐากพระสงฆ์อื่นเสีย ตัวเองก็จะได้ลาภสักการะน้อย หรือได้ความเคารพนับถือน้อยลง ก็ตระหนี่ ไม่ให้ โดยกีดกันเอาไว้ด้วยประการต่างๆ จะกีดกันพระอื่นหรือกีดกันโยมอุปัฏฐากของตนเอาไว้ ไม่ให้ พบพระเหล่านั้น หรือทั้งสองอย่าง อย่างนี้เรียกว่าตระหนี่ตระกูลเหมือนกัน
ชาวบ้านบางตระกูลตระหนี่ ไม่ให้คนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในสกุลของ ตน ไม่ให้คนที่ต่างสกุลต่างเขตกัน เข้ามารู้จักมักคุ้นกับคนในสกุลของตัว อยู่กันเฉพาะในสกุลหรือในพวกของตัวเท่านั้นเอง อย่างนี้เรียกว่าตระหนี่ ตระกูล หรือไม่ยอมให้ใครใช้นามสกุลของตัวเอง แต่ถ้าใจกว้างขวางแล้วก็ พิจารณาบุคคลที่เข้ามาสู่สกุลของตน มาคบค้าเข้าสู่ตระกูลของตน ก็ไม่ได้ กีดกันคนอื่นที่จะเข้าสู่สกุลที่เราคุ้นเคย การไม่กีดกันอย่างนี้เรียกว่าไม่ตระหนี่ ถ้าตระหนี่ ถือว่าเป็นกิเลสจัดเป็นกุลมัจฉริยะ
ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ คือ คนบางคนมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ไม่ยอมบริจาคเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับใครเลย ส่วนมากชาวบ้านทั่วไปก็จะ ๕ เข้าใจความตระหนี่ในข้อนี้มาก ในบรรดาตระหนี่ ๕ ข้อ คนตระหนี่ประเภท นี้ ไม่อยากจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ใคร หวงไว้บริโภคแต่ผู้เดียวในกลุ่มของ ตนแต่ผู้เดียว อย่างนี้เรียกว่า ตระหนี่ลาภ คือ เป็นคนขี้เหนียวนั่นเอง
วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ วรรณะในที่นี้หมายถึง ผิวพรรณ เชื้อชาติ ถ้าในประเทศอินเดียเห็นชัดมาก คือ มีวรรณะอยู่ ๔ วรรณะ คือ วรรณกษัตริย์ วรรณพราหมณ์ วรรณแพศย์ วรรณศูทร วรรณะในอินเดียกีดกันไม่ให้คนในวรรณะอื่นเข้ามาสู่วรรณะของตน อย่างวรรณกษัตริย์ก็มี การแต่งงานกันอยู่ในวรรณะของตน ไม่ยอมแต่งงานกับคนในวรรณะอื่น หรือไม่ให้คนอื่นเข้าไปยุ่งในวรรณะของตน แม้พวกวรรณพราหมณ์ ก็ยังถือ ชั้นวรรณะกันอยู่มาก เรียกว่าตระหนีวรรณะ หรือพูดง่ายๆ คือ ตระหนี่ คุณความดี ไม่ปรารถนาจะให้คนอื่นสู้ตนเองได้ แม้อย่างนี้จัดเป็น วัณณมัจฉริยะเหมือนกัน คือ เห็นว่าตนมีดีอย่างโน้นอย่างนี้แล้วก็กลัวว่า คนอื่นจะมาดีหรือจะมาเก่งเท่าตน ก็ตระหนี่ไว้กีดกันไว้ ไม่ให้คนอื่นมาดี เท่าตน จัดเป็นวัณณมัจฉริยะเหมือนกัน
เห็นชัดมากในประเทศแอฟริกาใต้ ในสมัยที่พวกฝรั่งยังมีอำนาจมาก เหยียดผิว ไม่ให้พวกชนพื้นเมือง
ผิวหมึกหรือผิวดำเข้ามามีอิทธิพลหรือมี สิทธิเสรีภาพเท่าพวกผิวขาว ทั้งที่ดินแดนในแอฟริกาใต้เป็นเมืองของพวก
คนผิวดำมาแต่เดิม พวกผิวขาวมาจากอังกฤษแท้ๆ เมื่อมายึดครองบ้าน เมืองของพวกผิวดำเอาไว้แล้วยังเหยียดพวกผิวดำไม่ให้มีสิทธิเสรีภาพเท่าพวกตน เช่น กีดกันไม่ให้ใช้โรงพยาบาล ไม่ให้ใช้สาธารณประโยชน์ หรือที่ อยู่หรือเข้าเรียนในโรงเรียนร่วมกับตน กันไว้ให้พวกผิวขาวได้อยู่ได้ใช้เท่านั้นบางทีไม่ใช่แต่ผิวสีดำในประเทศแอฟริกาอย่างเดียวที่พวกฝรั่งเหยียดผิว แม้แต่พวกผิวดำที่มาจากอินเดียก็ถูกกีดกัน แม้พวกผิวเหลืองก็ถูกกีดกันอีก แต่เมื่อญี่ปุ่นมีอำนาจมากขึ้นก็เพลาลงไปหน่อย โดยถือว่าพวกญี่ปุ่นนี้เป็น ผิวเหลืองก็อนุญาตไม่ค่อยกีดกันเหมือนพวก
ผิวดำ
อย่างในสหรัฐอเมริกานั้นเห็นชัดมากว่า เหยียดผิวกันจนเกิดสงคราม คือพวกฝรั่งผิวขาวเหยียดพวกนิโกรผิวดำ แต่พวกนิโกรก็น่าเกลียดเหมือน กันเพราะไร้มารยาท และประพฤติตัวต่ำ บางคนไม่น่าจะเข้าใกล้เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าเขามีความประพฤติดีก็น่าคบ ไม่ควรจะไปเหยียดหยาม เขา เพราะมนุษย์เกิดมาก็ควรจะมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นไม่ให้ยึดถือชั้นวรรณะ ถ้าไปเหยียดผิวรังเกียจผิว ก็จัดเป็นคนตระหนี่
ไม่ให้คนพวกอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในวรรณะของตน การตระหนี่เช่นนี้ถือว่าเป็นวัณณมัจฉริยะ
ธัมมมัจฉริยะ ตระหนีธรรม คือ ไม่อยากให้ความรู้ที่ตนเองมีให้แก่คน อื่น เช่น พระสงฆ์บางรูปมีความรู้ธรรมะแตกฉาน แต่ก็ไม่อยากบอกให้คน อื่นรู้ กลัวว่าคนโน้นคนนี้จะมีความรู้เท่าตน ตระหนี่เอาไว้ บางคนก็มีความ รู้ในทางศิลปวิทยาต่างๆ ก็ไม่ยอมบอกลูกหลานหรือใครอื่น จนพาตายตาม ตัวไปก็มี ทราบว่าคนไทยเราบางคนมีศิลปวิทยา เช่น ยาขนานดี หรือเวท มนตร์วิเศษ ก็ไม่ยอมบอกให้แก่ใครเลย พาตายไปเลย อย่างนี้น่าเสียดาย
มาก วิทยาการควรจะสืบต่อกันก็หายไป ใครที่ตระหนี่ความรู้ ตระหนี่ วิทยาการ ตระหนี่ธรรมะนั้น จัดเข้าในข้อนี้ทั้งสิ้น แต่ผู้ใดถ้าไม่ตระหนี่ ผู้นั้นเป็นนักเสียสละ
เพราะฉะนั้น ผู้เสียสละก็จะต้องทำลายความตระหนี่ออกไปเสีย โดยเฉพาะการให้ทานนั้น จำเป็นต้องทำลายลาภมัจฉริยะ คือความตระหนี่ ลาภ ตระหนี่ทรัพย์สมบัติของตนเองเสีย ดังมีเรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎกเป็น
ตัวอย่าง
/ พราหมณ์จูเฬกสาฎก
เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎกปรากฏอยู่ในอรรถกถาธรรมบทภาคที่ ๕ ท่านนํามาเล่าเทียบเคียงกับเรื่องพราหมณ์มหาเอกสาฎก คือ พราหมณ์ มหาเอกสาฎกนั้น เคยเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ซึ่งมี การถวายทานจะยิ่งใหญ่กว่าพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก แต่ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านได้ยกตัวอย่างพราหมณ์จูเฬกสาฎกเป็นตัวอย่าง ซึ่งเอาชนะความตระหนี่ของตนอย่างน่าสรรเสริญยิ่ง
กล่าวกันว่า ในกรุงสาวัตถี มีพราหมณ์อยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า จูเฬกสาฎก
เพราะว่ามีแต่ผ้านุ่งเท่านั้น ผ้าห่มนั้นใช้ร่วมกันกับเมีย คือนางพราหมณี ผ้าห่มนี้มีผืนเดียว เรียกว่า เอกะ – ผืนเดียว ผู้มีผ้าสาฎกคือผ้าห่มผืนเดียว เขามีผ้าห่มอยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น เมื่อไปไหนมาไหนจะไปพร้อมกัน ๒ คน ไม่ได้ เพราะสองสามีภรรยานี้จนมาก ถ้าหากว่าสามีไปนอกบ้าน ภรรยาก็ ไปไม่ได้ เพราะไม่มีผ้าห่มจะเดินล่อนจ้อนไป นุ่งแต่ผ้านุ่ง ผ้าห่มไม่มีเฉวียง บ่าห่มไปด้วยก็ไม่สวยไม่เหมาะ เพราะฉะนั้น เขาทั้งสองต้องแบ่งเวลากันไป
ธุระนอกบ้าน
ตามปกติแล้วในวัดพระเชตวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเสมอ บางครั้งเขาก็มีการประกาศไปทั่วเมืองว่า พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์จะ แสดงธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน ในวันนั้น พราหมณ์จูเฬกสาฎกก็อยาก ไปฟังธรรมกันสองผัวเมีย เพราะว่ามีความเคารพนับถือต่อพระพุทธเจ้าและ พระสงฆ์อยู่ จึงปรึกษากับภรรยาว่า “เราทั้งสองอยากจะไปฟังธรรม จะไป พร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าผ้าห่มมีอยู่ผืนเดียว” เพราะฉะนั้น จึงตกลงกับนาง พราหมณี ผู้เป็นภรรยาว่า “เจ้าไปกลางวันเถิด ฉันจะไปกลางคืน”
ตอนกลางวันก็ให้นางพราหมณี คือภรรยานั้นไปฟังธรรม ก็ได้ผ้าห่ม ผืนนั้นไป พราหมณ์นั้นก็นั่งรออยู่ตอนกลางวัน พอค่ำภรรยากลับมา ตัวเองก็จะได้ไปฟังรอบกลางคืน แสดงว่าพระสงฆ์ในสมัยโน้นท่านแสดงธรรมกัน
เป็นวันๆ อื่นๆ เมื่อเวลามีการประกาศการฟังธรรมกัน ซึ่งมีเป็นครั้งเป็น คราวหรือเป็นพิเศษ
พอถึงวาระของพราหมณ์จูเฬกสาฎก เขาก็ได้ไปฟังธรรมที่วัดพระเชตวันเมื่อฟังธรรมก็เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าอย่าง มาก ตั้งแต่หัวค่ำแล้วที่เกิดความเลื่อมใสอยากจะถวายผ้าสาฎก คือผ้าห่ม ผืนเดียวของตนแด่พระพุทธเจ้า แต่ก็คิดแล้วคิดอีก ถ้าถวายไปตัวเองก็ไม่มีผ้าจะห่ม ภรรยาของตัวเองก็ไม่มีผ้าห่ม เพราะว่ามีผืนเดียวเท่านั้นทั้งบ้าน ทั้งเรือนสองคนผัวเมีย พอคิดจะถวายขึ้นมา จิตมัจฉริยะ (ขี้เหนียว) ตั้ง ๑,๐๐๐ ดวงเกิดขึ้นมาห้ามศรัทธาจิตเอาไว้ พอศรัทธาจิตเกิดขึ้นว่าจะต้องถวาย มัจฉริยะจิตใจที่ตระหนี่ก็มาห้ามอีกว่า “ถวายไม่ได้เพราะเรานี่ยากจน มีผ้าห่มอยู่ผืนเดียว” ก็ขัดกันอยู่อย่างนี้ระหว่างศรัทธากับมัจฉริยะ จนปฐมยามนั้นผ่านไป
ยามในประเทศอินเดียนั้นมี ๓ ยามๆ ละ ๔ ชั่วโมง คือ ปฐมยามตั้ง แต่ 5 โมงเย็นถึง ๔ ทุ่ม มัชฌิมยามตั้งแต่ ๔ ทุ่มจนถึงที่ ๒ ส่วนปัจฉิมยาม นั้น ตั้งแต่ตี ๒ ถึง ๖ โมงเช้า เรียกว่า ๓ ยามได้แก่ ปฐมยาม – ยามแรก มัชฌิมยาม – ยามในท่ามกลางและปัจฉิมยาม – ยามสุดท้าย
พราหมณ์คนนี้ ในปฐมยาม ยามแรก ก็ตั้งใจจะถวายผ้าสาฎก ของตนแด่พระพุทธเจ้า แต่จิตมันขัดกันอยู่ ศรัทธาจิตเกิดขึ้นจะถวาย มัจฉริยะจิตห้ามไว้เสีย เป็นอยู่อย่างนี้ จนปฐมยามผ่านไป เขาก็ฟังธรรมไป ฟังไปก็อยากถวายอยู่เรื่อย เขาเลื่อมใสพระพุทธเจ้าเป็นกําลัง แม้ตอน มัชฌิมยามมันก็เถียงกันอยู่อีก ระหว่างจิตที่ตระหนี่กับจิตที่มีศรัทธา เมื่อ เถียงกันอยู่ก็ยังตัดสินใจไม่ได้ เพราะว่ามีผ้าผืนเดียวเท่านั้น แต่พอเข้า ปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นได้ใช้ศรัทธาจิตครอบงํามัจฉริยจิตของตนไว้ได้
ดังนั้น พราหมณ์นั้นจึงได้นําผ้าสาฎกของตนเองเข้าไปน้อมถวายแด่ พระพุทธเจ้าในปัจฉิมยาม อันเป็นยามสุดท้ายใกล้รุ่งแล้ว พอน้อมเข้าไป ถวายเสร็จ พราหมณ์ดีใจมาก ถึงกับร้องอุทานเสียงดังว่า “ชิต เม ชิต เม ฉันชนะแล้ว ฉันชนะแล้ว”
ทราบว่าในคืนนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ทรง ประทับนั่งสดับพระธรรมเทศนาอยู่ด้วย พอได้ทราบสดับเสียงว่า ชิต เม ชิต เม ฉันชนะแล้ว ฉันชนะแล้ว” เสียงอย่างนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจของพระ
มหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์องค์ใดจะมาชนะเหนือพระองค์ไม่ได้ในแคว้นของพระองค์ พระองค์จึงทรงรับสั่งให้อํามาตย์เข้าไปถามพราหมณ์นั้นว่า “ท่านชนะอะไร” พราหมณ์ก็บอกว่าชนะใจของตัวเองที่ตัดความตระหนี่ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบอย่างนั้นก็ทรงพอพระทัยว่า“พราหมณ์ เช่นนี้ทำสิ่งที่ทำได้ยากเหลือเกิน คนที่เสียสละอย่างนี้หาได้ยากมาก เขามี ผ้าผืนเดียวรวมกับภรรยาสำหรับห่มทั้งภรรยาและตัวเอง และก็มีผ้านุ่งอยู่
คนละผืนเท่านั้น แต่ผ้าห่มนั้นผืนเดียวรวมกับภรรยา เขายังถวายแด่พระพุทธเจ้าได้ น่าสรรเสริญพราหมณ์คนนี้
คนเสียสละอย่างนี้หาได้ยาก เขาเลื่อมใสในฐานะที่น่าเลื่อมใส คือมาเลื่อมใสพระพุทธเจ้าที่เราเคารพเลื่อมใสอยู่”
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงรับสั่งอํามาตย์ให้นําผ้าไปมอบให้พราหมณ์ นั้นคู่หนึ่งเป็นผ้าสาฎก พราหมณ์นั้นก็น้อมผ้านั้นไปถวายพระพุทธเจ้าเสีย อีก พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงให้เอาผ้ามามอบให้อีก ๔ คู่ พราหมณ์นั้นก็ ถวายพระพุทธเจ้าเสียอีก พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงให้นําผ้ามามอบให้พราหมณ์ นั้น ๘ คู่ และ ๑๖ คู่ ตามลำดับ พราหมณ์นั้นก็ถวายพระพุทธเจ้าหมด จน พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้นําผ้าสาฎกมาถวายพราหมณ์ ๓๒ คู่ พราหมณ์คิดว่า ถ้าเราไม่เอาไว้ใช้เองบ้าง เดี๋ยวเจ้าของคือพระเจ้าปเสนทิโกศลจะไม่ ทรงพอพระทัย ก็เก็บไว้ใช้คู่หนึ่ง สำหรับตัวเองและภรรยาได้ห่ม ใน ๓๒ คู่ นั้น ยังเหลือ ๓๐ คู่ ก็น้อมถวายพระพุทธเจ้าเสียอีก
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเข้าอย่างนั้น จึงรับสั่งอํามาตย์ให้ไปนํา ผ้ากัมพลพิเศษ (ผ้ากัมพลคือผ้าที่ทำจากขนสัตว์) ราคา ๑ แสนกหาปนะคู่ หนึ่ง เอามามอบให้พราหมณ์ พราหมณ์นั้นคิดว่าผ้าอย่างนี้ไม่ควรถูกต้อง กายของเรา ควรจะถวายแด่พระพุทธเจ้า จึงได้นําไปถวายแด่พระพุทธเจ้าเพื่อกั้นเป็นเพดานในพระคันธกุฏี ส่วนอีกผืนหนึ่งก็นําไปไว้ที่บ้านของตนเอง เผื่อเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาก็จะได้ใช้ผ้าผืนนี้กั้นเป็นเพดานให้ พระพุทธเจ้า ในเวลาพระองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตนเอง
พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปที่พระคันธกุฎี ในวัดพระเชตวัน ทรงเห็นผ้านั้น ทรงทราบว่าพราหมณ์นั้นถวาย ก็ทรงเลื่อมใสพอใจพราหมณ์ นั้นมากขึ้น จึงทรงมอบรางวัลให้พราหมณ์นั้นอย่างละ ๔ หลายชนิดทีเดียว จนพราหมณ์นั้นกลายเป็นคนร่ำรวยขึ้น เพราะรางวัลที่ได้รับในครั้งนั้น
รางวัลอย่างละ ๔ คือ ช้าง ๔ ตัว ม้า ๔ ตัว กหาปนะ ๔ พัน หญิง ๔ ๔ คน ทาสี ๔ คน ชาย ๔ คน
บ้านส่วย ๔ ตำบล สำหรับเก็บส่วย พราหมณ์นั้นก็ร่ำรวยขึ้นทันทีทันใด ในช่วงนั้นเอง เพราะเหตุที่ถวายผ้า สาฎกแด่พระพุทธเจ้าผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ผู้สูงสุดด้วยศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง
ในวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายได้ทราบเรื่องนั้น ก็มาสนทนากันที่ธรรม สภาในวัดพระเชตวันว่าพราหมณ์นั้นร่ำรวยขึ้นทันทีทันใดที่ถวายทานแด่ พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้เสด็จไปที่นั้น เมื่อทรงทราบ ดังนั้นก็ได้ตรัสแก่ ภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่า พราหมณ์จูเฬกสาฎกนี้ จักสามารถถวาย ผ้าสาฎกของตนแก่เราในเวลาปฐมยาม ก็จัดได้สิ่งทั้งปวง (ของที่พระราชา พระราชทานให้) อย่างละ ๑๖ ถ้าจักสามารถถวายในเวลามัชฌิมยาม เขา จักได้สิ่งทั้งปวงอย่างละ ๘ แต่ว่าเพราะพราหมณ์ถวายในเวลาใกล้รุ่งมาก แล้ว เขาจึงได้สิ่งทั้งปวงอย่างละ ๔ ด้วยว่า บุคคลเมื่อทำความดี ไม่ควร ปล่อยให้จิตที่เกิดขึ้นในการทำกรรมดีเสื่อมไป จึงทำเสียในขณะนั้นนั่นเอง เพราะว่า กุศลที่บุคคลทำช้าแล้ว เมื่อจะให้สมบัติ ก็จะให้ช้าเช่นกัน เพราะ ฉะนั้น จึงสร้างกรรมดีเสีย ในขณะที่เกิดความคิดขึ้นในการทำกรรมดีทีเดียว”
เมื่อพระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้สืบเนื่องกัน จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
“บุคคลพึงรีบทำกรรมดีเสีย จึงห้ามจิตจากบาป
เพราะว่าเมื่อทำบุญชักช้าอยู่ จิตก็จะพอใจในบาปเสีย”
เรื่องนี้เป็นการยืนยันให้เห็นว่า การให้ทานของพราหมณ์นั้น เป็นการ เอาชนะความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว และเป็นการให้ทานที่พระพุทธเจ้า ทรงสรรเสริญ เขาจึงได้ผลทานทันตาเห็น แต่เขาทำช้า ผลของทานจึงมีไม่ มาก ถ้าเขาตัดสินใจทำทานไว เขาก็จะได้รับผลของทานมากกว่านี้ ตามที่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแน่นอน
*ตอนที่ ๙*
…ผลบุญรอต้อนรับผู้ทำบุญไว้…
ในตอนนี้จะพูดถึงผลบุญรอต้อนรับผู้ทําบุญไว้ แม้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ โดยปรากฏรอเขาอยู่แล้วในโลกหน้า
เรื่องนายนันทิยะ
“ญาติ มิตร และคนใจดีทั้งหลาย ได้พบเห็นญาติมิตรผู้ ไปอยู่ต่างถิ่นเสียนาน กลับมาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดีย่อมยินดี ยิ่งว่า “มาแล้ว” ฉันใด บุญทั้งหลายย่อมต้อนรับ แม้คนที่ทำบุญ ไว้แล้ว พากันยินดีต้อนรับอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน”
ข้อความพระคาถาข้างต้นนี้ คือ พระพุทธพจน์ที่ พระพุทธองค์ทรงปรารถนายนันทิยกุลบุตร ผู้มีศรัทธามาก ในกรุงพาราณสี ในสมัยพุทธกาล
นันทิยมาณพ เป็นผู้กอปรด้วยศรัทธา ชอบบํารุงพระภิกษุสงฆ์ เช่น เดียวกับมารดาบิดาของตน เมื่อเขาเป็นหนุ่มขึ้น ต้องการจะให้บุตรชายได้แต่งงานกับนางเรวดี ผู้เป็นบุตรสาวของลุง ซึ่งอยู่ บ้านตรงกันข้าม แต่นางเรวดีเป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่ชอบให้ทาน นายนันทิยะจึงไม่ต้องการแต่งงานกับนางเรวดี
หลังจากนั้น มารดาของนายนันทิยะได้พูดกับนางเรวดีว่า “แม่หนู เจ้าจงตกแต่งสถานที่นั่งของพระภิกษุสงฆ์แล้วปูลาดอาสนะไว้ในเรือนนี้ จงวางเชิงบาตรไว้ในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายมายังบ้านนี้
ขอให้เจ้าจงรับบาตร นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ให้นั่ง เอาธัมกรก (เครื่องกรองน้ำ) กรองน้ำฉันถวาย แล้วล้างบาตรในเวลาพระฉันเสร็จ เมื่อเจ้าทำอย่างนี้ เจ้าก็จะเป็นที่พึงใจแก่บุตรของเรา” นางเรวดีก็ได้ทำตามคำแนะนํานั้น
ต่อมา มารดาบิดาของนายนันทิยะ จึงได้เล่าพฤติกรรมของนางเรวดี ให้แก่บุตรชายว่า นางเป็นผู้อดทนต่อโอวาท คือ เชื่อฟังคำสั่งสอนของ ผู้ใหญ่ จึงทำให้นายนันทิยะพอใจ ในที่สุดก็ได้แต่งงานกับนางเรวดี
เมื่อแต่งงานอยู่กินกันแล้ว นายนันทิยะจึงพูดกับนางเรวดีว่า ถ้าเธอ จะตั้งใจบํารุงพระภิกษุสงฆ์และมารดาบิดาของฉัน ถ้าทำได้เช่นนั้น ก็จะได้ทรัพย์สมบัติในเรือนนี้ ขอให้เธอจงเอาใจใส่ในเรื่องนี้
นางเรวดีก็รับปากกับสามีว่า ยินดีทำตามที่ขอร้องทุกอย่าง แล้วทำ เป็นคนมีศรัทธาในพระศาสนา บํารุงพระภิกษุสงฆ์อยู่แค่ ๒-๓ วัน แล้วก็ ละเลยเสีย จนมีบุตรถึง ๒ คน ต่อมา เมื่อมารดาบิดาของนายนันทิยะ ถึงแก่กรรมหมดแล้ว ความเป็นใหญ่ในเรือนทั้งหมดก็ตกแก่นางเรวดีแต่ผู้เดียว
/ นายนันทิยะสร้างวิหารถวายสงฆ์
นับตั้งแต่พ่อแม่ถึงแก่กรรมจากไปหมดแล้ว นายนันทิยะก็เป็น มหาทานบดี คือ เป็นผู้อํานวยการในการบริจาคทานมาก โดยเตรียมตั้งทาน (ของถวาย) สำหรับพระภิกษุสงฆ์ และเริ่มตั้งโรงทานสำหรับแจก อาหารแก่คนกําพร้า และคนเดินทางเป็นต้น ประจำไว้ที่ประตูบ้านของตน
ในกาลต่อมา เขาฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เข้าใจอานิสงส์ ของการถวายวิหาร (กุฏิ) แล้ว ได้สร้างศาลาจตุรมุข ประกอบด้วยห้อง ๔ ห้อง ขึ้น ๑ หลัง ในมหาวิหาร (วัดใหญ่) ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้ติด ตั้งเครื่องตกแต่งภายในมีเตียงและตั้งเป็นต้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อจะมอบถวายศาลาหลังนั้น ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้ถวายน้ำทักขิโณทก (น้ำที่แสดงถึงการให้ทาน) แด่พระตถาคต ในขณะนั่นเอง ปราสาททิพย์สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ สมบูรณ์ด้วยหมู่นารี (นางเทพอัปสร) มีประมาณ ๑๒ โยชน์
(กินเนื้อที่ ๑๒ โยชน์) สูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ผุดขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมกับที่น้ำทักขิโณทกประดิษฐาน
ในพระหัตถ์ของพระศาสดา
/ พระมหาโมคคัลลานะเยือนเมืองสวรรค์
ต่อมาวันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะเถระ อัครสาวกฝ่ายซ้ายของ พระพุทธองค์ ซึ่งได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่ามีฤทธิ์กว่าภิกษุสาวก ทั้งปวง ได้ท่องเที่ยวจาริกไปในเทวโลก ได้ยืนอยู่ในที่ไม่ไกลจากปราสาทนั้น ถามเทวบุตรทั้งหลายซึ่งมาสู่สำนักของตนว่า“ปราสาททิพย์เต็มไปด้วย นางอัปสรนั้น เกิดขึ้นแล้วเพื่อใคร”
พวกเทวบุตรเหล่านั้น ได้กราบเรียนท่านว่า วิมานนี้เกิดขึ้นเพื่อบุตรของคฤหบดีชื่อนันทิยะ ผู้สร้างวิหารถวายพระศาสดาในป่าอิสิปตนะ ฝ่าย หมู่นางอัปสร เมื่อเห็นพระเถระแล้วก็พากันลงจากปราสาทแล้วพูดว่า “ท่าน เจ้าขา พวกดิฉันเกิดที่นี่ด้วยหวังว่าจะเป็นนางบำเรอของนายนันทิยะ แต่ เมื่อไม่พบนายนันทิยะก็รู้สึกระอาเหลือเกิน ด้วยว่า การทิ้งมนุษย์สมบัติ แล้วมาได้สวรรค์สมบัติก็เหมือนทำลายถาดดิน แล้วมาถือเอาถาดทองคํา เพราะฉะนั้น ขอให้พระผู้เป็นเจ้าช่วยบอกนายนันทิยะ เพื่อให้มาเกิดในที่นี้”
/ ทิพย์สมบัติเกิดรอผู้ทําบุญไว้
พระโมคคัลลานเถระ กลับจากเทวโลกนั้นแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทิพยสมบัติย่อมบังเกิดแก่ผู้ทําความดี ไว้ที่อยู่ในโลกนี้ได้หรือ (คือยังไม่ตาย แต่ทิพยสมบัติเกิดรออยู่บน
เทวโลกได้หรือ)”
พระศาสดาตรัสว่า “โมคคัลลานะ ทิพยสมบัติเกิดแล้วแก่นายนันทิยะ ในเทวโลก เธอเห็นด้วยตนเองแล้วมิใช่หรือ ทําไมมาถามเราเล่า”
พระโมคคัลลานะ ทูลว่า “ทิพยสมบัติเกิดได้อย่างนั้นหรือพระเจ้า ข้า” พระศาสดาจึงตรัสตอบว่า “โมคคัลลานะ เธอพูดอะไรนั้น เหมือน อย่างว่า มีใครคนหนึ่งยืนรออยู่ที่ประตูเรือน ได้เห็นบุตรหรือพี่น้องผู้ไปอยู่ ต่างถิ่นเสียนาน กลับมาจากถิ่นอื่นสู่เรือน จึงพูดขึ้นว่า “คนโน้นมาแล้ว” เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกญาติของเขาก็พึ่งร่าเริงยินดี ออกมาจากเรือนโดย ขมีขมัน จึงยินดีกับผู้นั้นว่า พ่อมาแล้ว พ่อมาแล้ว ฉันใด เหล่าเทวดาต่าง ถือเครื่องบรรณณาการ ๑๐ อย่างต้อนรับด้วยคิดว่า “เราก่อนๆ” แล้วยินดี ย่อมยินดียิ่งกับบุรุษหรือสตรีผู้ทําความดีไว้ในโลกนี้ ซึ่งตายจากโลกนี้ไปเกิด ใหม่ในโลกหน้าคือเทวโลก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน” แล้วได้ตรัสพระคาถาดังที่ได้ยกมากล่าวไว้ในตอนต้นนั้นแล้ว
เรื่องนี้เป็นเครื่องยืนยันตามหลักพระพุทธศาสนาว่าสวรรค์มีจริง เทวดามีจริง คนเราตายแล้วเกิดใหม่จริง ผลของบุญก็มีจริง และผลของบุญ สามารถจะเกิดรอคนที่ทำบุญไว้แม้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้จริง ดังเรื่องนายนันทิยะเป็นตัวอย่าง จนพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มาก ได้ไป พบเห็นมาด้วยตนเอง ก็ยังสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ไม่จําเป็นที่จะต้องพูด ถึงคนอย่างพวกเราปุถุชนที่ต้องสงสัยเรื่องเช่นนี้ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสยืนยัน
ว่าเป็นจริงและเกิดขึ้นแล้วอย่างที่พระโมคคัลลานะก็ไปเห็นมาด้วยตนเองแล้ว ผลของทานยังให้ผลมหัศจรรย์ถึงเพียงนี้ แล้วผลของศีลและภาวนาจะให้ผลมหัศจรรย์ขนาดไหน
พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบในข้อนี้ว่า บุญทั้งหลายที่ทำไว้ย่อมรอต้อนรับหรือยินดีต้อนรับผู้ทําบุญไว้
ไม่ว่าผู้นั้นจะไปเกิดในภพภูมิใด เหมือน พ่อแม่พี่น้องญาติมิตรยินดีต้อนรับญาติ เช่น ลูก หลาน หรือพี่น้องที่เดิน ทางจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเสียไกล พอเดินทางกลับมาสู่บ้านเดิม ก็พากัน ต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดีว่า มาแล้วๆ
ยิ่งจากไปนานก็พากันดีใจมาก เพราะไม่พบหน้ากันเสียนาน เพราะต่างคิดถึงกันอยู่ ก็พากันกุลีกุจอต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใครกลับมาด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือการเรียนและกลับมาด้วยความปลอดภัย ก็ยิ่งยินดีและปลื้มใจมาก เช่น พ่อแม่ยินดีต่อความสำเร็จของลูกที่จากบ้านไปเรียนในต่างแดนเสียนานแล้วกลับมาบ้านด้วยความสำเร็จและปลอดภัย
บุญก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าในทาน ศีล หรือภาวนา ย่อมยินดีต้อนรับ ทุกคนผู้ทําบุญไว้ซึ่งไปสู่สถานที่นั้นๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเดินทางไปสู่ที่ใด ไม่ว่าใน โลกนี้ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ หรือสู่โลกหน้าที่เขาไปเกิดใหม่ เช่น ในกรณี ของนายนันทิยะเป็นตัวอย่าง ซึ่งสร้างศาลาหรือวิหารจตุรมุขถวายพระภิกษุ
พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไว้ในวัดมหาวิหาร ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มานทิพย์อันสวยงามและใหญ่โตเกิดรอเขาอยู่แล้วบนสวรรค์ชั้นหงส์ พร้อมด้วยหมู่นางเทพอัปสรที่เกิดขึ้นในวิมานนั้น ด้วยอำนาจบุญ นายนันทิยะ ทั้งๆ ที่เขายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เรื่องนี้แปลกมากจนแม้ อรหันต์อย่างพระโมคคัลลานะยังสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร จนได้รับการ อันจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นไปได้จริง เพราะพระโมคคัลลานะเองก็ได้ไป เห็นมาแล้วด้วยตนเอง จึงได้ตรัสพระคาถายืนยันไว้ในคัมภีร์ธรรมบทดังกล่าวแล้ว
เรื่องเช่นนี้ คนทั่วไปย่อมสงสัยมาก แม้แต่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฟังดูแล้วก็เหมือนกับนิยาย แต่ได้เกิดขึ้นเป็นตัวอย่าง มีแล้วแม้แต่ใน สมัยปัจจุบัน นั่นคือตายแล้ว (สลบ) พื้นของ พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย หรือพระวิสุทธิญาณเถร แห่งวัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี ผู้เป็นศิษย์สำคัญรูปหนึ่ง ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์กรรมฐานผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดรูป หนึ่งแห่งภาคอีสานของไทยเราในยุคปัจจุบัน
ผู้เขียนเองค่อนข้างมีความคุ้นเคยกันมากกับพระอาจารย์สมชาย เพราะได้นําพระนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งประเทศไทย ไปฝึกกรรมฐานที่วัดเขาสุกิม ปีละ ๑๕ วัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จนถึงปัจจุบัน ในระยะปีหลังๆ ได้นําพระนัก ศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มมร. รวมทั้งวิทยาลัยเขตไปฝึกด้วย รวมทั้งนําศิษย์ กรรมฐานฝ่ายฆราวาสไปฝึกด้วยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมาจนถึง ปัจจุบัน (ปี พ.ศ. ๒๕๔๓) เพราะวัดเขาสุกิมมีความเหมาะสมหลายอย่าง ในด้านการฝึกอบรมกรรมฐาน ทั้งได้ร่วมเดินทาง บําเพ็ญศาสนากิจกับท่าน อาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย หลายครั้ง รวมทั้งนําท่านและคณะไปไหว้พระใน ประเทศอินเดียในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ด้วย
ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ได้เล่าเรื่องที่ท่านประสบมาคือ ตายแล้วฟื้นให้ศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยฟังหลายครั้ง แต่ละครั้งมีความสั้นยาว และละเอียดไม่เท่ากัน แต่ท่านเล่าให้ฟังด้วยความมั่นใจ และเชื่อมั่นในสิ่งที่ เกิดกับท่านในครั้งนั้น ผู้เขียนเองได้ฟังเรื่องนี้จากการเล่าของท่านเองเป็น ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่ในที่นี้
จะได้เล่าให้ฟังตามที่หนังสือโลกทิพย์ ฉบับวันที่ ฉบับวันที่ ๒๘ ม.ค. ๒๕๓๕ ซึ่งได้สอบประวัติของท่านมาลงไว้ค่อนข้าง ละเอียด แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะคัดเอามาเฉพาะตอนตายแล้วฟื้นมากล่าว โดยจะอธิบายข้อคิดเห็นเพิ่มเติมลงไปบ้างบางตอน เฉพาะข้อความที่อยู่ในวงเล็บ เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น ดังต่อไปนี้
/ ตายแล้วฟื้น
…ต่อมา ท่านอาจารย์สมชายได้ธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวกเพื่อ จะได้บําเพ็ญสมณธรรม ปฏิบัติกรรมฐานเรื่อยไปในหลายแห่งหลายที่ แต่ละ ที่ท่านก็มักจะเร่งทำความเพียรอย่างหนัก จนสภาพสังขารร่างกายทรุด
โทรมในบางครั้ง ประกอบกับท่านได้รับเชื้อไข้ป่ามาบ้างในขั้นแรก พอมาอยู่ จำพรรษาที่วัดป่าอิสสระธรรม จังหวัดสกลนคร ในปีพ.ศ. ๒๔๙๔ (เมื่อท่าน มีอายุได้ ๒๖ ปี) โดยได้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์สีลา อิสฺสโร
ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่นอีกรูปหนึ่ง ที่มีข้อวัตรปฏิบัติอันน่าศึกษา ทั้งยังเป็นแบบฉบับของพระป่ากรรมฐานได้เป็นอย่างดี
ตลอดพรรษานี้ ท่านพระอาจารย์สมชายได้เร่งทำความเพียรเพิ่มขึ้นอีก โดยตั้งสัจจะไว้ว่า ตลอด เดือนนี้จะไม่เอนกายนอนจำวัดเลย คงทำความเพียรอยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ตลอดทั้งข้อวัตร กิจวัตร
อาจาริยวัตร ทั้งหมด ท่านก็ยังคงทำอยู่สม่ำเสมอ โดยไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่น้อย
พอใกล้จะออกพรรษาในปีนั้น ท่านพระอาจารย์สมชายก็ได้ล้มป่วย ลงด้วยพิษไข้ป่าหรือมาลาเรียขึ้นสมอง ร่างกายที่อิดโรย อ่อนแอ เนื่องจาก การพักผ่อนไม่พอเพียง ทั้งไม่ได้เอนกายลงนอนจำวัดเลยตลอด ๓ เดือนที่ ผ่านมา ประกอบกับในช่วง ๗-๘ วันนั้นยังฉันจังหัน (ฉันอาหาร) ไม่ค่อยได้อีก ฉันอะไรเข้าไปก็อาเจียนออกมาหมด เพราะพิษไข้สูงมาก เป็นลักษณะ นี้อยู่หลายวัน
จนกระทั่งวันหนึ่ง อาการป่วยจะเพิ่มหนักกว่าทุกวัน ท่านจึงยอมเอนกายลงนอนพัก ทุกขเวทนาในร่างกายก็กําลังบีบคันอย่างรุนแรงมาก ในขณะนั้นสังขารร่างกายภายในปั่นป่วนกระวนกระวายเป็นที่สุด
ส่วนทางด้านจิตใจนั้น ท่านยังคงมีสติพิจารณาจับดูความเป็นไป ของเวทนาที่เกิดขึ้นโดยตลอด แต่ในบางขณะบางครั้ง เวทนามันเกิดจนจิต แทบไม่สามารถทนรับได้ ไม่รู้ว่าจะเอาจิตไปจับอยู่ที่ตรงไหนดี
ในขณะที่กําลังกระวนกระวายอยู่นั้น ก็มีความรู้สึกว่า ความรู้ต่างๆ ได้มารวมจับอยู่ที่ท้องมากที่สุด มากกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ท่านเล่าว่า “มันมีความรู้สึกคล้ายๆ กับว่า มีก้อนหินขนาดใหญ่มาวางทับอยู่ บนหน้าท้องจนรู้สึกอึดอัดไปหมด รู้สึกว่าท้องค่อยๆ ยุบลงๆๆ จนกระทั่ง หายใจติดขัด ไม่สะดวก ภายในช่องท้องก็คล้ายกับว่าไส้ข้างในท้องมันบิด ตัวจนปวดแน่นไปหมด และลมในท้องก็ค่อยๆ อัดที่ขึ้นมาจุกอยู่ตรงคอหอย ความเจ็บปวดวิ่งไปทั่วสรรพางค์กาย ทุกข์ทรมานไปหมด
อาการที่เป็นเช่นนี้อยู่พักใหญ่ จึงมีความรู้สึกว่าจะสะอึก แล้วก็ สะอึก…อึก…. (อันเป็นการแสดงว่า ท่านได้สลบไปแล้ว ซึ่งคนไทยทั่วไปเรียก อาการเช่นนี้ว่า ตายไปแล้ว โดยที่ท่านเองไม่รู้ตัว เพราะยังมีความรู้สึกทุกอย่างดีอยู่ แม้ในขณะนั้น) ทันใดก็รู้สึกโล่งไปหมดทั้งตัว เหมือนกับร่างกาย นี้ได้หายไป เวทนาที่เคยเป็นอยู่อย่างหนัก ได้หายไปจนหมดสิ้น ก็มาคิดว่าเอ๊ะ นี่อาตมา” หายป่วยได้อย่างไร ทําไมมันถึงได้รู้สึกโล่งสบายอย่างบอกไม่ถูก แล้วก็ลุกขึ้นนั่งได้อย่างปกติ
อาตมาก็คิดแปลกใจในตัวเองว่า เอ….เป็นอะไรไป ก็อาตมาป่วยจน ต้องนอนแซวมาหลายวันแล้วนี่นา เมื่อสักครู่ก็ยังรู้สึกป่วยเอามากๆ อยู่เลย กําลังทนทุกขเวทนาอยู่ อย่างชนิดที่เรียกว่าร่างกายแทบจะแตกดับ เรา กําลังกระวนกระวายอยู่ แต่ทําไมจู่ๆ เพียงแค่อาตมาสะอึกทีเดียวเท่านั้น ทุกขเวทนาต่างๆ เหล่านั้นที่รุมล้อมอยู่อย่างหนักหายไปได้อย่างไร
อาตมาป่วยหนักมา ๗ วัน ๘ คืนแล้ว อาหารอะไรก็ฉันไม่ได้เลย แต่ พอถึงคราวจะหาย ทําไมมันช่างง่ายดายนัก?”
ในขณะที่ท่านพระอาจารย์สมชายกําลังมีความรู้สึกตัวเช่นนั้นเป็น เวลาประมาณ ๑ ทุ่มเศษ หลังจากที่ได้รู้สึกตัวว่าหายป่วยได้อย่างประหลาด แล้ว จิตของท่านก็นึกถึงสามเณรอีกรูปหนึ่งซึ่งกําลังป่วยหนักอยู่เช่นกัน ด้วยไข้ป่าที่ติดเชื้อมาจากภูวัวด้วยกันกับท่าน ก็คิดว่าจะไปเยี่ยมดูอาการสามเณรรูปนั่นสักหน่อย
เพียงแต่คิดว่าจะไปเยี่ยมสามเณรเท่านั้น และยังไม่ทันที่จะได้ก้าวขา ออกเดินเลย แต่จะไปด้วยเหตุใดไม่ทราบ ปรากฏว่าได้ไปถึงที่ที่สามเณร นอนป่วยอยู่ทันที (อันแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ไปพบสามเณรนั้นคือกายทิพย์ของท่าน หาใช่กายเนื้อไม่ เพราะถ้าเป็นกายเนื้อก็จะไปไม่ได้รวดเร็วถึงปานนั้น) และได้มองเห็นสามเณรนอนหลับอยู่เป็นปกติ อยากจะแตะตัว สามเณรดูว่ามีไข้สูงหรือไม่ ก็ไม่กล้า กลัวว่าสามเณรจะตื่นขึ้นมา ทำให้ขัดจังหวะการพักผ่อน เดี๋ยวจะไม่สบายหนักลงไปอีก ก็เลยไม่ทำ พลางคิดว่า พรุ่งนี้ตอนกลางวันจึงค่อยมาเยี่ยมใหม่ดีกว่า
ต่อจากนั้น ท่านพระอาจารย์สมชายก็นึกถึงเรื่องกฐินว่า เขาจะจัดทำกันอย่างไรในปีนี้ พอไปถึงศาลาก็นึกได้ว่า เวลานี้เป็นกลางคืน แต่ทําไม เราจึงสามารถมองเห็นอะไรต่างๆ ได้อย่างชัดเจนเหมือนดังกลางวัน มองดูรู้ ว่าที่กองกฐินนั้นมีอะไรบ้าง วางอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะใด ก็นึกแปลกใจใน ตนเองอีกครั้ง (ผู้ที่เห็นทั้งหมดนั้นคือกายทิพย์ แต่ท่านเองไม่ทราบว่ามัน เป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร)
พอหันไปทางหนึ่งของศาลาก็ได้เห็น ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร กําลังประชุมพระเณรอยู่และได้ยินว่ากําลังพูดพาดพิงกล่าวมาถึงตัวท่านอยู่ ในลักษณะยกย่องว่า
“ครูบาสมชายนี่ (“ครูบา” เป็นศัพท์ทางภาคอีสานที่ใช้เรียกพระ ภิกษุทั่วไป) เป็นคนเอาจริงเอาจัง มีความพยายามสูง ถ้าครูบาไม่ตายเสีย ก่อน ก็คงจะได้คุณธรรมชั้นสูงอย่างแน่นอน และคงจะเป็นกําลังสำคัญของ พระศาสนารูปหนึ่ง….. แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่ตอนนี้ครูบาสมชายนั้นกําลังนอนป่วยหนักอยู่ จะอยู่หรือตายก็ไม่รู้ ด้วยอาการหนักมากด้วยพิษไข้… ถึง แม้ครูบาสมชายจะป่วยแต่ก็ยังพยายามทำความเพียร ไม่หลับ ไม่นอนเอาเสียเลย…
เมื่อวันก่อน ครูบาก็ยังสั่งผมไว้ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ขอแต่เพียง ท่านให้พระเณรเอาน้ำใส่กาไปตั้งไว้ที่กุฏิก็พอ แล้วถ้าตายไปละก็ให้ฝังไม่ต้องเผา ดูซิ….แม้จะตายก็ยังไม่ต้องการให้เป็นภาระของใครเลย ไม่รู้ว่า ตอนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ตายแล้ว (หรือเปล่า) ก็ไม่รู้….?
ในขณะที่ได้ยินอยู่นั้น ก็หวนคิดขึ้นมาได้ว่า “การที่มายืนแอบฟัง ครูบาอาจารย์พูดคุยกัน โดยที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในหัตถบาส (นั่งอยู่ที่ประชุม นั้นห่างกันไม่เกินศอก) ด้วยการกระทำเช่นนี้นั้น เป็นอาบัติทุกกฎ และเสียมารยาทด้วย ไม่สมควร” จึงรู้สึกไม่สบายใจ ท่านพระอาจารย์สมชายจึงได้รีบออกจากสถานที่นั่นทันที
หลังจากที่ท่านพระอาจารย์ได้กลับลงมาจากศาลาการเปรียญหลังนั้น แล้วเดินทางไปลานวัด เพื่อที่จะกลับกุฏิ ระหว่างทางก็มาเจอสุนัขตัว หนึ่งเข้าโดยบังเอิญ มันเป็นสุนัขที่อาศัยอยู่ในวัดและมีความมักคุ้นกับท่าน ดีอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ท่านมักจะให้อาหารแก่สุนัขตัวนี้อยู่เสมอ มี ความเชื่องชินกันดี และในบางครั้งก็ใช้เป็นเครื่องมือฝึกพลังอำนาจจิต โดยทดลองสะกดจิตฝึกสอนแบบจิตวิทยากับสุนัขตัวนี้อยู่บ่อยๆ
ตามปกติแล้ว สุนัขตัวนี้เมื่อได้เห็นท่านก็จะแสดงอาการดีใจ วิ่ง เข้าหาทันที และมักจะชอบติดตามไปไหนมาไหนด้วยเสมอๆ แต่วันนี้กลับ ไม่เป็นอย่างนั้น พอมันเห็นท่านพระอาจารย์สมชายปุ๊บก็วิ่งหนีทันที ทำท่า
หยุดๆ มองๆ พอท่านเดินตามไปก็วิ่งหนีอีก แล้วก็วิ่งหนีหายไปเลย ท่าน ก็ได้แต่แปลกใจและคิดในใจว่า
“เอ….เจ้าหมาตัวนี้มันเห็นผีหรืออะไรหนอ จึงทำอย่างนั้น น่าสงสัย จริงๆ!” (มันคงเห็นกายทิพย์ของท่านซึ่งแปลกจากกายเดิมของท่าน มันจึงวิ่งหนีเพราะเป็นคนแปลกหน้า)
การแสดงออกของสุนัขตัวนั้น ทำให้ท่านพระอาจารย์สมชายต้องครุ่นคิดด้วยความไม่เข้าใจ
เดินไปคิดไป กลับไปกุฏิ พอเปิดประตูกุฏิเข้าไป ก็ยิ่งแปลกใจมากขึ้น เพราะภาพที่ท่านเห็นข้างหน้านั้น
เป็นภาพร่างกายท่านเองอีกร่างหนึ่งนอนแน่นิ่ง อ้าปากตาค้างเหลือกขึ้นเบื้องบนอยู่บนเตียงนอนข้างหน้าท่าน
ท่านพระอาจารย์สมชายเกิดความงุนงงเป็นอันมาก
“นี่ร่างที่ยืนมองอยู่นี้และนั่นร่างที่นอนอ้าปากตาเหลือกค้างอยู่บน เตียงนั้น ทําไมถึงได้มี ๒ ร่างได้ มันอะไรกันนี่ หรือว่าจะเป็นผลของการทำสมาธิทำให้แยกร่างถอดกายทิพย์ได้”
ขณะที่ท่านพระอาจารย์สมชายกําลังไตร่ตรองพิจารณาครุ่นคิดอยู่นั้น ก็ได้มีชายใส่ชุดสีขาวเดินเข้ามาหาท่าน ๒ คน พร้อมกับพูดขึ้นว่า “พวกผมจะพาท่านไปเที่ยวบ้าน”
ท่านพระอาจารย์สมชายได้ถามไปว่า “บ้านเกิดอาตมา ที่ร้อยเอ็ดหรือ?” เขาก็ว่า “ไม่ใช่ครับ”
ท่านพระอาจารย์สมชายก็บอกกับชาย ๒ คนนั้นว่า “อาตมายังไปไม่ได้หรอก เพราะกําลังสงสัยอยู่ว่านี่มันอะไรกันแน่ ที่นอนอยู่นั้นก็อาตมา และที่ยืนพูดอยู่นี่ก็ตัวอาตมา ถ้ามีใครมาเห็นเข้าก็จะตอบไม่ถูก”
ชาย ๒ คนนั้นก็ว่า “ไม่เป็นไรหรอก…..ถ้าท่านไปกับข้าพเจ้าแล้วจะ สิ้นสงสัยเอง”
ท่านพระอาจารย์สมชายก็ได้ถามอย่างเดิมไปอีก ๒ ครั้งเขาก็ยืนยันว่าจะหายสงสัยจริงถึง ๒ ครั้งเช่นกัน
พระอาจารย์สมชายจึงตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ตกลง”
พอท่านพระอาจารย์สมชายตอบตกลงเท่านั้นเอง ตัวท่านก็มีความรู้สึกว่าลอยตามชาย ๒ คนนั้นไปทันที ไปทางด้านตะวันออกของกุฏิ ลอย ลอดกิ่งต้นกะบกออกไป
ด้วยความสงสัย ท่านพระอาจารย์สมชายก็ได้ถามชาย ๒ คนนั้น “จะพาไปไหน”
เขาก็ชี้มือให้ดู มองตามไปเห็นคล้ายๆ กับมีดาวดวงหนึ่งสุกสว่าง ลอยลอดอยู่เบื้องหน้าแต่ไกล และกําลังลอยเข้าไปหาอยู่นั่นเอง
ความรู้สึกสุดท้ายในขณะที่เดินทางไปสู่สถานที่อันคล้ายกับดาวดวงหนึ่งนั้นก็คือ ได้มองเห็นดวงดาวนั้นสุกสว่างคล้ายเพชร (อันถือว่าเป็นโลก หนึ่ง หรือจะเรียกว่าสวรรค์หรือเทวโลกก็ได้) แล้วก็รู้สึกว่าได้พุ่งวูบเข้าไปในดวงดาวนั้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อได้ไปถึงยังสถานที่แห่งหนึ่งที่อยู่บนดาวดวงนั้น ก็มีความรู้สึก เหมือนกับว่าคล้ายๆ กับโลกมนุษย์ของเรานี่เอง ท่านพระอาจารย์สมชาย ได้เล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางไปยังสถานที่แห่งนั้นว่า
“ในสถานที่แห่งนั้น มีความแปลกกว่าโลกมนุษย์ที่ว่า ต้นไม้ที่เห็นอยู่ ทุกต้นเป็นระเบียบและสูงมาก กิ่งก้านสาขาอื่นประสานถึงกันหมด พอมองขึ้นไปยังยอดไม้ข้างบนก็เห็นเหลืองอร่ามเหมือนสีทอง ส่วนข้างล่างพื้นที่ เหยียบอยู่ก็เป็นพื้นหญ้าลักษณะเหมือนหญ้าแห้งปกคลุมทั่วไปหมด มองดู คล้ายๆ กับปูลาดไปด้วยพรมสีเขียวทั่วไปหมด จนมองไม่เห็นพื้นดินเลย เดินเหยียบไปตรงไหนก็รู้สึกนุ่มนิ่มไปหมด….”
ท่านพระอาจารย์สมชายได้เล่าถึงตอนนี้ว่า
“มีความรู้สึกว่า จิตใจของอาตมานั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมากราวกับ เป็นคนละคนที่เดียว จิตใจอ่อนโยนมีเมตตามาก จนบอกไม่ถูก ถ้าใครได้ไป เจอกับตัวเอง จึงจะรู้ว่าจิตใจมันเปลี่ยนอย่างไร เพราะว่าความรู้สึกบาง
อย่างและภาพที่เห็นบางครั้งก็ไม่สามารถจะสรรหาคํามาบรรยายเปรียบ เทียบได้ เช่นเดียวกับรสชาติของผลไม้ที่เรายังไม่เคยชิมดู ไม่เคยได้ลิ้มรส หากมีใครจะมาพรรณนาเรื่องรสชาติให้ฟังเท่าใดก็ไม่สิ้นสงสัย นอกจากจะลองลิ้มรสรับประทานด้วยตนเอง จึงจะสามารถรู้ได้ ฉันใดฉันนั้น”
สิ่งที่พิเศษอีกอย่างของสถานที่แห่งนั้นก็คือ ทันทีที่ก้าวเท้าสัมผัสถึงที่นั้น ก็จะได้ยินเสียงดนตรีขับกล่อมอยู่ตลอดเวลา (คงเป็นดนตรีสวรรค์ สำหรับชั้นนั้น) แต่หาต้นเสียงที่มาไม่ได้ เสียงดนตรีนั้นทำให้จิตใจมีความ
รู้สึกเยือกเย็น อ่อนโยนเป็นลำดับจากนั้น ชายทั้งสองก็ได้พาท่านอาจารย์สมชายไปยังบ้าน (วิมาน) หลังหนึ่ง แล้วก็บอกว่า “นี่แหละบ้านของท่าน ที่เราว่าจะพามาให้ชม” แล้วก็พากันเข้าไปในบ้าน ท่านพระอาจารย์สมชายก็เอ่ยถามชายทั้ง สองว่า “ใครเป็นผู้มาสร้างไว้ให้”
เขาก็ตอบว่า “สถานที่เราอยู่เวลานี้ก็คือแดนหนึ่งในโลกทิพย์สิ่งของ ทั้งหมดไม่ต้องมีใครสร้าง ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เอง เป็นเอง เสื่อมเอง ด้วย อานิสงส์ของคุณความดีที่ได้ทำไว้ในโลกมนุษย์”
พอเขาพูดเพียงแค่นี้ ท่านพระอาจารย์สมชายก็เข้าใจได้ในทันทีว่า “ถ้างั้นเราก็ตายไปแล้วนะซิ ถ้าตายอย่างนี้จะไปกลัวตายทําไม ไม่เห็นจะน่ากลัวตรงไหนเลย”
แล้วท่านพระอาจารย์สมชายก็ได้ถามไปอีกว่า “แล้วบ้านหลังนี้เกิดจากบุญอะไร”
ชายทั้งสองก็อธิบายให้ฟังว่า
“สมัยหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร ในพรรษานั้นท่านได้ตั้งใจสวด ปาฏิโมกข์ สวดได้ดีมาก และน้อมใจสวดจริงๆ ผลแห่งการกระทำด้วยใจ อันบริสุทธิ์ มีอานิสงส์บันดาลให้เกิดปราสาทวิมานหลังนี้เป็นการตอบสนอง”
พอท่านได้ฟังดังนั้นก็มีความรู้สึกซาบซึ้งใจมาก ทั้งดีใจและเสียใจระคนกัน ได้เข้าใจถึงเหตุผลที่ครูบาอาจารย์พยายามอบรมสั่งสอนเคี่ยวเข็ญ ให้รู้จักการท่องปาฏิโมกข์ คิดว่าเป็นนโยบายในการทำให้ลูกศิษย์มีความ ขยันในการท่องปาฏิโมกข์ โดยกล่าวอ้างอานิสงส์ไว้ล่อใจ ไม่คิดเลยว่าจะเกิดผลได้อานิสงส์จริงดังที่ครูบาอาจารย์ได้บอกกล่าวไว้
จากในปราสาทวิมาน มองออกไปทางด้านนอก ทางทิศตะวันออกก็ มองเห็นสวนมะม่วงสวยงาม ขึ้นเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ดูร่มรื่นและมีลาน สนามหญ้า พรรณดอกไม้งดงามพร้อมทั้งมีกระแสน้ำตกไหล ซูซ่าน่าภิรมย์ ยิ่ง มีที่นั่งที่นอนสำหรับพักผ่อนเอนกายเพื่อหย่อนใจ มองดูทั้งหมดก็เห็นว่าเป็นสถานที่ที่น่ารื่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง
จึงได้เอ่ยถามชายทั้งสองอีกว่า
“แล้วสวนมะม่วงพร้อมสนามหญ้า สวนดอกไม้ และธารน้ำตกนี่เกิดขึ้นได้อย่างไร จากบุญอะไร”
เขาก็ตอบอธิบายว่า
“เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๙ คือในปีเดียวกันนั่นเองท่านได้ไปบิณฑบาตที่บ้านธาตุนาเวง ซึ่งเป็นสายทางบิณฑบาต
ที่ไกลกว่าทุกสายและยากลําบากมาก ต้องข้ามน้ำ ข้ามลำคลอง บางแห่งก็ต้องลุยโคลนผ่านไป ผ้า สบงจีวรต้องเปียกเลอะเทอะแทบทุกวันจนไม่มีพระเณรรูปไหนอยากจะไป เมื่อไม่มีใครไป ท่านจึงไปแต่เพียงรูปเดียวตลอดพรรษา
วันหนึ่งได้มีชาวบ้านใส่บาตรด้วยมะม่วงอกร่องมาหลายลูก พอท่าน เดินกลับจากบิณฑบาต ก็มีความตั้งใจว่า ถ้ากลับถึงวัดแล้วก็จะเอามะม่วงที่บิณฑบาตได้มานี้ ถวายครูบาอาจารย์ให้หมดทุกรูป เพราะว่าเป็นอาหาร ที่ประณีตดี
พอกลับมาถึงวัดแล้ว ท่านก็ได้น้อมใจที่เต็มไปด้วยบุญกุศล เอา มะม่วงทั้งหมดใส่บาตรถวายครูบาอาจารย์จนหมดเกลี้ยง โดยที่ตนเองไม่ได้เก็บเอาไว้ฉันเองเลย การกระทำครั้งนั้นเป็นการตั้งใจและน้อมใจทำบุญ อย่างจริงๆ ผลอานิสงส์แห่งการกระทำด้วยดีโดยตลอดมานั้น จึงบังเกิดเป็นสวนมะม่วงและสถานที่ตอบสนอง”
หลังจากนั้น ชายทั้งสองก็ได้เล่าอะไรต่ออะไรให้ฟังอีกหลายอย่างให้ฟังเป็นลำดับว่าสิ่งของแต่ละอย่างเกิดขึ้นได้อย่างไร อยู่ที่ไหน ตลอดจนถึง ครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่นําพาให้ประกอบบุญกุศล ตั้งแต่ครั้งสมัยที่ท่านยัง อยู่ในโลกมนุษย์นั้น ผลแห่งการกระทำความดี ทำบุญกุศลต่างๆ ได้ทำให้ เกิดมีเกิดเป็นอะไร ได้อะไรบ้าง ตอบสนอง
ต่อมา ชายทั้งสองได้พาท่านพระอาจารย์สมชายเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในโลกทิพย์อยู่พักหนึ่ง
ทันใดนั้น พระอาจารย์สมชายก็เกิดความรู้สึกเสียใจในผลการกระทำของตนเองว่า
“อานิสงส์ของทานที่ได้ทำมันช่างน้อยนักเมื่อเทียบกับคนอื่น ทั้งที่ตัวท่านเองก็เคยได้สร้างโบสถ์วิหารหลายหลัง ให้ทานการบริจาคอื่นๆ อีก มากมาย ทําไมไม่เห็นมีอานิสงส์เลย เหตุใดจึงมีเพียงสองอย่างเท่านั้น”
คิดได้อย่างนี้ก็ถามเทพทั้งสองว่า ทําไมถึงเป็นเช่นนี้ แล้วเขาก็ตอบว่า
“นั่นท่านสักแต่ว่าทำ โดยไม่มีจิตใจน้อมลงเพื่อบุญกุศล ทำมากเท่า ไหร่ก็ไม่มีอานิสงส์ (มีอานิสงส์น้อย) ถึงมีบ้างก็ยากเต็มที่ เหมือนโยนเข็มลง มหาสมุทร…แต่ว่าอานิสงส์ที่ท่านได้เห็นเป็นประจักษ์อยู่นี้ ท่านได้ทำด้วยใจ น้อมลงเพื่อทบุญกุศลอย่างแท้จริง จึงได้บังเกิดเป็นอานิสงส์ดังนี้ตอบสนองทั้งสองอย่าง”
เมื่อได้ยินคําตอบเช่นนั้นพระอาจารย์สมชายก็มาพิจารณาว่า เท่าที่ได้เห็นว่าตนเองได้รับอานิสงส์อย่างใดแล้วนั้น พอนําเอาไปเปรียบเทียบกับ อานิสงส์ของคนอื่นๆ ทำมาด้วยดีแล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่มีวาสนาบารมี มากๆ กันทั้งนั้น เพราะมีสิ่งประดับบารมีที่วิจิตรพิสดารมากมายกว่าของท่านเหลือเกิน เหมือนเป็นคนละฐานะ ของท่านเองเปรียบเหมือนบ้านของ คนจนระดับขอทานเท่านั้น แต่ของผู้อื่น ล้วนมีฐานะระดับเศรษฐี หรือพระ ราชาทีเดียว คิดได้ดังนี้จึงเกิดความรู้สึกเสียใจ และคิดอยากที่จะกลับมา สร้างสมบารมีให้เพิ่มเติมต่อไปอีก เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ท่านพระอาจารย์ สมชายจึงได้อธิษฐานในใจว่า
“ถ้าข้าพเจ้ามีบารมีเหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มันได้เคยปฏิบัติมาแล้ว ก็ขอให้บรรดาเทพยดาเหล่านี้ จงได้ยินยอมตามที่ข้าพเจ้าจะขอต่อ ไปนี้ด้วยเถิด แต่ถ้าหากว่าไม่มีบุญบารมีจะสร้างคุณความดีเพื่อสั่งสมบารมี
หรือมีไม่พอที่จะทำประโยชน์ให้กับพระศาสนาได้แล้ว ก็ขอให้เทพยดาเหล่า นี่อย่าได้ยินยอมตามที่ข้าพเจ้าขอเลย”
พออธิษฐานเสร็จ ก็ได้หันหน้าไปทางเทพยดาทั้งหลายเหล่านั้น แล้ว กล่าวว่า
“พวกท่านทั้งหลายโปรดรับฟัง อาตมานั้นได้ถือกำเนิดในชาตินี้ ภาย ในลัทธินอกพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง (ตา ของท่าน คือหลวงเสนา นับถือศาสนาพราหมณ์ ผู้ประกอบพิธีพราหมณ์ ประจำอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด) อาตมาจึงเสียใจมาก ถึงแม้ว่าจะได้มีโอกาส บวชเข้ามาเป็นพระในพุทธศาสนา
แต่การบําเพ็ญบุญบารมีก็ยังกระทำไม่ ได้เต็มที่ เพราะความไม่เข้าใจเรื่องวิธีการทำบุญ และอานิสงส์ของการ กระทำถ้าข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ตั้งแต่ทีแรก ข้าพเจ้าจะสร้างคุณความดีให้เต็มที่ จะทำบุญสั่งสมสร้างบารมีให้มากกว่านี้
ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอกลับไปสร้างบารมีโพธิสมภาร ให้ได้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อเป็นการแก้ตัว อีกสักครั้งหนึ่งเถิด”
พอกล่าวจบเพียงเท่านั้น เหล่าเทพยดาทั้งหมด ก็ได้ยกมือขึ้นพนมพร้อมกับกล่าวคําว่า “สาธุ!” โดยพร้อมกัน ด้วยเสียงอันดังกระหึมทั่วไป หมด และยังได้กล่าวสัมทับท่านว่า
“ท่านจะกลับไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อท่านกลับลงไปแล้วจง เพียรพยายามสร้างคุณความดีให้เต็มที่ บุญบารมีจะเกิดขึ้นได้ด้วยอานิสงส์อีกมากมาย เพราะเวลาของท่านมีจํากัดเท่านั้น”
หลังจากนั้น เทพยดาทั้งสองที่ได้มารับท่านพระอาจารย์สมชายขึ้น ไปเที่ยวชมยังโลกทิพย์ครั้งแรกนั้น ก็ได้นําพาท่านกลับมายังกุฏิหลังเดิมที่ ท่านเคยพักพํานักอยู่
พอไปถึงกุฏิท่านก็ได้มองเห็นร่างกายมนุษย์ของท่านนอนอ้าปาก ตาเหลือกอยู่อย่างเดิม เทพยดาทั้งสองก็ยังได้กล่าวกับท่านพระอาจารย์ สมชายอีกครั้งหนึ่งว่า “เสร็จแล้ว” เขาจึงให้ท่านหลับตา พอหลับตาปุ๊บก็มี ความรู้สึกว่าได้กลับเข้าไปอยู่ในร่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง
แต่เนื่องจากท่านได้ละสังขารจากร่างกายไปนานถึง ๑๕ ชั่วโมง และ ร่างกายของท่านนั้นก็ได้อยู่อย่างปราศจากวิญญาณมานาน ๑๕ ชั่วโมงเช่นกัน เมื่อกลับเข้าไปอยู่ในร่างตามเดิมจึงมีความรู้สึกว่าร่างนั้นแข็งเหมือน ท่อนไม้ ท่านต้องใช้ความพยายามค่อยๆ ขยับตัวทีละน้อยๆ จนกระทั่งขยับ มือได้ก่อน แล้วค่อยๆ ยกมือขึ้นมาบีบจับปากที่อ้าค้างอยู่นั้นให้หุบลง หลังจากนั้นก็ยกมือขึ้นมานวดบริเวณกระบอกตาจนตาเริ่มกระพริบได้
สักพักก็รวบรวมแรงลุกขึ้นนั่งได้ โดยค่อยยันกายด้วยท่อนแขนที่อ่อน แรงทีละน้อยจนอยู่ในท่านั่งเหยียดขา แล้วค่อยๆ กระเถิบไปที่โอ่งน้ำล้าง เท้าที่ตั้งวางอยู่ข้างกุฏิ ซึ่งกว่าจะเขยิบกระเถิบไปถึงก็ทุลักทุเลพอดู เมื่อตัก น้ำขึ้นมาได้ก็ฉันน้ำนั้นด้วยความกระหาย จนรู้สึกว่าสดชื่นขึ้นมาหน่อย แต่ การเคลื่อนไหวก็ยังไม่คล่องตัว จึงได้ขยับตัวไปตากแดดให้ร่างกายค่อยอบอุ่นขึ้นมา แล้วก็นวดเฟ้นตามแขนขาตามข้อต่างๆ ของร่างกายด้วยตัว เอง เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครอื่นได้พบเห็นให้ความช่วยเหลือ จึงต้องช่วย ตัวเองไปพลางก่อน เท่าที่จะทำได้ ต่อมาก็เริ่มยืดแขน-ขา ขยับได้ดีขึ้นอวัยวะส่วนอื่นๆ ก็เริ่มใช้การได้ดีขึ้น
หลังจากนั้นจึงค่อยลุกขึ้นเดินกระย่องกระแย่งไปศาลา เพื่อจะฉันจังหัน เพราะรู้สึกหิว เมื่อได้ฉันจังหันเรียบร้อย ก็ได้เวลาเที่ยงพอดี รวม เวลาที่ได้สลบหมดสติไปทั้งหมด ๑๕ ชั่วโมงเศษ
หลังจากที่ได้ฟื้นกลับคืนสู่ร่างกายตามปกติแล้ว อาการเวทนาของขันธ์ คือ ร่างกายค่อยทุเลาบางเบาลง มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ฉันได้ตาม ปกติ เพียงไม่กี่วันสังขารร่างกายของท่านก็แข็งแรงปกติดีดังเดิม”
ข้อความเรื่องตายและฟื้นของพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ที่หนังสือโลกทิพย์นํามาลงไว้เพียงแค่นี้
แต่ผู้เขียนได้รับทราบเพิ่มเติมจากท่านอาจารย์สมชายว่า พอถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อท่านอายุได้ ๔๕ ปี ขณะ ที่ท่านอยู่ที่วัดเขาสุกิม จันทบุรี ท่านก็สลบไปอีก เพราะถึงกำหนดที่ท่านจะ จากโลกนี้ไปแล้ว โดยมีเทพยดามารับท่านไปอีก แต่ในครั้งนี้ทราบว่า ท่าน ขอร้องเทวดาว่า ท่านยังสร้างโบสถ์ที่วัดเขาสุกิมยังไม่เสร็จ ขอให้สร้างโบสถ์ ลังนี้ให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยเอาชีวิตของท่านไป เทวดาก็อนุญาตให้ท่าน อยู่ต่ออีก เพื่อสร้างบารมี นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในระยะ หลังมานี้สุขภาพของท่านทรุดโทรมลงมาก จนต้องหยุดปฏิบัติภารกิจไปหลายปี แต่ในปัจจุบันสุขภาพของท่านเริ่มดีขึ้น จนถึงกับต้อนรับแขกได้ แม้ จะไม่ดีมากเช่นเดิมก็ตาม ปัจจุบันท่านมีอายุได้ ๗๕ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านเป็นนักต่อสู้ นักปฏิบัติกรรมฐานที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งของประเทศไทย และได้บําเพ็ญประโยชน์อย่างมหาศาลต่อพระพุทธศาสนาและส่วนรวม เพราะท่านเห็นว่าชีวิตของท่านยังเหลืออยู่น้อยแล้ว
เรื่องของพระอาจารย์สมชาย เป็นเครื่องยืนยันถึงผลบุญที่ทำไว้เป็นอย่างดี ควรถือเป็นตัวอย่างสำหรับผู้สร้างคุณความดีทุกคน ทั้งเป็นการ ยืนยันว่าบุญที่ทำไว้ในโลกนี้ ย่อมรอรับผู้ทําไว้ในโลกหน้าจริง แม้ผู้นั้นยังมี ชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ตาม.
*ตอนที่ ๑๐*
…การให้ทานประเภทต่างๆ…
ในตอนนี้ จะกล่าวถึงการให้ทานประเภทต่างๆ ซึ่งกล่าวไว้ในทานวรรค อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย พร้อมทั้งอธิบายข้อความบางส่วนที่ควรขยายความให้เข้าใจง่าย แต่ในทานวรรคนี้ท่านกล่าวเฉพาะทานหมวด ๘ เท่านั้น
/ ทานสูตรที่ ๑
ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการ คือ
๑. บางคนหวังได้จึงให้ทาน
๒. บางคนให้ทานเพราะกลัว
๓. บางคนให้ทานเพราะนึกว่าเขาให้เราแล้ว
๔. บางคนให้ทานเพราะนึกว่าเขาจักให้ตอบแทน
๕. บางคนให้ทานเพราะนึกว่าการให้ทานเป็นการดี
๖. บางคนให้ทานเพราะนึกว่าเราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากิน จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากินไม่ควร
๗. บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เกียรติศัพท์อันงาม (ชื่อเสียง) ของ เราย่อมฟุ้งไป
๘. บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่จิต
อรรถาธิบาย
ความหมายในพระสูตรนี้ส่วนใหญ่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ขออธิบายเพิ่ม เติมเพียงบางข้อ คนที่หวังได้จึงให้ทานนั้น หมายความว่าคนบางคนให้ทาน โดยคิดว่า เราจักรับผลอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น รวยทรัพย์ รูปสวย หรือเกิดใน สวรรค์ เป็นต้น
คนที่ให้ทานเพราะกลัวนั้น คือ คนบางคนคิดว่า “ถ้าเราไม่ให้เขา เขาจักทำร้ายเราหรือใช้อำนาจอิทธิพลข่มเหงเรา” จึงยอมให้ทาน หรือกลัว ภัยในอบาย หรือกลัวถูกครหาว่าขี้เหนียว จึงให้ทาน
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า “เขาให้เราแล้ว” คือ คนบางคนเมื่อได้รับ อุปการะช่วยเหลือจากใครแล้ว ก็คิดถึงบุญคุณของเขา จึงให้ตอบแทน
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า “เขาจักให้ตอบแทน” คือ บางคนเมื่อจะ ให้ทานก็คิดว่า ถ้าเราให้เขาแล้ว เขาจะให้แก่เราบ้าง จึงให้ทานไป เพื่อหวังผลตอบแทน
ส่วนการให้ทานประการที่ ๘ คือ ให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต นั้น ในอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า ได้แก่ ให้เพื่อประดับและเพื่อปรุงจิตที่เจริญ สมถะและวิปัสสนา เพราะว่าการให้ทานย่อมทำจิตให้อ่อนโยน ผู้ใดให้ทาน
ผู้นั้นย่อมมีจิตอ่อนโยนเบิกบานว่า เราได้ให้ทานแล้ว ท่านย่อมทําจิตของ บุคคลแม้ทั้งสอง (คือทั้งผู้ให้และผู้รับ) ให้อ่อนโยนได้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพระราชดํารัสเป็นต้นว่า “การฝึก จิตที่ไม่เคยฝึก ชื่อว่าทาน” อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
“การฝึกจิตซึ่งยังไม่ได้ฝึกชื่อว่าทาน การไม่ให้เป็นเหตุ
ประทุษร้ายจิตที่ฝึกแล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมฟูขึ้นและยุบลง ด้วย ทานและวาจาที่อ่อนหวาน”
ในทานทั้ง ๘ ประเภท ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ การให้ทานเพื่อเป็นเครื่อง ประดับปรุงจิตเท่านั้น เป็นทานสูงสุด
/ ทานวัตถุสูตร
ในทานวัตถุสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ (เหตุแห่งการให้ทาน) มี ๘ อย่าง คือ
๑. บางคนให้ทานเพราะชอบ
๒. บางคนให้ทานเพราะโกรธ
๓. บางคนให้ทานเพราะหลง
๔. บางคนให้ทานเพราะกลัว
๕. บางคนให้ทานเพราะนึกว่าบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงศ์ตระกูลดังเดิม
๖. บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไปก็จะไป บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๗. บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ
๘. บางคนให้ทานเพื่อปรับปรุงจิต
ในการให้ทานทั้ง ๘ ประเภท ในพระสูตรข้างต้นนี้ แสดงว่าคนให้ ทานมีเหตุในการให้ หรือปรารภเหตุในการให้ไม่เหมือนกัน คือ
บางคนพอใจหรือชอบใจใครก็ให้แก่คนนั้น
บางคนพอโกรธเข้าแล้วก็รีบหยิบเอาสิ่งที่มีอยู่ให้ไป เพราะโมโหหรือ รำคาญ
บางคนงมงายด้วยโมหะ ก็ให้ทานไปอย่างนั้นเอง โดยไม่คิดว่าจะมีประโยชน์หรือไม่
แต่บางคนให้ทาน เพราะกลัวคนจะติเตียนว่าขี้เหนียว หรือเพราะ กลัวว่าถ้าไม่ให้ทานแล้วจะไปเกิดในอบายภูมิ หรือเพราะกลัวภัยทั้ง ๒ อย่างนั้น
บางคนให้ทาน เพื่อรักษาประเพณีของตระกูลวงศ์ที่เคยทำกันมา ส่วนข้อ ๘ ก็มีความหมายเช่นเดียวกับในพระสูตรแรกที่กล่าวมาแล้ว
เหตุแห่งการให้ทานทั้ง ๘ ประการนี้ แสดงให้เห็นว่า คนให้ทานแต่ละคน ปรารภเหตุในการให้ทานแตกต่างกัน หรือบางคนก็เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจที่เข้าถึงธรรมมากน้อยเพียงไร แต่ข้อสุดท้ายนั้นเลิศกว่า ทุกข้อ เพราะทำความดีเพื่อความดี ด้วยการเสียสละด้วยการไม่เห็นแก่ตน และย่อมมีผลมากกว่าทุกข้อ เพราะยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้น
/ เขตตสูตร
ในเขตตสูตร คือ สูตรที่เปรียบเทียบทานกับนา พระพุทธเจ้าได้ตรัส ไว้ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาที่มีลักษณะ ๔ ประการ ไม่มีผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก คือ นาในโลกนี้
๑.เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ
๒. เป็นที่ปนหินปนทราย
๓. เป็นที่ดินเค็ม
๔. เป็นที่ไถลงลึกไม่ได้
๕. เป็นที่ไม่มีทางนําเข้า
๖. เป็นที่ไม่มีทางน้ำออก
๗. เป็นที่ไม่มีเหมือง (ไม่มีระบบชลประทาน)
๘. เป็นที่ไม่มีคันนา
ภิกษุทั้งหลาย พืชที่หว่านลงในนาอันมีลักษณะ ๘ ประการนี้ ไม่มี ผลมาก ไม่มีความดีใจมาก ไม่มีความเจริญมาก ข้อนี้ฉันใด ทานที่บุคคล ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้มีลักษณะ ๘ ประการก็ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
ไม่มีความรุ่งเรืองมาก ไม่เจริญแพร่หลายมากฉันนั้นเหมือนกัน คือ สมณพราหมณ์ในโลกนี้
๑.มีความเห็นผิด
๒. มีความคิดผิด
๓. มีวาจาผิด
๔. มีการงานผิด
๕. มีการเลี้ยงชีพผิด
๖. มีความเพียรผิด
๗. มีสติผิด
๘. มีสมาธิผิด
อรรถาธิบาย
พระพุทธองค์ทรงแสดงนาที่มีลักษณะตรงกันข้ามคือ เป็นนาดี อันมีลักษณะ ๘ ประการ เทียบกับ
สมณพราหมณ์ที่มีลักษณะตรงกันข้าม คุณธรรม ๘ ประการ
พระสูตรนี้แสดงถึงนาดีว่ามีผลดีกว่านาไม่ดี เปรียบเทียบกับการให้ ทานแก่สมณพราหมณ์ที่มีคุณธรรม ว่ามีผลดีกว่าการให้ทานแก่ผู้ไม่มีคุณธรรม
ชาวนาผู้หวังผลิตผลในการปลูกข้าว ย่อมเลือกนาดี เว้นนาไม่ดีเสียฉันใด ผู้หวังผลเลิศในการให้ทานก็ต้องเว้นสมณพราหมณ์ผู้ไม่มีคุณธรรม แล้วเลือกถวายทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีคุณธรรมฉันนั้น
ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปุสตถํ ทานที่ เลือกให้พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญ” เพราะก่อให้เกิดผลดีมาก กว่าทานที่ไม่ เลือกให้หลายเท่านัก ดังนั้น ผู้หวังผลเลิศในการให้ทาน จึงต้องเลือก ปฏิคาหกผู้รับทานเหมือนชาวนาผู้หวังผลดีในการทำนา เลือกเอานาดีฉะนั้น
/ ปุญญาภิสันทสูตร (สูตรว่าด้วยห้วงแห่งบุญ)
ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๔ ประการนี้ ย่อมนําความสุขมาให้ (พูดถึงเหตุ คือก่อให้เกิด ความสุข) มีอารมณ์เลิศ (คือปลื้มใจ) มีสุขเป็นผล (พูดถึงผลของทาน) เป็น ไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุข (ล้วนแต่เพื่อสิ่งที่ดี) ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการ เป็นไฉน (คืออะไรบ้าง)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก (พระอริยบุคคลหรือพระอริยเจ้า) ใน ธรรมวินัยนี้ยึดถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงแห่งบุญประการที่ ๑ นําความสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นสิ่งที่น่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ (ในศาสนานี้) ยึดถือ พระธรรมเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห่วงกุศลประการที่ ๒ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ยึดถือพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๓ ฯลฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึง รู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า อันสมณ พราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนไม่เกลียด ทาน ๕ ประการเป็นไฉน ?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นปาณาติบาต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีแวว ความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์หา ประมาณมิได้
ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หา ประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความ ไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๑ ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเลิศ มีมานานเป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตไม่รังเกียจ อัน สมณพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล ประการที่ ๔ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ ๒ ที่เป็นมหาทาน ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล ประการที่ ๕ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ ๓ ที่เป็นมหาทาน ฯลฯ นี้เป็น ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๖ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ฯลฯ นี้ เป็นทานประการที่ ๔ ที่เป็นมหาทาน ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๗ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกละการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ฯลฯ นี้เป็นทานประการที่ ๕ ที่เป็นมหาทาน ฯลฯ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๘ ฯลฯ
อรรถาธิบาย
ข้อความทั้งปวงในพระสูตรนี้ ส่วนใหญ่อ่านแล้วเข้าใจได้ไม่ยาก จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก แต่ที่น่าสังเกตก็คือ การงดเว้นจาก ปัญจเวร ๕ ที่เรียกว่า ปัญจเวรวิรัติ อันเป็นห้วงบุญห้วงกุศลข้อที่ ๔-๘ จัด เป็นทาน ขั้นมหาทาน คือ เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอภัยทาน คือ การ ให้ความไม่มีเวร ความไม่มีภัย แก่สัตว์ทั้งหลาย และทานประเภทนี้จัดเป็น ศีล เพราะมีผลมากกว่าทานทั้งปวง ฉะนั้น พระพุทธองค์ตรัสเรียกทานประเภทนี้หรืออภัยทานนี้ว่า เป็นมหาทานดังปรากฏอยู่ในพระสูตรนี้
ดังนั้น อภัยทาน จึงมีผลมากกว่าทานทุกประเภท เพราะเป็นมหาทาน เนื่องจากเป็นศีล ทั้งการให้ทานประเภทนี้ไม่ต้องสละเงินทอง สิ่งของสมบัติอันใดเลย คนจนแม้ไม่มีทรัพย์สินสมบัติอันใดเลย ก็สามารถให้ทานประเภทนี้ได้
ฉะนั้น นักปราชญ์และพระอริยเจ้าทุกจําพวกจึงให้มหาทานทั้ง ๕ ประเภทนี้เป็นประจำ เพราะให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลายทุกจําพวก ทั้งเป็นไปเพื่อความสงบสุขแก่ตนและสังคมโดยส่วนรวมด้วย
*ตอนที่ ๑๑*
…อานิสงส์ของทาน…
ในตอนนี้จะได้กล่าวถึงอานิสงส์หรือผลของ ทานประเภทต่างๆ ที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย แม้ในตอนอื่นๆ ก็ได้กล่าวถึงผลของทานไว้ บางส่วนแล้ว แต่ในที่นี้จะได้กล่าวถึงอานิสงส์ของทานที่ท่าน กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ เป็นส่วนใหญ่ แต่นํามา กล่าวเฉพาะบางสูตรเท่าที่เห็นว่าจําเป็นและเหมาะสมสำหรับหนังสือนี้
/ ทานานิสังสสูตร
(สูตรว่าด้วยอานิสงส์ของทาน)
ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอานิสงส์ของทาน ว่ามีอยู่ ๕ ประการ ดังที่ตรัสไว้ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของการให้ทานมี ๕ ประการคือ
๑. ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
๒. สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบผู้ให้ทาน
๓. ชื่อเสียงอันงามของผู้ให้ทานย่อมฟุ้งขจรไป
๔. ผู้ให้ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์
๕. ผู้ให้เมื่อตายแล้ว ย่อมไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของการให้ทาน มี ๕ ประการนี้แล”
(๒๒/๓๕/๔๑)
อรรถาธิบาย
ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงผลของทานว่ามีถึง ๕ ประการ อันเป็นผลของทานที่พึ่งเห็นโดยทั่วไป
ข้อที่ ๑ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก คือ คนที่มีจิตใจ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย ย่อมมี พวกพ้องบริวารมาก เพราะเป็นคนใจกว้าง เนื่องจากผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของ คนทั้งหลาย ทั้งย่อมผูกไมตรีกับคนทั้งหลายไว้ได้
ข้อที่ ๒ สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบผู้ให้ทาน คือ คนดี คนมีคุณธรรม หรือ นักปราชญ์ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน ซึ่งเป็นคนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ข้อที่ ๓ ชื่อเสียงอันงามของผู้ให้ทานย่อมฟุ้งขจรไป คือ ใครก็ตาม ถ้า เป็นนักบริจาค เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นที่รู้จักของคนทั้ง หลาย คุณความดีข้อนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงปรากฏไปไกลว่าเป็นนักเสียสละ
ไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนสร้างประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์และต่อส่วนรวม
ข้อที่ ๔ ผู้ให้ย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ ข้อนี้ฟังแล้วเข้าใจยาก แต่ในอรรถกถา ท่านขยายความว่า เป็นคนมีศีลห้าไม่ขาด (อขณฺฑปญฺจสีโล) ทั้งนี้ก็เพราะคนที่ชอบให้ทานนั้นเป็นคนมีใจกว้างไม่มุ่ง แม้แต่ประโยชน์ส่วนตัว หากแต่ชอบช่วยเหลือคนหรือสัตว์อื่นด้วยการ บริจาค คนเช่นนี้จึงรักษาศีลได้ดี และเพราะศีล
๕ เป็นมนุษยธรรม ฉะนั้น คนที่มีใจสูงที่เรียกว่ามนุษย์นั้น แม้เป็นคฤหัสถ์ครองเรือน ก็ย่อมมีศีล ๕ เป็นประจำ ที่เรียกว่า นิจศีล จึงชื่อว่าไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ ซึ่ง ธรรมของคฤหัสถ์ในที่นี้ก็คือศีล ๕ นั่นเอง
ข้อที่ ๕ ผู้ให้เมื่อตายแล้วย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ คือ คนให้ ทาน ย่อมไม่ตกอับ ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป เมื่อตายแล้วก็ย่อมไปเกิดใน สุคติภูมิ อย่างต่ำก็เกิดในโลกมนุษย์ อย่างสูงก็เกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ในสวรรค์ชั้นฉกามาพจร ๖ ชั้น
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อานิสงส์ของการให้ทานนั้น ไม่ถึงพระนิพพานโดยตรง เพียงแต่เป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพานเท่านั้น ทั้งพระสูตรนี้ไม่ได้ พูดถึงทรัพย์สมบัติว่าเป็นอานิสงส์ของทานอีกข้อหนึ่ง แต่เมื่อไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์แล้ว ก็ย่อมได้รับทรัพย์สมบัติอย่างแน่นอน เพราะเป็นสุคติภูมิ
/ สีหสูตร
(สูตรว่าด้วยสีหเสนาบดี)
ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์ของทานที่จะพึงได้รับในปัจจุบันไว้ ๕ ประการ ดังข้อความในพระสูตรนี้ว่า
“สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติผลของทานที่จะพึง เห็นได้ในปัจจุบันหรือไม่?”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สามารถ ท่านสีหเสนาบดี” แล้วตรัสต่อไป ว่า “ดูก่อนสีหเสนาบดี ทายกผู้เป็นทานบดี (ผู้เป็นเจ้าของทาน) ย่อมเป็น ที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก แม้ข้อนี้เป็นผลทานที่จะพึงเห็นได้เอง
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้เป็น ผลของทานที่จะพึงเห็นได้เอง
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายกผู้เป็นทานบดีย่อมฟุ้งขจรไป แม้ข้อนี้ก็เป็นผลของทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปที่ประชุมใดๆ คือ ที่ ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขิน เข้าไป แม้ข้อนี้ก็เป็นผลของทานที่จะพึงเห็นได้เอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ก็เป็นผลของทานที่จะพึงเห็นได้ในสัมปรายภพ (ชาติ หน้า)”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สีหเสนาบดีจึงทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ผลของทานที่จะพึงเห็นได้เอง ๔ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลของทาน ๔ ข้อ นี้ก็หามิได้ (แต่เชื่อตนเอง เพราะได้เห็นประจักษ์มากับตนเอง) แม้ข้า พระองค์เองก็ทราบดี คือ ข้าพระองค์เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักเป็นที่ ชอบใจของคนเป็นอันมาก สัตบุรุษย่อมคบหาข้าพระองค์ผู้เป็นทายกเป็น ทานบดี กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ผู้เป็นทายกเป็นทานบดีย่อมขจรไปว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้บํารุงพระสงฆ์ ข้าพระองค์ผู้ เป็นทายก เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือ ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขินเข้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลของทานที่จะพึ่งเห็นเอง ๔ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลของ ทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ (เพราะ) แม้ข้าพระองค์เองก็ย่อมทราบดีส่วนผลของ ทานที่จะพึงเห็นเองข้อที่ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอก ข้าพระองค์ว่า ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ ย่อมไม่ทราบ แต่ว่าข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้น ท่านสีหเสนาบดีๆ คือ ทายก ผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
นิคมคาถา
พระธรรมสังคาหกาจารย์ ผู้รวบรวมพระธรรมวินัย ได้กล่าวไว้ใน ตอนท้ายของพระสูตรนี้ เป็นนิคมคาถา คือคาถาสรุปความว่า
“นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชนอันเป็นอันมากย่อมคบหาเขา เขาย่อมได้เกียรติยศ เจริญเป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้า เข้าสู่ที่ประชุมชน เพราะเหตุ นั่นแล บัณฑิตผู้หวังสุข จงขจัดมลทิน คือความตระหนี่แล้วให้ ทาน ถึงความเป็นสหายของเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน บัณฑิตเหล่านั้นได้ทำที่มุ่งหวัง ได้ทำกุศลแล้ว จุติ (ตาย) จาก โลกนี้แล้วย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง เที่ยวชมไปในอุทยานนันทวัน ย่อมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงอยู่ใน นันทวัน สาวกทั้งหลายของพระสุคตผู้หมดกิเลย ผู้คงทำตามพระดํารัสของพระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงอยู่ในสวรรค์”
(๒๒/๓๔/๔๑-๔๓)
อรรถาธิบาย
สีหเสนาบดี เป็นเสนาบดีของแคว้นเวสาลี เป็นผู้มั่นคงในพระพุทธ ศาสนาคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล แคว้นเวสาลีเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่ อยู่ ใกล้กับราชอาณาจักรมคธ โดยเวสาลีอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคง ส่วน มครอยู่ทางด้านฝังขวา
ตำแหน่งเสนาบดีเป็นตำแหน่งใหญ่และสำคัญมากของประเทศสมัยนั่นเท่ากับแม่ทัพ คุมกองทัพทั้งหมด รับผิดชอบในการป้องกันประเทศเทียบเท่ารัฐมนตรีกลาโหมในปัจจุบัน
ในสีหสูตร สีหาเสานาบดีทูลถามถึงผลทานที่จะเห็นได้ ๔ ข้อแรก ท่านยอมรับว่ามีจริง แต่ไม่ใช่เชื่อพระพุทธเจ้าจึงยอมรับ ที่ยอมรับก็เพราะ ประสบมาด้วยตัวเอง แต่ข้อที่ ๕ คือ เมื่อตายแล้วก็เกิดในสุคติโลกสวรรค์ นั้น ยังไม่ประสบมาด้วยตน แต่ก็เชื่อตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพราะเชื่อ มั่นในพระพุทธเจ้า เหมือนคนที่ยังไม่เคยเห็นคนเป็นโรคเอดส์ แต่ก็เชื่อหมอ ว่าโรคเอดส์มีจริง เพราะมีคนป่วยและตายเพราะโรคเอดส์เป็นจำนวนมาก
แม้ตนไม่เคยพบเคยเห็นมาก็ตาม
เราทั้งหลายผู้นับถือศาสนาก็เหมือนกัน แม้บางสิ่งบางอย่างเราไม่ อาจจะเห็นได้ด้วยตัวเอง เช่น เรื่องนรกและสวรรค์ เป็นต้น ก็เชื่อตามที่ พระพุทธเจ้าผู้รู้เห็นตรัสไว้ เหมือนคนยังไม่เคยเห็นเชื้อโรค แต่ก็เชื่อหมอ เพราะมีแต่ส่วนที่ไม่มีส่วนเสีย
/ โภชนทานสูตร
(สูตรว่าด้วยการให้อาหาร)
ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายถึงการให้โภชนะเป็นทาน ว่าให้ผลถึง ๕ อย่าง โดยตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่าง แก่ปฏิคาหก คือ
๑.ให้อายุ
๒. ให้วรรณะ
๓.ให้สุข
๔. ให้กําลัง
๕. ให้ปฏิภาณ
ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุข ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ครั้นให้กําลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกําลัง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณ ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างนี้แล”
นิคมคาถา
พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้กล่าวไว้ในตอนสุดท้ายของพระสูตรนี้เป็นนิคมคาถา อันพระสงฆ์นิยมสวดในการอนุโมทนาของทายกว่า
อายุโท พลโท ธีโร วณฺณโท ปฏิภาณโท
สุขสฺส ทาตา เมธาวี สุขํ โส อธิคจฺฉติ
อายํ ทตฺวา พลํ วณฺณํ สุขญฺจ ปฏิภาณโท
ทีฆายุ ยสวา โหติ ยตฺถ ยตฺถูปปชฺชตีติ.
แปลความว่า
ปราชญ์ผู้มีปัญญาให้อายุย่อมได้อายุ ให้กําลังย่อมได้กําลัง ให้วรรณะย่อมได้วรรณะ ให้ปฏิภาณย่อมได้ปฏิภาณ ให้ สุขย่อมได้สุข ครั้นให้อายุ กําลัง วรรณะ สุข และปฏิภาณแล้ว จะไปเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่นั้นๆ
(๒๒/๓๗/๔๔-๔๕)
อรรถาธิบาย
ให้อายุคือให้มีอายุยืน ให้วรรณะคือให้มีผิวพรรผ่องใส ให้สุขคือให้ ความสุขกายและสุขใจ ให้กําลังคือออกกําลังกาย ส่วนให้ปฏิภาณคือให้ ความฉลาด ในการผูกและในการแก้ ได้แก่ให้ไหวพริบปฏิภาณนั่นเอง
ในพระสูตรนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า เพียงแต่ให้อาหารอย่างเดียว เช่น ทำบุญเลี้ยงพระ หรือเลี้ยงบิดามารดา หรือเลี้ยงคนอื่น แม้แต่ให้อาหารแก่ สัตว์เดรัจฉาน ชื่อว่าให้ถึง ๕ อย่าง คือ อายุ พละ วรรณะ สุขะ และ ปฏิภาณ เพราะอาหารทำให้บุคคลผู้ให้ได้รับสิ่งทั้ง ๕ ประการนี้ ฉะนั้น ผู้มี ปัญญาจึงไม่ควรตระหนี่ แต่ชอบทำบุญให้มาก เพราะสามารถให้ได้รับสิ่งที่ ปรารถนาถึง ๕ ประการดังกล่าวแล้ว
/ อาทิตตสูตร
(สูตรว่าด้วยเรือนถูกไฟไหม้)
ในอาทิตตสูตร เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวคาถา “เรือนถูกไฟไหม้” เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติที่ทำบุญให้ทานไปแล้วว่าปลอดภัยจากภัยทั้งหลาย มี อัคคีภัย โจรภัย ราชภัย และไม่สูญหาย โดยกล่าวคาถานี้ในสำนัก พระพุทธเจ้าว่า
“เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว เจ้าของเรือนขนภาชนะใด หรือ สิ่งใดออกไปได้ ภาชนะนั้น (หรือสิ่งนั้น) ย่อมเป็นประโยชน์แก่ เขา ส่วนสิ่งใดที่ไม่ได้ขนออกไปย่อมไหม้ในไฟนั้น ฉันใด
โลก (คือหมู่สัตว์) ที่ถูกชราและมรณะเผาแล้วก็ฉันนั้น บุคคลควรนําโภคสมบัติออกให้ทาน เพราะทรัพย์ที่ได้บริจาคไป แล้ว ได้ชื่อว่านําออกดีแล้ว (ปลอดภัย)
ทรัพย์ที่บริจาคไปแล้ว ย่อมมีผลเป็นสุข ส่วนทรัพย์ที่ยังไม่ได้ให้ หามีผลเป็นเช่นนั้นไม่ คือ โจรยังเอาไปได้ พระราชา (หรือราชการ) ยังริบไปได้ เพลิงยังไหม้ได้ หรือยัง สูญหายไปได้
อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมละทิ้งร่างกายพร้อมทั้ง โภคทรัพย์ที่ตนหวงแหน แล้วตายจากไป คนมีปัญญา รู้ชัด อย่างนี้แล้ว ก็ควรบริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติและควรให้ทาน
เพราะว่าเมื่อได้ให้ทานและบริโภคแล้ว เขาจะไม่ถูกติฉิน (และเมื่อตายแล้ว) ก็ย่อมเข้าถึงสถานที่อันเป็นสวรรค์ (ย่อม เกิดในสวรรค์)”
อรรถาธิบาย
พระสูตรนี้ ชี้ให้เห็นว่าทุกคนที่เกิดมาล้วนถูกความแก่และความตาย ครอบงำทั้งสิ้น เมื่อความตายมาถึงเข้าแล้วก็ต้องทิ้งทุกอย่างจากโลกนี้ไป นําอะไรติดตัวไปไม่ได้ แม้แต่ร่างกายของคนที่รักแสนรักหวงแสนหวง ก็ต้อง ทิ้งไว้ให้เป็นภาระของคนอื่น ที่จะนําไปฝังหรือนําไปเผา จะนําไปได้แต่บุญ และบาปที่ทำไว้เท่านั้น ไปสู่โลกหน้า นอกนั้นทิ้งไว้หมดสิ้น เปรียบเหมือน เรือนที่ถูกไฟไหม้ ถ้าของใดขนออกทันก็ปลอดภัย ถ้าขนออกไม่ทันก็ต้องตก เป็นเหยื่อของพระเพลิง เช่นเดียวกับทรัพย์สมบัติ ถ้านําออกให้ทานเสียแล้ว ก็เป็นของเราแล้วโดยประการทั้งปวง เหมือนของที่นําออกมาทันในขณะที่บ้านถูกไฟไหม้ หรือก่อนที่บ้านจะถูกไฟไหม้
อีกประการหนึ่ง ของที่ทำบุญให้ทานไปแล้วนั้น ปลอดภัยแล้วโดย ประการทั้งปวง โจรจะลักไปก็ไม่ได้ รัฐบาลจะริบเอาไปก็ไม่ได้ หรือใครจะ แย่งชิงเอาไปก็ไม่ได้ ทั้งไม่อาจจะฉิบหายไปเพราะภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ไม่ว่าอุทกภัย วาตภัย แผ่นดินถล่ม หรือภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น
ทรัพย์สมบัติที่ให้ทานไปแล้ว แม้เมื่อตายแล้วก็สามารถนําติดตัวไป ได้ และทำให้ไปเกิดในสวรรค์ด้วย เหมือนอย่างนักบริจาคทานทั้งหลาย เช่น พระเวสสันดร เป็นต้น
ฉะนั้น คนฉลาดจึงไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เก็บทรัพย์ไว้โดยไม่บริโภค หรือโดยไม่บริจาคทาน แต่ได้บริจาคและบริโภคใช้สอย เพราะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่สังคมโดยส่วนรวมเป็นอันมาก
| อานิสงส์ของทานประเภทต่างๆ
คําว่า “อานิสงส์” หมายถึงผลที่ได้รับ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงอานิสงส์ของทานประเภทต่างๆ เท่าที่รวบรวมมาจากคัมภีร์ต่างๆ ดังนี้
๑.การให้ทานด้วยศรัทธา คือ ถ้าผู้ใดเชื่อหลักพระพุทธศาสนา เชื่อ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อกรรมและผลของกรรม เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น เมื่อผู้นั้นให้ทานด้วยศรัทธาเช่นนี้ ผลของทานจะทำให้
ผู้นั้นเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีรูปงาม มีผิวพรรณผ่องใส
๒. การให้ทานตามกาล เช่น การทอดผ้าป่า การทอดกฐิน หรือให้ผล ไม้ตามฤดูกาลแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือทำบุญวันคล้ายวันเกิดของตน ผลของ ทานจะทำให้ผู้นั้นเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก เมื่อมีความต้องการตามกาล ย่อมได้สิ่งนั้นโดยสมบูรณ์
๓. การให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ คือ การให้ทานด้วยหวังอนุเคราะห์ ต่อคนหรือสัตว์เดรัจฉาน เพื่อเกื้อกูล เพื่อช่วยเหลือด้วยเมตตากรุณา ผล ของทานจะทำให้ผู้นั้นมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก และจิตของเขาย่อมน้อมไปเพื่อ ประโยชน์ตามคุณค่าอันโอฬาร คือ มีทรัพย์แล้วใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ได้ มาก ทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่นหรือแก่ส่วนรวม
๔. การให้อาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และ ปฏิภาณ ตอบสนอง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์
๕. การให้ทานด้วยความเคารพ ผลของทานทำให้ผู้นั้นเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีผู้อื่นเชื่อฟัง
๖. การให้ของดีของเลิศ ย่อมทำให้ผู้นั้นได้รับของดีของเลิศ ในที่ที่ ตนเกิดแล้ว ทั้งย่อมมีอายุยืน และมียศในที่นั้นๆ
๗. ผลของทานในปัจจุบัน การให้ทานไม่ใช่จะให้ผลในชาติหน้าอย่าง เดียว แต่ย่อมให้ผลในปัจจุบันด้วย ซึ่งท่านแยกผลของทานที่จะพึงได้รับใน ปัจจุบัน คือ ในชาตินี้ถึง ๑๒ อย่างคือ
๗.๑ เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย คือ เป็นที่เกิดของสมบัติทั้งหลาย
๗.๒ เป็นที่ตั้งของโภคทรัพย์ทั้งหลาย คือ มีที่อยู่อาศัย และ เครื่องบริโภคใช้สอยบริบูรณ์
๗.๓ ทำให้ได้รับความสุขในปัจจุบัน
๗.๔ ทำให้เป็นที่รักของคนเป็นอันมาก คือ คนให้ทานย่อมเป็น ที่รัก เป็นที่พอใจของคนเป็นอันมาก ทำให้มีบริวารมาก เพราะผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๗.๕ ทำให้ผูกไมตรีไว้ได้ คือ สร้างความรัก ความสามัคคี และ ผูกไมตรีกับคนทั้งหลายไว้ได้ โดยเฉพาะคนที่ได้รับทาน
๗.๖ ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ คือ ใครก็อยากจะคบกับคนที่เป็น นักบริจาค มีใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
๗.๗ ทำให้เป็นที่เคารพคบหาของคนดี คือ คนดีหรือบัณฑิต ชอบ คบคนที่ให้ทาน เพราะมีใจสูง ไม่ขี้เหนียว ไม่เห็นแก่ตัว แต่ชอบช่วยเหลือ คนอื่นสัตว์อื่น
๗.๘ ทำให้เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว คือ คนที่เป็นนักบริจาค จะ ไปไหนหรือเข้าไปสู่สังคมใดก็ไม่อึดอัด และรู้สึกเบิกบานใจ สบายใจ
๗.๙ ทำให้เป็นคนแกล้วกล้าอาจหาญในที่ชุมนุมชน คือ จะไป พบปะใครที่ไหน หรือเข้าไปสมาคมใด หรือชุมนุมชนใด ก็รู้สึกองอาจกล้า หาญ ไม่เก้อเขิน พูดชัดถ้อยชัดคํา ไม่อึดอัด
๗.๑๐ ทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศขจรไป คือ มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ของคนทั้งหลายและฟุ้งขจรไปไกล
๗.๑๑ เป็นเครื่องป้องกันภัยต่างๆ ได้ดี คือ มักจะได้รับความช่วย เหลือจากคนทั้งหลาย และพวกเขาช่วยคุ้มภัยต่างๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นได้
๗.๑๒ เป็นที่พึ่งอาศัยในโลกนี้ คือ สามารถอยู่ในสังคม ในโลกนี้ อย่างสงบสุข และมีเกียรติ
ทั้ง ๑๒ ข้อนี้ คือ ผลของทานที่จะพึงได้รับในปัจจุบัน ไม่ต้องรอถึง ชาติหน้าหรือชาติต่อๆ ไป ก็สามารถได้รับผล
๘. ผลของทานในอนาคต คือ เมื่อตายไปแล้ว ก็ย่อมไปบังเกิดใน สุคติ คืออาจจะเกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดบนสวรรค์ก็ได้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็ จะมีทรัพย์สมบัติ มีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เพราะเคยสั่งสม ความดีไว้ในชาติปางก่อน
๙. เป็นปัจจัยนําไปสู่พระนิพพานในอนาคต คือ เป็นเหตุให้บรรลุพระ นิพพานในอนาคตกาลได้ ดังเช่นพระโพธิสัตว์บําเพ็ญบารมี เพื่อบ่มสัมมา สัมโพธิญาณ เป็นต้น
ผลของทานมีมาก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งยังเป็นปัจจัยเพื่อ บรรลุพระนิพพานในอนาคตอีกด้วย ฉะนั้น คนฉลาดจึงนิยมให้ทาน ไม่เป็นคน ตระหนี่ เพราะทราบผลประจักษ์อยู่ด้วยตนเองแม้ในปัจจุบัน
*ตอนที่ ๑๒*
…ทานที่มีผลมาก…
ในตอนนี้จะพูดถึงทานที่มีผลมาก โดยเฉพาะได้ถึงลำดับคุณค่าของการทำบุญ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน เวลามสูตร เพราะบางคนทำบุญได้ผลน้อย บางคนทำบุญได้ผลมาก บางคนทำบุญได้ผลพอประมาณ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ศรัทธาไม่เท่ากัน เจตนาในการทำบุญไม่เท่ากัน และได้ปฏิคาหก ในการให้ทานไม่เหมือนกัน
ดังที่กล่าวกันในตอนต้นแล้วว่า ทานในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อามิสทาน หรือ วัตถุทาน การให้วัตถุสิ่งของ
๒. ธรรมทาน การให้พระธรรม
๓. อภัยทาน การให้ความไม่มีภัย ความไม่เบียดเบียน
อามิสทานมีผลน้อยกว่าธรรมทาน ธรรมทานมีผลน้อยกว่าอภัยทาน แม้ในด้านการให้อามิสทานหรือวัตถุทาน สังฆทานมีผลมากที่สุด และใน สังฆทานนั้น การให้เสนาสนทานมีผลมากที่สุด
| สัมปทา ๔
ในการให้ทานโดยเจาะจงเฉพาะปฏิคาหก ผู้ใดผู้หนึ่งที่เรียกว่า ปาฏิ บุคลิกทาน ทานจะมีผลมากได้ก็ด้วยสัมปทา (ความถึงพร้อม) ๔ ประการ คือ
๑. วัตถุสัมปทา การถึงพร้อมแห่งวัตถุ
๒. ปัจจัยสัมปทา การถึงพร้อมแห่งปัจจัย
๓. เจตนาสัมปทา การถึงพร้อมแห่งเจตนา
๔. คุณาติเรกสัมปทา การถึงพร้อมแห่งพระทักษ์ไณยบุคคลผู้มีคุณยิ่ง
ในสัมปทาทั้ง ๔ ประการนี้ พระอรรถกถาจารย์ คือพระพุทธโฆสาจารย์ ผู้รจนาอรรถกถาธรรมบท ได้กล่าวไว้ว่า พระทักษิไณยบุคคล (คือท่านผู้ ควรทำทักษิณาทาน) เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอนาคามี ผู้สมควรแก่ นิโรธสมาบัติ” ชื่อว่า วัตถุสัมปทา
การเกิดขึ้นแห่งปัจจัย (คือของที่นํามาทำบุญ) โดยธรรม โดย สม่ำเสมอ (คือของที่นํามาทำบุญนั้นเป็นของของตน และได้มาสุจริตและ ยุติธรรม ไม่ใช่ขโมยและแย่งชิง โกงของใครมา และเป็นของดี ไม่พูด ไม่เสีย ไม่เน่า) ชื่อว่า ปัจจยสัมปทา
การที่มีเจตนา (ในการให้ทาน) ประกอบด้วยโสมนัส (มีจิตใจเบิก บาน) และเป็นญาณสัมปยุต
(คือเป็นสัมมาทิฏฐิ) ในการเชื่อผลของท่าน ใน กาลทั้ง ๓ คือ ก่อนแต่กาลให้ (ปุพพเจตนา) กําลังให้
(มุญจนเจตนา) และ หลังจากการให้ อปราปรเจตนา) ชื่อว่า เจตนาสัมปทา
การที่ปฏิคาหก ผู้เป็นทักษิไณยบุคคล ออกจากสมาบัติ (คือนิโรธ สมาบัติ) ชื่อว่า คุณาติเรกสัมปทา
ปุณณเศรษฐี
ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๓ กล่าวไว้ว่า ในราชอาณาจักรมคธ ของพระเจ้าพิมพิสาร มีมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์นับไม่ถ้วนอยู่ ๕ คน หรือ ๕ ตระกูล คือ โชติยะหรือโชติกเศรษฐี ชฏิลเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี ปุณณะ หรือปุณณกเศรษฐี และกากวัลลิยเศรษฐี ซึ่งเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยมากใน แคว้นมคธ ตั้งแต่อันดับหนึ่งถึงอันดับห้าตามลำดับ
ในที่นี้จะกล่าวถึงปุณณเศรษฐี ผู้ได้สัมปทาพร้อมทั้ง ๔ ประการ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๖ แต่ในที่นี่ได้ถอดใจความมา เล่าไว้แต่เพียงโดยย่อ ดังต่อไปนี้
นายปุณณะทำงานรับจ้างสุมนเศรษฐี
กล่าวกันว่า นายปุณณะเป็นคนยากจน ได้อาศัยสุมนเศรษฐีทำงาน รับจ้างเลี้ยงชีพอยู่ในกรุงราชคฤห์ ในบ้านเขามีอยู่ด้วยกัน ๓ คนเท่านั้น คือ ตัวเขาเอง ภรรยา และบุตรสาวชื่ออุตตรา
ต่อมาวันหนึ่ง ทางราชการได้ประกาศไปทั่วกรุงราชคฤห์ว่า “ชาว พระนครจึงเล่นนักษัตร (จัดงานรื่นเริงประจำปี) ได้ตลอด ๗ วัน”
สุมนเศรษฐีได้ยินการป่าวประกาศนั้นแล้ว จึงเรียกนายปุณณะผู้มา แต่เช้าตรู่แล้วพูดว่า “บริวารชนของฉันต้องการจะไปเที่ยวงานเล่น นักษัตรกัน แกจะไปเที่ยวงานกะเขา หรือว่าจักทำงานจ้าง?”
นายปุณณะพูดว่า “นายขอรับ การไปเที่ยวงานนั้นเป็นของพวก คนรวยเขา ก็ในเรือนของผม แม้ข้าวจะทำข้าวต้มในวันพรุ่งนี้ก็ไม่มี (แม้ ข้าวสารจะกรอกหม้อก็ไม่มี) ผมจะไปเที่ยวงานนักษัตรกับเขาทําไม ผมเมื่อ ได้โคก็จะไปไถนา”
สุมนเศรษฐี จึงพูดว่า “ถ้าอย่างนั้นก็รับโคสำหรับไถนาไปเถิด” เขา รับโคตัวมีกําลังและไถแล้ว ก็พูดกะภรรยาว่า “แม่นางผู้เจริญ ชาวนครเขา ไปเที่ยวเล่นงานนักขัตฤกษ์กัน แต่ฉันจักต้องไปทำงานจ้าง เพราะเราเป็น คนจน วันนี้เธอจึงต้มผักสัก ๒ เท่า แล้วนําภัตรไปให้ฉันก่อน” เมื่อสั่งเสร็จ จึงไปนา
ในครั้งนั้น พระสารีบุตรเถระ อัครสาวกฝ่ายขวาของพระพุทธเจ้า ผู้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทางด้านปัญญา ได้เข้านิโรธสมาบัติตลอด ๗ วัน แล้วได้ออกจากนิโรธสมาบัติในวันนี้ เมื่อออกแล้วได้ตรวจดูว่า “วันนี้เราควรจะทำการสงเคราะห์ใครดี”
เมื่อท่านตรวจดูไปก็ได้เห็นนายปุณณะ ซึ่งเข้าไปในข่าย คือ ญาณ ของท่าน แล้วจึงตรวจดูอีกว่า “นายปุณณะมีข้าวของจะบริจาคหรือไม่” ก็ ทราบได้ด้วยญาณของท่านว่า นายปุณณะมีศรัทธาในการบริจาคทาน และ เขาจะได้ทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก เพราะบุญที่ได้ถวายทานนั้นเป็นปัจจัย
เมื่อท่านคิดได้เช่นนี้แล้ว จึงได้ถือบาตรและจีวรไปยังที่ไถนาของนาย ปุณณะ ได้ยืนแลดูพุ่มไม้พุ่มหนึ่งที่ริมบ่อ นายปุณณะได้เห็นพระเถระแล้ว จึงวางไถ ได้ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ โดยกราบลงด้วยความ เคารพเลื่อมใส พลางคิดว่า “พระเถระคงต้องการไม้สีฟัน” จึงได้ทำไม้สี ฟันถวายท่าน
ต่อจากนั้น พระเถระได้นําบาตรและผ้ากรองน้ำมาให้เขา (พระต้อง มีผ้ากรองน้ำ เพราะถ้าฉันน้ำโดยไม่กรองเป็นอาบัติ)
เขาคิดว่าพระเถระคงต้องการน้ำดื่ม จึงได้นําบาตรและผ้ากรองน้ำ ของท่านไป แล้วกรองน้ำใส่บาตรถวายท่าน
พระเถระคิดว่า นายปุณณะนี้อยู่บ้านไกล โดยปลูกเรือนอยู่หลังท้าย ของคนเหล่าอื่น ถ้าท่านเองจะไปที่ประตูบ้านของเขา ภรรยาของเขาก็จะไม่ เห็นท่าน ท่านจึงต้องรออยู่ที่นั่นเอง จนกว่าภรรยาของนายปุณณะจะนํา อาหารมาให้เขา เมื่อท่านยืนรออยู่ไม่นาน ได้ทราบด้วยญาณของท่านว่า ขณะนี้ภรรยาของนายปุณณะกําลังเดินมุ่งหน้าไปภายในพระนคร
ภรรยานายปุณณะถวายภัตรแก่พระเถระ
นางได้พบพระเถระในระหว่างทางแล้วคิดว่า “บางคราวเมื่อมีของ ทำบุญ เราก็ไม่พบพระ บางคราวเมื่อพบพระ เราก็ไม่มีของทำบุญ ก็วันนี้ เราได้พบพระและของทำบุญก็มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้าจักทำการสงเคราะห์แก่ เราหรือไม่หนอ?” นางจึงวางภาชนะใส่อาหารลง แล้วได้ไหว้พระเถระด้วย เบญจางคประดิษฐ์ แล้วกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าอย่าได้คิดว่า ภัตรนี้เศร้าหมองหรือประณีต (คือดีหรือไม่ดี) ขอจงทำความสงเคราะห์แก่ ทาสของพระคุณเจ้าเถิด”
พระเถระน้อมบาตรเข้าไป เมื่อนางเอามือข้างหนึ่งรองภาชนะ ใช้มือ อีกข้างหนึ่งเกลี่ยอาหารลงไปในบาตรอยู่ พอถวายภัตรไปได้ครึ่งหนึ่ง ท่าน จึงเอามือปิดบาตร พร้อมกับพูดว่า “พอแล้ว”
นางจึงพูดว่า “พระคุณเจ้า ภัตตาหารเพียงส่วนเดียว ดิฉันไม่อาจจะ แบ่งเป็น ๒ ส่วนได้ พระคุณเจ้าไม่ต้องทำความสงเคราะห์แก่ทาสของ พระคุณเจ้าในโลกนี้ จงทำความสงเคราะห์ในโลกหน้าเถิด ดิฉันประสงค์จะ ถวายไม่ให้เหลือเลย” เมื่อพูดอย่างนี้แล้ว ก็ได้ใส่ภัตรทั้งหมดลงในบาตร ของพระเถระ แล้วตั้งความปรารถนา (อธิษฐาน) ว่า “ดิฉันจึงเป็นผู้มีส่วน แห่งธรรมที่พระคุณเจ้าเห็นแล้วนั่นแหละ (คือขอให้ตนได้บรรลุธรรมเหมือน อย่างที่พระเถระได้บรรลุแล้ว)”
พระเถระกล่าวว่า “ขอจงสำเร็จอย่างนั้นเถิด” พูดแล้วก็ยืนอนุโมทนา (ให้พร) แล้วไปนั่งลงฉันภัตตาหาร ณ ที่สะดวกน้ำแห่งหนึ่ง
ฝ่ายนางรีบกลับไปบ้าน หาข้าวสารมาหุงข้าวใหม่ ส่วนนายปุณณะ ไถนาได้เนื้อที่ประมาณครึ่งกรีส
(เนื้อที่หนึ่งกรีสเท่ากับ ๑๒๕ ศอก) ไม่อาจ จะทนความหิวได้ เพราะภรรยาส่งอาหารช้า จึงปล่อยให้โคออกจากไถ แล้วตนเองก็เข้าไปยังร่มไม้แห่งหนึ่ง นั่งคอยดูทางที่ภรรยาจะเดินมาอยู่
ต่อจากนั้น ภรรยาของเขากําลังถืออาหารเดินมาอยู่ พอเห็นเขาเข้าก็ คิดว่า “สามีเราถูกความหิวบีบคั้น นั่งพักรอเราอยู่แล้ว ถ้าว่าเขาจะขู่ ตะคอกเราว่า “เจ้าชักช้าเหลือเกิน” แล้วใช้ด้ามปฏิกฟาดเรา กรรมดีที่เราทำ แล้วในวันนี้จะไร้ประโยชน์ เราจะต้องชิงบอกเขาเสียก่อน” แล้วจึงพูดขึ้นว่า “คุณพี่ วันนี้พี่จงทำใจให้ผ่องใสสักวันหนึ่งเถิด อย่าได้ทำกรรมดีที่ดิฉันได้ ทำแล้วให้ไร้ประโยชน์ ดิฉันนําอาหารมาให้พี่แต่เช้าตรู่ ได้พบพระธรรม เสนาบดีสารีบุตรในระหว่างทางจึงได้ถวายภัตรของท่านแก่พระเถระนั้นแล้วไปหุงภัตรมาใหม่ จงทำใจให้เลื่อมใสเถิดพี่”
นายปุณณะ ถาม “เจ้าพูดอะไร แม่คุณ” เมื่อนางพูดซ้ำ เช่นเดิมอีก จึงพูดว่า “นางผู้เจริญ เจ้าได้ถวายภัตรของเราแด่พระผู้เป็นเจ้า ทำดีแล้วที่เดียว เมื่อเช้าตรู่วันนี้ แม้พี่เองก็ได้ถวายไม้สีฟันและน้ำบ้วนปาก แก่พระคุณเจ้าแล้ว” เขามีใจเลื่อมใสเพลิดเพลินถ้อยคํานั้น เป็นผู้มีร่างกาย อ่อนเพลีย เพราะได้รับประทานอาหารสายในวันนั้น จึงนอนเอนกายพาดศีรษะบนตักของภรรยาแล้วหลับไป
/ ทานให้ผลในวันนั้น
กล่าวกันไว้ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทนั้นว่า ครั้งนั้นเนื้อที่นา (ขี้ไถ) ที่เขาไถไว้แต่เช้าตรู่ ได้กลายเป็นทองคํา เนื้อสุกปลั่งทั้งหมด แม้กระทั่งฝุ่น ละอองดิน ก็ตั้งอยู่งดงาม มองดูเหมือนดอกกัณณิกา
นายปุณณะตื่นขึ้นมา มองดูไปที่พื้นนาได้เห็นเช่นนั้นเข้า จึงพูดกับ ภรรยาว่า “นางผู้เจริญ เนื้อที่นาที่พี่ไถแล้วนั้น ปรากฏแก่พี่เป็นทองไปหมด เพราะพี่ได้รับประทานอาหารสายเกินไป ตาจะลายไปกระมัง”
แม้ภรรยาของเขาก็พูดขึ้นว่า “ที่นั้นก็ปรากฏแม้แก่ดิฉันว่าเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน”
เขาลุกขึ้นเดินไปที่นั่น จับก้อนหนึ่งขึ้นที่ที่งอนไถ ก็ทราบว่าเป็นทอง คําจริงๆ จึงคิดว่า “ทานที่เราถวายแล้วแก่พระผู้เป็นเจ้า พระธรรมเสนาบดี สารีบุตร แสดงผลปรากฏให้เห็นในวันนี้เอง เราไม่อาจจะซ่อนทรัพย์มี ประมาณเท่านี้ไว้ใช้สอยได้”
ดังนั้น เขาจึงเอาทองคําใส่ในถาดข้าวที่ภรรยานํามาแล้วไปสู่ราชวัง เมื่อได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าแล้ว จึงกราบทูลพระราชาว่า นาที่ข้าพระองค์ไถ แล้วในวันนี้ทั้งหมดเป็นที่ที่เต็มไปด้วยทองคําทั้งนั้น ตั้งอยู่แล้ว พระองค์ควร จะรับสั่งให้ขนทองนั้นมาไว้ในพระคลังหลวง
พระราชาตรัสว่า “ท่านเป็นใคร”
นายปุณณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ชื่อปุณณะ”
พระราชาตรัสถามว่า “ก็วันนี้ ท่านทําอะไรเล่า”
นายปุณณะกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ แล้วกราบทูลให้พระราชา มีพระดํารัสสั่งให้ส่งเกวียนหลายพันเล่มไปนําทองคํานั้นมา
พระราชาก็ทรงส่งเกวียนทั้งหลายไปแล้ว เมื่อพวกราชบุรุษพูดว่า “ทองเป็นของพระราชา” กําลังถือกันอยู่ ทองที่พวกเขาถืออยู่ทั้งหมดก็
กลายเป็นดินตามเดิม
พวกราชบุรุษก็ไปกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ พระราชาตรัสว่า “ทองเหล่านี้หาใช่ทรัพย์ของเราไม่ พวกเจ้าจงไป” จงพูดว่า “เป็นของนาย ปุณณะ แล้วถือนํามาเถิด”
พวกราชบุรุษก็พากันทำตามที่รับสั่ง ทองคําที่พวกเขาถือเอาแล้วๆ ทั้งหมดเป็นทองคําแท้
ขนทองนั้นทั้งหมดมากไว้ที่ห้องพระ ลานหลวง ทองคําทั้งหมดได้กองสูงถึงประมาณ ๖๐ ศอก
ในที่สุด พระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงแต่งกับเขาให้เป็นเศรษฐี พหุธนเศรษฐี – เศรษฐีที่มีทรัพย์มาก กับทั้งพระราชทานฉัตรสำหรับตำแหน่ง เศรษฐีแก่เขา พร้อมด้วยโภคะจำนวนมาก กับพระราชทานที่สำหรับสร้าง บ้านให้แก่เขา อันเคยเป็นบ้านของเศรษฐีเก่า
เขาให้ช่างทำเรือนในที่นั้น เมื่อเรือนเสร็จแล้ว จึงได้ทำพิธี เคปเวสนมงคล คือมงคลขึ้นบ้านใหม่) และฉัตรมงคล คือนาคตในการ ฉลองฉัตรตำแหน่งเศรษฐี โดยรวมเป็นงานเดียวกัน ได้สายทานดริกษุ สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตลอด ๗ วัน ครั้งนั้นพระบรมศาสดา เมื่อ จะทรงอนุโมทนาทานแก่เขา จึงได้ตรัสอนุปุพพิกถา
ในเวลาจบธรรมกถา คนทั้ง ๓ คือ ปุณณเศรษฐี ภรรยาของชา และนางอุตตราผู้เป็นธิดา ได้สำเร็จพระโสดาบัน และในภายหลัง นา อุตตรานี้ที่มีบทบาทสำคัญในการชักนํานางสิริมา หญิงงามเมืองแห่งกรุง ราชคฤห์ให้มานับถือพระพุทธศาสนา จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันชนกัน เรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า การที่ปุณณศรษฐีและภรรยาได้กลายเป็นเศรษฐี ขึ้นมาในวันเดียวก็เพราะได้ถวายทานที่สัมปทา ๔ ประการ พร้อมมูล คือ
๑. ได้ทักขิไณยบุคคลผู้เป็นพระขีณาสพ คือพระสารีบุตร
๒. ปัจจัย คือ ของที่นํามาถวายทานนั้นบริสุทธิ์ คือเกิดขึ้น เพราะได้จากการทำงานจ้างมา
๓. เจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ใน ๓ กาล
คือเกิดขึ้นโดยธร
๔.พระสารีบุตรผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ เป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ (คุณาติเล็ก)
/ ทานของผู้มีศรัทธามีผลมาก
การให้ทานที่ให้มีสัมปทา ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้นสมบูรณ์ นั้น ย่อมทำได้ยากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการได้ทักขิไณยบุคคล ผู้ออกจาก นิโรธสมาบัตินั้น ไม่ปรากฏว่ามีหรือไม่ในปัจจุบัน ถ้าหากว่าผู้ให้ทานมี ศรัทธามาก ไทยธรรมได้มาด้วยความบริสุทธิ์ และได้ทักขิไณยบุคคลคือคน ที่ควรให้ทาน บุญก็ย่อมมีมากได้เช่นกัน แม้ไม่มากและไม่ได้ผลทันตา เหมือนทานที่ถวายแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธสมาบัติก็ตาม ดังที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ในสัมมุขีสูตร คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเป็นผู้มีธรรม ๓ ประการมารวมกัน กุลบุตรผู้มีศรัทธาจึงประสพบุญเป็นอันมาก คือ
๑. ศรัทธา
๒. ไทยธรรม
๓.ทักขิไณยบุคคล
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเป็นผู้มีธรรม ๓ ประการรวมกัน กุลบุตร ผู้มีศรัทธาจึงประสพบุญเป็นอันมาก”
(๒๐/๔๘๐/๑๙๐)
ในฐานสูตร ในคัมภีร์เดียวกันนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงลักษณะ ของคนมีศรัทธาไว้ว่ามี ๓ อย่างคือ
๑.เป็นผู้ใคร่จะมาพบเห็นท่านผู้มีศีล
๒. เป็นผู้ใคร่จะฟังธรรม
๓.ไม่ตระหนี่
ดังนิคมคาถา คือ คาถาสรุปความในพระสูตรนี้ว่า
“ทสฺสนกาโม สีลวตํ สทฺธมฺนํ โสตุมิจฺฉติ
วิเนยฺย มจฺเฉรมลํ ตํ เว สทฺโธติ วุจฺจติ
ผู้ใดใคร่จะเห็นท่านผู้มีศีลทั้งหลาย ปรารถนาจะฟังธรรมกําจัด มลทินคือความตระหนี่เสียได้ ผู้นั้นท่านเรียกว่าผู้มีศรัทธา”
(๒๐/๑๘๑/๑๙๐)
เพราะฉะนั้น ผู้ปรารถนาจะให้ทานของตนมีผลมากก็พึงปลูกศรัทธา โดยมีคุณธรรม ๓ ประการดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งมีไทยธรรม คือของทำบริสุทธิ์ได้มาโดยธรรม และได้ทายกที่เป็นทักขิไณยบุคคล ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วใน ๒ พระสูตรข้างต้นนี้
| ธรรมทาน
ทานที่มีผลมากกว่าอามิสทานทุกชนิด คือ ธรรมทาน ดังที่พระ พุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาของ
ท้าวสักกเทวราชที่มาทูลถามปัญหา ๔ ข้อว่า
๑. บรรดาทานทั้งหลาย ทานชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม
๒. บรรดารสทั้งหลาย รสชนิดไหน บัณฑิตกล่าวว่ายอด
๓. บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่าเลิศ
๔. เพราะเหตุไร ความสิ้นตัณหา บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุด
โดยพระองค์ตรัสตอบว่า
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้พระธรรมชนะการให้ทั้งปวง
สพฺพรสํ ธมฺมรสํ ชินาติ รสพระธรรมชนะรสทั้งปวง
สพฺพรตี ธมฺมรตี ชินาติ ความยินดีในธรรมชนะการยินดีทั้งปวง
ตณฺหกชโย สพฺพทุกขํ ชินาติ ความสิ้นตัณหาชนะทุกข์ทั้งปวง”
(๒๕/๓๔/๖๓)
การที่ให้พระธรรมชนะ คือ ประเสริฐกว่าการให้ทั้งปวงนั้น ในอรรถกถาธรรมบทภาค ๘ ท่านอธิบายไว้ว่า
“ก็ถ้าว่าบุคคลถวายไตรจีวร เช่นกับใบตองอ่อน (ผ้าชนิดดี) แต่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้นั่งติดๆ กัน (นั่งชิดกัน) ในห้วงจักรวาลจนถึงพรหมโลก การอนุโมทนาของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ด้วยพระคาถาเดียวในสมาคมนั้นประเสริฐ ก็ทานนั้นก็หาถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของคาถานั้นไม่ การแสดงธรรมก็ดี การกล่าวสอนธรรมก็ดี การฟัง ธรรมก็ดี เป็นของที่ยิ่งใหญ่ ดังกล่าวมานี้
อนึ่ง บุคคลฟังธรรม อานิสงส์ย่อมมีแก่บุคคลนั้นแท้ ธรรมทานนั่น แหละที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงแสดงแล้ว แม้ด้วยการอนุโมทนาด้วยคาถา เพียงคาถาเดียว ประเสริฐที่สุด กว่าทานที่ทายกบรรจุบาตรเต็มไปด้วย
อาหารบิณฑบาตอันประณีตแล้วถวายแก่บริษัทเห็นปานนั้นแหละบ้าง กว่า เภสัชทานที่บุคคลบรรจุบาตรให้เต็มด้วยเนยใสและน้ำมันเป็นต้นถวาย บ้าง กว่าเสนาสนทานที่ทายกสร้างวัดเช่นกับมหาวิหาร (ในศรีลังกา) และ ปราสาท เช่นกับโลหะปราสาททั้งหลายแสนแล้วถวายบ้าง กว่าการบริจาคที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ปรารภวิหารทั้งหลายทำบ้าง เพราะเหตุไร ?
เพราะว่า ชนทั้งหลาย เมื่อจะทำบุญเห็นปานนั้นได้ก็ต่อเมื่อฟังธรรม แล้วเท่านั้นจึงทำได้ หากไม่ได้ฟังธรรมแล้วก็หาทำได้ไม่ ถ้าหากว่าสัตว์ ทั้งหลายไม่พึงฟังธรรมแล้ว เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูสักกระบวยหนึ่งบ้าง
ภัตรสักทัพพี่หนึ่งบ้าง เพราะเหตุนี้เอง ธรรมทานคือการให้พระธรรมนั่น แหละ จึงประเสริฐที่สุดกว่าทานทุกชนิด
อีกอย่างหนึ่ง นอกจากพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แม้ สาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตร เป็นต้น ผู้ประกอบด้วยปัญญาซึ่งสามารถนับ หยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกับทั้งสิ้น ยังไม่สามารถบรรลุโสดาปัตติผล ได้ ต่อเมื่อฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้นแสดงแล้ว จึงบรรลุโสดาบันได้ และบรรลุสาวกบารมีญาณด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เพราะเหตุ นี้เอง ธรรมทานนั่นแหละ จึงประเสริฐที่สุด”
/ คนทั่วไปก็สามารถให้ธรรมทานได้
การให้ธรรมทานนี้ ไม่จําเป็นว่าพระสงฆ์หรือผู้รู้ธรรมคําสอนของ พระพุทธศาสนาเท่านั้นจึงจะให้ได้ แม้คนทั่วไปก็ให้ได้เช่นกัน เป็นเพียงแต่ ว่าอาจจะให้ไม่ดีเท่าผู้ที่รู้ธรรมชัดเจนเท่านั้น คือ ใครก็ตามถ้าสอนคนอื่นให้ ละชั่ว ประพฤติดี ละทุจริต ประพฤติสุจริต โดยมุ่งให้ผู้ฟังได้เลิก ลด ละ ความชั่ว และให้มุ่งแต่สร้างความดีเพื่อประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นแล้ว ก็จัด เป็นการให้ธรรม ที่เรียกว่าธรรมทานทั้งสิ้น เช่น ครูสอนศิษย์ พ่อแม่สอนลูก ปู่ ย่า ตา ยาย สอนลูกหลาน ลุง ป้า น้า อา สอนหลาน พี่สอนน้อง เพื่อน แนะนําเพื่อน หรือตักเตือนกันให้หลีกพ้นความชั่ว ความหายนะ หรือแม้แต่ การเขียน หรือการพิมพ์หนังสือเป็นธรรมทานก็จัดเป็นการให้พระธรรมทั้งสิ้น
ฉะนั้น ผู้หวังความเจริญแก่ส่วนรวม และความเจริญรุ่งเรืองมั่นคง ของประเทศชาติและพระศาสนา จึงช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน และให้ ธรรมทานกันให้มาก เช่นชี้ให้เขาได้เห็นโทษของยาเสพติดประเภทต่างๆ หรือให้พ้นจากอบายมุข และมุ่งทำความดี สร้างตน สร้างชาติ ก็ล้วนแต่มี คุณค่าสูงทั้งสิ้น เพราะเป็นการให้ธรรมทาน ฉะนั้น นักปราชญ์จึงนิยมให้ธรรมทาน เพราะคนยากจนก็สามารถให้ทานชนิดนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ ไม่ควรทิ้งอามิสทาน อันเป็นคุณธรรมของผู้มีใจสูง
แต่การให้ธรรมทานที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเลิศหรือชนะการให้ทั้งปวงนั้นไม่ได้ทรงมุ่งผลเลิศในด้านทรัพย์สินสมบัติ หากแต่ทรงมุ่งไปในแง่ที่ทำให้ โลกสงบสุข มุ่งให้สัตว์โลกละความชั่ว สร้างความดี และให้บรรลุมรรคผล เป็นสำคัญ
/ อภัยทาน
ทานที่ไม่สร้างเวรสร้างภัยให้ใครๆ เรียกว่า อภัยทาน อภัยทานนี้ก็ จัดเป็นทานชนิดหนึ่งเช่นกัน เพราะให้ความไม่มีเวรไม่มีภัย การมีศีล ๕ ที่ เรียกว่า ปัญจเวรวิรัตินั้น ก็จัดเป็นทานขั้นมหาทาน ดังที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ในปุญญาภิสันทสูตร แห่งคัมภีร์อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ที่ได้ กล่าวมาแล้วในตอนที่ ๑๐ ดังนั้น อภัยทานก็คือศีล ๕ นั่นเอง เมื่อ อภัยทานเป็นศีล จึงมีผลมากกว่าทานทุกประเภท เพราะทานมีผลน้อยกว่า ศีล แต่ศีลมีผลน้อยกว่าสมาธิ สมาธิก็มีผลน้อยกว่าปัญญา ดังได้กล่าวมา แล้วในตอนต้น
อภัยทาน อาจจะแบ่งออกได้ ๕ ชนิด คือ
๑. ศีล ๕ อันเป็นมหาทาน
๒. การให้อภัยไม่ผูกโกรธ
๓. การไม่เบียดเบียนสัตว์
๔. การปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระ
๕. การให้อภัยแก่นักโทษ
ศีล ๕ หรือ ปัญจเวรวิรัติ จัดเป็นอภัยทานอย่างหนึ่ง เรียกว่ามหาทาน ดังที่ได้กล่าวแล้ว ผู้มีศีล ๕ ชื่อว่าสร้างความไม่มีเวร ความไม่มี ภัย ให้แก่ตนเองและคนอื่นสัตว์อื่น
การให้อภัยไม่ถือโกรธ คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจการให้อภัยทานข้อนี้ มากกว่าการให้อภัยทานอย่างอื่น แต่ก็ถูกเฉพาะข้อนี้คือการให้อภัยกัน ไม่ ถือโทษโกรธกัน แม้คนอื่นจะทำความเดือดร้อน หรือความเจ็บช้ำน้ำใจ อย่างไรให้ก็ให้อภัย เช่น พ่อแม่ให้อภัยแก่ลูก พี่น้องให้อภัยกัน ญาติให้ อภัยแก่ญาติ เพื่อนให้อภัยแก่เพื่อน ผู้ใหญ่ให้อภัยแก่ผู้น้อย หรือผู้น้อยให้ อภัยแก่ผู้ใหญ่ การให้อภัยเช่นนี้ก็จัดเป็นทานเหมือนกัน เรียกว่า อภัยทาน แต่บางคนถ้าโกรธใครแล้วก็ไม่ยอมให้อภัยกัน บางคนถึงกับสาบานไม่เผาผี กันเลย ถือโทษโกรธกันไม่ยอมให้อภัย ก็จะเป็นผลร้ายต่อผู้นั้น เพราะเก็บ ความโกรธอันเป็นอกุศลไว้ในใจ ยิ่งเก็บไว้มากก็ทุกข์มาก และเป็นเหตุให้ เกิดการแตกสามัคคี เป็นเหตุไม่ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แม้เคยรักกันมาก่อน แม้เป็นญาติพี่น้องหรือเป็นเพื่อนกันจะทำงานใดก็อาจจะติดขัด เพราะแตก สามัคคี ไม่ให้อภัยกัน แต่ถ้ารู้จักการให้อภัยกัน หนักนิดเบาหน่อย ก็ไม่ถือ โทษโกรธกัน ก็เป็นเหตุให้เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือกันและกัน และเกิด ความสงบสุขด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย หรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การให้อภัยนี้ เป็นธรรมะที่ดีมากข้อหนึ่งในการทำให้คนเราอยู่กัน เพราะเป็นธรรมที่จะทำให้คนเราอยู่กันอย่างสงบสุขในสังคมหรือในชีวิต อย่างน้อยผู้นั้นต้องมีธรรมะ ๕ ประการ คือ
๑. ขันติ
๒. เมตตา
๓. เสียสละ
๔. ให้อภัย
๕. ปล่อยวาง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้จักการให้อภัย จึงจัดว่าเป็นผู้มีใจสูง สามารถนํา ความสงบสุขความร่มเย็นมาแก่ตนและผู้อื่นได้ดีมากอย่างหนึ่ง คนที่มีใจสูง จึงรู้จักการให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธกัน
การไม่เบียดเบียนสัตว์ โดยปล่อยให้มันเป็นอิสระ หรือปล่อยให้มัน อยู่อย่างอิสระ เช่น ปล่อยสัตว์หรือเอามาเลี้ยงดูโดยไม่กักขังมันไว้ในกรง หรือในที่คับแคบ ถือหลักอหิงสา คือไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่นให้เดือด ร้อน โดยนึกสงสารมันว่า มันก็ต้องการเป็นอิสระเหมือนเรา ไม่ต้องการให้ ใครมากักขังไว้ เราไม่ควรผูกพันธนาการหรือกักขังมันไว้ ก็ปล่อยมันให้เป็น อิสระ เช่น จับหนูได้ก็ปล่อยมันไป จับนกหรือสัตว์อื่นได้ก็ปล่อยมันไป ไม่ ฆ่าหรือกักขังมันไว้ การทำเช่นนี้ก็จัดเป็นบุญ เป็นอภัยทาน
มีปัญหาอยู่ว่าผู้ที่เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงนก เลี้ยงปลา โดยนํามันมากักขัง ไว้ในที่คับแคบให้มันมีอิสระน้อย แต่ก็เลี้ยงดูมันอย่างดี จะเป็นบาปไหม
การทำเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นบาป เพราะเป็นการเบียดเบียนสัตว์ให้ลําบาก ให้มีอิสระน้อย แม้แต่เพียงคิดจะทำก็ผิด เพราะเป็นมิจฉาสังกัปปะ คือ ดําริผิด พอลงมือทำก็เป็นวิหิงสา คือ เบียดเบียนสัตว์ ซึ่งตรงกันข้ามกับ หลักอหิงสา คือ ไม่เบียดเบียนสัตว์ สมมติว่ามีใครเอาเราไปขังไว้ให้อยู่กรง ทอง ให้อยู่กินอย่างดี เราก็ไม่ต้องการ เพราะขาดความเป็นอิสระ ถ้าเรายัง สัตว์ไว้ เมื่อกรรมนั้นมาถึงเข้าเมื่อไร เราก็จะถูกกักขังเหมือนอย่างที่เราได้กักขังสัตว์เอาไว้
ถ้าหากว่า เราเอาสัตว์มาเลี้ยงไว้ ให้มันอยู่อย่างอิสระ เช่น ให้ปลา อยู่ในบึงหรือในสระใหญ่ หรือให้อยู่ในพื้นที่กว้างขวาง เช่น สวนสัตว์ที่กว้าง ขวาง ไม่กักขังมันมาก ให้มันอยู่ดีกินดี ไม่เป็นอันตรายก็ไม่บาป และกลับ เป็นบุญเสียอีก เพราะเลี้ยงไว้ด้วยความรัก ความกรุณาต่อสัตว์
เพราะฉะนั้น คนในประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้ว เดี๋ยวนี้เขามีป่าสงวนพันธุ์สัตว์ป่า มีเนื้อที่อยู่กว้างขวาง เป็นพันเป็นหมื่นหรือล้านไร่ เช่น อุทยาน แห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง หรือสวนสัตว์เปิดในแอฟริกา อันมีสัตว์ป่านานาชนิดได้อยู่กันอย่างอิสระ เป็นต้น มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษา โดยเฉพาะ ไม่ฆ่า ไม่ทำร้ายมัน เพราะในปัจจุบันสัตว์ป่าในโลกได้สูญพันธุ์ ไปมากแล้ว แม้ในประเทศไทยเรา ก็มีสัตว์หลายชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว และมีอยู่หลายประเภทกําลังจะสูญพันธุ์ เพราะการบุกรุกผืนป่า การล่า การทำลายของมนุษย์ รัฐบาลจึงให้สงวนพันธุ์สัตว์ป่าไว้ ไม่ให้ใครไปทำร้าย ไปเบียดเบียนมัน จึงมีการประกาศสงวนพันธุ์สัตว์เป็นเขตๆ อันถือว่าเป็น กรรมดี ควรแก่การอนุโมทนา และจัดเป็นอภัยทาน
การให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนกัน โดยปล่อยให้ มันอยู่อย่างอิสระ ในสมัยพุทธกาลก็มีป่าหลายแห่งที่ให้อภัยแก่สัตว์ เช่น ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นต้น คําว่า “มิคทายวัน หรือ มฤคทายวัน” หมายถึง ป่าที่ให้อภัยแก่เนื้อ มีกวาง และอีเก้ง เป็นต้น เพราะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบสงบ ได้มีพวกฤษมาพักอาศัย จึงเรียกป่านี้ว่า “อิสิปตนะ” เมื่อเป็นป่าให้อภัยแก่เนื้อ ป่านี้จึงมีชื่อว่า “ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ฤษี ๕ ตน คือพระปัญจวัคคีย์ ดังที่ชาวพุทธเราค่อนข้างคุ้นหูกับชื่อป่า แห่งนี้ เพราะเป็นป่าที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และ จัดเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่ง ในจำนวนสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ในดินแดนพุทธภูมิ
การปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระ ไทยเราเรียกอภัยทานชนิดนี้ว่า การปล่อยนกปล่อยปลา เช่น สัตว์บางชนิดถูกขังไว้ เราก็เอาไปปล่อยเสีย โดย***ขอจากเจ้าของหรือซื้อเอามาปล่อยมันไปให้เป็นอิสระ หรือซื้อนก ปลา เต่า หรือวัว ควาย ที่เขานำไปขายหรือนำไปฆ่า โดยปล่อยลงบึงหรือแม่น้ำ หรือ ปล่อยในป่าขอมอบให้ใครมาเอาไปเลี้ยง โดยไม่กักขังมัน ก็ถือว่าได้บุญเพราะเป็นอภัยทาน
ถ้าได้ซื้อปลา หรือสัตว์ที่เราเตรียมไว้ เช่น ปลาในตลาด หรือ วัว ควายที่กําลังเข้าโรงมา ก็จะได้บุญ เพราะช่วยชีวิตสัตว์เหล่านั้นได้ อย่างแท้จริง ถ้าเราไม่ไปซื้อมาปล่อยมันจะต้องถูกมาอย่างแน่นอน
ในปัจจุบัน มีการนิยมปล่อยปลา ปล่อยนก หรือปล่อยวัวควาย ที่เขาจะนำไปฆ่า โดยจัดทำในโอกาสทำบุญคล้ายวันเกิด ก็ถือเป็นการให้ทาน อันควรแก่การอนุโมทนาอย่างหนึ่ง
การให้อภัยนักโทษโดยใประหารชีวิติหรือปล่อยให้พ้นโทษ ก่อนถึงเวลาพ้นกำหนดโทษซึ่งประเทศไทยของเรานิยมทำกันมาตลอด ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เช่น ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ข้อนี้จัดว่าเป็นอภัยทานที่สูงมาก เพราะบางคนต้องถูกประหารชีวิตแน่นอนแล้วก็รอดชีวิตออกมาได้ หรือบางคนต้องถูกจับขังไร้อิสระภาพอยู่นานปีแต่เมื่อมีการอภัยโทษก็ได้รับการลดหย่อนโทษ หรือปล่อยให้เป็นอิสระไปเลย
ฉะนั้น ผู้หวังบำเพ็ญกุศล และหวังเพื่อความสงบสุขแก่สรรพสัตว์ พึงทำสังฆทาน ในโอกาสเห็นสมควรหรือในขอบเขตที่ตนจะพึงกระทำ ก็จะได้รับผลแห่งการอภัยทาน ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไปอย่างแน่นอน
แท้ที่จริง การให้ทาน ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอนุปุพพิกถานั้นหมายถึงเฉพาะอามิสทานหรือวัตถุทานเท่านั้น แต่ที่นำธรรมทานและอภัยทานมากล่าวไว้ด้วย ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าทานในพระพุทธศาสนานั้น หาใช่แต่
อามิสทานหรือวัตถุทานอย่างเดียวไม่ แต่ยังมีธรรมทานและอภัยทานอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้ทำทานที่สูงขึ้นอีกด้วย อันจะยังความสงบสุขมาแก่ตนเอง ประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวมเพิ่มขึ้น
ลำดับคุณค่าของการทำบุญในเวลามสูตร
ในเวลามสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสลำดับผลบุญที่จะพึงได้รับ จากการทำบุญ คือ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา ไว้ชัดเจนมาก ดัง ข้อความในพระสูตรนีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแลท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิก คฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่หรือ
ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใน ตระกูลข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลาย ข้าว มีน้ำผักดองเป็นที่สอง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรคฤหบดี คนให้ทานอันเศร้าหมองหรือ ปราณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ ด้วยมือของตนเอง ให้ของที่เหลือ ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ ย่อมบังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทาน ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่าง ดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ
บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค
ทานทีบุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค
ทานทีบุคคลถวายให้พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มี ผลมากกว่าทานทีบุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบริโภค
การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้งสี่ มีผลมากกว่าทาน ที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็น สรณะ (คือ ถึงพระรัตนตรัย) มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากทิศทั้ง ๔
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท (สมาทานศีล) คืองดเว้น ปาณาติบาท ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาหรือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่ง ความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คืองดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ
ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียว บริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว…..
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิต (ท่าสมาธิ) โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดม ของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต
และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญา (ทำวิปัสสนา) แม้เพียงเวลาลัด นิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม”
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ในการทำบุญ ๔ อย่าง คือ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญานั้น ทานมีผลน้อยกว่าศีล ศีลมีผลน้อยกว่าสมาธิ ส่วนปัญญา มีผลมากกว่าสมาธิ พุทธศาสนิกชนควรทำบุญทั้ง ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือบุญ ๔ อย่างคือ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา และควรทราบ ให้ชัดว่า บุญอย่างไรมีผลมากกว่าอย่างไหน และเลือกทำบุญให้ถูกต้อง เพราะผลของบุญแต่ละอย่างนั้นไม่เท่ากัน ดังในข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเวลามสูตรนี้
ทานแม้จะมีผลน้อยกว่าการทำบุญอย่างอื่น แต่ก็ให้ผลเป็นอันมาก แก่ผู้รู้จักทำบุญให้ทาน บัณฑิตจึงไม่ประมาทในการทำบุญให้ทาน โดยให้ ทานอยู่เสมอ เพราะทานนําความสงบสุขมาแก่ตนเอง และผู้อื่นเป็นอันมาก ทั้งยังเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน อันเป็นที่สุดของทุกข์ในที่สุดอีกด้วย
// ประวัติผู้เขียน
พระธรรมวิสุทธิกวี
เกิดเมื่อ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ณ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
นามเดิม พิจิตร ถาวรสุวรรณ นามฉายา ฐิตวัณโณ
นามปากกา พ.สถิตวรรณ (คัดเฉพาะในการเขียนหนังสือบางเล่ม)
บรรพชา พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี ณ วัดโสมนัสวิหาร เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ โดย มีสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺมเถร ป.ธ.๙) เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ วัดโสมนัสวิหาร โดยมีสมเด็จพระวันรัตเป็นพระอุปัชฌาย์
วิทยฐานะ
๑. เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗
๒. ศน.บ. (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙
๓. ประกาศนียบัตรชั้นสูง สธ.ต. (พระธรรมทูตรุ่นแรกของคณะสงฆ์) จากสำนัก อบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑
๔. M.A. ทางวรรณคดีสันสกฤต และอนุปริญญาภาษาฮินดีจากมหาวิทยาลัย BHU ในอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔
๕. ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศน.ด. (สาขาพุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏ ราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕
ตำแหน่งหน้าที่ ๑. เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ถึงปัจจุบัน
๒. เจ้าคณะภาค ๑๖-๑๗-๑๘ (5) ในภาคใต้ทั้งหมด ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึง ปัจจุบัน (โดยเป็นรองเจ้าคณะภาค เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๙)
๓. เป็นอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฎ ราชวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๔๑
งานพิเศษ
๑. เขียนหนังสือทางพระพุทธศาสนาออกมาแล้วประมาณ ๖๔ เรื่อง แต่ที่มอบให้ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ออกมาเผยแพร่ขณะนี้มี ๒๕ เรื่อง
๒. เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานประจำวัดโสมนัสวิหาร และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เปิดสอนกรรมฐานทั้งแก่ภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไปทั้งในและ ต่างประเทศ มีประสบการณ์ในการสอนกรรมฐานมากกว่า ๒๕ ปี
๓. เป็นวิทยากรบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามสถาบันและสถานที่ต่างๆ ทั้ง ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
๔. มีประสบการณ์จากการเดินทางไปศึกษาดูงานพระศาสนาในต่างประเทศมาแล้ว
ประมาณ ๒๕ ประเทศ
๕. เป็นอาจารย์บรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยมหามกุฎ ราชวิทยาลัย ทั้งในชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท